
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายกฯ ปัดตอบข่าวลืออำลา “บิ๊กป้อม” ย้ายซบพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” – สั่ง ผบ.ตร.ลงพื้นที่ – ล่ามือคาร์บอมบ์ จ.นราธิวาส – ปลื้ม 10 เดือนแรกปี’65 ต่างชาติลงทุน 1.06 แสนล้าน-ประชุมเอเปค 4 วัน เงินสะพัดหลายหมื่นล้าน – สั่งกรมการข้าวเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย – มติ ครม.ปรับเกณฑ์ปล่อย “ซอฟท์โลน” 5,000 ล้าน อุ้มธุรกิจโรงแรม – ปลื้มปี’65 รีดภาษีทะลุเป้า 1.51 แสนล้าน ควักเงินคงคลังจ่ายกว่า 3 หมื่น-ถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ จากสภาฯ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
ปัดตอบข่าวลือลา “บิ๊กป้อม” ซบพรรค “รวมไทยสร้างชาติ”
หลังจากพลเอกประยุทธ์ เข้าพบพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก็มีกระแสข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ขอย้ายไปทำงานที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค ระหว่างที่พลเอกประยุทธ์เดินออกจากตึกสันติไมตรีผ่านทางเชื่อมไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวได้สอบถามพลเอกประยุทธ์ว่าจะประกาศจุดยืนทางการเมืองเมืองไหร่ พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นว่า “ขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความสุขไปก่อนน่ะ” จากนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่ตอบคำถามใดๆอีก
ลงนามถวายพระพร กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้นายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าในช่วงเวลา 15.00 น. ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ลงนามถวายพระพรสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีคณะรัฐมนตรีร่วมการลงนามถวายพระพรฯ ตามลำดับพิธี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและภริยา คณะรัฐมนตรี ถวายความเคารพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายกรัฐมนตรีถวายแจกันดอกไม้ จำนวน 2 แจกัน ในนามนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรีและภริยา จากนั้น ภริยานายกรัฐมนตรี ถวายแจกันดอกไม้ในนามคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ณ โต๊ะด้านหน้าพระฉายาลักษณ์ฯ นายกรัฐมนตรีและภริยา ลงนามถวายพระพร นายกรัฐมนตรีและภริยา คณะรัฐมนตรี ถวายความเคารพพระฉายาลักษณ์ฯ เสร็จพิธี
ปลื้มผลสำเร็จ APEC สั่งรองนายกฯ – รมต.สานงานต่อ
สืบเนื่องจากการประชุม APEC 2022 นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีถือโอกาสขอบคุณ รองนายกฯ คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกกอง ทุกกรม ทุกกระทรวง ที่ทำให้การจัดงานเอเปคครั้งนี้สำเร็จลุล่วงจนได้รับคำชื่นชม และความพึงพอใจจากผู้นำหลายประเทศเป็นอย่างมาก หลังจากผู้นำเขตเศรษฐกิจได้กลับไปแล้ว ก็ได้มีการแถลงข่าวภายในประเทศของตนเองด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้รองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ได้ติดตามผลจากการประชุม APEC เพื่อให้เกิดการปฏิบัติผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
“นายกฯ ขอบคุณ ภรรยาและคู่สมรสของคณะรัฐมนตรีที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต้อนรับ เพราะยังมีกิจกรรมคู่ขนานต่อเนื่องที่ภรรยาและคู่สมรสได้ดำเนินการ และทำให้คู่สมรสของผู้นำเขตเศรษฐกิจกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความประทับใจในวัฒนธรรมการต้อนรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่มีหน้าตายิ้มแย้มตลอดเวลา และสิ่งสำคัญคือจากนี้ไป การท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์จากการจัดการประชุมครั้งนี้ จากที่หลายส่วนกลับไปและพูดกันต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว
เผยประชุมเอเปค 4 วัน เงินสะพัดหลายหมื่นล้าน
นายอนุชา รายงานข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่ามีการสร้างรายได้ในช่วงประชุมเอเปค ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565 คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ทำให้การท่องเที่ยวไทยโดยรวมตลอดเดือนพฤศจิกายนมีการเร่งตัวมากขึ้น ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้อง เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยว หรือ ผู้เข้ามาเยี่ยมประเทศไทย ไม่ว่าเรื่องการท่องเที่ยว หรือการลงทุน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงปี 2566 เพราะอยู่ในช่วงไฮซีซั่น (high season)
ขอบคุณ “ปาร์ค นายเลิศ” จัดเมนูอาหาร-สถานที่ต้อนรับผู้นำเอเปค
นายอนุชา กล่าวต่อว่า “นายกฯ พูดถึงความสำเร็จเรื่อง soft power ที่ผู้นำหลายส่วนได้พูดถึงการจัดงานกาล่าดินเนอร์ในครั้งนี้ นอกเหนือการเตรียมวัตถุดิบที่ได้ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว รวมถึงการนำเสนอเมนูอาหารให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจและคู่สมรสกว่า 40 ท่าน สิ่งสำคัญที่อยากกล่าวถึงคือเบื้องหลังการเตรียมงาน ซึ่งผู้รับผิดชอบคือ “ปาร์ค นายเลิศ” ไม่ว่าจะเป็นอาหารของโต๊ะรัฐมนตรี และผู้ติดตามทั้งหมด รวมกว่า 600 คน และดูเรื่องการดูแลผู้นำและคณะรัฐมนตรีจากทุกประเทศที่มา รวมถึงการจัดอาหาร ถึงแม้เมนูอาจแตกต่างจากเมนูที่นำเสนอ แต่ก็เป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องในการประชุมครั้งนี้ ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความประทับใจไม่ต่างจากเมนูที่นำเสนอ”
“เรื่องการตกแต่งสถานที่ก็ได้รับคำชมเชย ทั้งโต๊ะ การจัดรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด ความสะอาดทุกจุด ต้องขอบคุณทางปาร์ค นายเลิศ เป็นอย่างยิ่งที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความประทับใจในครั้งนี้ด้วย” นายอนุชา กล่าว
