ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “ไมเนอร์” ฝังกลยุทธ์ sustainability ทุกกระบวนการทำงาน สร้าง “บริษัทยั่งยืน-stakeholders ยั่งยืน”

“ไมเนอร์” ฝังกลยุทธ์ sustainability ทุกกระบวนการทำงาน สร้าง “บริษัทยั่งยืน-stakeholders ยั่งยืน”

30 พฤศจิกายน 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ที่มาภาพ : https://www.minor.com/storage/download/sustainability-reports/2021/mint-sd-th.pdf

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนใน 3 กิจการหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ 2. ธุรกิจภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม และ 3. ธุรกิจการจัดจำหน่ายและผลิตสินค้า กิจการส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศไทย และได้ขยายไปในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน มัลดีฟส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ศรีลังกา รวมถึงออสเตรเลีย

ไมเนอร์ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2561 เพื่อตอบสนองประเด็นสำคัญของบริษัทและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมีการติดตาม ปรับปรุงและเพิ่มเติมเป้าหมายให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ

แม้รางวัลจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ปี 2564 ไมเนอร์ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index (DJSI) ได้รับการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ AA และได้รับรางวัล Highly Commended in Sustainability Awards กลุ่มบริษัทจดทะเบียน ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 100,000 ล้านบาทจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรางวัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตอกย้ำสิ่งที่ ไมเนอร์ ดำเนินการต่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางชมพรรณ กุลนิเทศ รองประธานฝ่ายบริหารการลงทุนและความยั่งยืน บริษัท ไมเนอร์ โฮลดิ้ง (ไทย) จำกัด กล่าวว่าการทำเรื่องsustainability จะสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กร ต้องเป็นกลยุทธ์ที่ไปกับธุรกิจได้ เป็นกลยุทธ์ที่จะเข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานต่างๆ ของไมเนอร์ ไม่เช่นนั้น sustainability ไม่เกิด จะไม่เป็น sustainability อย่างแท้จริง

“ไมเนอร์ทำความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2012 ซึ่งแนวคิดเรื่อง sustainability สมัยนั้นค่อนข้างใหม่ เวลาผู้บริหารไปโรดโชว์ในต่างประเทศ นักลงทุนจะเริ่มมีคำถามว่า บริษัทได้ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับ sustainability ประกอบกับตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มโปรโมทเรื่อง sustainability ก็เลยเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ต้องมองทั้งธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย ที่มีทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม เดิมเราทำธุรกิจต้องการผลกำไร แต่บริบทของบริษัท เรามีหน้าที่ ความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไมเนอร์ทำ CSR (corporate social responsibility) เช่น ให้ทุนเด็ก ช่วยโรงเรียน มูลนิธิช้าง มูลนิธิเต่า แต่ยังไม่มองเป็นภาพใหญ่ของ sustainability ก็เลยเริ่มมาดูว่า จริงๆ แล้ว มองให้เป็นกลยุทธ์ที่ไปกับธุรกิจได้”

“เริ่มจากจุดนี้ แล้วค่อยๆ มองว่า ธุรกิจเราเกิดมาเพื่ออะไร สามารถสร้าง impact ให้คนกลุ่มไหนได้บ้าง หรือ stakeholders คนกลุ่มไหนได้บ้าง อะไรที่ผู้มีส่วนได้เสียต้องการ ถ้าเราทำ ก็ดีสำหรับบริษัทด้วย เริ่มจากตรงจุดนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยง business strategy เข้ากับความต้องการของ stakeholders มีการมองว่ามี trend อะไร และ risk อะไรที่เกี่ยวข้อง และจะมีการขับเคลื่อนอย่างไรให้ออกมาเป็น sustainability strategy นี่คือวิวัฒนาการของไมเนอร์ เริ่มจากความเข้าใจน้อย เป็นความเข้าใจมากขึ้นในเรื่อง sustainability”

