“เสนาฯ” จับมือ “ฮันคิว ฮันชิน” สร้างบ้าน Zero Energy Housing (ZEH) นวัตกรรมบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ตอบโจทย์ธุรกิจสู่ความยั่งยืน ไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ปี 2050 นำร่อง 2 โครงการต้นแบบ บ้านเดี่ยว แกรนด์โฮม บางนา กม.29 และคอนโดมิเนียม ปรับฟังก์ชั่นและใส่ใจรักษ์โลกแบบครบวงจร คาดเริ่มไตรมาสแรกปี2566
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และในฐานะดีเวลลอปเปอร์รายแรกที่พัฒนาหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบ เปิดเผยว่า หลังจากที่เสนาฯปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการเป็น property developer สู่การเป็น lifelong trusted partner โดยมองว่าเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกันไม่ใช่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือภาครัฐเท่านั้น
สถานการณ์โลกวันนี้มีปัญหาที่ท้าทายในหลายประเด็น เรื่องของสุขภาพ เรื่องการเติบโตของเมือง ที่มีคนเข้ามาอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้เรายังเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งมีการพูดถึงการไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ในปี 2050
“แต่สิ่งที่เสนาฯเห็นว่าทำอย่างไรเราถึงจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร เราคุยมาเยอะแล้วว่า เราจะเป็น Carbon Neutrality ปีไหน แต่จะทำอย่างไรให้ไปสู่จุดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของเสนาฯเอง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคม Carbon Neutrality และ Net Zero ในโครงสร้างเศรษฐกิจได้”
จับมือ ฮันคิว ฮันชิน สร้างบ้านพลังงานเป็นศูนย์
ผศ.ดร.เกษรา กล่าวต่อว่าในเรื่องของพลังงานถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยเพราะว่านอกจากส่งผลต่อโลกร้อนแล้ว ยังรวมไปถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่เราต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก โดยเสนาฯจะทำบ้านที่เรียกว่า Zero Energy House (ZEH) ซึ่งในภาพรวมแล้วหมายถึงการรักษ์โลกและไม่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภายนอก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ยากในการทำบ้านแบบ Zero Energy House หรือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ เพราะราคาที่อาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก
“เราอยากทำบ้าน Zero Energy House หรือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ในปี 2050 แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายสนับสนุนเหมือนกับรัฐบาลญี่ปุ่น แต่เราคิดว่าเรารอไม่ได้เราจะเริ่มทำก่อน”
ทั้งนี้ “SENA Group” ร่วมมือกับบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป พันธมิตรจากญี่ปุ่น พร้อมกับดึงโนฮาว Zero Energy House (ZEH) มาปรับใช้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ (New Product) ภายใต้ “SENA HHP Zero Energy House” และนำแนวคิด Geo Fit+ ประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับโมเดล Zero Energy Housing (ZEH) นำร่อง 2 โครงการต้นแบบ ประกอบด้วย 1.โครงการบ้านเดี่ยว แกรนด์โฮม บางนา กม.29 (ขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตร) 2.โครงการคอนโดมิเนียม โดยวางเป้าหมาย SENA ZEH Oriented เพื่อลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20%
สำหรับโครงการต้นแบบเป็นการทดลองและวิจัยกับนักวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการออกแบบบ้าน โดยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อวัดผลของประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดความคุ้มค่า พร้อมไปกับการนำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ(Solar Rooftop ) บนหลังคาบ้านในทุกโครงการ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต
โจทย์ยากทำบ้าน “รักษ์โลก” ให้ราคาเหมาะสม
ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่าการสร้างบ้านพลังงานเป็นศูนย์ประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ การออกแบบบ้านไม่ให้ใช้พลังงานมาก สองการออกแบบหรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้า และสามผลิตไฟฟ้าได้เอง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วนำมาหักลบพลังงานจะเท่ากับศูนย์ ซึ่งถามว่าทำได้ยากหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ยาก แต่มีราคาแพง
