ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > Boston Common Asset Management รวมพลังผู้ถือหุ้น เรียกร้อง Netflix เปิดตัวเลขค่าใช้จ่ายในการล็อบบี้

Boston Common Asset Management รวมพลังผู้ถือหุ้น เรียกร้อง Netflix เปิดตัวเลขค่าใช้จ่ายในการล็อบบี้

30 พฤศจิกายน 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

ประเด็นด้าน ESG (Environment Social Governance) ที่นักลงทุนนำมากดดันหรือเสนอให้บริษัทดำเนินการในแต่ละการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี อาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันได้ ตามที่ผู้ถือหุ้นเห็นว่าเหมาะสม แต่ในปี 2565 การเปิดเผยเรื่องการล็อบบี้(Lobby)ขององค์กรยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วน ในข้อเสนอของผู้ถือหุ้น[1] โดยมีกลุ่มพันธมิตรของนักลงทุนยื่นมติต่อ 40 บริษัท ซึ่งจากข้อเสนอทั้งหมด 40 ข้อเสนอ มี 21 ข้อเสนอที่มีการลงคะแนนเสียงแล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนเฉลี่ย 34.7% โดยข้อเสนอที่ The Travellers Companies และ Netflix ได้รับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ขณะที่ 14 ข้อเสนอมีการตกลงกันได้ระหว่างผู้เสนอกับบริษัททำให้มีการถอนข้อเสนอออกไป ส่วนอีก 2 ข้อเสนอไม่มีการดำเนินการเนื่องจากข้อบกพร่องในการยื่น และอีก 3 ข้อเสนอกำหนดที่จะลงคะแนนในช่วงครึ่งหลังของปี

ข้อเสนอปี 2565 มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญในการเปิดเผยการจ่ายเงินวิ่งเต้น(Lobby)ด้วยเงินที่ไม่สามารถหาที่มาที่ไปได้หรือเรียกว่า Dark Money ทั้งหมด รวมถึงการจ่ายเงินวิ่งเต้นตรงกับรัฐบาลกลางและรัฐ นอกจากมีเรื่อง dark money แล้ว ข้อเสนอยังตั้งข้อสังเกตถึงการสนับสนุนกลุ่มที่ล็อบบี้ต่อต้านนโยบายที่บริษัทแห่งหนึ่งสนับสนุนอย่างเปิดเผย สะท้อนการล็อบบี้ที่ไม่สอดคล้องกันในเรื่องสภาพอากาศ ความยุติธรรมทางเชื้อชาติ สิทธิในการออกเสียง สิทธิของคนงาน ราคายา ภาษีนิติบุคคล และโครงสร้างพื้นฐาน

การล็อบบี้ขององค์กรขยายวง การเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นน้อยมาก

การล็อบบี้ขององค์กรส่งผลกระทบต่อทุกด้านของเศรษฐกิจ ในปี 2019 และ 2020 บริษัทต่างๆ และกลุ่มผลประโยชน์ใช้เงิน 7 พันล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้รัฐบาลกลางในประเด็นต่างๆ เช่น พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร การประกันภัย และแทบทุกประเด็นทางเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล และอย่างน้อยใช้เงินอีก 3.5 พันล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้ในเมืองหลวงของรัฐ การล็อบบี้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลที่มีคุณค่าแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ แต่ยังสามารถนำไปสู่การใช้อิทธิพลจนเกินควร (Undue Influence) การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม( unfair competition) และการยึดกุมกลไกกำกับดูแล (Regulatory Capture) นอกจากนี้ การวิ่งเต้นอาจเป็นช่องทางในการระดมทุนของบริษัทและชักจูงไปสู่หัวข้อที่มีการโต้เถียงกันสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อชื่อเสียงได้

แม้การล็อบบี้ขององค์กรขยายตัวอย่างแพร่หลาย แต่มีเพียง 8% ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 1,000 แห่งของโลกที่รายงานการใช้จ่ายในการล็อบบี้ต่อนักลงทุน และเมื่อบริษัทต่างๆ จ่ายเงินโดยไม่เปิดเผยแก่กลุ่มเงินมืดเพื่อชักจูงนโยบายสาธารณะอย่างลับๆ การล็อบบี้แบบ “astroturf”(การทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าคนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นหรือจุดยืนร่วมกัน) จะสร้างความเสี่ยงทางกฎหมาย การเงิน และชื่อเสียงให้กับผู้ถือหุ้น

การล็อบบี้ด้วย dark money ที่ไม่เปิดเผยมี “อย่างน้อยสองเท่าของรายงานที่เปิดเผย” ในปี 2560 สมาคมการค้าและกลุ่มสวัสดิการสังคมใช้เงิน 535 ล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้ที่เปิดเผย และ 675 ล้านดอลลาร์สำหรับความพยายามที่ไร้การกำกับดูแล เพื่อโน้มน้าวนโยบายสาธารณะ รวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ การโฆษณาทางโทรทัศน์ การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ โพสต์บนโซเชียลมีเดีย การสำรวจความคิดเห็นและสนับสนุนทางการเงินให้กับแคมเปญชวนเชื่อ(astroturf)

การระดมทุนขององค์กรสำหรับแคมเปญชวนเชื่อหรือ astroturf นั้นแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่การเปิดเผยการจ่ายเงินของบริษัทที่สนับสนุนกิจกรรมนี้มีน้อย ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Amazon, Alphabet และ Meta ให้ทุนแก่ TA และ SWG หลายร้อยรายในแต่ละปี แต่ไม่สามารถเปิดเผยการจ่ายเงินของพวกเขาที่ให้แก่กลุ่ม dark money ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบต่อต้านการผูกขาด เช่น American Conservative Union, National Taxpayers Union และ Taxpayers Protection Alliance

Boston Common Asset Management ถามหาความโปร่งใสจาก Netflix

การเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินกับการล็อบบี้เป็นส่วนหนึ่งของความโปร่งใสขององค์กร ด้วยเหตุนี้ Boston Common Asset Management แกนนำ กลุ่มนักลงทุนของ Netflix ได้ยื่นข้อเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อให้บริษัทมีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับการล็อบบี้และการสนับสนุนทางการเมือง

วันที่ 18 พฤษภาคม Boston Common Asset Management ได้ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [2]พร้อมระบุว่า จะขอการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นสำหรับข้อเสนอในการลงคะแนนเสียง ผ่านการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2565

จากเอกสารที่ยื่นข้อเสนอ Netflix ใช้เงินประมาณ 690,000 ดอลลาร์ในการวิ่งเต้นกับรัฐบาลกลางในปี 2564 และมากกว่า 8.8 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2555 จำนวนนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นระดับรัฐ Boston Common อ้างว่า Netflix ใช้เงิน 406,250 ดอลลาร์ในการวิ่งเต้นในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 และมีรายงานว่า Netflix ใช้เงินราว 700,000 ยูโร (739,000 ดอลลาร์) ถึง 799,999 ยูโร (845,000 ดอลลาร์) ในการล็อบบี้ในยุโรปในปี 2563

Boston Common Asset Management ซึ่งถือหุ้น Netflix เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้ทางการเมือง เพื่อลด “ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง”ที่อาจเกิดขึ้น[3]

Boston Common Asset Management ซึ่งบริหารกองทุนรวมและสินทรัพย์อื่น ๆ ให้กับสถาบันและบุคคล ชี้ให้เห็นว่า บริษัทจะต้องจัดทำรายงานการล็อบบี้ประจำปีอย่างเป็นทางการ

“จากข้อมูลที่จัดทำอย่างดีพบว่า ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงจากการล็อบบี้ของ Netflix และนโยบายการเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้ที่ไม่เพียงพอนั้นตอกย้ำถึงความจำเป็นว่าบริษัทต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้และมีความโปร่งใสมากขึ้นในด้านนโยบายการล็อบบี้ ขั้นตอน และรายละเอียดการใช้จ่าย” จากเอกสารที่ลงนามโดย Lauren Compere กรรมการผู้จัดการของ Boston Common Asset Management

นอกจากนี้ข้อเสนอยังเรียกร้องให้ Netflix ประมวลนโยบายและขั้นตอนในการล็อบบี้ของบริษัท เปิดเผยจำนวนเงินที่จ่ายและผู้รับจากการล็อบบี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เปิดเผยการจ่ายเงินให้กับองค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อนโยบาย และจัดทำ “คำอธิบายของฝ่ายบริหารและกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการและการกำกับดูแลการจายเงิน

Co-CEO Netflix ที่มาภาพ:https://www.mediaplaynews.com/investor-group-seeks-transparency-on-netflix-political-lobbying-citing-potential-reputational-damage/

“หากไม่มีระบบที่ชัดเจนซึ่งรับประกันความรับผิดชอบ ทรัพย์สินของบริษัทอาจจะสามารถนำมาใช้ เพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ด้านนโยบายสาธารณะที่ไม่สอดคล้องกับจุดยืนและหลักการของบริษัทต่อสาธารณะ ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของ Netflix และทำให้มูลค่าของผู้ถือหุ้นเสียหาย” Boston Common เขียนไว้ในข้อเสนอ

รายงานประจำปีที่จะจัดทำตามข้อเสนอจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ของบริษัท

“ความล้มเหลวของ Netflix ในการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมการล็อบบี้และค่าใช้จ่ายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้น”

เอกสารระบุ “การตรวจสอบการใช้จ่ายของบริษัทในการล็อบบี้ และค่าใช้จ่ายทางการเมืองอื่นๆ ที่เข้มงวดมากขึ้น อาจทำให้บริษัทต่างๆ มีความเสี่ยงด้านชื่อเสียงเพิ่มขึ้น”

ผู้ถือหุ้นคว้าชัยโหวตกว่า 60%

ด้าน Netflix, Inc. ได้เชิญชวนให้ผู้รับมอบฉันทะและกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนเสียงคัดค้านข้อเสนอ[4] ที่ขอให้จัดทำรายงานที่ประจำปีที่ต้องอัปเดตทุกปี เพื่อเปิดเผย

    1. นโยบายและขั้นตอนของบริษัทด้านการล็อบบี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และ การสื่อสารล็อบบี้ระดับรากหญ้า
    2. การจ่ายเงินโดย Netflix เพื่อใช้สำหรับ (ก) การล็อบบี้โดยตรงหรือโดยอ้อม หรือ (ข) การสื่อสารเพื่อการล็อบบี้จากรากหญ้า โดยในแต่ละกรณีจะรวมถึงจำนวนเงินที่จ่ายไปและผู้รับ
    3.การเป็นสมาชิกของ Netflix และการจ่ายเงินให้กับองค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่เขียนและรับรองร่างกฎหมาย
    4.คำอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการ ซึ่งเสนอโดย Boston Common Asset Management ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2565

แต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Netflix อนุมัติข้อเสนอที่ขอให้ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้และการกำกับดูแล[5]

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ประชุมผู้ถือหุ้น Netflix ได้มีการลงคะแนนเสียง ซึ่งข้อเสนอของ Boston Common เป็นผู้ยื่นข้อเสนอหลัก ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 60.4%

Boston Common Asset Managementกล่าววา” เราหวังว่า Netflix จะดำเนินการตามขั้นตอนตามที่เราแนะนำในการเจรจา ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เราเริ่มต้นขึ้นเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของบริษัทที่จะให้มีการลงคะแนนเสียงในข้อเสนอของผู้ถือหุ้น”