ปลื้ม 10 เดือนแรกปี’65 ต่างชาติลงทุน 1.06 แสนล้าน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถิติการอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 โดยอ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปีมีเงินลงทุนรวม 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% ส่วนการจ้างงานทั้งหมดอยู่ที่ 4,635 คน เพิ่มขึ้น 8.2% และมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 125 ราย สิงคโปร์ 75 ราย สหรัฐอเมริกา 64 ราย ฮ่องกง 35 ราย และจีน 22 ราย
สั่งกรมการข้าวเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้า โดยเฉพาะการเร่งรัดการก่อสร้างที่ยังมีการค้างอยู่ และขอให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว เข้าไปดูแลรายละเอียดเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว
จี้มหาดไทยชงเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้มีการหารือรายละเอียดแล้ว และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พยายามนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า
มอบพลังงานดูแลค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง
นายอนุชา กล่าวถึงเรื่องราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
สั่ง ผบ.ตร.ลงพื้นที่ – ล่ามือคาร์บอมบ์ จ.นราธิวาส
นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานเหตุการณ์คาร์บอมบ์ภายในแฟลตตำรวจ ตรงข้ามโรงเรียนนราสิกขาลัย เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ย้ำให้เร่งดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุ และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อเหตุโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต กำชับให้ส่วนราชการในพื้นที่ดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สำหรับพื้นที่เกิดเหตุให้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดตรวจสอบให้ละเอียด หวั่นเกิดอันตรายตามมา พร้อมกันพื้นที่ไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ
นายอนุชา กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ว่าที่ไหนๆ ของประเทศไทย ประชาชนต้องปลอดภัย และขอให้ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น”
มติ ครม. มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ปรับเกณฑ์ปล่อย “ซอฟท์โลน” 5,000 ล้าน อุ้มธุรกิจโรงแรม
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (22 พ.ย. 2565) เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re – Open ธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น โดยให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ในส่วนของคุณสมบัติผู้กู้ ขยายวัตถุประสงค์การให้สินเชื่อ ระยะเวลาชำระเงินกู้ และระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ ให้มีความครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. คุณสมบัติผู้กู้ : ลดข้อจํากัดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ยังอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ จากเดิมต้องมีใบอนุญาตหรืออยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตฯ ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และลดข้อจํากัดให้ผู้ประกอบการที่มีกําไรอย่างน้อย 1 ใน 5 ปีย้อนหลังล่าสุด และปัจจุบันยังประกอบกิจการอยู่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ จากเดิมต้องมีกําไรอย่างน้อย 1 ใน 3 ปีย้อนหลังล่าสุด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการดี ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการพิจารณาช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่มีประวัติชําระหนี้ดี หรือมีหนี้ค้างชําระ และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วแต่สามารถชําระหนี้ได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จากเดิมต้องไม่มีหนี้ค้างชําระก่อนวันยื่นขอเข้าโครงการ
2. วัตถุประสงค์ : ขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการสำหรับเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ จากเดิมให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมสถานประกอบ กิจการหรือลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น
3. ระยะเวลาชำระเงินกู้ : แบ่งออก เป็น 2 กรณี (1) กรณีให้สินเชื่อ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมสถานประกอบกิจการ และลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 7 ปี และ (2) กรณีให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในกิจการ ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี จากเดิม มีกรณีเดียว ได้แก่ การให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม สถานประกอบกิจการ และลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ
4. ขยายระยะเวลารับคําขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 หรือ จนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลา รับคําขอสินเชื่อเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ รวมทั้งกรอบวงเงินงบฯ ชดเชยยังคง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565
ทั้งนี้ โครงการ Soft Loan ธุรกิจโรงแรมฯ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรม และ Supply Chain ของโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อปรับปรุงหรือ ซ่อมแซมสถานประกอบกิจการหรือลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ปัจจุบันธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 64 ราย จำนวน 124 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.48 ของวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ 3 แกนหลักขับเคลื่อนอนาคตประเทศ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในแกนหลักที่ 3 ในการเข้าถึงเงินกู้และการบริการของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียังให้ธนาคารออมสิน ประชาสัมพันธ์โครงการ และนําเสนอผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวางด้วย
