ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ‘Kiko Network-350.org’ ชูธงนำผู้ถือหุ้นรายย่อย จี้แบงก์ใหญ่ญี่ปุ่นเลิกให้กู้ถ่านหิน

‘Kiko Network-350.org’ ชูธงนำผู้ถือหุ้นรายย่อย จี้แบงก์ใหญ่ญี่ปุ่นเลิกให้กู้ถ่านหิน

30 มิถุนายน 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”)ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

Shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

ผู้ถือหุ้นในญี่ปุ่นเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทขนาดใหญ่ แม้ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวจะล้มเหลวในการผลักดันให้ลงมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของธนาคารขนาดใหญ่สองแห่งในญี่ปุ่นช่วงปีที่ผ่านมา แต่แรงกดดันต่อผู้ให้กู้กำลังก่อตัวมากขึ้นเพื่อให้ยกเลิกการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลและสนับสนุนความพยายามระหว่างประเทศในการต่อต้านภาวะโลกร้อน

ความเคลื่อนไหวในที่ประชุมผู้ถือหุ้น Sumitomo Corp. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีข้อเสนอของผู้ถือหุ้นในด้านสภาพภูมิอากาศที่นำโดย Market Forces ไม่ประสบความสำเร็จ โดยได้รับคะแนนเสียง 20% เช่นเดียวกับข้อเสนอของผู้ถือหุ้นในประเด็นเดียวกันที่นำโดย Kiko Network ต่อ Mizuho Financial Group Inc. ได้คะแนนเสียงเพียง 35% ซึ่งทั้งสองกรณีไม่ได้รับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นมากพอที่จะผลักดันให้บริษัทดำเนินการตามข้อเสนอได้

นับเป็นครั้งแรกในการยื่นข้อเสนอต่อทั้งสองบริษัท[1] ที่มีการยื่นข้อเสนอที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศให้กับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น

IR Japan ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาด้านหุ้นให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 มีกองทุนที่จัดว่าเป็นกองทุนนักเคลื่อนไหว(activist funds ) 44 ราย มีเป้าหมายที่จะลงทุนในสัดส่วนที่มากพอในบริษัท เพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ได้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมากขึ้นเทียบกับ 24 ราย ในปี 2561

ในบรรดากองทุนนักเคลื่อนไหวที่เริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อ 2563 มี 23 กองทุนจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะที่ 13 กองทุนมาจากเอเชีย และอีก 8 กองทุนเป็นกองทุนของญี่ปุ่น

สอง NGO ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว

ในญี่ปุ่นมีผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทในการใช้พลังผู้ถือหุ้น ที่รู้จักกันดีคือ Kiko Network กับ 350.org ทั้งสองรายมีสถานะเป็น NGO ด้วย

Kiko Network เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน[3](NGO )ด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติของญี่ปุ่นที่ทำงานเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคม Kiko สร้างแบบจำลองและทำงานเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาในชุมชนและระดับท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมโลกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังวิจัยนโยบายและยื่นข้อเสนอในระดับชาติและระดับนานาชาติ

อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรและภาคส่วนต่างๆอีกมากมายนับไม่ถ้วนในเครือข่าย NGO ด้านสิ่งแวดล้อม และพลเมืองที่กำลังทำงานเพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนด้วย

เป้าหมายสูงสุดของ Kiko Network คือ การป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดและสร้างสังคมโลกที่ยั่งยืน ได้ขับเคลื่อนกิจกรรม 5 ประการเพื่อให้บรรลุสิ่งเหล่านี้

    1)สร้างกรอบการทำงานระหว่างประเทศที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้เป็นศูนย์
    2)สร้างกลไกเพื่อให้เกิดสังคมไร้คาร์บอนและเศรษฐกิจในญี่ปุ่น
    3)เปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานที่ไม่พึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์
    4)ส่งเสริมการลดคาร์บอนร่วมกันทั้งภูมิภาค
    5)สร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสภาพภูมิอากาศโดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่วน 350.org นิยามตนเอง[4]ว่า เป็นขบวนการสากลของคนธรรมดาที่ทำงานเพื่อยุติยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลและสร้างโลกของพลังงานหมุนเวียนที่นำโดยชุมชนสำหรับทุกคน

350.org ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยกลุ่มเพื่อนมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนักเขียน Bill McKibben ผู้เขียนหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนสำหรับคนทั่วไป โดยมีเป้าหมายสร้างการเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศโลก

350.org ได้รับการตั้งชื่อตาม 350 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่ปลอดภัยของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ

350.org เริ่มดำเนินการครั้งแรกในวันเดียวกันที่โลกเคลื่อนไหวพร้อมกันเพื่อเชื่อมโยงนักเคลื่อนไหวและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก และยังเป็นวัน International Day of Climate Action ในปี 2552, Global Work Party ในปี 2553 Moving Planet ในปี 2554 ส่งผลให้ 350 กลายเป็นความร่วมมืออย่างรวดเร็วทั่วโลกของผู้จัดงาน กลุ่มชุมชนและประชาชนทั่วไปต่อสู้เพื่ออนาคตที่ปราศจากฟอสซิล

การก้าวไปสู่โลกของพลังงานหมุนเวียนที่นำโดยชุมชนสำหรับทุกคน ได้นั้น 350.org มองว่าสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยก็คือ

1เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อย่างรวดเร็วสำหรับทุกคน
เร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจพลังงานสะอาดแบบใหม่ โดยสนับสนุนโซลูชันด้านพลังงานที่นำโดยชุมชน

2)ไม่ทำโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ในทุกที่
หยุดและห้ามโครงการน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซทั้งหมด ไม่ให้สร้างขึ้นผ่านมติของท้องถิ่นและการต่อต้านของชุมชน

3)ไม่สนับสนุนทางการเงินสำหรับพลังงานสกปรก
ตัดขาดการได้รับการยอมรับจากสังคม(License to Operate) และการจัดหาเงินทุนสำหรับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องกระจายการลงทุน เลิกสนับสนุนทางการเงิน และเรียกเงินคืน

ที่มาภาพ:https://world.350.org/ja/press-release/200626/

พุ่งเป้าธนาคารใหญ่ เลิกให้กู้ถ่านหิน

หลังกลุ่มผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวไม่ประสบความสำเร็จในการได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากพอ ต่อข้อเสนอของผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในที่ประชุมผู้ถือหุ้นปี 2563 ของ Mizuho ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรกของญี่ปุ่นที่มีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงตามข้อเสนอที่ให้บริษัทปรับแผนให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส

ในเดือนพฤษภาคมก่อนที่การประชุมผู้ถือหุ้นจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 นั้น Mizuho Financial Group ประกาศว่าจะหยุดจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานถ่านหินใหม่[5]และยุติการให้กู้ยืมทั้งหมดแก่ถ่านหินภายในปี 2593 เป็นการยอมรับแรงกดดันจากกลุ่มนักลงทุนชั้นนำที่มุ่งเน้นประเด็นสภาพอากาศก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของธนาคารในเดือนมิถุนายน

Mizuho หนึ่งในผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของโลกแก่ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินออกแถลงการณ์ว่า จะลดยอดคงค้างจำนวน 3 แสนล้านเยน (2.8 พันล้านดอลลาร์) ที่ให้กู้ยืมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ เดือนมีนาคมปี 2563 ลงภายในครึ่งแรกของปี 2573 และลดลง ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกที่สำคัญที่สุดที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดการเงิน การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญในกลยุทธ์ทางธุรกิจของเรา” Mizuho ระบุ

ในปี 2564 ทั้ง Kiko Network และ 350.org เดินหน้ายื่นข้อเสนออีกครั้ง

ในเดือนมีนาคม 2564 Kiko Network ซึ่งถือหุ้นใน Mizuho ด้วย ได้ร่วมกับนักลงทุนรายย่อย 3 ราย[7] และ NGOs อื่นๆ ได้แก่ Market Forces, Rainforest Action Network และ 350.org Japan ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นสถาบันการเงินของญี่ปุ่นอีกครั้ง นับเป็นครั้งสองของญี่ปุ่น โดยเรียกร้องให้ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ปรับใช้และเปิดเผยแผนการจัดหาเงินทุนและการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส

“แม้ MUFG ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับนโยบายในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส” Kimiko Hirata ผู้อำนวยการระหว่างประเทศของ Kiko Network กล่าวในแถลงการณ์

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ข้อเสนอของ Kiko Network ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบันเพียง 20 ราย[7] มีคะแนนคัดค้านถึง 49 ราย แม้มติดังกล่าวจะไม่ผ่าน แต่คิดเป็นคะแนนเสียงประมาณ 23%

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการประชุมสามัญ Mitsubishi UFJ Financial Group ได้ประกาศชุดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ซึ่งรวมถึงการประกาศ MUFG Carbon Neutrality Declaration ในวันที่ 17 พฤษภาคม และในเดือนมิถุนายน Mitsubishi UFJ Financial Group ก็ได้เข้าร่วม Net Zero Banking Alliance (NZBA) ซึ่งมีเป้าหมายให้พอร์ตสินเชื่อและการลงทุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

อย่างไรก็ตาม MUFG ยังไม่ได้ ประกาศเป้าหมายใดๆ ในการยกเลิกการจัดหาเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน และไม่ได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะกลางที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส Mitsubishi UFJ Financial Group ระบุว่าจะประกาศเป้าหมายระยะกลางสำหรับปี 2573 แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจนและยังคงมีปัญหาอีกหลายประเด็น

