ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > บ้านปู เพาเวอร์ ชี้ ESG เป็น journey ที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ‘ไม่มี magic answer’

บ้านปู เพาเวอร์ ชี้ ESG เป็น journey ที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ‘ไม่มี magic answer’

1 ธันวาคม 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นธุรกิจจากการทำเหมืองถ่านหิน ที่ต่อมาได้ขยายไปยังประเทศอินโดนีเซีย เพื่อผลิตและจำหน่ายถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ จากนั้นได้ขยายมาลงทุนในธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ด้วยกระแสกดดันต่อธุรกิจดั้งเดิมที่ใช้พลังงานฟอสซิล กลุ่มบ้านปู จึงถือโอกาสนี้นำแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG (environment, social, และ governance) รวมถึง Susatianable Development Goal — SDG ของสหประชาชาติ (UN) มาใช้ดำเนินการเปลี่ยนผ่าน (transform) องค์กร ไปสู่องค์กรแห่งการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงบริษัทในกลุ่ม อย่างบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ภายใต้กลยุทธ์ Greener and Smarter ที่นำเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (high efficiency, low emissions หรือ HELE) จนทำให้บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกใน Sustainability Yearbook จัดโดย S&P Global ที่ประเมินจากการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัททั่วโลก

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลุ่มบริษัท บ้านปู ได้นำหลักคิดเรื่อง ESG รวมถึง SDG มาปรับใช้ในการทำธุรกิจ โดยดูว่าเป้าหมายใดสอดคล้องกับการทำธุรกิจของบ้านปู แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

“สำหรับ ‘บ้านปู เพาเวอร์’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า ใช้เกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกณฑ์ของ S&P global หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่น โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่การล่ารางวัล แต่เป็นการบังคับตัวเองให้ทบทวนสิ่งที่ทำทุกปี และเพื่อให้ก้าวทันกับกระแสโลก”

กิรณบอกว่า ESG ไม่ได้มีเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานไม่เป็นธรรม เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ฯลฯ ที่มาประกอบเป็นกรอบของ ESG และกรอบ ESG นี้เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจของบ้านปูเพาเวอร์ให้สามารถเติบโตได้และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างยั่งยืน

“เราเชื่อว่า คำว่าผู้ถือหุ้น หมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่า ‘การถือหุ้นบ้านปู’… ประเทศที่เราอยู่ สังคม สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นพวกเราทั้งหมด และต้องสามารถทำให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ (win win) กันทุกฝ่าย แม้ว่าเราจะเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องทำธุรกิจหากำไรก็ตาม แต่กรอบ ESG ที่เราวางไว้ สามารถทำให้ธุรกิจเราเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ ‘greener- smarter’

กิรณกล่าวว่าบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ เริ่มต้นจากธุรกิจการทำถ่านหิน ในฐานะผู้ขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายร้อยปีที่ผ่านมา สำหรับบ้านปูเริ่มธุรกิจนี้มาได้ประมาณ 40 ปี แต่พอมีเรื่องภาวะโลกร้อน บริษัทแม่เริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น shale gas มีโอกาสลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ในกระบวนการผลิต นี่เป็นภาพใหญ่ของบริษัทแม่และของบริษัทลูก จึงมีการจัดตั้งบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ขึ้น เพื่อให้บริการ “โซลูชันพลังงานฉลาด” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้การเข้าถึงโซลูชันพลังงานที่ไร้ขีดจำกัด สอดคล้องกับเทรนด์การใช้พลังงานแห่งอนาคต แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ของลูกค้า นำข้อมูลมาวิเคราะห์และขับเคลื่อน (human centric & data driven) รวมถึงนำความรู้ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีพลังงานที่ได้มาตรฐานสากลมาพัฒนาเป็น smart energy solutions เพื่อนำเสนอแนวทางการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระให้ธุรกิจของลูกค้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน

ส่วนบ้านปู เพาเวอร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เรือธง ของกลุ่มบ้านปู ก่อตั้งมาได้กว่า 30 ปี พร้อมๆ กับธุรกิจถ่านหินของบริษัทแม่ ดังนั้นในพอร์ตของโรงไฟฟ้าดั้งเดิมของบ้านปูเพาเวอร์จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตอนนี้มีการมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งของบ้านปูจะมีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การควบคุมดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก พิสูจน์ได้จากตัวเลขต่างๆ ของโรงไฟฟ้า BLCP ที่จังหวัดระยอง โรงไฟฟ้าที่เมืองหงสา สปป.ลาว


โดยขณะนี้ บ้านปู เพาเวอร์ อยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่านโรงไฟฟ้าให้เป็น high efficiency low emissions technology — HELE คือเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ในการกำจัด หรือลดมลพิษจากการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ได้มาตรฐานสากล HELE กล่าวคือ โรงไฟฟ้าดั้งเดิมที่ใช้ถ่านหินยังคงมีอยู่ เพราะมีสัญญาขายไฟระยะยาวให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ในอนาคต บ้านปูจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามกระแสโลก โดยจะหันไปเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้า HELE

กิรณบอกว่า ล่าสุดมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้เชื้อเพลิงจาก Shale gas ในสหรัฐอเมริกา ชื่อโรงไฟฟ้า Temple I ที่เท็กซัส ในอนาคตโรงไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง (thermal power generation) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (renewable power generation) เป็นหลัก

“จะเห็นได้ถึงการลงมือทำจริงๆ ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของบ้านปูที่สอดคล้องกับการเป็น green มากขึ้น นี่คือยุทธศาสตร์ที่บ้านปูกำลังทำอยู่ และในขณะที่มีการเพิ่มสัดส่วนของ green เพิ่มสัดส่วนของ HELE ที่มีประสิทธิภาพสูง บ้านปูก็ยังทำกำไรและส่งคืนกลับให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด”

กิรณบอกว่า “การบริหารบ้านปูให้เดินไปข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG เรามองเรื่อง E สิ่งแวดล้อม 39% S สังคม 33% และ G ธรรมาภิบาล 28% โดยสัดส่วนเหล่านี้จะเปลี่ยนทุกปี และใน 3 เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย หลายครั้งจะถูกถามเรื่องนโยบาย มีการทำอะไรในทางปฏิบัติ ทำให้ต้องทำสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังที่เป็นรูปธรรม มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีการประเมินภายใต้มาตรฐานของสถาบัน S&P Global ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติ สิ่งสำคัญไม่ใช่รางวัล แต่ต้องเป็นการทำจริงในทางปฏิบัติ การทำเรื่อง ESG ต้องมีคนมาประเมินเรา เราจึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับรางวัลเหล่านี้ในทุกปี เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เหมือนเรามั่นใจว่าเราร้องเพลงเพราะ ร้องอยู่บ้านก็ได้ มีครอบครัวคอยชม แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเราร้องเพลงเพราะ ส่งประกวด มั่นใจว่าพอขึ้นเวที มีคนรับรองว่าเราร้องเพลงเพราะจริง เรามองอย่างนั้น คือเราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่อง ESG จริงจัง”

กิรณกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในการประเมินเรื่อง ESG ขององค์กรเหล่านี้ คือ ต้องการตัวอย่างจริง ขณะที่บ้านปูเพาเวอร์เชื่อว่า ถ้าบริษัทฯ มีการกระตุ้นตัวเองทุกปีโดยใช้เกณฑ์เหล่านี้ ก็จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต และคะแนนในเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ขึ้นกับความเหมาะสม การทำประเมินที่ใช้หลักนี้เป็นการมองไปข้างหน้า ทำให้บ้านปูเพาเวอร์สามารถรับรู้ถึงกระแสที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ก้าวทันกระแส