ปลื้ม Q3/65 เศรษฐกิจไทยโต 4.5%
นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2565 และแนวโน้ม ปี 2565- 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 (%YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2565 ตามลำดับ และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจ ไทยขยายตัวร้อยละ 3.1
-ด้านการใช้จ่าย : การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.0 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.6 เป็นการลดครั้งแรกในรอบ กว่า 2 ปี โดยเป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 5.2 เป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.0 การลงทุนภาครัฐลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 7.3 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวร้อยละ 1.1
-ด้านภาคต่างประเทศ : การส่งออก มีมูลค่ารวม 71,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.7 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 71,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.2 ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการไฟฟ้าและก๊าซ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาการก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง โดยสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่สำคัญ จากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.3 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 53.6 นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 3.608 ล้านคน จากการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศและสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งทางอากาศบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง เป็นสำคัญ
-เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ : อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.23 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 7.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 25.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและหนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,373,937.59 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 60.7 ของ GDP
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 3.6 ของ GDP
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และ (4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับ
-
(1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(2) การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้การเกษตร โดยฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567
(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า เช่น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและสร้างตลาดใหม่ ติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก พัฒนาพัฒนาสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มีคุณภาพและมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน
(4) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ -ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน – จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
(5) การส่งเสริมกันลงทุนภาคเอกชน โดย-ดูแลสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ -เร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติ BOI ให้เกิดการลงทุนจริง -การแก้ปัญหาให้นักลงทุน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต -ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย -ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตพิเศษต่างๆ -ขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และ -พัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง
(6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ
(7) การติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของการเงินโลก และ (8) การติดตามเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 เชื้ออื่นด้วย
ปลื้มปี’65 รีดภาษีทะลุเป้า 1.51 แสนล้าน ควักเงินคงคลังจ่ายกว่า 3 หมื่น
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 ครอบคลุมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565 รายงานฉบับนี้ กระทรวงการคลังได้ประมวลข้อมูลจากรายงานในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS: Financial Analytics) ในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai) ที่หน่วยงานของรัฐบันทึกเข้ามาในระบบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง ประมาณการ 2,400,000 ล้านบาท จัดเก็บจริง 2,551,223 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 151,223 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมีรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรัฐพาณิชย์เพิ่มขึ้น
2.รายรับจากการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประมาณการ 700,000 ล้านบาท กู้จริง 652,553 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,447 ล้านบาท สาเหตุที่ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดกรอบวงเงินกู้
3.รายจ่ายตามงบประมาณ ประมาณการ 3,100,000 ล้านบาท จ่ายจริง 2,900,727 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,717 ล้านบาท (ยังไม่รวมเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 190,556 ล้านบาท) สาเหตุที่รายจ่ายต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณช้าไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
4.รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 33,655 ล้านบาท
5.ดุลการรับ-จ่ายเงิน ประกอบด้วย 1.รายรับทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจริง 3,203,775 ล้านบาท (รวมรายได้แผ่นดินที่ได้รับจริง 2,551,223 ล้านบาท และเงินกู้ฯ ที่รับจริง 652,553 ล้านบาท) 2.รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามประมาณ 3,148,060 ล้านบาท (รวมรายจ่ายงบประมาณตามงบประมาณ 2,900,727 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่จ่ายจริง (ปี 2564) 213,678 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 33,655 ล้านบาท) ทั้งนี้ รายรับสูงกว่ารายจ่าย 55,715 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสินค้าเข้า – ออก
พร้อมกันนี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการ และกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.ความมั่นคง 2.สร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.สร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม 5.สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ปรับสมดุลพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ส่วนโครงการที่หน่วยราชการเสนอเข้ามาในเบื้องต้นมีจำนวนประมาณ 1,026 โครงการ สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในระยะต่อไปนั้น ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มกราคม 2566 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำขอรับงบประมาณ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 พิจารณารายละเอียดงบประมาณ ช่วงเดือนมีนาคม- เมษายน 2566 เปิดรับฟังความคิดเห็น ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566 สภาพิจารณางบประมาณ วาระที่ 1
ต่ออายุโครงการ BCG ขับเคลื่อน ศก.ฐานราก 6 เดือน
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566 ทำให้โครงการมีระยะเวลารวมทั้งสิ้น 9 เดือน (จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2565) โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้ทั้งสิ้น 3,565.84 ล้านบาท ซึ่งข้อมูล ณ 10 กันยายน 2565 มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวน 2,701.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.76 ของงบประมาณโครงการ
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2) เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 3) พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และ 4) พัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 7,435 ตำบลทั่วประเทศ การดำเนินโครงการจะขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลัก อาทิ 1.กิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐานด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำการตลาดและขายสินค้าในรูปแบบ online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือ อัตลักษณ์ของสินค้าและบริการ 2.การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการจัดทำข้อมูล TCD ให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD สำหรับผลการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 64,428 คน คิดเป็นร้อยละ 94.26 จากเป้าหมาย 68,350 คน โดยแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 32,420 คน และประชาชน จำนวน 32,008 คน เกิดกิจกรรมในพื้นที่ รวม 15,631 โครงการทั่วประเทศ มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 98 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในแต่ละพื้นที่ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.รัชดา กล่าวว่า การดำเนินโครงการในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดผลลัพธ์ของโครงการในช่วง 3 เดือนแรก ได้แก่ 1) การพัฒนา ส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการ BCG ของชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 2) การพัฒนา Platform เพื่อผลักดันผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของ 7,435 ตำบล สู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาด ผ่านช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล (U2T Market Place Platform) 3) การจัดทำ TDC และการวิเคราะห์ข้อมูล และ 4) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการโครงการ
“การดำเนินนโยบาย BCG ของรัฐบาล เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึงชุมชนระดับฐานราก โดยต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม APEC 2022 คาดการณ์ว่า จะมีการลงทุนภายใต้นโยบาย BCG ที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะต่อๆ ไปมากกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะเร่งยกระดับศักยภาพชุมชนและประชาชน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสนี้อย่างเต็มที่” ดร.รัชดา กล่าว
ขยาย “One Map” เพิ่ม 11 จว. แก้ปมออกโฉนดทับที่หลวง
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ว่าที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ กลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี (จากทั้งหมด 7 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 11 จังหวัด) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐที่ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กรมป่าไม้ 2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4) กรมพัฒนาที่ดิน 5) กรมธนารักษ์ 6) กรมที่ดิน 7) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 8) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ 9) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อแก้ปัญหาที่แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยกลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด มีพื้นที่หลังปรับปรุงแนวเขตฯ รวม 18,954,338 ไร่
