ThaiPublica > คอลัมน์ > บูมเมอแรงคิดส์? ผลเชิงบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย

บูมเมอแรงคิดส์? ผลเชิงบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย

25 ธันวาคม 2020


ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2020/12/shutterstock_1069699151-resized.png

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “บูมเมอแรงคิดส์? เมื่อลูกย้ายกลับเข้าบ้าน…” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ปรากฏการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” (Boomerang Kids) ในประเทศแถบตะวันตก หมายถึง การที่ประชากรวัยทำงานที่เคยย้ายออกมาอยู่ด้วยตนเองได้ย้ายกลับไปอยู่อาศัยร่วมบ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศสหรัฐอเมริกา สัดส่วนการอยู่อาศัยร่วมกันกับพ่อแม่ของแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ระหว่างปี 2005–2014 โดยการย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่นั้นเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน ทั้งจากการว่างงาน หรือการเปลี่ยนจากการทำงานเต็มเวลาเป็นการทำงานในบางช่วงเวลา

งานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao พบปรากฏการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” ในประเทศไทยเช่นกัน แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากที่พบในประเทศแถบตะวันตก โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากมีลูก คนไทยมีแนวโน้มย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น และการมีลูกเพิ่มโอกาสในการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึงร้อยละ 32-34

การอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง โดยจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกอายุน้อย (0-5 ปี) ที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ (ครอบครัวขยาย) มีอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานที่สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ (ครอบครัวเดี่ยว) ถึง 10 จุด (percentage points) (ภาพที่ 1)

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่นั้นเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงถึงร้อยละ 21 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ทำให้ผู้หญิงได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการแบ่งเบาภาระงานบ้าน ทำให้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น โดยข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและจีน

นอกจากนี้ หากพิจารณาตามระดับการศึกษา กลุ่มผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจะได้รับผลเชิงบวกจากการอยู่ร่วมกับพ่อแม่มากที่สุด โดยการอยู่ร่วมกันเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมตลาดแรงงานถึงร้อยละ 28 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขณะที่การอยู่ร่วมกันเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของกลุ่มผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียงร้อยละ 9 และไม่มีผลกับกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ผู้หญิงที่มีการศึกษาที่สูงมีรายได้ที่จะจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ และมีการพึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย

ผลการศึกษาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แรงงานหญิงไทยยังคงต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร การที่ประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในการดูแลบุตรหลานแทน

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยนโยบายที่ใช้ควรเป็นนโยบายเชิงลึก มีมิติที่กว้างและครอบคลุมกว่าการให้เงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว เช่น การจัดหาสถานเลี้ยงดูเด็กของภาครัฐที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานให้พ่อแม่วางใจได้ การให้เงินสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการภาคเอกชนที่มีการจัดสรรสถานเลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน นโยบายการสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นของแรงงานผู้หญิง หรือนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัวผ่านการให้เงินสนับสนุนการอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ ดังเช่นประเทศสิงคโปร์ ที่มีนโยบายสนับสนุนผ่านการให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ (proximity housing grant)

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความสรุปย่อจากงานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao ในบทความชื่อ Alternative boomerang kids, intergenerational co-residence, and maternal labor supply ตีพิมพ์ในวารสาร Review of Economics of the Household (https://doi.org/10.1007/s11150-020-09524-9)