“อย่างในขณะนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชน มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (degree เพิ่มขึ้นทุกปี) องค์กรเหล่านี้ต้องการตัวอย่างที่ทำให้เห็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องข้อห้าม หรือองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ต้องมีสัดส่วนทั้งเรื่อง เพศ ความสามารถ หรืออื่นๆ เกณฑ์เหล่านี้จะเข้มขึ้นทุกปี และต้องมีการประเมินใหม่ทุกปี ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีการรบกันเกิดขึ้น เรื่องความมั่นคงในการเข้าถึงแหล่งพลังงานกลายเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มมีการพูดถึงความต่อเนื่องในเรื่องซัพพลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นต้น”

ESG เป็น journey ที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ‘ไม่มี magic answer’

กิรณเล่าถึงการเข้าไปดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholders โดยการนำเรื่อง ESG เข้าไปปรับใช้กับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ไปลงทุน เช่น ทางด้านสังคม จะดูว่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนอย่างไร และกิจกรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชนหรือเปล่า ในสหรัฐอเมริกาที่ไปลงทุน Temple I ก่อนบ้านปูไปเป็นเจ้าของก็มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับชุมชนและดูแลชุมชนมาตลอด ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่เกิดพายุหิมะ ในเท็กซัส ทำให้ชุมชนรอบ Temple I มีปัญหาน้ำไฟถูกตัดขาดหมด Temple I เปิดให้ชุมชนแถบนั้นให้คนเข้ามาพักพิงอาศัย หรือเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว ได้ใช้เวลากับการบริหารจัดการเพียงวันเดียว เพราะถือว่ามีทีมบริหารจัดการที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ขณะที่ได้ใช้เวลา 3-4 วันกับการเยี่ยมชุมชนรอบๆ เพราะในฐานะบอร์ดโรงไฟฟ้า เรื่องนี้สำคัญที่สุด ที่โรงไฟฟ้าหงสา ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์กับชุมชนแถวนั้นที่ให้ทั้งเงินและความรู้ มีสหกรณ์ทำผ้าซิ่น ทำน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และยังช่วยเรื่องการทำตลาดไปถึงเวียงจันทน์ กลายเป็นอาชีพเสริม หรือชุมชนเกษตร ช่วยทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญมีตลาดให้ไปขายได้ต่อเนื่อง

“หรือกรณีล่าสุดที่ประเทศญี่ปุ่น ผมไปดูโครงการก่อสร้างแบตเตอรี่ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ผ่าน บ้านปู เน็กซ์ ที่บ้านปู เพาเวอร์ถือหุ้น 50% ในเมืองโตโน จังหวัดอิวาเตะ คือ หากทำโรงไฟฟ้า ขนาด 15 MW อาจต้องตัดไม้ทั้งภูเขา สูญเสียวิว ทัศนียภาพ แต่พอเป็นแบตเตอรี่ฟาร์ม 15 MW ทำให้ใช้พื้นที่นิดเดียว จาก 3,000 เอเคอร์ เหลือ 3,000 ตารางฟุต ทำให้ในพื้นที่สามารถรักษาความสวยงามของเมืองไว้ได้ เรื่องต่อมา เราใช้แบตเตอรี่ของ tesla ที่ต้องนำเข้ามาจากอเมริกา มาที่โยโกฮามา จากนั้นขนส่งไปเมืองโตโน จังหวัดอิวาเตะ ที่ไกลจากโตเกียวพอสมควร โดยใช้บริษัทท้องถิ่นในการขนส่ง และขนส่งได้เฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนรถที่ต้องใช้ในช่วงกลางวัน จากนั้นต้องจ้างบริษัทท้องถิ่นในเมืองโตโนมาช่วยบริหารจัดการการขนส่งและติดตั้ง ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้การบริหารจัดการจากผู้ว่าการเมืองโตโน บริษัทท้องถิ่นแล้ว โครงการนี้ไม่เกิด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการที่สร้างความมีส่วนร่วมในท้องถิ่น