ที่มาภาพ: https://world.350.org/ja/press-release/20210623-eng/

กดดันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ในปี 2564 นี้ บริษัทญี่ปุ่นเผชิญกับข้อเสนอสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เรียกร้องให้มีการดำเนินการและความโปร่งใสมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

Kiko Network ได้ร่วมกับ 350 org. Japan,Market Forces,FoE Japan และ Rainforest Action Network ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มีมูลค่าการลงทุน 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 ล้านล้านเยน) ในบริษัทเหล่านี้ ได้มุ่งให้บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 4 แห่งในการจัดการความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้แก่ Mitsubishi Corporation, Sumitomo Mitsui Financial Group (SMBC Group),Tokyo Electric Power Company Holdings (TEPCO) และ Chubu Electric Power Co ซึ่งร่วมกันเป็นเจ้าของ JERA โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

แถลงการณ์ของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวทั้ง 5 กลุ่มระบุว่า คะแนนโหวตแสดงให้เห็นว่ากระแสไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับบริษัทต่างๆ ที่ล้มเหลวในการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่มาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ มีนักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่ต้องการดำเนินการเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามร้ายแรงเหล่านี้

อย่างไรก็ตามคะแนนเสียงที่ได้จากการประชุมผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทก็ไม่มากพอที่จะมีผลผูกพันให้บริษัทดำเนินการ โดยมีคะแนนเสียงของทั้ง 4 บริษัทอยู่ในช่วง 10-20%

แม้ Market Forces, Kiko Network 350 org. Japan, FoE Japan, และRainforest Action Network ได้ยื่นข้อเสนอแต่ไม่ได้คะแนนเสียงมากพอที่จะมีผลให้บริษัทดำเนินการตามข้อเสนอก็ตาม แต่บริษัทที่ถูกยื่นข้อเสนอได้มีความเคลื่อนไหว โดยในกรณีของ Sumitomo Corporation ที่ Market Forces ยื่นข้อเสนอในปี 2563 และได้คะแนนโหวต 20% นั้น Sumitomo Corporation ได้ปรับนโยบายเกี่ยวกับถ่านหินและประกาศที่จะถอนตัวจากโครงกรโรงไฟฟ้าถ่านหินในบังคลาเทศภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ด้าน350.org Japan, RAN, Kiko Network และ Market Forces ที่ยื่นข้อเสนอไปยัง Mitsubishi UFJ Financial Group ในปี 2564 ส่งผลให้ Mitsubishi UFJ Financial Group ประกาศเข้า Net Zero Banking Alliance เป็นธนาคารแรก และมี Mizuho Financial Group กับ SMBC Group ตามมา

ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวเริ่มใช้สิทธิมากขึ้น

Yutaka Suzuki หัวหน้านักวิจัยของสถาบันวิจัย Daiwa กล่าวว่า จำนวนข้อเสนอของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นเป็นไปตามแนวโน้มที่เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา “ญี่ปุ่น … เป็นประเทศที่ผู้ถือหุ้นสามารถได้รับสิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอด้วยจำนวนเงินที่ค่อนข้างไม่มาก”

ข้อเสนอด้านสภาพอากาศที่ยื่นให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น 4 แห่งในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นโดยเฉลี่ย 18% โดยผู้จัดการสินทรัพย์มีความเห็นต่างกัน

คะแนนการสนับสนุนในทั้ง 4 บริษัทต่ำกว่า 34% สำหรับข้อเสนอต่อ Mizuho Financial Group ในปี 2563 แต่การลงคะแนนเสียงในปีนี้อาจได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ

IR Japan ประมาณการว่า ข้อเสนอจากผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวต่อบริษัทญี่ปุ่นอาจจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2565 มากกว่า 22 ข้อเสนอในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับ 26 ข้อเสนอในปี 2563

นี่คือผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว มีแนวโน้มที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และธนาคารญี่ปุ่นจะต้องออกนโยบายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อตอบสนอง

อ้างอิง

[1] S&P Global Market Intelligence.2021 Japan’s banks face rising climate activism despite vetoed motions
[2] Japanese financial giants Mitsubishi UFJ Financial and Sumitomo are being targeted by activist shareholders seeking more commitment to climate change efforts.
[3] Kiko Network.
[4] 350.org
[5] Reuters.2020. Mizuho to stop lending to new coal power projects
[6] Rainforest Action Network.2021 . Japan’s Largest Bank Targeted by Climate Resolution: Mitsubishi UFJ Financial Group told to align with Paris.
[7] Kiko Network.2021[Joint Press Release] Voting results of shareholder resolution for MUFG (1st tally) (November 19, 2021)