ThaiPublica > เกาะกระแส > การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 9 จากคำศัพท์เพื่อ “การลงทุน” สู่กลุ่มเศรษฐกิจที่อนาคตสดใส

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 9 จากคำศัพท์เพื่อ “การลงทุน” สู่กลุ่มเศรษฐกิจที่อนาคตสดใส

1 กันยายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.brics2017.org/English/banner/201707/t20170713_1732.html

ในช่วงระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2560 นี้ จะมีการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICSครั้งที่ 9 ขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน มลฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่ม BRICS เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ประกอบด้วย 5 ประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ การประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งนี้มีสาระที่เป็นกรอบใหญ่ของการประชุมว่า “BRICS: การเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่ออนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น” (BRICS: Stronger Partnership for a Brighter Future)

ที่ผ่านมา กลุ่ม BRICS พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นเวที (platform) ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ประเทศสมาชิก BRICS มาจากทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาใต้ ทั้ง 5 ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS รวมกันมีสัดส่วน 26.4% ของพื้นที่ทั้งหมดของโลก 42.5% ของจำนวนประชากรในโลก 13.2% ของคะแนนเสียงในธนาคารโลก และ 14.9% ของคะแนนเสียงใน IMF ทาง IMF คาดการณ์ว่า ในปี 2015 มูลค่า GDP ของโลก 22.5% มาจากกลุ่ม BRICS และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา 50% เป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่ม BRICS

จุดเริ่มต้นจากบทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2009 ที่เมือง Yekaterinburg รัสเซีย มีการประชุมองค์กรระหว่างประเทศใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก การประชุมสุดยอดของผู้นำครั้งนี้ ประกอบด้วยประเทศที่อักษรตัวแรกของชื่อประเทศกลายมาเป็นชื่อองค์กรว่า BRIC คือ Brazil Russia India และ China ในปี 2011 South Africa ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม ทำให้ชื่อกลุ่มเปลี่ยนเป็น BRICS ในอนาคต หากว่า Indonesia เข้าร่วม ชื่อกลุ่มก็จะเปลี่ยนไปเป็น BRIICS

การประชุมสุดยอดครั้งแรกของกลุ่ม BRICS มีแถลงการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่จะต้องมีสิทธิ์มีเสียงและตัวแทนมากขึ้นในองค์กรการเงินระหว่างประเทศ คำประกาศนี้สะท้อนถึงเป้าหมายของกลุ่ม BRICS ที่ต้องการจะปฏิรูปให้ระเบียบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศมีความเท่าเทียม เป็นประชาธิปไตย และสะท้อนโลกที่มีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น BRICS ต้องการให้การดำเนินงานขององค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้บริหารธนาคารโลกหรือ IMF ซึ่งที่ผ่านๆ มาเกิดจากการตกลงที่ไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

ต้นกำเนิดของกลุ่ม BRICS แตกต่างจากกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วองค์กรระหว่างประเทศตั้งขึ้นมาจากการริเริ่มของบางประเทศเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น สหภาพยุโรปเกิดขึ้นในปี 1993 โดยพัฒนาต่อเนื่องจากประชาคมยุโรป แต่ความคิดเรื่องกลุ่ม BRICS กลับมาจากบทวิเคราะห์ชื่อ “Building Better Global Economics BRICs” ของ Jim O’Neill นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุน ที่เขียนขึ้นในปี 2001 เพื่อแนะนำลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ แก่นักลงทุนระหว่างประเทศ

ในปี 2001 Jim O’Neill หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของ Goldman Sachs พยายามมองหากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ประชากรต่อคน และขนาดของประชากร เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์แก่นักลงทุน โดย Jim O’Neill ไม่ได้คาดหมายว่า ในเวลาต่อมา กลุ่มประเทศที่เขาเรียกว่า BRICs จะพัฒนามาเป็นองค์กรระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมา กลุ่ม BRICS จึงเป็นตัวอย่างที่หาได้ยาก ที่การเกิดขึ้นขององค์กรระหว่างประเทศมาจากบทวิเคราะห์ด้านการลงทุน

ในเวลาต่อมา Jim O’Neill ได้อธิบายความเป็นมาของแนวคิด BRICs ว่า “ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ทำให้ผมเกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา หลังจากเหตุการณ์ 9/11 การโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่นิวยอร์กและวอชิงตันยิ่งมาเสริมความเชื่อมั่นของผมว่า การครอบงำของประเทศตะวันตกจำเป็นที่จะต้องถูกแทนที่หรือเสริมโดยบางสิ่งบางอย่าง หากโลกาภิวัตน์จะดำเนินไปได้อย่างประสบความสำเร็จ สิ่งนี้ไม่ควรจะโลดแล่นไปภายใต้ธงของสหรัฐฯ มองจากขนาดของประเทศและประชากร ทำให้ผมเห็นว่า จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ตลาดเกิดใหม่มีสิ่งที่ร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คืออนาคตที่สดใส”