นางชมพรรณ กุลนิเทศ รองประธานฝ่ายบริหารการลงทุนและความยั่งยืน

ชมพรรณเล่าต่อว่า “เมื่อจะทำเรื่อง sustainability strategy ได้คุยกับผู้บริหารตั้งแต่วันแรก แล้วผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทให้การยอมรับและสนับสนุน และเห็นความสำคัญ ก็เลยรู้สึกว่า มันไปได้ ทำให้ปีแรกที่ทำเรื่อง sustainability มีการจัดให้ที่ปรึกษาด้านนี้มาคุยให้คณะกรรมการฟังว่า อะไรคือ sustainability ทำไมถึงต้องดูเรื่องนี้ และมีการเชื่อมโยงเข้ากับกลยุทธ์ของธุรกิจอย่างไร และเมื่อคณะกรรมการยอมรับ ตั้งแต่นั้นมา เรื่อง sustainability จะเป็น board agenda มีการรายงานคณะกรรมการทุกไตรมาส”

ในช่วง 4-5 ปีหลัง ไมเนอร์มีการวางเป้าหมายพร้อมเครื่องชี้วัดที่รายงานคณะกรรมการ มีการทำ sustainability strategy ที่เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวขององค์กร ปกติบริษัทจะทำแผน 5 ปี หนึ่งในนั้นจะเป็น hotel group, food group, life style แล้วก็มีเรื่อง sustainability เข้าไปด้วย โดยเป็นกลยุทธ์ที่บอร์ดต้องให้การรับรอง แต่หลังจากเกิดโควิด-19 และอื่นๆ ทำให้แผนมีระยะสั้นขึ้น 3 ปี เพื่อให้มีความกระชับและเป็นไปได้มากขึ้น

“ไมเนอร์ทำ sustainability strategy โดยมองทั้งเรื่อง trend ของโลก และความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เทคโนโลยี ว่ามีอะไรบ้าง ที่จะส่งผลกระทบต่อ sustainability และมองด้วยว่า ถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้น จะมีโอกาสอะไรบ้างในความเสี่ยงที่ว่า โดยเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ที่ได้มีการพัฒนาไว้แล้ว”

ทั้งนี้ ไมเนอร์ ได้วาง sustainability strategy ใน 3 เสาหลัก 1.คน 2.ห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain 3. สิ่งแวดล้อม แล้วยังมียุทธศาสตร์เสริม (enabler) ที่เป็นตัวสนับสนุน คือ การเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล (corperate good governance) และความรับผิดชอบต่อสังคม อีกตัวคือ share value ในการสร้างคุณค่าร่วมกับทั้งองค์กร กล่าวคือหลังจากที่ทำเรื่อง sustainability แล้ว จะต้อง win win คือได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ธุรกิจก็ต้องได้ stakeholders ได้ สิ่งแวดล้อมได้

“ถ้าจับภาพนี้เป็นภาพที่เข้าใจด้วยกันทั้งหมดภายในองค์กร จะทำให้สามารถขับเคลื่อน sustainability ต่อไปได้อย่างยั่งยืนจริงๆ อาจจะได้ไม่เท่ากัน บางครั้งธุรกิจอาจจะได้มาก สังคม สิ่งแวดล้อมได้บ้าง แต่บางครั้งสังคม สิ่งแวดล้อมได้เยอะ แต่ธุรกิจก็ยังมีส่วนที่ได้ อาจจะไม่ได้ออกมาในรูปของผลกำไร อาจออกมาในรูปการบริหารความเสี่ยง หรือในรูปแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเม็ดเงินเสมอไป แต่เป็น impact กับธุรกิจได้ด้วย”

“ดังนั้น กลยุทธ์องค์กรเรื่อง sustainability คือต้องการให้ sustainability เป็นตัวที่ช่วยสนับสนุน performance ของธุรกิจเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน นี่เป็น vision ของเรา ขณะที่ 3 เสาหลัก กับ 2 enabler ของเราเป็นตัวช่วยให้เกิดขึ้น”