แม้ว่าโจทย์ยากของการทำบ้านที่รักษโลกจะเป็นเรื่องราคาที่อาจจะสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเองยังไม่มีมาตรการในการสนับสนุนที่ชัดเจน แต่คาดว่า ราคาบ้าน Zero Energy House คงไม่ได้เพิ่มจากกลไกตลาดมากนัก เพราะหากกำหนดราคาที่สูงเกินไปอาจจะไม่สามารถขายได้เช่นกัน
ผศ.ดร.เกษรา บอกว่าการสร้างบ้าน Zero Energy House จะเริ่มชัดเจนในไตรมาสแรกของปีหน้า( ปี2566 ) โดยไม่ใช่เพียง ร่อง 2 โครงการต้นแบบ เท่านั้นแต่จะเริ่มสร้างบ้านทุกแบบ ในทุกโครงการ เพื่อให้เดินหน้าไปสู่การการเป็น Net Zero ในปี 2050 แม้วันนี้เราจะสามารถลดคาร์บอนได้เพียง 20 % หรือน้อยกว่านั้นก็ตาม เราคิดว่าการเริ่มต้นทำสำคัญกว่า วันนี้เราจึงไม่รอนโยบายหรือการสนับสนุน ขอตัดสินใจเริ่มต้นลงมือก่อนเลย
ญี่ปุ่นออกกฎหมายสร้างบ้าน “ลดโลกร้อน”
เสนาฯ สร้าง Zero Energy House โดยถอดแบบในการก่อสร้างจากบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฏหมายให้การสร้างบ้านต้องลดก๊าซคาร์บอนฯโดยรัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนบางส่วน
นายโทดะ มาซาฮิโกะ ผู้อำนวยการฝ่ายบ้านจัดสรรต่างประเทศ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป (Mr. Toda Masahiko Senior General Manager, Overseas Housing Division, Hankyu Hanshin Properties Corp.) กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าให้ลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net ZeroEmissions) ให้ได้ภายในปี 2050 โดยในหลายประเทศให้ความสำคัญและเป็นสากลในการกำหนดเกณฑ์พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นมีการออกเกณฑ์และบังคับใช้อย่างจริงจังมาก ถ้าไม่สร้างบ้านที่มีการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันในรอบ1 ปี ได้ ใกล้ หรือ เท่ากับ ศูนย์ จะถูกปรับเป็นเงินหรือไม่ออกใบอนุญาตให้ หากการสร้างบ้านมีต้นทุนที่สูงขึ้นรัฐบาลก็เข้ามาช่วยสนับสนุนพร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจด้วย
ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนา เรียกว่า Zero Energy House (ZEH) โดยวางมาตรฐานเกณฑ์การลดใช้พลังงานภายในปี 2030 การก่อสร้างอาคารใหม่ บ้านและคอนโดมิเนียมต้องติดตั้งพลังงานสะอาด หรือ โซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 60%
รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยเงินทุนสร้างบ้านลดโลกร้อน
นางสาว ยูคาโกะ มาสึโอะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจบ้านจัดสรร บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป (Ms.Yukako Matsuo General Manager, Housing Business Division, Hankyu Hanshin Properties Corp.) กล่าวว่า หลักการ Zero Energy House คือการลดใช้พลังงาน โดยเกณฑ์พื้นฐานที่เรียกว่า ค่าการถ่ายเทความร้อนภายในเป็นค่าที่ถูกกำหนดในแต่ละเมืองให้มีการลดพลังงาน อย่างน้อย 20% ในทุกระดับ โดยใช้วิธีการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านในแต่ละฤดูให้เหมาะสมจากการออกแบบ (Passive Design) และต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Efficiency) รวมถึงมีระบบผลิตพลังงานใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy)
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการพัฒนาอาคารให้เป็น Zero Energy House 100% นั้น ยังคงทำได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนทุนในการก่อสร้างโดยแบ่งเป็น 1 .บ้านเดี่ยว สนับสนุน 5.5แสนเยน 2. อาคาร/ทาวน์เฮาส์ 4 แสนเยน 3 อาคารแมนชั่นแบบสูงสนับสนุน 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนเปลี่ยนระบบ
สำหรับเกณฑ์การประเมิน ในการลดการใช้พลังงานในญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 4 ระดับ กลุ่มบ้านและกลุ่มคอนโดมิเนียม ดังนี้
1.ZEH Oriented เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20% รวมการใช้พลังงานสะอาด
2.ZEH Ready เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 50% ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด
3.Nearly ZEH เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 75% ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด
4.ZEH เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 100% ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด