ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ClientEarth ใช้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้อง ‘Enea- Shell’ จัดการความเสี่ยงทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมผิดพลาด

ClientEarth ใช้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้อง ‘Enea- Shell’ จัดการความเสี่ยงทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมผิดพลาด

30 พฤศจิกายน 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

เมื่อบุคคลใดก็ตามเมื่อได้เข้า “ลงทุน” หรือ “ซื้อหุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้น” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของบริษัท มีสิทธิมีเสียงในบริษัท สามารถตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหารได้

สิทธิของผู้ถือหุ้นเมื่อเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว[1] ประกอบด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิได้รับเงินปันผล ได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ และสิทธิในการบริหารบริษัท เช่น เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เสนอเพิ่มวาระการประชุม เพิกถอนมติที่ประชุม ติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมการ

สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายและผลประโยชน์คืนให้กับบริษัท หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัททำหน้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดความระมัดระวัง หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากพบเบาะแสการกระทำผิดหรือปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ที่ผ่านมาการตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหาร หรือการเสนอให้บริษัทดำเนินการหรืองดดำเนินการในเรื่องใดๆ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะใช้สิทธิผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น เช่น การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท การไม่เห็นชอบให้บุคคลใดเข้ามาเป็นกรรมการ การเห็นชอบการจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มอาจจะขอเข้าเยี่ยมกิจการ

ในช่วง 2-3 ปีนี้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น shareholder action ในการใช้สิทธิผู้ถือหุ้นยื่นข้อเสนอให้บริษัทดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG เป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับกิจการที่ดี (governance) ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก

แต่สำหรับ ClientEarth ซึ่งเป็นองค์กรกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งขัน กลับใช้สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้องของผู้ถือหุ้น มากดดันให้บริษัทมีการดำเนินงานด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนและวางเป้าหมายอย่างจริงจัง

ClientEarth[2] บอกว่า ผู้ถือหุ้นต้อง take action เพราะผู้ถือหุ้นที่ใช้เงินลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งย่อมมีส่วนได้เสียในความสำเร็จของบริษัทนั้น และมีพลังที่จะ take action เมื่อผลประโยชน์มีความเสี่ยง พลังเหล่านี้มีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบังคับให้บริษัทต่างๆ ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อธุรกิจ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้คนและโลกให้เหลือน้อยที่สุด

ClientEarth บอกว่า ผู้ลงทุนสามารถ take action ได้หลายวิธี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีกระแสของการดำเนินการผ่านมติของผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถส่งข้อเสนอเพื่อลงคะแนนเสียงในการประชุมสามัญประจำปีของบริษัท เช่น เรียกร้องให้บริษัทกำหนดเป้าหมายสภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น

อีก action หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Shareholder Litigation การ take action ผ่านการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ClientEarth เป็นผู้ถือหุ้นรายแรกของโลกที่เริ่มฟ้องร้องคณะกรรมการบริหารของเชลล์ (Shell) เนื่องจากไม่ได้เตรียมการเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กรรมการมีหน้าที่ตามกฎหมาย (fiduciary duties) ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้นสามารถ take action เพื่อปกป้องบริษัทเมื่อกรรมการอาจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้

เรามาดูกันว่า ClientEarth ฟ้องบริษัทใดบ้าง…

ฟ้อง Enea บริษัทไฟฟ้าถ่านหินโปแลนด์รายแรก

ClientEarth ซึ่งถือหุ้นใน Enea SA บริษัทพลังงานของโปแลนด์ได้ยื่นฟ้องบริษัทภายใต้กฎหมาย Commercial Companies Code ของโปแลนด์ ต่อ Regional Court เมือง Poznan ในวันที่ 25 ตุลาคมปี 2018 [3] ซึ่งนับเป็นการท้าทายทางกฎหมายของผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อให้ระงับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน Ostroleka C ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ClientEarth ระบุว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทต้องปกป้องตัวเองในศาล เนื่องจากล้มเหลวในการจัดการความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเมื่อทำการตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญ

โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของโปแลนด์ มีกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ มูลค่า 1.2 พันล้านยูโร และเป็นประเด็นถกเถียงอย่างดุเดือดในสื่อของโปแลนด์มานานหลายปี เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดพลังงานของโปแลนด์พยายามทำความเข้าใจว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างไร ClientEarth ได้ฟ้องร้อง Enea เจ้าของร่วมของโครงการ บนพื้นฐานที่ว่าการลงทุนก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น[4]

โครงการนี้ยังขาดเงินทุนกว่า 3 พันล้าน PLN (สกุลเงินโปแลนด์) แต่ Enea และหุ้นส่วนร่วมทุน Energa ก็ยังดึงดันที่จะผลักดัน ถึงขั้นที่กำหนดวันวางศิลาฤกษ์เพื่อการก่อสร้างไว้ล่วงหน้า

ที่มาภาพ: https://www.elektro.info.pl/artykul/aktualnosci/164320,projekt-ostroleka-c-enea-rezygnuje-z-zaangazowania-kapitalowego

ผู้ถือหุ้นของ Enea และ Energa ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินและสิ่งแวดล้อมของโครงการมาเป็นเวลานาน ผู้จัดการสินทรัพย์ระดับโลกมูลค่า 1 ล้านล้านยูโร Legal & General Investment Management ซึ่งลงทุนในทั้ง Enea และ Energa แสดง “ความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับ Ostroleka C และได้เขียนจดหมายถึงทั้งสองบริษัทพร้อมกับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อีก 4 รายเมื่อปี 2018

ก่อนที่ศาลจะตัดสิน Energa มีการประชุมสามัญในเดือนมิถุนายนปี 2019 และผู้ถือหุ้นได้สอบถามอีกครั้งเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากมุมมองทางการเงิน ซึ่ง Energa ยอมรับว่า “ขนาดของการลงทุนเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการจัดหาเงินทุน” แต่ก็ยังยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ทางการเงิน

Enea และ Energa คว้าสัญญาการจำหน่ายกระแสไฟให้กับ Ostroleka C และเป็นแหล่งรายได้หลักของโครงการ แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเผชิญกับบทลงโทษทางการเงินอย่างน้อย 8 เดือนหากไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันตามกำหนด ขณะที่ผู้เล่นหลักรายอื่นๆ ในภาคพลังงานของโปแลนด์ ต่างหันไปหาพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่า เช่น พลังงานลม

Marcin Stoczkiewicz หัวหน้าสำนักงานในโปแลนด์ของ ClientEarth กล่าวว่า “นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ และสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวม การดำเนินโครงการนี้สร้างภาระที่ไม่จำเป็นต่อรัฐและผู้เสียภาษี และไม่มีความจำเป็นสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

“Enea และ Energa ต้องมองไปที่อนาคตของพลังงานในโปแลนด์ มีศักยภาพมากมายในพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีราคาถูกกว่า”

ClientEarth ท้าทายมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2018 ของบริษัทเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเหตุผลหลายข้อ ซึ่งสองในข้อฟ้องร้องนั้นคือ (1) เป็นคำสั่งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริหารของบริษัท ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และ (2) จะสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบริษัท จึงควรถูกยกเลิก

วันที่ 1 สิงหาคม 2019 ศาลได้ตัดสินให้ ClientEarth เป็นฝ่ายชนะในข้อฟ้องร้องแรก คือ มติที่เห็นชอบให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อว่าจะมีผลเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบริษัทจากความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศหรือไม่

ปีเตอร์ บาร์เนตต์ ทนายความของ ClientEarth ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้กล่าวว่า “นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ถือหุ้นของ Enea และสำหรับสภาพอากาศ โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นทรัพย์สินด้อยค่า ที่มีเอกสารความเสี่ยงทางการเงินที่ชัดเจนและครบถ้วน

“บริษัทและกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมาย ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และต้องรับผิดชอบหากพวกเขาไม่ดำเนินการ

… Enea และ Energa ควรยุติโครงการนี้ก่อนที่บริษัทและผู้ถือหุ้นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น”

ClientEarth ระบุว่า ชัยชนะในศาลทำให้ Enea ระงับการระดมทุนและการก่อสร้าง Ostroleka C เนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจ นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่รวมถึง Legal and General Investment Management สนับสนุนการฟ้องร้องครั้งนี้