“3 เสาหลัก” กลยุทธ์ sustainability

เสาหลักแรกเป็นเรื่องของ คน ไมเนอร์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน ในสังคมที่ไมเนอร์ทำธุรกิจอยู่ หรือเป็นพนักงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผู้บริหาร คนเก่ง คนมีความสามารถ (talent) ต่างๆ มีการมองว่า คนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพแค่ไหน และเราจะเข้าไปช่วยได้อย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่อง การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ (learning & development) เช่น ในชุมชน เรามีโครงการช่วยโรงเรียน หรือให้ทุนนักเรียน โดยเฉพาะชุมชนรอบโรงแรม จะมีการออกไปทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน บางครั้งนักเรียนก็มาดูงานโรงแรม มาทำกิจกรรมที่โรงแรมบ้าง ถ้ากำลังจะมาเป็นพนักงานของเรา ก็จะมีโปรแกรม MCU (Minor Corperate University) ที่ไมเนอร์ทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ ในการทำหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับชีวิตจริงมากขึ้น และรับนักเรียนเข้ามาฝึกงานกับเรา โดยระหว่างที่มาฝึกงานได้เงินเดือน แต่ที่ได้มากกว่านั้น คือ การฝึกงานจริง ทำให้มีทักษะ ความชำนาญจริง เพื่อเพิ่มคุณค่าตัวเขาเองได้

กิจกรรมสันทนาการกับนักเรียนในโครงการ Minor School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไมเนอร์ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาด้านสาธรณูปโภค อุปกรณ์การเรียนรู้ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและบุคคลากรโรงเรียน ในภาพ เป็นการจัดกิจกรรมในโอกาสวัน Minor Founder’s Day หรือ “วันทำดีด้วยจิตอาสา” ประจำปี 2565

“การลงทุนกับนักศึกษาเหล่านี้ เมื่อเขาเรียนจบ เขาบอกว่า เขาโตขึ้น รู้จักรับผิดชอบกับตัวเองมากขึ้น เข้าใจคุณค่าของเงินมากขึ้น คือ เด็กเหล่านี้นอกจากจะได้ technical skill แล้ว เขายังได้ life skill อีกด้วย นี่คือสิ่งที่เราได้มีส่วนช่วยสังคม ขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้เห็นทักษะของเด็ก แล้วมองเห็นว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพที่จะทำงานกับเราได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคคลากรได้ระดับหนึ่ง เพราะมีเด็กที่เข้ามาแล้วสามารถคัดเลือกได้ นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้วย เพราะได้มีการฝึกไปแล้ว ไม่ต้องฝึกใหม่มากนักเพื่อให้เขาทำงานต่อได้ ผลประโยชน์อีกด้าน คือ retention cost ในการเก็บรักษาพนักงานกลุ่มนี้ไว้ได้ยาวกว่า เพราะเขารู้แล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร เขาต้องทำงานอย่างไร ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสเปลี่ยนงานต่ำกว่า ในแง่ของสังคม ก็มองว่าเราได้ให้โอกาส และทักษะความชำนาญต่างๆ ให้แก่เด็ก พอเขามาอยู่ในองค์กร ก็จะมีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นี่เป็นภาพการพัฒนาคน เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น responsible employer หรือการดูแลเรื่องอาชีวอนามัยทั้งหลาย รวมทั้งความพยายามในการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในองค์กรทั้งหมด

“sustainability ไม่ใช่ CSR แต่ CSR เป็นส่วนหนึ่งของ sustainability และเรามองว่า ถ้าเราสร้างคนที่มีจิตสำนึกในการให้ได้แล้ว เวลาเขาไปทำอะไร รวมถึงการทำงาน เขาจะนึกถึงเหรียญสองด้านเสมอ คือมองว่าสิ่งที่เขาทำมี impact อะไรบ้าง นอกจากธุรกิจ มันเป็น impact ไม่ใช่แค่ส่วนตัวของเขา มี impact อะไรต่อสังคม สิ่งแวดล้อม คนรอบข้างเขาบ้างหรือเปล่า เราพยายามที่จะสร้าง mindset อย่างนั้น”