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของขนาดพื้นที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ มีได้หลายสาเหตุ อาทิเช่น
-
1. ปรับแก้ข้อมูลพื้นที่กันออกตามกฎกระทรวงที่ให้เพิกถอนป่าออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่ยังปรากฏว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติในแผนที่ท้ายกฎกระทรวง
2. ในเขตปฏิรูปที่ดินพบมีสภาพป่าสมบูรณ์ ที่ต้องคืนพื้นที่ป่าให้กรมป่าไม้ จึงให้ ส.ป.ก. กันคืนพื้นที่ป่าคืนให้กรมป่าไม้
3. กรมธนารักษ์กันพื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ (ที่ราชพัสดุใช้ในราชการทหาร พ.ศ. 2484) คืนให้นิคมสร้างตนเองที่ได้มีการประกาศตามกฎหมายแล้วและมีผลกระทบกับสมาชิกนิคมและราษฎรในพื้นที่ที่ได้เอกสารสิทธิไปแล้วเป็นต้น
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า และเพื่อให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ กรณีแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกับแนวเขตที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหรือมีการเข้าครอบครองประโยชน์อยู่
ครม. จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบฯ สำหรับใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเดียวกัน โดย คทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมี 10 ข้อ สรุปได้ดังนี้
-
1. การดำเนินโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map ไม่ได้เป็นการยกเลิกเพิกถอนเอกสารสิทธิ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของประชาชน
2. กรณีมีประชาชนได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อน ให้ดำเนินการตามข้อ 3-7 เพื่อแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว
3. กรณีมีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่างๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. นิคมสหกรณ์ นิคมสร้างตนเอง เป็นต้น แต่อยู่ในเขตที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ป่าไม้ถาวร ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และกรณีประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้งให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมายหรือตามมาตรการ แนวทางที่ คทช. กำหนด พร้อมกับหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย เหมาะสม ตามควรแก่กรณี
4. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน นอกจากกรณีในข้อ 3สามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
5. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุ และที่สาธารณประโยชน์ นอกจากกรณีในข้อ 3 และ 4 สามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสม
6. กรณีเกี่ยวกับเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์เพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้ พ.ศ. 2534 ในการนำข้อมูลระวางแผนที่ของกรมที่ดินที่ได้มีการขีดเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าชายเลน ป่าไม้ถาวร มาประกอบการพิจารณา
7. กรณีที่มีประชาชนมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ หรืออ้างว่ามีสิทธิในเขตที่ดินของรัฐ เพื่อความเป็นธรรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินได้
8. กรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐ มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ตรงกัน และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้เสนอเรื่องต่อคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ที่เกี่ยวข้อง และเสนอ คทช. พิจารณา เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางการให้ช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน หรือเยียวยาอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ตามกฎหมาย หรือมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในมิติต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
9. ประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจโดยทั่วไปทราบวัตถุประสงค์ของโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map ซึ่งจะไม่กระทบต่อเอกสารสิทธิที่ประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับโดยชอบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากแต่จะมีผลดีในภาพรวม ทำให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก เกิดความเชื่อมั่น สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ
10. แนวทางดังกล่าว ให้นำไปปฏิบัติกับทุกกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เป็นไปในแนวทาง และมาตรฐานเดียวกัน โดยการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐจะไม่ทำให้ ทางราชการเสียหายหรือเสียประโยชน์ รวมถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ โดยให้โอกาสที่จะพิสูจน์สิทธิเป็นพื้นฐาน และจะไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชน
ถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ จากสภาฯ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความรอบคอบและให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จึงขอนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับมาทบทวนและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นตามหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่สังกัดสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 35 แห่ง และหัวหน้าศูนย์ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประจำจังหวัด จำนวน 53 จังหวัด ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เพื่อคำนึงถึงผลกระทบของลูกจ้างตามหนังสือคัดค้าน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติโควิด-19 จึงเห็นชอบที่จะทบทวนบทบัญญัติต่างๆ ในร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะโดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ครม.มีมติเห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2563 และต่อมาอีก 2 ปี คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วนให้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา และต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ลูกจ้างโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 35 แห่งและศูนย์ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประจำจังหวัด 53 จังหวัดทำการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้โดยอ้างว่ามีหลักการที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างมากกว่ากฎหมายฉบับปัจจุบัน ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากล
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมาย ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของลูกจ้างจึงจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับมาทบทวนและหารืออีกครั้ง” นางสาวทิพานัน กล่าว
ผ่าน พ.ร.บ.เอาผิดพ่อค้าหลอกขายสินค้าชำรุดเสียหาย
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือ เสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้านั้น หรือ ในกรณีที่ผู้บริโภคประกอบสินค้าหรือติดตั้งตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน ซึ่งได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด เพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ดังนี้คือ ผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า, เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า, ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้คือ ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งซื้อขายกันทั่วไปเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นไปตามหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องพิสูจน์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ซึ่งทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขาย หรือ ส่งมอบ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะมีสัญญาที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าฯ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ สัญญาการขายหรือเช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว การขายหรือเช่าซื้อสินค้าตามสภาพ และ การขยายทอดตลาด
อนุมัติงบฯ 540 ล้าน จัดเลือกตั้งสภาเกษตรกรฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 540 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ
ทั้งนี้ เนื่องจากสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 และสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 โดยนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในเรื่องนี้แล้วและจะเดินทางไปมอบนโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในวันที่ 25 พ.ย. 2565
สำหรับกำหนดการเลือกตั้งฯ จะมีขึ้นในวันที่ 25 ธ.ค. 2565 นี้ ซึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลจะมีส่วนให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยสุจริตและเป็นธรรม ได้มาซึ่งสภาเกษตรกรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต แปรรูป การตลาด สนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดนโยบาย วางแผนงานอย่างเป็นระบบ ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด พัฒนาภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาตินี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 8 และมาตรา 37 ซึ่งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด คราวละ 4 ปี นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันครบวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่ในมาตรา 8 วรรค 2 กำหนดให้สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศชื่อสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งทางสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ จึงได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันนี้
เห็นชอบเอกสาร “EANET” แก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสาร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EANET) และเห็นชอบกับร่างหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ โดยประเทศเครือข่าย EANET ต้องรายงานผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ในการประชุมระดับรัฐบาล ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ทั้งนี้เอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดสารที่เป็นมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละออง เป็นต้น และในส่วนของการดำเนินงาน จะมีการติดตามและประเมินผล ความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น โดยเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ทุกประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีที่ประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบไม่ครบจะมีผลเฉพาะกับประเทศที่ให้ความเห็นชอบแล้ว ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งว่า ในส่วนของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ยังไม่ได้เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ เอกสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ณ วันที่ประเทศไทยลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ แต่เอกสารดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนอยู่แล้ว
สำหรับเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือ EANET นั้น จัดตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อรับมือกับปัญหาการตกสะสมของกรดที่เป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนในภูมิภาค มีประเทศเครือข่าย 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในปี 2543 ได้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย (Network Center) เป็นศูนย์ทางวิชาการในประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ EANET ในประเทศไทย โดยให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นฝ่ายเลขาธิการ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินงานของ EANET เป็นไปอย่างเหมาะสม มีขอบเขตความร่วมมือ กิจกรรม ภารกิจของประเทศเครือข่าย และการสนับสนุนด้านการเงินแก่ EANET ที่ชัดเจน จึงมีการจัดทำตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ EANET เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยมีการดำเนินงานหลัก เช่น การติดตามตรวจสอบ การศึกษาวิจัย การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับการตกสะสมของกรด
อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศประสบปัญหามลพิษทางอากาศหลายชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเทศเครือข่ายจึงเห็นควรให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานของ EANET ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศด้วย ดังนั้นระหว่างปี 2562-2564 จึงได้มีการประชุมร่วมกันและได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตดังกล่าวในรูปแบบของเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ
ผ่านแผนบริหารที่ดิน 15 ปี ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่า 50%
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างนโยบา ยและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ. 2566 -2580 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการในระยะ 15 ปีข้างหน้า เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินระยะกลาง (5 ปี) และสามารถนำไปขับเคลื่อนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นไปในเชิงรุก และมีประสิทธิภาพ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินฯ จะมีนโยบายหลัก 4 ด้าน 19 ตัวชี้วัด 11แนวทางการพัฒนาหลัก และ 17 แผนงานที่สำคัญ โดยนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่นโยบายการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ มีตัวชี้วัดเช่น จำนวนพื้นที่ที่มีการจัดทำเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐตามหลักเกณฑ์ One Map แล้วเสร็จ ที่ดินของรัฐถูกบุกรุกลดลง, นโยบายการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีตัวชี้วัด เช่น สัดส่วนของที่ดินที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ลดลง, นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีตัวชี้วัดเช่น สัดส่วนผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินลดลง ระดับรายได้ของผู้ได้รับการจัดที่ดินเพิ่มขึ้น และนโยบายการบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ มีตัวชี้วัดเช่น มีระบบฐานข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ขณะเดียวกันร่างนโยบาย และแผนการบริหารจัดการที่ดินฯ ดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายเป็นระยะในแต่ละนโยบายหลักทั้ง 4 ด้าน เช่นในส่วนของนโยบายการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ จะมีเป้าหมายประกอบด้วย เป้าหมายระยะ 5 ปี (ปี2566-2570) เช่น ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแล้วเสร็จ, เป้าหมายระยะ 10 ปี(ปี2571-2575) เช่น การลดปัญหาความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนลดลง และที่ดินของรัฐถูกบุกรุกน้อยลง, เป้าหมายระยะ 15 ปี (ปี2576-2580) เช่น พื้นที่ป่ามีสัดส่วนร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ และผลผลัพธ์สุดท้าย คือ แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุลและยั่งยืน และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศและมีส่วนร่วม
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาของระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่ขาดเอกภาพในเชิงนโยบายและมีข้อจำกัดทางด้านกลไกและเครื่องมือ โดยอำนาจการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายคณะ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้หลายฉบับ การบูรณากรการทำงานมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ขาดระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการที่ดินส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ในระยาว จึงส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่เดิน เช่น การทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของหน่วยงานต่างๆ ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน การไร้ที่ดินทำกิน การบุกรุกที่ดินของรัฐ การใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามศักยภาพของที่ดิน ตลอดจนการทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ตั้ง “วันทนา แจ้งประจักษ์” ขึ้นรองปลัดท่องเที่ยวฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรยละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นางสาวมิรา โครานา นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2565
2. นายธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กปร. สำนักงาน กปร.
2. นางพิชญดา หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กปร. สำนักงาน กปร.
3. นายหทัย วสุนันต์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กปร. สำนักงาน กปร.
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เพิ่มเติม