ฟ้องบอร์ด Shell ล้มเหลวในการนำธุรกิจสู่ Net Zero

ที่มาภาพ: https://creativehub.shell.com/web/11480bf62336e8b3/downstream–marketing–trading-and-supply/
วันที่ 15 มีนาคม 2022 ClientEarth ประกาศเริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับคณะกรรมการบริหารของ Shell [5] โดยให้เหตุผลว่าล้มเหลวในการเตรียมบริษัทในการก้าวสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ถือว่าละเมิดการทำหน้าที่ตามกฎหมาย

ClientEarth ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้แจ้งให้เชลล์ทราบถึงการฟ้องร้อง ต่อผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารของบริษัทรวม 13 คน ซึ่งนับเป็นกรณีแรกที่ต้องการให้กรรมการบริษัทต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จากการที่ไม่เตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ClientEarth ชี้ว่า การที่คณะกรรมการไม่ได้จัดทำและดำเนินกลยุทธ์ด้านสภาพอากาศที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสอย่างแท้จริงนั้นเป็นการละเมิดหน้าที่ของพวกเขาภายใต้ UK Companies Act ซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการของ Shell มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ (1) จะต้องดำเนินการในลักษณะที่ส่งเสริมความสำเร็จของบริษัท และ (2) ใช้ความระมัดระวัง ทักษะ และการดูแลใส่ใจอย่างเหมาะสม

พอล เบนสัน ทนายความของ ClientEarth กล่าวว่า “เราเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอในการยืนยันว่า คณะกรรมการของ Shell ผิดพลาดในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้และมีผลชัดซึ่งบริษัทกำลังเผชิญอยู่

“แม้ Shell จะมีกำไรในปัจจุบัน แต่ความล้มเหลวในการเตรียมบริษัทอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีแต่จะเพิ่มความเปราะบางของบริษัทจากความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ด้อยค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้สินทรัพย์เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงอย่างมาก”

ClientEarth กล่าวว่า การดำเนินการฟ้องร้องของผู้ถือหุ้นครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ Shell เพื่อให้แน่ใจว่าผลกำไรในระยะสั้นไม่ได้แลกกับความยั่งยืนทางธุรกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นและพนักงาน

“โลกธุรกิจมีตัวอย่างของบริษัทที่ล้มเหลวในการปรับตัวเต็มไปหมด Shell เสี่ยงที่จะเป็นเหมือน Kodak และ Blockbuster เว้นเสียแต่ว่าคณะกรรมการจะปรับเปลี่ยนแนวทาง คุณค่าในระยะยาวจะถูกกัดกร่อนและถูกทำลายในที่สุด”

เบนสันกล่าวว่า “ยิ่งคณะกรรมการล่าช้ามากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่บริษัทจะต้องดำเนินการอย่างฉับพลัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และเผชิญกับความท้าทายของการพัฒนาด้านกฎระเบียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผู้ถือหุ้นของ Shell ต้องการความมั่นใจว่าบริษัทกำลังใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพในการก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และดำเนินการตามเป้าหมายด้านสภาพอากาศอย่างแท้จริงตามที่กล่าวไว้”

ในช่วงการประกาศผลประกอบการทั้งปีในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการของ Shell ได้ประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลของบริษัทและแผนการซื้อหุ้นคืนหลังจากรายงานผลกำไร 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ครัวเรือนกำลังเผชิญกับปัญหาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสงครามในยูเครนทำให้ตลาดพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลปั่นป่วน

“การเพิ่มการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนอาจทำให้นักลงทุนสงบลงได้ชั่วคราว แต่วิธีการดังกล่าวเป็นการมองในระยะสั้น หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการบอกไว้ เงินมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมบริษัทให้พร้อมสำหรับ net zero”

“สัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันเพื่อการเปลี่ยนผ่านของเชลล์นั้นค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระยะยาวมากขึ้นและลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและความผันผวน”