ชมพรรณบอกว่า ดังนั้น ในแต่ละปี จะมี 1 วันที่จะรวมพนักงานไมเนอร์ทั่วโลกออกไปทำความดีกัน โดยให้เขาคิดกิจกรรมกันเอง ทั้งในกลุ่มธุรกิจ ระดับบริษัท แต่ละโรงแรมจะมีกิจกรรมที่ทำกับคนในชุมชน เพื่อบอกว่าในแต่ละปี จะมี 1 วันที่จะตอบแทนสังคม นี่เป็นกิจกรรมใหญ่ เป็นการรวมคนที่จะทำความดีร่วมกัน โดยใน 1 เดือน มีการทำความดีไปเท่าไหร่ คนที่มาร่วมหรือจิตอาสา มีเท่าไหร่ มีการคืนสู่สังคมเพียงใด เป็นกิจกรรมที่ทำมาได้ 20 กว่าปีแล้ว และจะเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้นๆ จากประเทศไทยก็จะขยายออกไปทั่วโลก ให้มาเข้าใจเรื่องนี้และทำด้วยกัน

ชมพรรณกล่าวต่อว่าข้อดีนอกจากได้ตอบแทนสังคมแล้ว ยังได้ใจพนักงานด้วย พนักงานหลายคนชอบกิจกรรมนี้ และรู้สึกว่า การมาอยู่บริษัทนี้ไม่ใช่แค่ทำงานอย่างเดียว แต่ได้ทำอะไรตอบแทนสังคมด้วย

“value chain” ห่วงโซ่คุณค่าต้องยั่งยืนไปด้วยกัน

เสาหลักที่ 2 ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เราเริ่มจากซัพพลายเออร์ก่อน ในด้านการซื้อ การจัดหา จะดู sustainable supply chain หรืออะไรที่ยั่งยืนมากกว่า ทั้งผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็คิดว่าเรามีหน้าที่ในการที่จะต้องให้ความรู้ หรือสร้างซัพพลายเออร์ของเราให้ยั่งยืนด้วย เริ่มจากง่ายๆ คือ ให้ถูกกฎหมายก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อาชีวอนามัยความปลอดภัย กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จะมีการเชิญซัพพลายเออร์เข้ามาสัมมนา รวมทั้งการพูดคุยกับ supply chain ถึงวิสัยทัศน์ของไมเนอร์ในอนาคตจะเติบโตไปขนาดไหน จะมีการใช้อะไร

ชมพรรณกล่าวว่า “เพื่อจะบอกว่าเราอยากเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทคุณ โดยมีเรื่อง sustainable ด้วย บริษัทคุณควรเข้าใจเรื่อง sustainable ซึ่งมีกฎ มีระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง พอให้ข้อมูลเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็จะให้ทำแบบสอบถาม และให้เรตติ้ง ถ้าเขายังไม่ได้ทำหลายอย่าง เป็นกลุ่ม medium – high risk ไมเนอร์จะไม่ตัดเขาทิ้งเลย แต่จะขอเข้าไปตรวจสอบ เข้าไปดูว่าเขาทำงานอย่างไร มีอะไรที่ต้องทำเพื่อแก้ไข เป็นการพัฒนาซัพพลายเออร์กลุ่มนี้เพื่อให้โอกาสเขาที่จะทำให้ดีขึ้น เป็น sustainable supply chain ที่ทำกับ critical supplyer หรือซัพพลายเออร์ถ้าขาดเขา เราก็อยู่ลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนของเรา เราต้องการให้ซัพพลายเออร์เหล่านี้เขาอยู่ได้ ทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องถูกปิดโรงงาน หรืออื่่นๆ ตอนนี้ได้เริ่มทำแล้วในประเทศไทย ออสเตรเลีย กำลังพยายามขยายไปที่จีน และยุโรป

นอกจากนี้ ไมเนอร์ยังมองเรื่อง sustainable partnership การเติบโตของไมเนอร์มาจากการที่มี partnership ที่ดี จึงต้องมองว่า เรา treat partnership fairy และเติบโตไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ต้องกลับมาดูว่า มีการพัฒนากันอย่างไร เราชวนกันไปในเรื่อง sustainability ที่ต้องไปด้วยกัน ดูเรื่องคนก็ไปด้วยกัน ในอนาคตก็เริ่มดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมแล้วว่ามีอะไรที่เราทำกับพาร์ทเนอร์แล้วจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

