ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วและความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทย

ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วและความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทย

23 ธันวาคม 2022


ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ [email protected] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/

ปรากฎการณ์ “แรงงานสองขั้ว” (Labor market polarization) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ความต้องการแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นในขณะที่ความต้องการแรงงานทักษะปานกลางลดลง ปรากฎการณ์นี้มักพบในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น โดยเกิดจากโครงสร้างการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทำงานประเภท non-routine tasks เช่น งานด้านการวิเคราะห์ ขณะเดียวกันก็มีความต้องการจ้างแรงงานทักษะต่ำเพื่อทำงานประเภท non-routine manual tasks ซึ่งเป็นงานที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเครื่องจักรและต้องมีการปรับงานตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น งานด้านการดูแลผู้ป่วย การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการแรงงานทักษะปานกลางภายในประเทศ กลับมีแนวโน้มลดลง

งานวิจัยของผู้เขียนและ Dr. Lusi Liao พบว่า ตลาดแรงงานไทยไม่มีปรากฏการณ์แรงงานสองขั้ว โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทยในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเพียงการปรับตัวตามโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทำให้มีการย้ายการจ้างงานจากภาคเกษตรที่ใช้แรงงานทักษะต่ำไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้แรงงานทักษะปานกลางและสูง ทั้งนี้ สัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงถึงร้อยละ 31 ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์แรงงานสองขั้วดังที่พบในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้กลับพบปรากฏการณ์ “ค่าจ้างสองขั้ว” (wage polarization) ในตลาดแรงงานไทย โดยพบว่าค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะต่ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มคงที่1 ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้นายจ้างมีความโน้มเอียงไปยังการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (Skill-biased technical change: SBTC) จึงส่งผลให้ค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานของแรงงานในชนบทไปสู่การทำงานในพื้นที่เขตเมือง และการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทำให้ระดับค่าจ้างที่แท้จริงต่อหัวของแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศได้ โดยทำให้ความแตกต่างของค่าจ้าง (wage gap) ของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มอาชีพดียิ่งขึ้น งานวิจัยได้ประมาณค่าราคาหรือผลตอบแทนของทักษะแรงงาน (skill price) ที่แรงงานจำเป็นต้องใช้ในแต่ละอาชีพและอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ ผลการศึกษาพบว่า ทักษะทางปัญญามีอัตราผลตอบแทนเป็นบวก หมายความว่า แรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงจะได้รับค่าแรงที่สูงกว่าแรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาต่ำ โดยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ทำการศึกษา ส่วนอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพมีค่าเป็นลบ หมายความว่า แรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางกายภาพสูงได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าแรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางกายภาพต่ำ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพ สะท้อนว่าในตลาดแรงงานไทย ความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางปัญญามีระดับสูงกว่าความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางกายภาพ และทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางปัญญาและแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางกายภาพ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างแรงงานในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2000 (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 อัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ
หมายเหตุ: รูปแสดงอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญา (brain) และทักษะทางกายภาพ (brawn) โดยนำมาจากค่าสัมประสิทธิ์ของการประมาณการอัตราผลตอบแทนของทักษะ สมการประกอบด้วยตัวแปรตามคืออัตราค่าจ้าง ตัวแปรอิสระคือทักษะ (ทางปัญญาหรือทางกายภาพ) และตัวแปรควบคุม คือ อายุ จำนวนปีการศึกษา จำนวนบุตร สถานภาพการสมรส ปีที่ทำการศึกษาและภูมิภาค
ที่มา: Paweenawat and Liao (2022)

งานวิจัยยังพบอีกว่า แรงงานหญิงมีอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาสูงกว่าแรงงานชาย แต่มีอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพต่ำกว่าแรงงานชาย สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานจากการใช้ทักษะทางกายภาพมาใช้ทักษะทางปัญญานี้ให้ประโยชน์ต่อแรงงานหญิงมากกว่า และเมื่อแยกตามพื้นที่จะพบว่า อัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาของแรงงานในพื้นที่เขตเมืองมีค่าสูงกว่าเขตชนบท ซึ่งสะท้อนความต้องการแรงงานทักษะสูงในพื้นที่เขตเมือง

ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้างของแรงงานไทยสามารถอธิบายได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ประเทศมีความต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าระดับการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนแรงงานทักษะสูงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานยังอยู่ในระดับสูง

คำถามสำคัญจึงตามมาว่า ลำพังแต่ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่?

ดังนั้น นโยบายการศึกษาของภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานในอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมีมาตรการเพื่อช่วยยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วให้สูงขึ้น เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ : 1. กลุ่มอาชีพแบ่งตามสามระดับทักษะ ได้แก่ (1) ทักษะสูง – ผู้จัดการ ผู้บัญญัติกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพ
และช่างเทคนิค, (2) ทักษะปานกลาง – เสมียน พนักงานบริการ และผู้ปฏิบัติการเครื่องจักร โรงงาน และ (3) ทักษะต่ำ
– ช่างฝีมือ แรงงานเกษตร และแรงงานไร้ฝีมือ

*ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์