ThaiPublica > Sustainability > Headline > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”…ชี้โลกใหม่ต้องการคนมีทักษะแบบไหน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”…ชี้โลกใหม่ต้องการคนมีทักษะแบบไหน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

28 ธันวาคม 2022


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ SET ESG Experts Pool เชื่อมโลกธุรกิจกับโลกการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่วมมือพัฒนาให้การศึกษาไทยเป็น Sustainability-Oriented Education ในงานสัมมนา SET ESG Professionals Forum

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืน ในโครงการ SET ESG Experts Pool จัดสัมมนา “SET ESG Professionals Forum” ขึ้นครั้งแรก มุ่งหวังยกระดับคุณภาพบุคลากรในตลาดทุนและคนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพด้านความยั่งยืน โดยเชิญผู้บริหารรวมถึงคนในแวดวงธุรกิจด้านความยั่งยืน ฉายภาพความเปลี่ยนแปลง การปรับโครงสร้างและความรู้ความชำนาญบุคลากร เพื่อรับมือกับกระแส ESG และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์การทำงานในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Preparing Future Leader for Sustainability Transformation – เราจะร่วมสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้อย่างไร?” ในงานสัมมนา “SET ESG Professionals Forum” วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ว่า ที่ผ่านมา โลกธุรกิจกับโลกพัฒนายั่งยืนถูกมองว่าอยู่คนละส่วน แยกหน้าที่กัน แต่ระยะหลังเปลี่ยนไปมาก เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกรวน ความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ปัญหาคอร์รัปชัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณภาพประชากร โรคอุบัติใหม่ ที่เห็นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายเรื่องเป็นปัญหาซ้อนปัญหา วิกฤติซ้อนวิกฤติ ส่งผลซ้ำเติม ปัจจุบันส่วนใหญ่จึงเห็นว่า โลกธุรกิจกับโลกพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไปด้วยกัน เป็นทางรอด และทางออกของการเติบโตกันและกัน

ฉะนั้น เรื่อง ESG จึงต้องเริ่มที่ทัศนคติก่อนว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการเติบโตของธุรกิจต้องไปด้วยกัน โดยมีกรอบความคิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (environmental, social, governance — ESG) ในการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาส สร้างคุณค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกัน พร้อมกันนี้ก็มีความท้าทายในทางปฏิบัติจริง

สำหรับตลาดทุนไทย ที่แรกเริ่มเป็นเรื่องบรรษัทภิบาล (corporate governance — CG) ที่เน้นดูแลการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ จนมาถึงการบูรณาการขับเคลื่อน ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้ และเห็นความมุ่งมั่นความตั้งใจของ บริษัทจดทะเบียน จนปัจจุบันตลาดทุนไทยมีความโดดเด่น มีบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของโลกหลายบริษัท จนติด DJSI (Dow Jones Sustainability Index) มากที่สุดในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่มีความกระตือรือล้นจะทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริงจัง อยากลดความเสี่ยงท่ามกลางวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน แต่อาจจะยังทำไม่เป็น ขาดความรู้ และที่สำคัญ ขาดบุคคลากรในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนและพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร เป็นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เนื่องจาก ESG เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเร่งเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน เพราะเป็นความอยู่รอดและต้องเติบโตต่อไป มีโจทย์ที่มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่น อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเกิน 1.2 องศาเมื่อเทียบกับยุคปฏิบัติอุตสาหกรรม น้ำแข็งขั้วโลกที่ไม่เคยละลายเร็วขนาดนี้ ไม่เคยมีปริมาณขยะที่มากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทร ชุมชนหลายพื้นที่ไม่เคยอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติเหมือนในขณะนี้ และยังมีเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อบังคับใหม่ จากเดิมที่ไม่เคยถูกบังคับให้คำนวณว่าธุรกิจที่ทำอยู่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่

