ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > กสิกรไทยกับเส้นทาง ESG … Do Good, Do Well, Do Together แล้วในที่สุด Do More

กสิกรไทยกับเส้นทาง ESG … Do Good, Do Well, Do Together แล้วในที่สุด Do More

31 มีนาคม 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ธนาคารกสิกรไทย ประกาศนโยบายการดําเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2557 โดยในปี 2564 ตั้งเป้าการปลอยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ล่าสุดมีการเปิดตัวโครงการ GO GREEN TOGETHER ด้วยการปล่อยสินเชื่อ GREEN ZERO สำหรับผู้ต้องการซื้อบ้านที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ หรือซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในอีกหนึ่งเป้าหมายของธนาคาร ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโออีกด้วย และเป็นคำมั่นสัญญาในการเดินหน้า ESG อย่างต่อเนื่อง

เชื่อมธุรกิจแบงก์ ควบคู่ ESG

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ กล่าวถึงการเริ่มต้นทำเรื่องความยั่งยืนว่าเคแบงก์เติบโตควบคู่กับกิจกรรมทางสังคมมาต่อเนื่อง ศัพท์อาจจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เคแบงก์ทำไม่เคยเปลี่ยน มาถึงยุคความยั่งยืน ก็ตีโจทย์ว่าธนาคารเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ธนาคารเป็นเรื่องของเงิน เงินไปถึงตรงไหน ความเจริญไปถึงตรงนั้น

แต่เวลาใส่คำว่า “ยั่งยืน” ลงไป มันมีความหมายมาก เพราะไม่ใช่เรื่องการทำกำไรอย่างเดียว แต่ต้องทำให้กิจการเจริญ แล้วใช้ความเจริญนั้นรักษาความเจริญให้ได้ และส่งต่อความเจริญนั้นไปเรื่อยๆ นั้น คำว่า Sustainable หรือ ESG จึงเป็นศัพท์ที่ตามมา และเป็นธีมหลักในช่วงนี้

“สิ่งที่เคแบงก์ย้ำกันมาก คือ 3 Do คือ Do Good คือทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน ก็มีการให้กู้คนตัวเล็ก ไม่ปล่อยกู้โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการปล่อยกู้สร้างเขื่อนก็ต้องคุยว่าจะเป็นเขื่อนแบบไหน ซึ่ง Do Good ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ก็ต้อง Do Well ด้วย คือ ต้องมีกำไร ถ้าทำทั้งสองด้านนี้ได้ก็ต้อง Do Together ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน หรือ stakeholders เป็นความเจริญที่ทำคู่กัน ท้ายสุดก็จะเกิด Do More”

นายกฤษณ์ กล่าวว่า เรื่อง ESG ทั้ง Environment, Social, และ Governance ธนาคารจะไม่แยกกันทำเหมือนกิจกรรมเพื่อสังคมก่อนหน้านี้ แต่นำแนวคิดนี้มาเชื่อมกับการจัดการธุรกิจของธนาคาร อาทิ การปล่อยสินเชื่อ มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อกรีน 1 แสนล้านบาทภายในปี 2573 ถือเป็นเป้าที่ใหญ่ คือ 10% ของพอร์ตสินเชื่อ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้เห็นว่าธนาคารเอาจริงกับเรื่องนี้ สำหรับปี 2565 วางเป้าปล่อยสินเชื่อกรีน 2 หมื่นล้านบาท ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเอสเอ็มอี เป็นต้น รวมทั้งมีแคมเปญที่จะชวนลูกค้ามาใช้ชีวิตที่เป็นกรีนได้ง่ายขึ้น

“เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อกรีนจะมีความชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ไหน จะไปทำอะไร อย่างไร ตั้งแต่ลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า ปล่อยระดับพันล้านบาท มาจนเอสเอ็มอี ที่ขอกู้เพื่อปรับปรุงการใช้ไฟฟ้าในโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ติดโซลาร์รูฟทอปไปจนถึงลูกค้าที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย มีการพูดคุยกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยว่า ถ้าทำโครงการที่เป็นกรีนตั้งแต่ต้นเลยได้หรือไม่ ธนาคารพร้อมจะให้สินเชื่อเพิ่ม ลูกค้าที่มาซื้อบ้านจะได้ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมเพราะมีโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรียบร้อย เป็นต้น”

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ตั้งบอร์ดกลั่นกรอง “ESG” ก่อนให้กู้

ในด้านการคัดเลือกโครงการเพื่อปล่อยสินเชื่อกรีน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม นายกฤษณ์กล่าวว่า โรงงานที่ถูกตั้งคำถามเรื่องสิ่งแวดล้อม เคแบงก์จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ดูเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ กรรมการชุดนี้จะดูว่า โรงงานผ่านเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลหรือไม่ จึงจะปล่อยให้ไปพิจารณาเรื่องสินเชื่อต่อได้ ฉะนั้น อุตสาหกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะใช้กระบวนการนี้พิจารณา ใครไม่ผ่านก็เดินต่อไม่ได้ การพิจารณาจะใช้เลนส์ที่เป็นมาตรฐานสากลไปส่องดู ว่าสารที่ปล่อยจากโรงงานเป็นอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องผ่านมาตรฐาน EIA

สิ่งที่ธนาคารโฟกัสมาตลอด คือ โปรเจกต์ไฟแนนซ์ในอุตสาหกรรมที่เป็นที่ถกเถียง หรือ controversial มี stakeholders หลายด้าน เช่น โรงเผาขยะที่อาจจะถูกมองได้ว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าทำให้ถูกมาตรฐานจะดีมาก แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องใช้มาตรฐานสากลมาประเมิน หรือการสร้างเขื่อน ที่มีคำถามมากมายและเป็นโครงการที่ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงกัน เพราะพูดแล้วไม่จบ แต่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ต้องหยิบมาพิจารณา เพราะในแง่การลดการปล่อยคาร์บอน เขื่อนเป็นคำตอบที่ดีมากในการสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่ในแง่ผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น จะดูแลป่าอย่างไร ดูแลชีวิตผู้คนอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งหมด สามารถทำสองเรื่องคู่ขนานกันได้หรือไม่ แต่ที่ชัดเจนสุด คือ ไม่ปล่อยกู้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

“นี่เป็นตัวอย่างของความพยายามในการนำเรื่องธุรกิจกับเรื่อง ESG มาเป็นเรื่องเดียวกัน พยายามนำเรื่องเหล่านี้เข้ามาใช้ในการตัดสินใจของธนาคาร ทำคู่ขนานกันไป และผมคิดว่า ถ้าทำเป็นเรื่องเดียวกันได้ ความเจริญก็เกิดขึ้นได้”

ขณะเดียวกันก็ดูแลให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดี คู่กันไปด้วย แต่หากมีประเด็นก็ต้องพูดคุยถกกัน อย่างเรื่องเขื่อน เป็นประเด็นที่ถกกัน ไม่ใช่เฉพาะในไทย ประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ก็ต้องคุยกันว่าแบบไหน โอเค แบบไหน ที่ไม่โอเค แล้วมาตรฐานคืออะไร การปฏิเสธไม่ให้สร้าง แล้วบอกว่ามันผิด ทั้งที่เห็นว่า พลังงานจากน้ำในเขื่อน ถ้าสามารถสร้างมาตรฐานที่มีเหตุมีผล เป็นแหล่งการลดคาร์บอนได้ดีมาก แต่พอพูดอย่างนี้ก็จะมีคนยกมือ บอกว่าไม่จริง ก็มาคุยกัน เงื่อนไขที่จะทำให้จริงคืออะไร จุดที่พอจะยอมรับกันได้อยู่ตรงไหน ในมุมผมคือควรจะชวนกันคุยว่าอะไรบ้าง เพื่อร่วมกันหาคำตอบ อย่าไปตัดอะไรทิ้งง่ายๆ อย่ามองด้านเดียว”