พร้อมยกตัวอย่างการไปดูงานโรงไฟฟ้าอีกแห่งในเท็กซัสที่อยู่ระหว่างการศึกษา หลังจากดูเรื่องบริหารจัดการแล้ว กิรณบอกว่า เวลาส่วนใหญ่คือการคุยกับชุมชนรอบๆ ซึ่งพบว่า ญาติพี่น้องของเขาทำงานในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ แสดงว่าทำให้เกิดการจ้างงาน อันนี้ชัดเจน นอกจากนี้เวลาเกิดภัยพิบัติ พายุเทอร์นาโด โรงไฟฟ้านี้จะมีที่หลบภัยให้ แสดงว่าทีมบริหารของโรงไฟฟ้าที่กำลังเจรจาจะซื้อมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสำคัญมาก และจะทำให้มันเกิดขึ้นต่อไป

“ฉะนั้น การทำธุรกิจของกลุ่มบ้านปู เพาเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แบตเตอรี่ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ความสัมพันธ์กับชุมชนในเรื่องการจ้างงาน การสร้างธุรกิจ การต่อยอดธุรกิจให้กับชุมชน รวมไปถึงการรักษาธรรมชาติ เป็นเรื่องสำคัญมาก และเราทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนมีคำว่า ESG เกิดขึ้น ผมอยู่อินโดนีเซียมา 5 ปี ตำแหน่ง CEO โรงไฟฟ้าถ่านหิน เราดูแลชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม เราทำมากกว่า ดีกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก จนมีคนชมบ้านปูว่า คุณมี license to operate ในทุกที่ เรื่อง ESG จะใช้คำว่าอยู่ใน DNA ของบ้านปูทั้งกรุ๊ปก็ว่าได้”

กิรณบอกว่า เรื่อง ESG เป็น journey คือไม่มี silver bullet หรือยาวิเศษ ไม่มี magic answer แต่เป็น journey ที่ต้องค่อยๆ ทำไป ปัจจุบัน มีกำไรจากการทำธุรกิจที่มีอยู่ และไม่ลงทุนในอะไรก็ตามที่ไม่ตอบโจทย์ ESG แล้วเอากำไร เอาเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมค่อยๆ เปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอ ค่อยๆ ใส่ของใหม่เข้ามา

“ของใหม่อาจจะมีกำไรไม่ค่อยดี จะไปได้แน่หรือเปล่า ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการลงทุน มันถึงเรียกว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน หรือ transition ผมถึงชอบใช้คำอุปมาที่ว่า ถ้าน้ำแดงหวานเกินไป ก็เติมน้ำเปล่า หรือเป็นคนชอบกินเนื้อ พรุ่งนี้ถ้าให้กินวีแกนเลยอาจช็อกตายได้ จึงจำเป็นต้องมี journey ของการเปลี่ยนผ่านขึ้นมา และระหว่างทางอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มาช่วยเราได้ บางอย่างอาจจะออกมาพรุ่งนี้ ออกมาปีหน้า เราไม่มีทางรู้ มีวิธีเดียวคือต้องเกาะกระแสไปเรื่อยๆ และแม้ว่าธุรกิจพลังงานจะมีแรงกดดันเยอะ แต่ท้ายที่สุด เราต้องมีความเชื่อว่าคนยังต้องใช้พลังงาน เพียงแต่ต้องเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น greener และ smarter แต่ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ที่สำคัญ แหล่งเชื้อเพลิงมีความต่อเนื่อง และมีหลายทางเลือก สุขภาพที่ดีมาจากการกินวิตามินก็ได้ หรือกินแต่ผักผลไม้ที่ราคาถูกกว่าก็ได้ ออกกำลังกายไม่ต้องเสียเงิน คือมีหลายอย่างที่ประกอบกัน แต่ก็ยอมรับว่าภาคพลังงานจะถูกกดดันเยอะ ยิ่งช่วงนี้ราคาพลังงานสูง และมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องการสื่อสาร อย่างการรายงานข้อเท็จจริง จึงไม่ใช่งานที่เพิ่มขึ้นมา แต่เป็นโอกาสให้ทำให้สามารถสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคงมากขึ้น”

