ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “เสนาฯ” ชู ESG ขับเคลื่อนองค์กรยั่งยืน สร้างสังคมสีเขียว ‘นวัตกรรมโซลาร์รูฟทอป’ ตอบโจทย์ยุคค่าไฟแพง

“เสนาฯ” ชู ESG ขับเคลื่อนองค์กรยั่งยืน สร้างสังคมสีเขียว ‘นวัตกรรมโซลาร์รูฟทอป’ ตอบโจทย์ยุคค่าไฟแพง

3 กรกฎาคม 2022


ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

เสนาฯชูดำเนินธุรกิจใต้หลักการ ESG ไม่ขาดทุนสังคมได้ประโยชน์ เตรียมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์รูฟทอปบนหลังคาบ้านรองรับรถยนต์ EV ในอนาคตพร้อมเตรียมยื่นสิทธิ์ให้ลูกบ้านขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่ที่รัฐเปิดซื้ออัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยที่จูงใจมากขึ้น

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า การทำธุรกิจในแบบที่ต้องใส่ใจสังคมควบคู่ไปด้วยตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วจะเอาผลกำไรมาจากไหน ธุรกิจอยู่ได้หรือไม่

ในเรื่องนี้ ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งยึดแนวการทำธุรกิจ ESG ในการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนสร้างสังคมสีเขียว บอกว่า การทำธุรกิจที่คู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้ทำให้ผลกำไรลดลง เพราะเรามองในระยะยาว ถ้าสังคมได้ประโยชน์ก็จะกลับมายังบริษัทเช่นกัน

“การยึดแนวการทำธุรกิจแบบ ESG ทำให้บริษัทเสนาฯ ผ่านวิกฤติยากๆ มาได้หลายครั้ง” ผศ. ดร. เกษรา บอกว่า เดิมบริษัทจะเน้นเรื่องของตัว e หรือ environment โดยพัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟทอป) เต็มรูปแบบรายแรกของไทย โดยมุ่งพัฒนาสร้างสังคมสีเขียว

แต่ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสังคมสีเขียวอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ โลกยังต้องการสร้างความยั่งยืนในทุกด้าน ดังนั้นแนวทางการทำธุรกิจของบริษัทเสนาฯ จึงมุ่งในหลักการ ESG หรือ environment, social, governance เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการที่ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผศ. ดร. เกษรา กล่าวว่า นอกจากการสร้างสังคมสีเขียวแล้ว การสร้าง governance เป็นเรื่องจำเป็น การสร้างสังคมดีและยั่งยืนจึงเป็นเรื่องของ governance นอกจากนี้ส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกด้าน โดยเฉพาะบริษัทเสนาฯ เป็นบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นประธานบริษัท จึงให้ความสำคัญในความเท่าเทียมทางเพศ

นวัตกรรมโซลาร์รูฟทอปตอบโจทย์คนอยู่บ้าน

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจใน ปี 2565 จะเน้นการพัฒนานวัตกรรมโซลาร์รูฟทอปบนหลังคาบ้าน ที่ตอบโจทย์ปัญหาน้ำมันราคาแพง รวมไปถึงการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยจะพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต

ผศ. ดร. เกษรา บอกว่า ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการเป็นผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน หรือที่เรียกวา โซลาร์รูฟทอป หลังจากนี้จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มากขึ้นทั้งในเรื่องของแบตเตอรี่ ที่สามารถเก็บและขายไฟฟ้าคืนให้กับรัฐได้

นอกจากนี้มีการศึกษาการพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาจอดรถในพื้นที่ส่วนกลาง และการให้บริการชาร์จไฟฟ้า กับรถยนต์ไฟฟ้า ภายในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นทิศทางของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเขตเมืองมากขึ้น

“แนวโน้มรถยนต์ EV กำลังมาทำให้ เราคิดว่าควรจะพัฒนาการให้บริการ โดยโครงการบ้านของเสนาฯ จะออกแบบจุดบริการชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ EV ทุกหลังเพื่อให้บริการกับผู้บริโภค”

ปัจจุบันบริษัทเสนาฯ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และ เครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EV ready รองรับยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ (BEV) ให้กับลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ EV มากขึ้น

ส่วนการประเมินโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟทอป ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์การอยู่อาศัยทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดค่าครองชีพ หลังจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที ซึ่งจะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 โดยคาดว่าจะประกาศในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2565 ค่าไฟรอบใหม่หรือรอบปลายปีจะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟขึ้นเป็น 4.40 บาท/หน่วย และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตด้วย

“โซลาร์รูฟทอป ช่วยค่าไฟฟ้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนทำงานที่บ้าน และปัญหาน้ำมันแพงมีแนวโน้มมีการปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น ทำให้การติดตั้งโซลาร์ฯ เป็นตัวช่วยลดรายจ่ายได้มาก นอกจากนี้ เรามีบริษัท เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทฯ ให้คำปรึกษาและการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร” ดร.เกษรา กล่าว

เตรียมขายไฟจากโซลาร์ภาคประชาชนให้การไฟฟ้าฯ

สำหรับโครงการหมู่บ้านโซลาร์รูฟทอปมีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ แนวราบ 25 โครงการรวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์ เป็นโมเดลกรณีศึกษาความคุ้มค่าของการติดตั้งโซลาร์ โดยใช้กรณีของบ้านที่มีการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานการใช้งานทั่วไป โดยแบ่งกลุ่มเป็นผู้ใช้ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มทำงานที่บ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 3.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 116.5 ชั่วโมงต่อเดือน คำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี ซึ่งได้คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย คาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 742,036 บาท พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 30,492 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 772,528 บาท

2. กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก คนทำงานนอกบ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า จากโซลาร์ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 97.5 ชั่วโมงต่อเดือน โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซ้อขายไฟฟ้า 10 ปี คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย คาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 621,018 บาท พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ เป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 45,540 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งสิ้น 666,558 บาท

3. กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน มีอัตราเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 63 ชั่วโมงต่อเดือน โดยคำนวณบนพื้นฐานของอายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี และมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ที่ 4.40 บาทต่อหน่วย คาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าปีละ 2% สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 401,273 บาท

พร้อมทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเป็นเวลา 10 ปี ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างผลตอบแทน 72,864 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวม ทั้งการประหยัด และรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 474,137 บาท

ส่วนการขายไฟฟ้า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดโครงการโซลาร์รูฟทอปภาคประชาชนรอบใหม่ปี 2565 ประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อราคา 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งลูกบ้านเสนาจะได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้าจากที่เหลือใช้ได้อีกด้วย โดยเสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านที่พร้อมเสนอขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการดังกล่าว

ทั้งนี้โซลาร์ภาคประชาชนรอบแรกนั้นกำหนดรับซื้อไฟส่วนเกินที่ 1.68 บาทต่อหน่วยซึ่งเสนาได้ยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านเพื่อขายไฟฟ้าให้ 6 โครงการ จำนวนกว่า 216 ราย คิดเป็น 430 กิโลวัตต์ และปี 2565 ได้เปิดโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่รับซื้ออีกไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟส่วนเกินเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งจะส่งผลดี ดังนั้น เสนาเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านในรอบใหม่อีกเช่นเดิม

ผศ. ดร. เกษรา ยอมรับว่า อุปสรรคและกฎระเบียบราชการทำให้การเดินหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเป็นไปได้ยาก หากจะง่ายขึ้น สำหรับอัตราการซื้อขายไฟฟ้าควรจะเป็นราคาเดียวกัน เช่น ถ้าประชาชนใช้ไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท การไฟฟ้าก็ควรจะซื้อกลับในราคาเดียวกัน