บทบาทกรรมการกับ ESG

แต่ก่อนที่ ClientEarth จะดำเนินการฟ้องร้องได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลสูงก่อนจึงจะดำเนินคดีกับกรรมการในนามของบริษัท (derivative action)[6]ได้ ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการหากคณะกรรมการพิสูจน์ได้ว่า (1) กรรมการที่ทำหน้าที่ตามหน้าที่ทั่วไปในการส่งเสริมความสำเร็จของบริษัทไม่ได้พยายามดำเนินการให้ฟ้องร้องคดีตามสิทธิของผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อย (Derivative Claim) หรือ (2) การดำเนินการที่เสนอนั้นเป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท (derivative action)ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท ซึ่งกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายข้อแรกมากกว่า ส่วนข้อหลังสันนิษฐานว่ากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานของเชลล์(Energy Transition Strategy)มีการลงนามโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนามของบริษัท

อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ClientEarth ในอังกฤษในฐานะผู้ถือหุ้น ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เรียกร้องกรรมการรับผิดเป็นการส่วนตัว และยังเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะให้กรรมการของบริษัทรับผิดชอบต่อการไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเพื่อให้คำนึงถึงหน้าที่ของกรรมการในด้านการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม กรณีของ ClientEarth ก็ไม่ใช่ตัวอย่างแรกของการดำเนินการของผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราได้เห็นการดำเนินการด้วยกลไกอื่นๆ มาแล้ว รวมถึงข้อเสนอของผู้ถือหุ้นที่ขอให้บริษัทจัดทำแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเสนอให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนเสียง

ตัวอย่างของแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ คือ Exxon ในเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ต้องแต่งตั้งกรรมการใหม่ที่มีความรู้ด้านสภาพอากาศ ซึ่งเป็นตัวแทนของ Engine No.1 ซึ่งชี้ว่า การที่บริษัทไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลให้มูลค่าลดลง และในเดือนเดียวกัน ผู้ถือหุ้นของ Chevron ลงมติเห็นชอบให้บริษัทกำหนดเป้าหมายที่เข้มงวดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในขอบเขตที่ 3

สิ่งที่ ClientEarth แสดงให้เห็น คือ ผู้ถือหุ้นจะยังคงเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ มีแผนที่เชื่อถือได้ในการจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และอาจเริ่มเห็นความท้าทายมากขึ้น เพราะมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่เริ่มเผยแพร่แผนงาน

แต่การฟ้องร้องอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง จากการลงคะแนนเสียงเรื่องสภาพภูมิอากาศของผู้ถือหุ้น ไปสู่การที่ผู้ถือหุ้นที่มองมากขึ้นว่า คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศอย่างไร และอาจจะฟ้องกรรมการหากเห็นว่าจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศผิดพลาด

บริษัทควรมีส่วนร่วมเชิงรุกกับผู้ถือหุ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถือหุ้นเข้าใจแผน ESG ของบริษัทอย่างถ่องแท้[7] และแนวทางที่ผู้ถือหุ้นจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวของบริษัท

แหล่งข้อมูล
[1] ความรู้ผู้ลงทุน. https://www.sec.or.th/th/pages/investors/rightshareholder.aspx
[2] ClientEarth.2022. Five leading shareholder actions.
https://www.clientearth.org/latest/latest-updates/stories/5-leading-shareholder-actions/
[3] Climatecasechart.2018.ClientEarth v Enea.
http://climatecasechart.com/non-us-case/clientearth-v-enea/
[4] ClientEarth.2019.Major court win shows power of corporate law to fight climate change.
https://www.clientearth.org/latest/latest-updates/news/major-court-win-shows-power-of-corporate-law-to-fight-climate-change/
[5] ClientEarth.2022. ClientEarth starts legal action against Shell’s Board over mismanagement of climate risk.
https://www.clientearth.org/latest/press-office/press/clientearth-starts-legal-action-against-shell-s-board-over-mismanagement-of-climate-risk/
[6] Lexology.2022.ClientEarth v Shell: Is the Climate Changing for Directors?https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=d019514b-2c4f-466d-9079-6ecd26724c6d
[7]Simmons+Simmons.2022. Shareholder argues directors have a duty to manage climate risks.
https://www.simmons-simmons.com/en/publications/cl13q5v9e2axb0a75y3y4ciox/shareholder-argues-directors-have-a-duty-to-manage-climate-risks