‘สามเหลี่ยมพลังงาน’ ความสมดุลของความเป็นจริง

กิรณเล่าถึงภาพรวมว่านโยบายพลังงานของประเทศใดประเทศหนึ่ง ธุรกิจโรงไฟฟ้า จะต้องมีความสมดุลระหว่างเรื่อง ESG และสิ่งที่เรียกว่า สามเหลี่ยมพลังงาน คือ 1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำ 2. ราคาเชื้อเพลิง มีความคุ้มค่าต่อการเอาผลิตไฟฟ้าหรือไม่ 3. ความมั่นคงของการเข้าถึงแหล่งพลังงาน (security of supply) แต่ละภูมิประเทศของโลกจะมีการเข้าถึงเชื้อเพลิงไม่เหมือนกัน

“ผมเพิ่งกลับจากอเมริกา บ้านปูมีการทำ due diligence โรงไฟฟ้าในอเมริกาเพิ่มอีกแห่งในเท็กซัส ทำไมดูเท็กซัส ทำไมดูโรงไฟฟ้าแก๊ส ก็เพราะว่าที่อเมริกา โดยเฉพาะที่เท็กซัสมี Shale Gas เยอะมาก ความมั่นคงของแหล่งเชื้อเพลงเยอะมากไปอีกร้อยปี มีราคาที่เหมาะสม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ โรงไฟฟ้าแก๊สจึงเหมาะกับเท็กซัส แต่ถ้าถามว่า ถ้าไปดูในประเทศอื่น อาจไม่เหมือนกัน บางประเทศต้องนำเข้าแก๊ส และราคาแก๊สอาจจะแพง หรือเรื่องพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีสายลม แสงแดดดี กับประเทศที่มีหิมะตกปีละ 6 เดือน นี่คือความมั่นคงของการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่อาจจะมีต้นทุนพลังงานหมุนเวียนเป็นศูนย์ ลมฟรี แดดฟรี แต่อาจไม่ได้สม่ำเสมอ”

ถ้าเราดู 3 เรื่องนี้ จะเห็นว่า ในส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน คงเป็นไม่ได้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะซัพพลายถ่านหิน 100% แต่ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะซัพพลายด้วยแก๊ส 100% หรือพลังงานหมุนเวียน 100% จึงต้องมีความสมดุลของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ว่าประเทศนั้นอยู่จุดไหน มีรายได้เท่าไหร่ มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร แล้วมาดูว่า พลังงานอะไรที่เหมาะสม ราคาเชื้อเพลิงเป็นอย่างไร การเข้าถึงเชื้อเพลงอย่างยั่งยืนในระยะยาวเป็นอย่างไร

“ฉะนั้น การเข้าไปลงทุนในแหล่งพลังงานที่ใดที่หนึ่ง นอกเหนือจากการทำตามกรอบ ESG จะมีเรื่องสามเหลี่ยมพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้อง สหรัฐอเมริกาในแถบตะวันออกเฉียงเหนือที่หนาวจัด สามเหลี่ยมพลังงานจะมีสัดส่วนแตกต่างกับเท็กซัส ทั้งที่อยู่ในประเทศเดียวกัน เพราะมีการเข้าถึงเชื้อเพลิงแต่ละแบบไม่เหมือนกัน การทำเรื่องพลังงานในวันข้างหน้าจึงจำเป็นต้องมีเรื่องความสมดุล ขณะที่แต่ละโรงไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีด้วย อย่างโรงไฟฟ้า BLCP ที่ระยองของบ้านปู เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับราคาเชื้อเพลิง ราคาพลังงานโลกในปัจจุบัน ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่เรียกได้ว่า มีความคุ้มค่าต่อการนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างมาก และมีการเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิงไม่ยากลำบาก”

โลกเปลี่ยน ความท้าทายด้านพลังงานเปลี่ยน?