หรือที่คุยกันอยู่ มีเรื่อง sustainable supply chain จากจุดนี้ก็มองต่อไปถึงลูกค้า ซึ่งมีสองส่วน คือ ลูกค้าไมเนอร์ค่อนข้างหลากหลาย ลูกค้าโรงแรม โดยเฉพาะจากยุโรป จะมีความรู้เรื่อง sustainable และมีความต้องการเรื่องนี้ จึงเป็นหน้าที่ของเราว่าจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าเหล่านี้อย่างไร โดยดูผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่จะให้กับลูกค้าดีพอหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของเขาหรือไม่ เช่น กลุ่มโรงแรมทั้งหมดมีนโนบายไม่ใช้หลอดพลาสติกตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะใช้ก็จะเป็นหลอดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือทุกโรงแรมของเราจะมีเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกค้าเป็นทางเลือกมากขึ้น หรือวัตถุดิบที่ประกอบอาหารต้องมาจากท้องถิ่นเพื่อลดคาร์บอนฟรุตปรินท์ และช่วยเหลือชุมชน ในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาหาร เราก็เริ่มกระตุ้นให้แต่ละแบรนด์ในกลุ่มว่า ต้องมีทางเลือกให้ลูกค้าเช่นเดียวกัน ต้องมี healthy menu ให้กับลูกค้า อย่างน้อยใน 1 ปีต้องออกเมนูใหม่เมนูหนึ่งเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า หรืออาหารหวานน้อย เป็นต้น

นอกจากตอบสนองความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังเป็นการให้การศึกษาด้วย เพราะบางครั้งลูกค้ายังไม่พร้อม แต่ต้องบอกลูกค้าแล้วว่าเราทำตรงนี้ทำไม เช่น การลดการใช้หลอดพลาสติกและพลาสติก จะมีลูกค้าบางรายไม่เข้าใจ ใช้หลอดกระดาษมันเปื่อย ก็ต้องพยายามให้พนักงานของเราให้ความรู้กับลูกค้าด้วย

สิ่งแวดล้อม “ดูแล-ฟื้นฟู-ป้องกัน”

เสาสุดท้าย คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราดูสองส่วน ส่วนแรกคือ การดำเนินธุรกิจของเราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และเราลดผลกระทบเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง ส่วนที่สอง คือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในฝั่งธุรกิจโรงแรม ที่ใกล้ชิดธรรมชาติค่อนข้างมาก ถ้าไม่ช่วยรักษาหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ลูกค้าก็ไม่มาเหมือนกัน อาทิ ไปมัลดีฟท์ แล้วปะการังตายหมด ลูกค้าก็ไม่มา ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเราในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพยายามฟื้นฟูให้ดีที่สุด ในด้านการประกอบธุรกิจ

“ตอนนี้ไมเนอร์ commit เป็น net zero carbonization ภายในปี 2050 เราปักธงแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บอร์ดอนุมัติและได้ประกาศออกไปว่าจะทำ ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร โดยกำลัง set base line อยู่ แต่สิ่งที่ทำมาหลายปีแล้วคือ การลดการใช้พลังงานน้ำ และคาร์บอนฟุตปรินท์ คือมีความพยายามลดอยู่แล้ว เป็นทั้ง KPI และเป้าหมายของไมเนอร์ เพียงแต่ว่าเวลานี้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นว่าจะเป็น net zero carbonization ภายในปี 2050”

ชมพรรณบอกว่าสิ่งที่ทำคือ 4R ที่พยายามโปรโมทและให้การศึกษา ผ่าน online trainning และอื่นๆ ให้กับพนักงาน โดย 4R คือ Reduse, Reuse, Recycle และ Replace ทำอย่างไรให้มีการลดการใช้ มีการรีไซเคิลให้มากที่สุด เอากลับมาใช้ใหม่ หรือเปลี่ยนด้วยสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็น 4R ที่พูดตลอดเวลา มีอะไรก็จะพยายามสื่อเรื่อง 4R ให้พนักงานเข้าใจและช่วยกัน อย่าง เรื่องแยกขยะ หรือการโปรโมทเรื่องขวดพลาสติก ให้เอามาทิ้งรวมกัน เพื่อจะเอาไปรีไซเคิล และยังมีเป้าหมายการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยคุยกับแบรนด์ต่างๆ ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ใช้อะไรทดแทนได้

“การปฏิบัติส่วนหนึ่งคือไปปรับกระบวนการทำงานเพื่อลดการใช้ เช่น ถ้าลูกค้ามาสั่งอาหารทานในร้าน แก้วน้ำ ก็ไม่ให้ฝา ถ้าลูกค้าไม่ขอ หรือทำให้หลอดหยิบยากขึ้น ถ้าไม่ขอ ไม่ให้ เป็นทั้งการลดการใช้พลาสติก และปรับพฤติกรรมให้กับลูกค้าและพนักงานเองด้วย อีกส่วนคือ จะใช้อะไรมาทดแทนได้บ้าง เช่น โรงแรม ขวดแชมพูที่ทำมาก่อนเรื่อง sustainability คือแทนที่จะให้เป็นขวดเล็กๆ ตอนนี้ก็ให้เป็นขวดใหญ่แล้วกดมาใช้แทน ลดการใช้พลาสติกลง หรือการจัดการขยะที่มีการฝึกอบรมกลุ่มธุรกิจโรงแรมทั้งหมด และทำเป็น KPI ให้กลุ่มโรงแรม”

ส่วนเรื่อง net zero carbonization ชมพรรณบอกว่า “ต้องยอมรับว่าหลายบริษัทหรือหลายประเทศที่ commit ก็ยัง commit โดยหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่มาช่วยได้ สำหรับไมเนอร์ เรารู้ว่าอะไรที่ทำได้ในเวลานี้ แต่ถ้าเราไม่ปักธง จะไม่มีวันไปถึง ซีอีโอของเรายังถามว่า ทำไมไม่ทำให้เร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ เราก็หวังว่าถ้าทำได้เร็วกว่านี้ก็คงดี และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปจะมีการออกกฎหมายเรื่องนี้แน่ๆ เริ่มเห็นที่ออสเตรเลียแล้ว ประเทศไทยก็เริ่มปักธง ฉะนั้น ปี 2050 น่าจะสมเหตุสมผลที่สุด แม้จะไม่มั่นใจ 100% แต่ต้องทำให้ได้ หนทางอาจจะยังไม่เคลียร์ แต่เราต้อง commit และต้องพยายามขับเคลื่อน ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึงไหน เราต้องพยายามไปตรงนั้นให้ได้”

ชมพรรณ กล่าวว่า ในเรื่องความยั่งยืนนั้นไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเสมอไป และจะมีผลตอบแทนทางธุรกิจไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง หลายครั้งทำแล้วไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงกว่าสิ่งที่ทำอยู่ก่อน บางครั้งประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน ช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือเรื่องของคน ถ้าดูเรื่องการพัฒนาคนตั้งแต่เขายังไม่ได้มาทำงาน จนในที่สุดมาทำงานกับเรา ผลพลอยได้ มีทั้งการลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การคัดเลือกคน และไม่ต้องสรรหาคนบ่อย ก็คุ้มที่จะลงทุน และได้ตอบแทนสังคมด้วย อาจเป็นเพราะไมเนอร์เป็นธุรกิจบริการ เราไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทำให้มีข้อได้เปรียบในจุดนี้

ส่วนเรื่อง good corperate governance โดยวางเป้าหมายจากเกณฑ์ของ IOD ต้องได้ excellent score ให้ได้ตลอด ซึ่งได้มาหลายปีแล้ว แต่กฎเกณฑ์ก็มีการพัฒนาและยากขึ้นเช่นเดียวกัน ก็ต้องตามให้ทัน