ชวนลูกค้าร่วมวง ESG “Do Well – Do Good”

นายกฤษณ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องชวนลูกค้าของธนาคารให้มาสนใจเรื่อง ESG ด้วย เช่น เคแบงก์บอกว่า ต่อไปหากจะมีการลงทุน จะขอใช้มาตรฐานใหม่ เช่น ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าต้องได้มาตรฐาน ถ้าเป็นลูกค้าที่โตมาแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มนี้ชวนไม่ยาก แต่ลูกค้าบางราย รวมถึงเอสเอ็มอีที่ยังต้องประคองธุรกิจอยู่ ยอมรับว่าชวนยาก อาจจะไม่อยากลงทุนในเรื่องกรีนมากขึ้น จึงต้องหาสูตรที่ช่วยลูกค้า ให้ Do Well ก่อนได้หรือไม่ หรือดีที่สุดชวนเขาทำทั้งสองอย่าง คือ Do Well และ Do Good ทำให้เกิดการยอมรับ ซึ่งกลไกปัจจุบันก็พยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และน่าเห็นใจธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ที่มีความท้าทายตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด-19 จนมาตอนนี้เจอปัญหาราคาน้ำมันสูง ก็ยิ่งท้าทายมากขึ้น แค่ประคองตัวให้รอดให้หนักหนาสาหัสแล้ว สำหรับเอสเอ็มจึงต้องทำให้เขา Do Well ให้ได้ก่อน ดีที่สุดคือ Do Good กับ Do Well ไปด้วยกัน

“เรื่องพวกนี้ทำคนเดียวไม่ได้ เหมือนเราอยากเปิดขายสินค้าที่กรีนมากๆ แต่ไม่มีลูกค้า ไม่มีใครสนใจก็ไม่ได้ ก็พยายามมีแคมเปญชวนลูกค้าเข้ามา ไล่มาตั้งแต่ลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี ไปจนถึงลูกค้าที่เป็นบ้าน”

นายกฤษณ์กล่าวว่าการทำ ESG หากมีเป้าหมาย ESG ที่ชัดเจน เช่น ประเภทอุตสาหกรรม ขนาดธุรกิจ กลุ่มผู้บริโภค ที่จะให้ green finance เมื่อเป้าหมายชัดเจน กลไกการทำงานก็จะเกิดขึ้น คนรับผิดชอบจะตามมา จากนั้นความคืบหน้าในแง่ตัวเลขจะเกิดขึ้น

แนะ ธปท. เปิดทางแบงก์ดูแลคนตัวเล็ก

ในด้านการดูแล stakeholders แต่ละกลุ่มนั้น อันดับแรกหนีไม่พ้นการดูแลผู้ถือหุ้นซึ่งคาดหวังกำไรจากการลงทุน แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้ได้เฉพาะเงิน แต่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีความหมายมากกว่า คือสังคมยั่งยืนด้วย ขณะที่ stakeholders ที่สำคัญต่อมา คือลูกค้า ซึ่งธนาคารจะถูกตั้งคำถามมาตลอดเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion) ของลูกค้า ว่าได้พยายามมากน้อยเพียงไรที่จะให้โอกาสแก่คนตัวเล็กๆ ต้องยอมรับว่า เดิมเคแบงก์ไม่เข้าใจคนตัวเล็ก เช่น ถ้าจะกู้เงิน ต้องมีสลิปเงินเดือน หรือสเตตเมนต์ หรือหลักทรัพย์ ถึงจะกู้ได้ แต่ถ้าไม่มีจะตัดคนพวกนี้ทิ้งเลยหรือ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีสินเชื่อคนตัวเล็ก และปี 2564 ที่ผ่านมา คนที่เข้าถึงสินเชื่อคนตัวเล็กมีเกือบ 1 ล้านราย เป็นอีก stakeholders ที่สำคัญ และอาจจะมีหนี้เสีย แต่ก็ต้องเรียนรู้กันไป อย่างน้อยธนาคารได้พยายามที่จะเปิดประตูให้คนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อ จากแต่เดิมเขาต้องไปกู้นอกระบบ หรือกู้รูปแบบอื่นๆ

ถัดมาเป็น stakeholders ที่สำคัญอีกราย คือ ผู้กำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ด้านหนึ่งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน การเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่ให้เกิดหนี้เสีย ต้องดูความเสี่ยง อะไรคือจุดสมดุล ธนาคารควรเป็นผู้หาจุดสมดุลเองหรือไม่ ทดลองเอง บางโจทย์ ธปท. ถอยมายืนข้างๆ บางครั้งก็สนับสนุนแบงก์ว่า ยังมีบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ทำไมธนาคารไม่เข้าไปทำ ทำไมน็อนแบงก์ทำได้ ทำไมมีการให้กู้นอกระบบ เป็นต้น ผู้กำกับดูแลจึงเป็น stakeholders ที่สำคัญ และควรเปลี่ยนจากผู้กำกับดูแลมาเป็นผู้ที่คอยผลักให้ธนาคารไปเล่นในสนามที่ไม่เคยเล่น สนับสนุนให้ธนาคารกล้าให้บริการในกลุ่มที่ไม่ค่อยรู้จัก โดยใช้ข้อมูลจากดิจิทัลที่มีอยู่มากมายให้ธนาคารสามารถทำความรู้จักกับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยร่วมกันหาจุดสมดุลต่อการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไปด้วย ถ้าลูกค้ายินยอมให้ธนาคารรู้จักในรูปแบบต่างๆ ก็จะได้ประโยชน์ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แต่ถ้าธนาคารไม่รู้จักลูกค้า ก็จะกลับไปเหมือนเดิม คือลูกค้าต้องเอาสลิปเงินเดือน สเตตเมนต์มาให้ก่อนจึงจะกู้ได้

“stakeholders ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ผู้กำกับดูแล ลูกค้า แต่ถ้าเรียงลำดับความสำคัญ สำหรับแบงก์ ลูกค้าสำคัญที่สุด จะดูแลลูกค้าอย่างไร จะให้โอกาสกับลูกค้าเราอย่างไร ธุรกิจแบงก์อาจจะถูกมองได้เสมอว่าเอาเปรียบ คิดดอกเบี้ยแพง ปล่อยอันโน้น ไม่ปล่อยอันนี้ สิ่งสำคัญคือเราทำให้เห็น ทำให้ดู มีการให้สินเชื่อคนตัวเล็ก เมื่อก่อนเราปล่อยไม่เป็น เวลานี้เริ่มปล่อยแล้ว และจะปล่อยมากขึ้น และถ้าทุกแบงก์คิดแบบนี้ จะดีกับลูกค้า ยิ่งมีการแข่งขัน ดอกเบี้ยก็จะต่ำลง”

เรื่อง ESG ทำได้ ไม่ต้องรอ

นายกฤษณ์ยังชักชวนให้คนไทย สังคมไทย หันมาพูดคุยถกเถียงกันมากขึ้นในคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ESG เช่น การสร้างเขื่อน รถยนต์ไฟฟ้า โรงงานเผาขยะเป็นต้น เพื่อให้ ESG เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการวางเป้าหมาย มีผู้รับผิดชอบ มีการติดตามผลที่เป็นตัวเลขชัดเจน ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด และไม่ต้อง “รอ” ที่จะทำ อย่างเคแบงก์ประกาศ ESG เรื่อง Net Zero เพื่อก้าวเดินไปได้ก่อน แม้จะยังมีอะไรที่ไม่ชัดเจนบ้าง ไม่สมบูรณ์บ้าง แต่ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่รู้ได้ แต่จะทำทั้งหมดได้ต้องพูดเป็นภาษาตัวเลขที่วัดได้ อย่าพูดเป็นเรียงความอย่างเดียว แล้วชวนกันไปทำ จูงมือกันไป อย่ารอ สุดท้าย ตัวเลขจะฟ้องว่าเคแบงก์ทำได้จริงหรือไม่

“เรื่อง ESG ขอให้ได้เดินก่อน ก้าวเล็กก้าวใหญ่ก็เดินกันไปก่อน มันอาจจะไม่สมบูรณ์ หรือรัฐบาลไม่ได้พูดทุกอย่างชัดเจน แต่บนสิ่งที่ทุกคนรู้ เชื่อว่าทุกคนขยับตัวเองได้หมด หน้าที่ของแบงก์คือทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นอย่างไร และจะดูทั้ง ecosystem เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็หาพันธมิตรเพิ่มเติม เรื่องโซลาร์ ก็จะมีพันธมิตรออกมาชวนกันทำโน่นนี่ เพื่อปักหมุดให้แต่ละก้าวเดินไปสู่เป้าหมายได้ สังคมเราก็จะเป็นสังคมที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลงไปเรื่อยๆ มีความเจริญคู่ไปกับความสะอาด เป้าหมาย 40 ปี (ของการก้าวสู่ Net Zero ของประเทศ) จะมีความหมาย เพราะแต่ละปีมีความก้าวหน้า”

นายกฤษณ์ยกตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่คึกคักขึ้นจากที่รัฐบาลเริ่มสนับสนุน ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีมาก มีการให้แรงจูงใจ ทำให้คนซื้อรถได้ง่ายตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และแบงก์มองไปไกลกว่า เรื่องรถ โดยจะมองทั้ง ecosystem คือ สถานีชาร์จไฟ หากยอดขายเพิ่มขึ้น จะมีที่ชาร์จไฟเพียงพอไหม อีกทั้งการเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า กรีนจริงหรือไม่ พลังงานในประเทศมาจากแก๊สเท่าไหร่ กระบวนการผลิตแก๊สเป็นอย่างไร วิธีไหนกรีนที่สุด เป็นต้น

“บริษัทใหญ่ๆ นโยบายเรื่อง ESG ดีหมด แต่ต้องแปลงออกมาเป็นตัวเลข ว่าตกลงทำแล้ววัดคาร์บอนที่แต่ละปีปล่อยออกมาเท่าไหร่ ทำแล้วเหลือปีละเท่าไหร่ ตกลงทำได้แค่นี้ หรือทำอะไรได้อีก ถ้าซีอีโอทุกบริษัทมีคำถามนี้ไปจ่อตลอด ก็ต้องพูดตัวเลขออกมา แล้วมันจะเป็นคอมมิตเมนต์ที่จะออกมาเป็นการปฏิบัติ หรืออย่างเรื่อง Net Zero บ้านเราคอมมิตว่าภายในปี 2065 คืออีก 43 ปี ยาวนานมาก ข้อเสียคือ เป็นการส่งต่อให้รุ่นต่อไปมาทำ ฉะนั้น ต้องถอดมาเป็นเป้าระยะสั้นให้ได้ เป้า 3 ปี 5 ปี ที่สำคัญ คือ อย่าไปทำตามคนอื่น ให้ทำในบริบทของประเทศไทย เอาตัวเราเอง ลูกหลานเรา มันเห็นโจทย์อยู่แล้วว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมอย่างไร เห็นสภาพรถติด ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ คำถามที่ต้องช่วยกันตอบคือ เราอยากให้ประเทศไทยทำอะไรบ้าง ที่ผ่านมาเราทำดีพอหรือยัง คำตอบของผมคือ เรายังทำไม่ดีพอ”

นายกฤษณ์มองว่ามาตรฐานการอย่างยั่งยืนของสากล หากจะนำมาใช้ต้องปรับให้สอดรับกับบริบทของประเทศไทย สามารถถกเถียงกันได้หมด แต่สุดท้ายต้องมี “ตัวเลข” โชว์ให้เห็น เพราะอะไรที่ยาก มักเป็นต้นทุนมหาศาล แต่ก็ต้องทำ เพราะเชื่อว่าความเจริญกับความยั่งยืนต้องมาคู่กัน ถ้าจะเอาความยั่งยืนมาถ่วงทำให้ไม่เจริญก็ไม่เห็นด้วย

“ผมอยากชวนทุกคนว่าเอาโจทย์นั้นมาอยู่ในมือเราเถอะ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราชวนสังคมให้มาทำเรื่องที่ใกล้ตัว ทำก่อน อย่าไปรอ ธนาคารก็เหมือนกัน เราก็อยากทำก่อน มาตรฐานสากลบางอย่างที่ดีก็เอามาใช้ บางอย่างที่ไทยยังไม่พร้อมก็อย่าเอามาใช้ คือไม่วิ่งตามคนอื่นหมด แต่ก็อย่าปฏิเสธทุกอย่าง”

สำหรับเคแบงก์ นายกฤษณ์กล่าวว่า เคแบงก์จะไม่หยุดตั้งโจทย์เรื่อง ESG เวลานี้วิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว ก็จะวิ่งต่อ และจะชวนคนอื่นมาวิ่งด้วยกัน และคณะกรรมการธนาคารมีพลังมากในด้านนี้ เพราะเห็นสอดคล้องกันว่า เวลานี้เคแบงก์ Do Well ระดับหนึ่ง และเอาสิ่งที่ Do Well ไป Do Good เพื่อที่จะ Do Well ต่อได้ต่อเนื่องกันไป ระหว่างทางก็มีการวิ่งออกนำคนอื่น เราไม่รอ และมีการคอมมิต

เพราะคิดว่า การพูด แล้วทำ แล้วเอาผล(ตัวเลข)มาโชว์ เป็นเรื่องจำเป็นมาก และถ้าใครเห็นต่าง ไม่เห็นด้วย ก็อธิบาย อธิบายแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอโอกาสอธิบายใหม่ ทุกคนมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ที่คุยแล้วไม่มีใครได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวหมด แต่จะทำให้เกิดการพูดคุยบนภาษาที่เดินไปข้างหน้าได้ ถ้าชวนคุยกันแบบนี้ได้ ก็จะขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้

“ประเด็นที่จะฝาก คือแต่ละบริษัทมีบทบาทในกลไกของสังคมแตกต่างกัน แต่ทุกคนเริ่มได้ ESG ไม่ได้เกี่ยวกับแบงก์ หรือคนใดคนหนึ่ง ทุกคนเริ่มได้จากมุมของตัวเอง รายใดที่อยู่ในระบบนิเวศน์ที่มีเรื่องพวกนี้เยอะ ก็อาจจะต้องพูดทุกอย่างเป็นตัวเลขมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขที่เสนอคณะกรรมการสำคัญที่สุด เพราะในเคแบงก์ ผมโดนมาแล้ว บอร์ดจะบอกให้แปลงเป็นตัวเลขให้เข้าใจว่าที่ทำแปลว่าอะไร ถ้าพูดเป็นภาษาตัวเลขได้ ในที่สุดจะเกิดความเป็นเจ้าของ เมื่อรู้สึกเป็นเจ้าของ ก็จะมีการลงมือปฏิบัติ อย่าให้ 2 เส้นของการทำธุรกิจ กับ ESG ไปคนละทาง ให้เอามาประกบรวมกันจะเกิดพลังมากที่สุด และเหมือนเดิม คือ Do Good , Do Well , Do Together แล้วในที่สุด Do More แน่นอน”