รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
2022 เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2022 การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 จะมีขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซีย ในฐานะเป็นประธานการประชุม ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด หรือ “โจโกวี” ทุมเทอย่างมากให้กับการประชุมครั้งนี้ แต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ส่งผลกระทบต่อการจัดประชุม G20 โจโกวีลงทุนเดินทางไปเยือนรัสเซียและยูเครน เพื่อโน้มน้าวปูตินผู้นำรัสเซียให้มาร่วมประชุมกลุ่ม G20
การที่อินโดฯ เป็นประธานที่ประชุมกลุ่ม G20 ทำโจโกวีสามารถเอาประโยชน์จากฐานะโดดเด่นของอินโดฯ ในเวทีโลก เพื่อประกาศว่า “เวลาของอินโดนีเซีย” ได้มาถึงแล้ว การยกฐานะอินโดฯ ให้กลายเป็นแหล่งการลงทุนต่างประเทศชั้นนำของภูมิภาค ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่แข่งในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม
ที่ผ่านมา โจโกวีพยายามดึงบริษัท Tesla ให้มาลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพราะอินโดนีเซียมีแหล่งสำรองแร่นิกเกิลที่ใหญ่สุดของโลก และโจโกวียังพยายามโน้มน้าวให้ Elon Musk มาสร้างฐานยิงจรวดของ SpaceX ที่อินโดนีเซีย
อินโดฯ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน”
อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีประชากร 240 ล้านคน ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ สื่อมวลชนต่างประเทศมองอินโดนีเซียเป็นดินแดนของความรุนแรงทางการเมือง การก่อการร้ายสากล และการคอร์รัปชัน ประธานาธิบดีซูฮาร์โตครองอำนาจนานถึง 37 ปี จากปี 1967-1998 ถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากที่สุดคนหนึ่ง ทุกวันนี้ อินโดนีเซียได้รับการยอมรับถึงผลสำเร็จใน “การเปลี่ยนผ่าน” จากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านของบราซิล ชิลี กานา เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ แอฟริกาใต้ และสเปนในอดีต
หนังสือ Solved (2020) กล่าวถึงความสำเร็จของอินโดนีเซียไว้ในบทที่ 7 เรื่อง From Dictatorship to Democracy ว่า ทุกวันนี้อินโดฯ สามารถสร้างระบบการเมืองที่มีความเที่ยงธรรมมากขี้น ก่อนหน้านี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 1998 เกิดจลาจลที่จาการ์ตาเมืองหลวงนาน 3 วัน อาคารถูกเผา ร้านค้าถูกปล้น การจลาจลแพร่ออกไป เพราะกองกำลังความมั่นคงหายตัวไปหมด มีคนเสียชีวิตกว่าพันคน มีรายงานว่าทหารเองที่เป็นคนก่อความรุนแรงขึ้นมา
ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา คนอินโดฯ ครึ่งล้านคนเดินขบวนในเมืองยกยาการ์ตา และขยายไปทั่วประเทศ เรียกร้องให้นายพลซูฮาร์โตลาออก ตอนแรกซูฮาร์โตประกาศแผนการปรับคณะรัฐมนตรี แล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่องค์กรอิสลามออกมาเรียกร้องให้เขาออก ไม่เช่นนั้นจะมีสมาชิกเป็นล้านคนออกมาต่อต้าน วันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ซูฮาร์โตประกาศลาออกโดยมีผลทันที
นับจากนั้นมา อินโดฯ เข้าสู่ยุคหลังซูฮาร์โต เรียกว่า “ยุคปฏิรูป” กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่อันดับ 3 ของโลก ต่อเนื่องมานาน 24 ปีแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งทุกระดับชั้นอย่างมากมายที่เสรีและเที่ยงธรรม Freedom House ที่ประเมินเสรีภาพประเทศทั่วโลก ให้คะแนนกระบวนการเลือกตั้งอินโดฯ 11 ใน 12 (มากกว่าสหรัฐฯ ที่ได้ 10 ใน 12) เรื่องความหลากหลายทางการเมืองและการมีส่วนร่วม อินโดฯ ได้คะแนน 13 จาก 16
การมีขอบเขตกว้างใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยในอินโดฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019 คือการเลือกตั้งภายในวันเดียวที่ใหญ่สุดในโลก คนอินโดฯ 154 ล้านคนไปลงคะแนนเสียงอย่างสันติในหน่วยเลือกตั้ง 800,000 แห่งทั่วประเทศ ที่มีเจ้าหน้าประจำหน่วย 6 ล้านคน ผู้สมัคร 245,000 คนเข้าชิงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง 20,000 ตำแหน่ง และมีผู้มาใช้สิทธิ์ 80%
หนังสือ Solved บอกว่า ที่สำคัญ ทุกวันนี้พลเรือนอินโดฯ มีอำนาจนำเหนือฝ่ายทหาร ระบบการแบ่งอำนาจได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมาย ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อินโดฯ มีประชาสังคมที่มีพลังพลวัตมาก เมื่อมองจากแง่มุมที่ว่า อินโดฯ ประกอบด้วยเกาะ 17,000 แห่ง และมีวัฒนธรรมตั้งอยู่บนความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลาย สิ่งนี้คือความสำเร็จที่สำคัญอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย ที่เป็นไปอย่างราบรื่นของอินโดฯ จึงเป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างมาก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” เกิดขึ้นในปี 2011 ที่ขบวนการประท้วงในลิเบีย ซีเรีย และเยเมน พัฒนาไปเป็นสงครามกลางเมือง ส่วนในอียิปต์กลับไปหาระบอบเผด็จการ เทียบกับตัวอย่างต่างประเทศ อินโดฯ กลายเป็นแสงสว่างให้กับเอเชียและโลก แม้ประชาธิปไตยจะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่อินโดฯ ก็เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยนั้น สามารถเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ผลงานการปฏิรูประบบ
สภาผู้แทนของอินโดฯ ใช้ระบบเลือกผู้แทนแบบสัดส่วน (proportional representation) วัตถุประสงค์เพื่อขจัดความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์ ความหลากหลายทางความเชื่อศาสนา และเพื่อให้กลุ่มคนทุกส่วนของสังคมมีตัวแทนอยู่ในสภา ดังนั้น พรรคที่จะได้รับเลือกเข้าสภาจะขึ้นกับสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคนั้นได้รับจากประชาชน
สภาล่างเรียกว่า People’s Representative Council มีสมาชิก 560 คน กฎหมายกำหนดให้พรรคที่ลงแข่งจะต้องส่งผู้สมัครในทุก 34 จังหวัด และ 30% ของผู้สมัครของพรรคต้องเป็นสตรี การเลือกตั้งปี 2019 มีพรรคการเมืองลงแข่งทั้งหมด 16 พรรค ได้รับเลือกเข้าสภา 9 พรรค
ประเทศอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือสหราชอาณาจักร ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เขต ซึ่งเป็นระบบเลือกตั้งแบบ “คนชนะได้ไปทั้งหมด” (winner takes all) ทำให้การเมืองเป็นแบบระบบ 2 พรรคใหญ่ แต่ระบบเลือกตั้งสภาของอินโดฯ ทำให้มีหลายพรรคเข้าสภา มีโอกาสน้อยที่จะมีพรรคเดียวครอบงำสภา การสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มการเมืองจึงเป็นเรื่องปกติ
ระบบผู้แทนแบบสัดส่วนอาจไม่นำไปสู่การปกครองมีธรรมาภิบาล พรรคใหญ่ที่รวมตัวเป็นพันธมิตร หมายถึงในสภาการขาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่ระบบนี้ส่งเสริมความหลากหลายทางการเมือง ลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกันทางความเชื่อและเผ่าพันธุ์ไม่ให้ขยายตัวออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อินโดฯ สามารถสร้างความสงบสุข ท่ามกลางความหลากหลายของสังคม
ระบบการเลือกผู้แทนแบบสัดส่วนของอินโดฯ ยังทำให้การเมืองที่คับแคบเฉพาะเรื่องท้องถิ่นถูกกีดกันออกไป การต้องเข้าร่วมการเมืองในขอบเขตระดับชาติ พรรคการเมืองต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะทำงานได้ทั่วประเทศ ข้อกำหนดการเลือกตั้งแบบนี้ ในทางการเมืองทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่สามารถพัฒนาเติบโตอย่างกว้างขวาง
ปี 1995 Transparency International ระบุว่า อินโดฯ เป็นประเทศที่มีคอร์รัปชันเลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นสมัยซูฮาร์โต้ ต่อมา อินโดฯ ได้ตั้งคณะกรรมการกำจัดคอร์รัปชัน (Corruption Eradication Commission) ที่มีหน้าที่สืบสวนและฟ้องคดีทุจริตต่างๆ ผลงานคณะกรรมการนี้มีอัตราการลงโทษผู้กระทำผิดได้ถึง 100% มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษไปแล้วกว่า 1,000 คน
นักวิเคราะห์บอกว่า การปราบคอร์รัปชันเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากสุดของระบอบประชาธิปไตยอินโดฯ Transparency International ได้ปรับอันดับอินโดฯ ขึ้นมาอยู่ในระดับกลางๆ คะแนนอยู่ที่ 38 จาก 100 เรียกว่ายังห่างจากเดนมาร์กที่ได้อันดับหนึ่งซึ่งคะแนนอยู่ที่ 88 จาก 100 แต่ก็ห่างมากจากโซมาเลียอันดับท้ายสุด คะแนนอยู่ที่ 10 จาก 100
ผลงานสำคัญอีกอย่างของยุคปฏิรูปคือการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ในแบบขั้นมูลฐาน เป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้ง และสกัดกั้นขบวนการแยกดินแดน รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในด้านการปกครองและการคลัง แต่รัฐบาลกลางยังมีอำนาจเต็มที่ใน 7 เรื่อง คือ การต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง ระบบยุติธรรม ศาสนา นโยบายการเงิน และการคลัง จังหวัดอาเจะฮ์สามารถเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นกฎหมาย เช่น ออกกฎหมายอิสลามชาเรีย
แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า แม้การกระจายอำนาจของอินโดฯ จะมีผลด้านบวก ช่วยลดความขัดแย้ง แต่ก็ไปอำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาระบอบการเมืองย่อยๆ ที่คอร์รัปชันเช่นเดียวกัน การกระจายอำนาจการเมืองก็นำไปสู่การกระจายคอร์รัปชันด้วย
อินโดฯ ให้บทเรียนอะไร
หนังสือ Solved สรุปบทเรียนจากอินโดฯ ไว้ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กระแสประชาธิปไตยอ่อนตัวลงทั่วโลก แต่เราก็สามารถเรียนรู้จากระบอบประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านของอินโดฯ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม
ประการแรก การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แม้หนทางจะคดเคี้ยวยาวนาน แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม การเปลี่ยนผ่านต้องอาศัยความอดทน การยืนหยัด และพร้อมต่อสู้เพื่อการปฏิรูปทางประชาธิปไตย หากอินโดฯ ประสบความสำเร็จในการรักษาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นประเทศมุสลิมที่มีขนาดใหญ่โต มีภูมิศาสตร์กระจัดกระจายและซับซ้อน พูดไม่ได้ว่า ประเทศอื่นจะทำแบบเดียวกันนี้ไม่ได้
ประการที่ 2 ท่ามกลางวิกฤติจะมีโอกาส ประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกับการเติบโตเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยบอกว่า การเติบโตในตัวมันเองไม่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน สภาพที่เป็นจริงชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนระบอบการเมือง เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านในบราซิลหรือโบลิเวีย มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นตัวเร่ง เช่น หนี้สินพุ่งขึ้น เงินเฟ้อสูง และการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด กรณีอินโดฯ วิกฤติการเงินปี 1997 ที่เริ่มต้นจากประเทศไทย เป็นตัวเร่งสำคัญต่อจุดจบของระบอบซูฮาร์โต และการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของอินโดฯ
ประการที่ 3 ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยุ่งยาก อินโดฯ ยังเผชิญปัญหาด้านมืดหลายอย่าง แต่ระบอบประชาธิปไตยโดยรวมอยู่ในจุดได้เปรียบที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต งานวิจัยทางวิชาการก็บอกว่า ประเทศที่มีประสบการณ์การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ต่อเนื่องมานานระยะหนึ่ง จะไม่ถดถอยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยม ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ จะแข็งแกร่งมากขึ้นตามอายุ
ส่วน Vedi Hadiz นักวิชาการชาวอินโดฯ ผู้อำนวยการ Asia Institute มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Solved ว่า ประชาธิปไตยอินโดฯมีพลัง เพราะคนชั้นนำของประเทศมาอยู่ฝ่ายนี้แล้ว “ทุกวันนี้ พวกเขาเป็นนักประชาธิปไตย พวกเขาไม่อาศัยระบอบอำนาจนิยม มาปกป้องผลประโยชน์พวกเขาอีกแล้ว ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะปั่นป่วนยุ่งเหยิงขนาดไหน ก็ดีพอในแง่ที่จะปกป้องผลประโยชน์พวกเขา”
แม้ประชาธิปไตยในหลายส่วนของโลก จะตกต่ำลงไป แต่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านของอินโดฯ ก็ให้ความหวังต่อการมองโลกในแง่ดี
เอกสารประกอบ
Indonesia and G20: Jokowi on the World Stage, December 21, 2021, thejakartapost.com
Solved, Andrew Wear, Black Inc., 2020.