หรือในอนาคตอาจมีการให้ระบุว่า สินค้าชิ้นนั้น บริการนั้น ปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ หรืออาจมีคำถามถึงผู้ประกอบการว่า คาร์บอนที่ปล่อยออกมาเมื่อไหร่จะกลายเป็นศูนย์ได้ หรือธุรกิจที่ขยายการลงทุนใหม่กับธุรกิจเดิม สุทธิแล้วปล่อยคาร์บอนไม่เพิ่ม และมีวิธีใดที่จะลดให้เหลือศูนย์ ผลิตภัณฑ์ที่ขายไปจะปล่อยคาร์บอนทั้งหมดกี่ตันตลอดอายุการใช้งาน กิจกรรมปลูกต้นไม้ของบริษัทหนึ่งจะไม่ใช่นับจำนวนต้น จำนวนไร่ แต่ต้องประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของแต่ละต้น สามารถนำไปหักลบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจได้ นี่เป็นตัวอย่างที่อาจจะออกมาเป็นกฎระเบียบ หรือกฎหมายรูปแบบต่างๆ ในอนาคต

ดร.ประสารกล่าวว่า ดังนั้น หน้าที่ของคนจึงจะแตกต่างจากเดิม คนในที่นี้หมายถึงตั้งแต่ระดับกรรมการและผู้บริหารบริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ไปถึงพนักงาน ทุกคน ทุกวิชาชีพ โดยมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องมี 2 จุด จุดแรก tone at the top คือ ความมุ่งมั่น จริงจัง ชัดเจน ของกรรมการและผู้บริหารในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน อีกจุดคือ การพัฒนายั่งยืนต้องเป็นเรื่องของทุกคนจึงจะสำเร็จ ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 5 ปีหลังนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของคนทำงานด้านนี้ที่แบ่งเป็น 3 ประเภท

ประเภทแรก ESG professionals เป็น corperate value integrator หรือคนเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร ผู้บูรณาการคุณค่าขององค์กร จากเดิมคนทำงานด้านความยั่งยืนอาจจะอยู่วงนอกของธุรกิจหลัก หลายแห่งทำเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ขึ้นกับฝ่ายสื่อสารองค์กรที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แต่เวลานี้คนเหล่านี้กลายเป็นคนวงใน มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนทำแผนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปเป็นฝ่ายวางกลยุทธ์ของบริษัท ในแผนระยะปานกลางของหลายบริษัท นอกจากมีเรื่องรายได้และกำไรแล้ว จะมีเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นอย่างไร จะเป็นศูนย์เมื่อไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่ เป็นโอกาสทางธุรกิจเท่าไหร่ ESG Professionals จึงมีความแตกต่างไปจากเดิมมาก

ประเภทที่สอง ESG Specialist ที่เริ่มเป็นกระแสแล้วในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นคนทำงานด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจที่มีความรู้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่รู้จริงรู้ลึกเรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ เดิมฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทจดทะเบียนมักจะตอบคำถามนักลงทุนเรื่องตัวเลขการลงทุน ตัวเลขทางธุรกิจเป็นหลัก แต่ต่อไปจะพบกับคำถามเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมากและถี่ขึ้น เรื่องความเสี่ยง ESG ความยั่งยืน บางบริษัทพบว่า นักลงทุนต่างประเทศถามเรื่อง climate actions สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็เริ่มตั้งคำถามเรื่อง ESG แทนการพูดถึง EBITDA (earnings before interest , tax , depreciation, and amortization) มีการถามเรื่อง climate actions ด้วย ทำให้บริษัทจดทะเบียนไทย บริษัทจัดการกองทุน ต่างเร่งสร้างคนมาวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อวางแผนทางธุรกิจและเพื่อการเลือกลงทุน ผู้ชำนาญการด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน นักกฎหมาย นักพัฒนาบุคคลกร ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานทาสยุคใหม่ ไปจนถึง human rights due diligence วิศวกรยุคใหม่ หรือแม้แต่สถาปนิกต้องศึกษาเรื่องการออกแบบอาคารที่ทนทานต่อการเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

ประเภทสาม คือ sustainability verifier ผู้สอบทาน ตรวจทานว่าบริษัทได้ทำอย่างที่พูดหรือสัญญาไว้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันโลกเรามีการทยอยออกกฎเกณฑ์มากมาย ความต้องการบุคลากรด้านการประเมินและสอบทานเหล่านี้จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้สอบทานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย โดยรวมยังขาดบุคคลากรทั้งสามประเภทนี้อยู่มาก จึงต้องให้ความสำคัญกับ การ unlearn, relearn, upskill และ reskill คือ unlearn หมายถึงให้ลืมสิ่งที่เคยเรียน เคยจำ แล้วเรียนรู้ใหม่ relearn รวมทั้ง upskill และ reskill สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทัศนคติ ชุดใหม่นี้จำนวนมาก ที่งต้องเป็นคนที่เข้าใจ มีความรู้เชิงลึก และปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญ มีทัศนคติและสมรรถนะในการปรับตัวสูง พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ เรียนรู้ได้เร็ว เพราะเกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นเร็ว ขณะเดียวกัน ต้องมีทักษะเหมาะสมกับโลกใหม่ เช่น สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมมือทำงานกับผู้อื่นได้ พร้อมเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น

“เราต้องการคนมีหัวใจ มองเห็นภาพใหญ่ ภาพไกล ก่อนตัวเอง คนที่มีความละเอียดอ่อนและให้ความสำคัญกับคุณภาพ เราต้องการคนที่สามารถทำให้การพัฒนาธุรกิจเกิดขึ้นไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่เริ่มต้นก็กังวล พูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็คิดถึงธุรกิจจะหดตัว เราต้องได้คนที่เห็นว่าของพวกนี้ไปด้วยกันได้ ไม่ได้ทำให้ธุรกิจหายไปหรือขาดทุน ผลสำรวจที่ออกมาได้แสดงว่า โลกกำลังต้องการคนลักษณะนี้”

ดร.ประสารกล่าวว่า โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจะร่วมกันพัฒนาคนที่เป็นหัวใจของการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จำนวนมาก กว้างขวาง และรวดเร็ว เพราะเวลานี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงเปลี่ยนกติกา ใครเข้าใจกติกาเหล่านี้ พัฒนาคนได้ก่อน แม้ไม่ชนะก็ยังอยู่ในเกม ซึ่งไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีฐานที่ดีมาก มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาปรับใช้เป็นอีกหนึ่งเข็มสำคัญทั้งเป้าหมายการตอบโจทย์ธุรกิจและเป้าหมายความยั่งยืนได้ ล่าสุดมีเกณฑ์ใหม่ และธุรกิจต้องเรียนรู้เพิ่ม คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อภาคสังคมด้วย เป็น nature-based solution สอดคล้องกับภูมิปัญญาไทยหลายด้าน ที่มีตัวอย่างผลสำเร็จให้นำไปปรับใช้ได้มากมาย จึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญในการเร่งบูรณาการ 3 ด้าน ทั้ง ภูมิปัญญาไทย ศาสตร์สากล ประสบการณ์ที่หลากหลายของภาคธุรกิจเองและอาชีพเพื่อสร้างองค์ความรู้และหลักสูตรที่สร้างความเข้มแข็ง ความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ และเสริมพลังคนรุ่นก่อนด้วย

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหม่ และเรื่องเร่งด่วน ภาคธุรกิจทำเองคนเดียวไม่ได้ ไม่มีพลังพอและไม่ทันการณ์ ตลาดหลักทรัพย์พร้อมช่วยปิดช่องว่าง เป็น sustainability-oriented education โดยปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ริเริ่ม SET ESG Academy เพื่อเร่งยกระดับความรู้ ESG ให้กับบุคคลากรของบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันตัวกลางต่างๆ ให้ได้มากและเพียงพอต่อธุรกิจ สร้างความตระหนักให้กับธุรกิจทั่วไปและคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทจดทะเบียน ที่ต้องการเข้าใจและลงมือผนวก ESG เข้าในกลยุทธ์หลักขององค์กรด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเครือข่ายโครงการ SET ESG Experts Pool ในปี 2563 โดยเป็นเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในตลาดทุนและที่เกี่ยวข้องในหลายบริษัทจดทะเบียน รวมถึงมหาวิทยาลัย บริษัทที่ปรึกษา เพื่อประสานพลังความรู้และความร่วมมือในการพัฒนา ESG professionals รุ่นใหม่ และขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในระดับองค์กรและตลาดทุนโดยรวม ปัจจุบัน SET ESG Experts Pool มีสมาชิกในเครือข่ายแล้วกว่า 200 ราย จะเห็นว่า การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นความอยู่รอดของวันนี้ และเป็นการเติบโตในวันข้างหน้าด้วย ทั้งของภาคธุรกิจและส่วนรวม โดยเงื่อนไขความสำเร็จก็คือคนนั่นเอง เป็นการยกระดับบุคคลากรไทย เสริมสร้างขีดความสามารถในภาคธุรกิจ รักษาความมั่นคงทางสังคม ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม