ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เส้นทางสู่ Net Zero สมาชิกอาเซียน

เส้นทางสู่ Net Zero สมาชิกอาเซียน

11 พฤศจิกายน 2021


ที่มาภาพ: https://www.gardensbythebay.com.sg/en/about-us/our-gardens-story/our-story.html

ในการประชุม COP26 หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties) มีประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 รายประกาศให้คำมั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้แก่ ไทยและเวียดนาม

การดำเนินการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการบรรเทาผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับความสนใจในวันแรกของการประชุม (1 พ.ย. 2564) โดยออสเตรเลียได้เพิ่มทุนสนับสนุนด้านสภาพอากาศให้กับภูมิภาค 2 เท่าเป็น 2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์) จาก 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในช่วงปี 2015-2020

การสนับสนุนด้านเงินทุนของออสเตรเลียถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานได้ และขาดแคลนเงินในการพัฒนาเทคโนโลยี

ไทยประกาศเป้า Net Zero ปี 2065

​นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47700
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP26 ว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 เพราะไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงอยู่ในกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส และไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง แข็งขัน

ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่ไทยสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงกว่า 2 เท่า ก่อนกำหนดเวลาถึง 1 ปี เพราะในปี ค.ศ. 2019 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วถึงร้อยละ 17

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions หรือ NDC) และได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC รวมถึงได้จัดทำแผนงานต่างๆ ในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2050

ไทยได้ส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดําเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ทั้งฉบับแรกและฉบับปรับปรุงไปยังสํานักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20–25% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการลดลงที่ครอบคลุม 3 สาขาหลัก คือ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม การทิ้งของเสียในภาคประาชน

นอกจากจัดทำแผน NDC แล้วกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังอยู่ระหว่างการร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน

เวียดนามมุ่งพลังงานสะอาด

ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/pm-pham-minh-chinhs-remarks-at-cop26/211755.vnp#&gid=1&pid=1
นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP26 เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยความรับผิดชอบร่วมกันที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง พร้อมระบุว่า ควรมีความยุติธรรมและความเป็นในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้นำเวียดนามย้ำว่า ผลด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงของแหล่งอาหารและน้ำ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงคุกคามความอยู่รอดของหลายประเทศและชุมชน

ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างไม่ชักช้าในระดับโลก นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ

“นี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องใช้แนวทางระดับโลก” นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวและว่า “ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทุกคนดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางสากล”

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ทุกนโยบายการพัฒนา มาตรฐานจริยธรรมสูงสุดของทุกภาคส่วน ธุรกิจ และบุคคลต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการฟื้นตัวตามธรรมชาติ

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเป็นตัวนำ ในขณะที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมุนเวียน ยั่งยืน รวมเป็นหนึ่งเดียว และมีมนุษยธรรม

นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ระบุว่า ทุกการกระทำต้องอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ และให้คนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงคนเป็นหลักและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การสนับสนุนการเงินด้านสภาพอากาศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปรับปรุงขีดความสามารถ จะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุข้อตกลงปารีสอย่างประสบความสำเร็จ

ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเงินอย่างเต็มที่ในขณะที่กำหนดยกระดับเป้าหมายทางการเงินให้มากขึ้นหลังปี 2025

นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ยืนยันว่า แม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านพลังงานหมุนเวียนจะจัดทำและดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ทรัพยากรของตนเองควบคู่ไปกับความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการดำเนินการตามกลไกภายใต้ข้อตกลงปารีส เพื่อให้การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050

นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวว่า เวียดนามกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อประกันว่าทุกคนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีส่วนสนับสนุนประชาคมระหว่างประเทศอย่างมีความรับผิดชอบ

“เวียดนามต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในโครงการการลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืนและโครงการต่างๆ ในอนาคต

เวียดนาม ซึ่งได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค มีเป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยมลพิษ 9% จาก “การดำเนินธุรกิจตามปกติ” ภายในปี 2030 ก่อนหน้านี้ เวียดนามได้ประกาศแผนการที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ยกเว้นก๊าซมีเทนชีวภาพ

นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามได้ยืนยันความตั้งใจที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการสนับสนุนจากต่างประเทศ ในการพบปะกับนายอาลก ชาร์มา ประธาน COP26 ที่ได้ไปเยือนเวียดนามในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล วัฒนธรรมนวัตกรรม การดูแลสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาส จะได้รับการสนับสนุนเพื่อเป็นการประกันว่า เวียดนามจะมีสังคมที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยั่งยืนยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วงปี 2011-2020 ในเดือนกันยายน 2012 ได้มีการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

การใช้พลังงานต่อหน่วยของ GDP ลดลงโดยเฉลี่ย 1.8% ในแต่ละปี ขณะที่ธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านการผลิตที่สะอาดเพิ่มขึ้น 46.9% จาก 28%ในทศวรรษที่ผ่านมา

เวียดนามยังได้เริ่มหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่ธนาคารต่างประเทศจำกัดการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล สาธารณูปโภคของเวียดนามได้สร้างทางเลือกที่ถูกกว่า สะดวกกว่าสำหรับผู้ประกอบการด้านพลังงาน ฟาร์ม และครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

สิงคโปร์ Green Plan ดึงประชาชนร่วมมือ

ที่มาภาพ: https://mothership.sg/2021/02/singapore-green-plan-2030-launch/
ภายใต้ข้อตกลงปารีส สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมจะสูงสุดที่ 65 ล้านตันในปี 2030 และ จะลดลง 50% เป็น 33 ล้านตันภายในปี 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศุนย์สุทธิในครึ่งหลังของศตวรรษนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ประกาศปีเป้าหมายแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้จัดทำ Singapore Green Plan 2030 เป้าหมายระยะ 10 ปี และเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนและภายใต้ข้อตกลงปารีส กำหนดจุดยืนของสิงคโปร์ในการก้าวไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

แผนนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education หรือ MOE) กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development หรือ MND) กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Sustainability and the Environment หรือ MSE) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry หรือ MTI) และกระทรวงคมนาคม (Ministry of Transport หรือ MOT)

Singapore Green Plan 2030 เป็นการผลักดันความยั่งยืนทั่วประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือของชาวสิงคโปร์ในการขับเคลื่อน

ภายใต้แผนนี้มีความริเริ่มใหม่บางด้านซึ่งรวมถึงการกำหนดให้รถยนต์ใหม่ทุกคันต้องจดทะเบียนเป็นรุ่นพลังงานสะอาดตั้งแต่ปี 2030 และเพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 2 เท่าภายในปี 2030

เป้าหมายสำคัญของ Singapore Green Plan 2030
1. การสร้างสวนสาธารณะอีกกว่า 130 เฮกตาร์ และการปลูกต้นไม้อีก 1 ล้านต้น
2. การผลักดันนโยบายอาคารสีเขียวให้ได้ 80% ภายในปี 2573
3. การยุติการจดทะเบียนรถยนต์ดีเซล ภายในปี 2568
4. การเพิ่มที่ชาร์จรถไฟฟ้าในที่จอดรถของอาคารที่พัก HDB ภายในปี 2568
5. การส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายในปี 2573
6. การสร้างทางปั่นจักรยานเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นเป็น 1,320 กิโลเมตร ภายในปี 2573
7. การสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเครือข่ายรถไฟเป็น 360 กิโลเมตร ภายในต้นปี 2573
8. การลดปริมาณขยะที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบให้ได้ 20% ภายในปี 2569 และ 30% ภายในปี 2573
9. การยกเลิกการใช้อุปกรณ์ทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2565
10. การลดการใช้พลังงานน้อยให้ได้ 15% ภายในปี 2573

แผนนี้ยังต่อยอดจากเป้าหมายปี 2030 ของสิงคโปร์ในการลดขยะที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบลง 30% โดยมีเป้าหมายที่จะลดลง 20% ภายในปี 2026

สิงคโปร์จะตั้งเป้าให้โรงเรียนอย่างน้อย 20% ปลอดคาร์บอนภายในปี 2030 เพื่อเป็นการเริ่มต้นให้โรงเรียนที่เหลือต้องปฏิบัติตาม โดยมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิจากภาคโรงเรียนให้เหลือ 2 ใน 3 ภายในปี 2030

นอกจากนี้ สิงคโปร์จะยุติการใช้การใช้พลังงานถ่านหินแบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) ในการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2050 และจำกัดการสนับสนุนเงินของรัฐบาลโดยตรงสำหรับ unabated coal ระหว่างประเทศ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในสมาชิกใหม่ 27 รายที่ลงนามเมื่อวันพฤหัสบดี (4 พ.ย.) กับกลุ่มพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการเลิกใช้ถ่านหิน Powering Past Coal Alliance (PPCA) ระหว่างการประชุม COP26 และเป็นเอเชียประเทศแรกที่เป็นสมาชิกของ PPCA

มาเลเซียเข้าสู่ Carbon Neutral ปี 2050

ตัน สรี มูห์ยิดดิน ฮัสซีน นายกรัฐมนตรีแถลงการลาออก 16 ส.ค. 2564 ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/RadioTelevisyenMalaysia/videos/366598721741971

นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนภายในปี 2050

นายกรัฐมนตรีอิสมาอิลกล่าวว่า การดำเนินการเพื่อการเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมความยั่งยืนของพลังงาน และการพลิกโฉมน้ำจะต้องเป็นแกนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

รัฐบาลจะคำนึงถึงหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกระบวนการตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีกล่าวในการแถลงแผนพัฒนาฉบับที่ 12 2021-2025 ในรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน

นายอิสมาอิล ซาบรี กล่าวว่า เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนและภาษีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการนี้

“รายละเอียดของมาตรการอื่นๆ ในการลดคาร์บอนจะมีการประกาศ เมื่อได้ข้อสรุปการศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวที่มีคาร์บอนต่ำเสร็จสิ้นลงภายในสิ้นปี 2022 รัฐบาลยังได้ให้คำมั่นที่จะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่”

แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมาเลเซียจะน้อยกว่า 0.7% นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงปฏิบัติตามพันธกรณีในการลดความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลง 45% ในปี 2030 โดยอิงจากความเข้มข้นของ การปล่อยมลพิษ ปี 2005 ตามเป้าหมายของการเป็นประเทศคาร์บอนต่ำ

อินโดนีเซียวางเป้าเลิกใช้ถ่านหิน

นายลูฮุต บินซาร์ ปันจาอิตัน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุน อินโดนีเซีย ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/194933/tackling-climate-change-indonesias-national-interest-minister
อินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายใน การบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060

ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ที่ปรับใหม่ไปยังสหประชาชาติ

นายลูฮุต บินซาร์ ปันจาอิตัน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุน กล่าวว่า มีมุมมองทางบวกว่าประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2060 หรือ “เร็วกว่านั้น”

สื่อในประเทศรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรพลังงานและแร่คาดว่า ภาคพลังงานจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2060 เมื่อถึงเวลานั้น จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 85% และพลังงานนิวเคลียร์ 14% ภายในปี 2030 ถ่านหินจะยังคงเป็นพลังงานหลัก 62% ของประเทศ พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วน 36%

นายลูฮุตกล่าวว่า

รัฐบาลจะต้องลงทุน 1.165 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเปลี่ยนผ่านจากการใช้ถ่านหิน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซียคาดว่าจะสูงสุดในปี 2030 และถ่านหินจะยังคงมีบทบาทสำคัญจนถึงปี 2050 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน

ฟิลิปปินส์เพิ่มเป้าลดการปล่อยคาร์บอน 75%

นายคาร์ลอส โดมินิเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/headlines/2021/02/01/2074509/philippines-welcomes-us-rejoining-paris-accord-climate-change
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีดูแตร์เตได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ฉบับแรกของประเทศ ซึ่งกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75% และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซภายในปี 2030 นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของฟิลิปปินส์ต่อข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

NDC คือเป้าหมายของประเทศในการพัฒนาให้ทันสมัยและปล่อยคาร์บอนต่ำ และยืดหยุ่นสำหรับภาคเกษตรกรรม ของเสีย อุตสาหกรรม การขนส่ง และพลังงานในช่วงปี 2020-2030

เป้าหมายนี้อิงจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3,340.3 ตันคาร์บอนเทียบเท่าจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของทั้งประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว

“ฟิลิปปินส์กำลังจะยื่นแผน NDC ที่ยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75% ภายในปี 2030 เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศ NDC จะเป็นเครื่องมือของเราในการยกระดับเศรษฐกิจของเราโดยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการที่ทันสมัยและคาร์บอนต่ำที่จะช่วยบรรเทาวิกฤติสภาพภูมิอากาศและทำให้เศรษฐกิจของเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้นและการเติบโตของเรายั่งยืน” นายคาร์ลอส โดมินิเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากเป้าหมาย 75% นั้นสัดส่วน 72.29% เป็น “เงื่อนไข” หรือขึ้นอยู่กับการสนับสนุนการเงินด้านสภาพอากาศ เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งจะจัดหาให้โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามที่กำหนดโดยข้อตกลงปารีสส่วนที่เหลือ 2.71% เป็น “ไม่มีเงื่อนไข” หรือจะดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลัก

นายโดมินิเกซยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความพยายามระดับโลกในการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษที่สำคัญนี้

“เราคาดหวังว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเคยก่อให้เกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลกจะส่งมอบพันธสัญญาของพวกเขาต่อข้อตกลงปารีสอย่างรวดเร็วและในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเกินเกณฑ์การอยู่รอด 1.5 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาวิกฤติระหว่างตอนนี้และปี 2030 ทำให้เรามีโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ เพื่อโลกมีสภาวะที่ดีก่อนที่จะสายเกินไป”

เอดีบี-อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จับมือจัดตั้งกลไกเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ที่มาภาพ: https://www.adb.org/news/adb-indonesia-philippines-launch-partnership-set-energy-transition-mechanism
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายนายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) สรี มูลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย และนายคาร์ลอส โดมินิเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ ได้ประกาศในการประชุม COP26 เปิดตัว ความร่วมมือครั้งใหม่ในการจัดตั้งกลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Mechanism หรือ ETM) ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ETM Southeast Asia Partnership เป็นโครงการแรกในเอเชียและแปซิฟิก และมีเป้าหมายที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับการรับรองโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับคณะรัฐมนตรีจากเดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกและองค์กรการกุศล

นายมาซาโตะ กันโดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้านการต่างประเทศ ของญี่ปุ่น ยังได้ส่งสารผ่านวิดีโอมายังการแถลงเปิดตัว โดยประกาศว่ากระทรวงการคลังของญี่ปุ่นมอบเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์แก่ ETM เพื่อเป็นทุนประเดิมสำหรับกลไก ETM

“ETM สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก” นายอะซาคาวะกล่าว “อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่จะเป็นผู้บุกเบิกในการยกเลิกถ่านหินออกจากแหล่งพลังงานในภูมิภาคของเรา ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และยกระดับเศรษฐกิจไปสู่เส้นทางการเติบโตด้วยคาร์บอนต่ำ”

“ETM เป็นแผนที่ตั้งความหวังไว้สูงที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอินโดนีเซียและเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดไปสู่การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นธรรมและราคาไม่แพง” นางอินทราวตีกล่าว

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในฟิลิปปินส์จะสร้างงาน ส่งเสริมการเติบโตของประเทศ และลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก” นายโดมิงเกซกล่าว “ETM มีศักยภาพในการเร่งการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 10 ถึง 15 ปี”

ภายใต้ความร่วมมือกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เอดีบีจะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของรัฐบาลเพื่อนำร่อง ETM โดยร่วมกันทำการศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียด มุ่งเน้นรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละประเทศนำร่อง รวบรวมทรัพยากรที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลผู้บริจาคและองค์กรการกุศล โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนที่เน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการใช้ประโยชน์จากเงินทุนเชิงพาณิชย์จำนวนมากเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาดไปสู่การลดคาร์บอน

ความต้องการพลังงานในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2573 และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 67% ของไฟฟ้าในอินโดนีเซียและ 57% ของการผลิตไฟฟ้าของฟิลิปปินส์มาจากถ่านหิน อินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 29% ภายในปี 2030 และบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งประกาศแผนการที่จะพักการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

ETM เป็นแนวทางการเงินแบบผสมผสาน เพื่อสนับสนุนการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่โดยกำหนดเวลาให้เร็วขึ้น และแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด กลไกนี้จะประกอบด้วยกองทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ 2 กองทุน กองทุนแรกใช้เพื่อเลิกใช้ก่อนครบกำหนดอายุการใช้งานหรือการเร่งการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น และอีกกองทุนหนึ่งมุ่งเน้นไปที่การลงทุนด้านพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ในการผลิต การจัดเก็บ และการยกระดับโครงข่าย ซึ่งคาดว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี นักลงทุนสถาบันเอกชน การบริจาคเพื่อการกุศล และนักลงทุนระยะยาวจะสนับสนุนเงินทุนให้กับ ETM

ADB จะสนับสนุนรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการจัดทำนโยบายและเงื่อนไขทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลโครงการ การลดคาร์บอน และเป้าหมายการเปลี่ยนผ่าน ในช่วง 2-3 ปี ของการดำเนินการนำร่อง ETM จะเพิ่มเงินที่จำเป็นในการเร่งการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน 5-7 แห่งในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกในการลงทุนทางเลือกพลังงานสะอาดในทั้งสองประเทศ

ในช่วงการออกแบบ ETM เอดีบีและพันธมิตรจะจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสู่พลังงานสะอาด จะมีการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับการเพิ่มทักษะและการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนงานและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

การขยาย ETM อย่างเต็มรูปแบบในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอาจจะเวียดนามด้วย มีเป้าหมายที่จะปลดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 50% ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 30 กิกะวัตต์ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยต่อปีได้ 200 ล้านตัน เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากถนน 61 ล้านคัน เมื่อขยายตัวขึ้น ETM มีศักยภาพที่จะกลายเป็นโครงการลดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การศึกษาก่อนความเป็นไปได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเต็มรูปแบบกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อสรุปโครงสร้างทางการเงินของ ETM แยกแยะโรงถ่านหินที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำร่อง

สปป.ลาว เดินหน้าปลูกป่าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ปี 2050

: https://www.un.int/lao/sites/www.un.int/files/Lao/image.png

ในเดือนธันวาคม 2020 นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในขณะนั้น ได้แถลงต่อการประชุม Climate Ambition Summit 2020 ที่จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ว่า สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก รัฐบาลลาวได้นำเป้าหมายของข้อตกลงปารีสผสมผสานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวแห่งชาติ

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงโดยพื้นที่ป่ามีถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2020 นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ที่ดินและป่าไม้ในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคหลักที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน สปป.ลาว

รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายปี 2020-2030 เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ย 1,100 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ลดลง 3 เท่าเทียบกับผลสำเร็จในช่วงปี 2000 ถึง 2015

รัฐบาลจึงได้ปรับแผน Nationally Determined Contribution (NDC) ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ที่จะส่งไปยัง UNFCCC ในเร็วๆ นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการตอบสนองของ สปป.ลาว ต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 โดยเพิ่มความสามารถในภาคส่วนที่เปราะบางที่สุดและเร่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แผน NDC ของลาวมุ่งมั่นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบไม่มีเงื่อนไขใหม่โดยการลดก๊าซเรือนกระจกในอัตรา 34% ของฐานปี 2020 ภายในปี 2030 โดยลดลงเฉลี่ยเกือบ 4,000 ตันคาร์บอนตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

สปป.ลาว ขอให้พันธมิตรด้านการพัฒนาและประชาคมระหว่างประเทศขยายการสนับสนุนและความช่วยเหลือ สปป.ลาว เพื่อดำเนินการ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกันจากทุกประเทศในการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ใช้พลังงานสะอาด และปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีส่วนอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

ที่มาภาพ: https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2021/01/27/lao-pdr-signs-agreement-to-protect-forests-and-reduce-carbon-emissions

ต่อมาวันที่ 27 เดือนมกราคม 2564 สปป.ลาว และกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility หรือ FCPF) ของธนาคารโลก (FCPF) ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อจัดหาเงินสูงถึง 42 ล้านดอลลาร์ หลังการลงนามจนถึงปี 2025 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของประเทศในการลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD+)

ภายใต้ สัญญาซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Reductions Payment Agreement หรือ ERPA) นี้ ธนาคารโลกให้คำมั่นที่จะชำระเงินให้แก่ สปป.ลาว สำหรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 8.4 ล้านตันในภาคเหนือของลาว โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต้นตอและสาเหตุหลักของการสูญเสียป่าใน 6 จังหวัด (หัวพัน หลวงพระบาง อุดมไซ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไซยะบูลี) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ภูมิภาคนี้มีส่วนต่อการตัดไม้ทำลายป่าทั่วประเทศและความเสื่อมโทรมของป่าทั่วประเทศ 40% ระหว่างปี 2005-2015

“เรามุ่งมั่นที่จะปรับปรุงการใช้ที่ดิน เสริมสร้างการปกป้องป่าไม้ และส่งเสริมการฟื้นฟูป่าไม้ให้สอดคล้องกับกฎหมายป่าไม้ 2019 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 สำหรับปี 2021-2025 และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวแห่งชาติถึงปี 2030” นายทองพัด วงมะนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้กล่าว “นี่เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยืดหยุ่นด้วยการใช้ที่ดินในชนบทที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยอิงจากการวางแผนแบบมีส่วนร่วมและแบบบูรณาการ”

ภูมิประเทศของลาวตอนเหนือมีความแตกต่างกัน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 20 กลุ่มที่ใช้พื้นที่ภูเขาเป็นบ้าน การเข้าถึงและโครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ มีบทบาทในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังก่อให้เกิดความท้าทายต่อโอกาสในการทำงาน การคมนาคมขนส่ง การเข้าถึงบริการทางสังคม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้า

โครงการลดการปล่อยมลพิษของลาว ในหัวข้อ “การส่งเสริม REDD+ ผ่านการกำกับดูแล ภูมิทัศน์ของป่าไม้และการดำรงชีวิต — ลาวตอนเหนือ” ที่มีการทำงานข้ามภาคส่วน สนับสนุนการกำกับดูแลป่าไม้และที่ดินที่ดีขึ้น การวางแผนการใช้ที่ดิน การพัฒนาวิถีชีวิต และการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืนเพื่อลดแรงกดดันต่อป่าไม้ นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มีส่วนร่วม

นิโคลา พอนทารา ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศ สปป.ลาว กล่าวว่า “การจัดหาเงินทุนที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนของธนาคารโลกที่ช่วยให้ สปป.ลาว จัดการภูมิทัศน์ของตนเพื่อการเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น “กองทุนที่เน้นผลลัพธ์นี้จะช่วยลดการปล่อยมลพิษในขณะที่ให้ประโยชน์แก่ผู้คนที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ที่ยั่งยืนในการดำรงชีวิต”

สปป.ลาว เป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ตามหลังอินโดนีเซียและเวียดนาม และเป็นประเทศที่ 9 ของโลกที่ลงนามใน ERPA กับ FCPF ของธนาคารโลก มูลค่ารวมของข้อตกลงทั้ง 9 ฉบับซึ่งทำร่วมกับชิลี คอสตาริกา โกตดิวัวร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กานา และโมซัมบิก มีมูลค่าเกือบครึ่งพันล้านดอลลาร์

Forest Carbon Partnership Facility ซึ่งเปิดตัวในปี 2551 เป็นความร่วมมือระดับโลกของรัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และองค์กรของชนพื้นเมืองที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า การกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการดูดซับคาร์บอนจากป่าใน ประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า REDD+