นอกจากนี้ Boston Common ได้ยื่นข้อเสนอที่เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำกับดูแลการล็อบบี้ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลในฤดูกาลประชุมผู้ถือหุ้นปี 2565 ไปยัง 10 บริษัท เนื่องจากบริษัทหลายแห่งมีอิทธิพลทางการเงินอย่างไม่จำกัดต่อกระบวนการทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ซึ่งจากการเจรจากับบริษัทเหล่านี้ Boston Common Asset Management ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้บริษัท 8 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่ง ซึ่งรวมถึง Biogen, Ecolab และ Salesforce นำข้อเสนอมาปรับเปลี่ยนนโยบาย การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูล

รู้จัก Boston Common Asset Management

Boston Common Asset Management ให้ข้อมูลว่าที่มาชื่อ Boston Common [6]มาจากเดิมทีเป็นทุ่งหญ้าทั่วไปสำหรับเลี้ยงวัว ตั้งแต่ปี 1634 Boston Common ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ชุมชนที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่สำคัญสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับ “ส่วนรวม” งานของเราปักหมุดที่จุดตัดของระบบนิเวศและเศรษฐกิจ ส่งเสริมการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและความเจริญรุ่งเรืองที่เท่าเทียมกันในชุมชนท้องถิ่นและทั่วโลกข

Boston Common Asset Management มีวิสัยทัศน์ ที่จะ พลิกโฉมการเงินเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต่อความสำเร็จทางการเงิน และมีพันธกิจที่จะ “ใช้เงินทุนของนักลงทุนไปสู่การแก้ปัญหาสำหรับผู้คนและโลก”

การขับเคลื่อน ESG ของบริษัทก่อให้เกิดผลถึงสามเท่า โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆที่ได้เข้าไปลงทุน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของโลกและลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนทั้งลดการใช้ทรัพยากร การก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อนุรักษ์น้ำ และมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมี 58 ธนาคารเข้าร่วมในด้านการลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ

ส่วนด้านสังคมนั้น มีกลยุทธ์การลงทุนในบริษัทที่มองว่าแรงงานเป็นทรัพย์สินมากกว่าค่าใช้จ่าย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติทั่วโลก ซึ่งมี 39 บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางชื้อชาติ มีการโหวตไม่เห็นด้วยใน 70 บริษัทที่ไม่มีความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติในคณะกรรมการ

สำหรับด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ในฐานะผู้สนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นธรรม ทั่วถึง และมีความรับผิดชอบ ก็สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ นำนโยบายด้านจริยธรรมและความโปร่งใสมาใช้ในการจ้างงาน การจ่ายเงิน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจากการมีส่วนร่วมกับบริษัทหลายแห่งก็มีการปรับปรุงนโยบาย กระบวนการและผลิตภัณฑ์ 44 ข้อ รวมถึงลงคะแนนให้ถึง 70% ของข้อเสนอ ESG จากผู้ถือหุ้นใน 56 บริษัท

แหล่งข้อมูล

[1] Corporate Reform Coalition.2022.Institutional Investors Highlight 2022 Lobbying Disclosure Campaign
https://corporatereformcoalition.org/lobbying-disclosure-2022
[2] MediaPlayNews.2022.Investor Group Seeks Transparency on Netflix Political Lobbying, Citing ‘Potential Reputational Damage’.
https://www.mediaplaynews.com/investor-group-seeks-transparency-on-netflix-political-lobbying-citing-potential-reputational-damage/
[3] Yahoo.2022. Netflix Investor Demands More Transparency for Streaming Giant’s Political Lobbying
https://www.yahoo.com/entertainment/netflix-investor-demands-more-transparency-134001081.html
[4] Marketscreener.2022.Boston Common Asset Management Submits a Shareholder Proposal to Netflix, Inc.
https://www.marketscreener.com/quote/stock/NETFLIX-INC-44292425/news/Boston-Common-Asset-Management-Submits-a-Shareholder-Proposal-to-Netflix-Inc-40096918/
[5]Bostoncommonasset.2022.Netflix Shareholders Approve Proposal on Enhanced Lobbying Disclosure.
https://bostoncommonasset.com/netflix-shareholders-approve-proposal-on-enhanced-lobbying-disclosure/
[6]Bostoncommonasset https://bostoncommonasset.com/about/