ตัวสุดท้าย คือ share value การสร้างคุณค่าร่วม ชมพรรณบอกว่าสิ่งที่ทำคือเรามี Minor Sustainability Award มาหลายปี โดยขอให้แต่ละธุรกิจส่งสิ่งที่เขาทำเข้ามา โดยมีเงื่อนไขว่า สิ่งที่ส่งเข้ามาต้องสร้าง bussiness impact ขณะเดียวกันต้องสร้าง impact ให้กับสังคม หรือสิ่งแวดล้อมด้วย และต้องคำนวณออกมาให้ได้ด้วยว่า impact ที่สร้างเป็นอย่างไร และมีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่ใช่คิดแล้วยังไม่ทำ ต้องทำแล้วโชว์ให้ได้ด้วย โดยส่งแอพพลิเคชั่นเข้ามา เพื่อโปรโมทว่าคุณทำอะไรได้บ้าง โดยมีรางวัล Minor Sustainability Award เพื่อขยายผลให้คนอื่นในองค์กรได้ทราบเรื่องด้วย

ความท้าทาย…sustainable เป็น journey ที่ไม่มีสิ้นสุด

ชมพรรณมองความท้าทายในการทำเรื่องความยั่งยืนว่า “การไปบอกว่า คุณต้องทำ ต้องทำ จะยากกว่า จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าจะเข้าไปดูแลแต่ละกลุ่มธุรกิจของไมเนอร์อย่างไร ใครไปได้เร็วอาจจะดูแลแบบหนึ่ง ใครไปได้ช้า ก็ค่อยๆ สอน ค่อยๆ บอก คือต้องอาศัยลูกตื๊อในระดับหนึ่ง พูดไปเรื่อยๆ ให้เขาเข้าใจ ให้เขาเห็นภาพ พยายามจะฝึกอบรม พยายามจะทำโครงการ sustainability ให้เห็นภาพทั้งสองด้าน หลายคนก็มาเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นทำไปก็ไม่ค่อยเข้าใจนะ แต่ผ่านไปเรื่อยๆ ก็พอเข้าใจแล้วว่ามันคืออะไร นี่เป็นหนึ่งในความท้าทาย

“ตอนนี้ต้องบอกว่า คุยกับคนในองค์กรเรื่อง sustainability จะเข้าใจกว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเยอะ เมื่อก่อนคนก็จะมองเหวอๆ นิดนึงว่า เอ๊ะคุยอะไรอยู่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า “เออนี่… ฉันเป็นห่วงมากเลย เรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จะช่วยอะไรได้บ้าง” จะมีคนคุยเรื่องนี้มากขึ้น คนรุ่นใหม่แคร์เรื่องมากขึ้น กระทั่งฝ่ายบริหารมาดูเรื่องนี้มากขึ้น เพราะอยากทำให้ลูกหลาน เลยกลายเป็นเรื่องค่อนข้างดีสำหรับองค์กร”

ความท้าทายที่สอง คือ การเก็บข้อมูล เรื่อง ESG ค่อนข้างยากเข้า ยังไม่มีมาตรฐานสากลที่แท้จริงในการเก็บข้อมูล แม้จะพอมีระบบบ้าง แต่การเอาระบบที่ว่าไปให้แต่ละธุรกิจ แต่ละแบรนด์ ยังมีโรงแรมที่ไมเนอร์เป็นเจ้าของ และที่ไมเนอร์เข้าไปบริหาร การเก็บข้อมูลหรือการวัดข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นความท้าทายที่หนักพอสมควร โดยเฉพาะการจัดทำเป็นรายงาน หลังจากได้ข้อมูลมา ต้องตรวจสอบ ต้องรวบรวม ทำให้ตรงกันทั้ง 3 กลุ่มนี่เป็นเรื่องที่ท้าทาย

“สิ่งที่พยายามทำ คือเอาระบบเข้ามาจับในจุดที่สามารถทำได้ ซึ่งก็เป็นระบบมากขึ้น เริ่มรู้ว่าต้องเก็บข้อมูลอะไร เริ่มสอนคนให้ข้อมูลว่าจะต้องเก็บอะไร แต่พอเปลี่ยนคนใหม่ก็ต้องสอนกันใหม่”

ชมพรรณกล่าวถึงรางวัลต่างๆ ที่ได้มาว่า “ทำให้เกิดทั้งกำลังใจและแรงกดดันไปพร้อมกัน แรงกดดันคือ ติดอันดับแล้วห้ามออก ขณะที่กำลังใจมีมากๆ ยิ่งตอนได้มาใหม่ ทำให้รู้สึกว่า เราทำได้ดีในระดับหนึ่ง เอาไปโปรโมทในองค์กรได้ด้วยว่า เราทำได้ดีขนาดนี้แล้วนะ เราต้องยิ่งไปกว่านั้น โดยใช้ DJSI, MSCI เป็นตัวพัฒนาว่า ยังมีช่องว่างอะไรที่ยังทำไม่ได้ดีที่สุด ต้องทำอะไรเพิ่ม แล้วเอาไปขับเคลื่อนต่อ ทั้งกับฝ่ายบริหาร กับองค์กร ว่า ยังขาดอยู่นะ ยังต้องทำต่อไปอีก เป็นความภาคภูมิใจของคนในองค์กร อยากจะขับเคลื่อนต่ออีกให้ดีขึ้นไปอีก ต่อภายนอกเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุน หรือสถาบันการเงินต่างๆ จะรู้สึกว่าอย่างน้อยมีคนดูมาให้เขาแล้วระดับหนึ่งแล้ว ว่าบริษัทนี้ใช้ได้ เป็นการเปิดประตูให้ไมเนอร์ในระดับหนึ่ง เคยมีนักลงทุนบอกเลยว่า ได้อย่างนี้เลยเหรอ โอเค มาคุยกันเรื่อง partnership เพราะเขารู้สึกว่า อย่างน้อยบริษัทได้รับการรับรองมาในระดับหนึ่ง”

ชมพรรณ์กล่าวถึงข้อแนะนำบริษัทที่คิดหรือริเริ่มจะทำเรื่อง sustainable ที่สำคัญ คือ ควรเริ่มจากตัวตนของบริษัทก่อนว่า คืออะไร แล้วสิ่งที่สำคัญของบริษัทคืออะไร อะไรสำคัญต่อ stakeholders แล้วอะไรที่สำคัญกับทั้งคู่ ควรจับเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาก่อน แล้วดูว่า ควรมีกลยุทธ์อะไร สำหรับไมเนอร์ เน้นเรื่องคนอย่างมาก เพราะเป็นธุรกิจบริการ แต่ถ้าบริษัทที่มี AI ทั้งบริษัท มีพนักงานเพียง 100 คน อาจจะไม่มาลงเรื่องคนมาก แต่ไปลงเรื่องเทคโนโลยี ขึ้นกับบริบทของแต่ละบริษัทด้วยว่า อะไรที่ขับเคลื่อนธุรกิจของเขาและสร้างผลกระทบมากที่สุด

สุดท้าย ชมพรรณ กล่าวว่า “เรื่อง sustainable มันเป็น journey คงไม่มีวันที่จะบรรลุจุดสูงสุด เป็นเรื่องที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ทำตัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เรามองภาพอย่างนั้นจริงๆ ฝ่ายบริหารก็มองภาพนี้เหมือนกัน คือ ไม่ใช่ตั้งเป้าแล้ว พอได้ตามเป้าก็จบ แต่ต้องพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ และหวังว่าจะทำให้ดีที่สุดสำหรับลูกหลานในอนาคต ขณะเดียวกัน ถ้าบริษัทอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีใครมาดูเรื่องความยั่งยืน ดังนั้น บริษัทก็ต้องอยู่ ต้องทำธุรกิจได้ นี่เป็นปัจจัยสำคัญ เรื่อง sustainable จึงต้ออยู่ในกระบวนการทำงานจริงๆ ต้องทำทุกวัน แล้วได้ผลกระทบ คือถ้ารอให้ได้กำไรแล้วทำ ก็คงไม่ยั่งยืน”