อย่างไรก็ตามด้วยโลกที่ซับซ้อนและยากจะคาดเดา จึงเป็นความท้าทายของทุกธุรกิจ กิรณบอกว่า “ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การทำแผนระยะสั้น คือ 1 ปี ระยะปานกลาง 3 ปี และระยะยาวคือ 5 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน แผน 5 ปีแทบไม่มีใครมอง มองไม่ได้ ใครมองภาพ 5 ปีออก ถือว่าเก่งมากๆ ตอนนี้แผนระยะสั้นอาจจะหมายถึง 3-6 เดือน ไม่ใช่ 1 ปีแล้ว แผนระยะยาวสูงสุดอาจจะ 2-3 ปี ฉะนั้น ความท้าทายของธุรกิจ คือ ระยะสั้นมันสั้นกว่า 1 ปี แล้วก็ผันผวนมาก ไม่ต้องพูดถึงระยะปานกลางหรือระยะยาว แม้จำเป็นจะต้องมีก็ตาม แต่ความแม่นยำจะลดลง นี่คือข้อเท็จจริง”

สำหรับธุรกิจพลังงานจะเห็นว่า วันนี้เมื่อปีที่แล้วก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทุกอย่าง green เท่านั้น ในสามเหลี่ยมพลังงาน วันนี้ในปีก่อนทุกคนพูดถึงแต่สิ่งแวดล้อม แต่นี้หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่ว่า ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงอยู่ และไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ หรือปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวัน ได้ทำให้ความมั่นคงในการเข้าถึงแหล่งพลังงานถูกพูดถึงเป็นอันดับแรก การกำหนดนโยบายการลงทุนของธุรกิจจะซับซ้อนมากขึ้น ไม่รวมเรื่องที่ว่าหลังจากสงคราม ได้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นอีก เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก และสิ่งที่นโยบายภาครัฐมักจะทำเมื่อเกิดเงินเฟ้อ คือ ขึ้นดอกเบี้ย ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ทำให้การวางแผนการลงทุนในระยะข้างหน้ามีปัจจัยหลากหลาย ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ตัดสินใจวันนี้อยู่กับมันไปอีกไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี

“มันเป็นความท้าทาย แต่ก็เป็นความสนุก และถ้าเราสามารถเชื่อ มีวิสัยทัศน์ในเรื่องพลังงานว่า คนยังต้องใช้พลังงาน…”

พร้อมแนะนำบริษัทอื่นๆ ที่อยากจะเริ่ม ESG ว่าดูเรื่องยุทธศาสตร์ที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ หลายเรื่องทำได้เลย แม้กระทั่งธุรกิจเล็ก ยอดขายปีละไม่มาก อย่างเรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้า มีการบริหารจัดการเรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร หรือเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หากจะบอกว่า ออฟฟิศเล็กๆ มีคนแค่ 10-20 คน แล้วมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานดีพอหรือยัง มาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการทำงาน อาจจะคิดว่าไม่คุ้มลงทุนเพราะมีคนแค่ 20 กว่าคน แต่คนเหล่านี้เป็น human capital ขององค์กร องค์กรมีการพัฒนาเขาอย่างไร จูงใจกับเขาอย่างไร เป็นธรรมกับเขาหรือไม่

“จะบอกว่า ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัว พอมองเรื่อง ESG ที่คนทั่วโลกพูดกัน องค์กรใหญ่ก็พูดเรื่องนี้ เราองค์กรเล็กๆ น่าเป็นเรื่องไกลตัว จริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถปรับมาใช้ได้เลย ไม่ว่าองค์กรเล็ก สตาร์ตอัพ บอกได้เลยว่าสามารถปรับเอาเรื่อง ESG มาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจทั้งหมด”