ในหนังสือชื่อ The Growth Map (2011) Jim O’Neill เขียนอธิบายว่า การที่เขาเลือกบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เพราะเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่มีประชากรจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญ ปัจจัยที่เป็นตัวชี้ขาดของ GDP คือ ประชากรและผลิตภาพ จำนวนประชากรที่ทำงานมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ง่ายขึ้น เพราะหมายถึงแรงงานที่จะผลิตสิ่งของมีมากขึ้น คนมีรายได้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานให้กับการบริโภค ส่วนผลิตภาพหมายถึง หากคนงานกลุ่มหนึ่งผลิตของได้มากขึ้น จากปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในปริมาณที่แน่นอน เช่น เวลาทำงานจนถึงวัตถุดิบ เศรษฐกิจก็จะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2003 Goldman Sachs พิมพ์รายงานเรื่อง “Dreaming with the BRICs: The Path to 2050” บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ คาดหมายแบบชัดเจนมากขึ้น และส่งผลสะเทือนอย่างมาก เพราะพยากรณ์ไว้ว่า ในปี 2050 เศรษฐกิจกลุ่ม BRICs จะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจกลุ่ม G-6 ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ในปี 2005 Goldman Sachs แถลงว่า การก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICs จะเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในปี 2003 และในปี 2010 Goldman Sachs เรียก 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 ว่า “ทศวรรษของ BRICS”

การประชุมผู้นำ BRICS ปี 23016 ที่อินเดีย ที่มาภาพ : https://www.brics2017.org/English/banner/201701/t20170125_1414.html

ความสำคัญของกลุ่ม BRICS

นับตั้งแต่เริ่มแรก คำว่ากลุ่ม BRICS สร้างความสนใจอย่างมากแก่วงการเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะเป็นคำที่บ่งชี้ถึงสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ทางเศรษฐกิจโลก แต่ทว่ามีความหมายสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่กลุ่มประเทศที่จะก้าวขึ้นมามีฐานะนำทางเศรษฐกิจของโลก ไม่ใช่บรรดาประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เหมือนกับที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเทศในกลุ่ม BRICS มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศตะวันตก และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในอัตราที่สูงต่อไปในอนาคต จนในที่สุดจะกลายเป็นเครื่องจักรให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย เพราะเหตุนี้ ศักยภาพของกลุ่ม BRICs เปรียบเหมือนกับเสาเข็มของเศรษฐกิจโลกในศตวรรษ ที่ 21

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นกลุ่ม BRICS ก้าวขึ้นมามีบทบาทเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงของประเทศตะวันตก แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่าคือ ความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ ที่เศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราที่สูง โดยสร้างผลผลิตให้แก่เศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งของแรงงานการผลิต และตลาดของผู้บริโภค แต่ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด กลุ่มประเทศ BRICS มีความสำคัญมากที่สุด

สมาชิกแต่ละประเทศของกลุ่ม BRICS ล้วนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่โตและมีอิทธิพลมากที่สุดในแต่ละภูมิภาคสำคัญของโลกเรา 4 ภูมิภาค คือ บราซิลในอเมริกาใต้ รัสเซียในดินแดนระหว่างยุโรปกับเอเชีย หรือยูเรเซีย อินเดียในเอเชียใต้ จีนในเอเชียตะวันออก และแอฟริกาใต้ในทวีปแอฟริกา กลุ่มประเทศ BRICS ทั้งหมดมีประชากรรวมกันมากกว่า 3 พันล้านคน

ประเทศในกลุ่ม BRICS ต่างมีความเป็นมาและบทเรียนทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางประเทศอย่างเช่น รัสเซียกับจีนอยู่นอกระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีของโลก บางประเทศ เช่น อินเดียกับบราซิล เข้าร่วมกับเศรษฐกิจโลกเพียงบางส่วน โดยใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทดแทนการนำเข้า เมื่อมองเห็นความผิดพลาดทางด้านนโยบาย ประเทศเหล่านี้ก็หันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจการตลาดและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะความสามารถในการผลิตของประเทศกำลังพัฒนา ถูกผนวกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่วงการเศรษฐศาสตร์เรียกว่า พลวัตของเอกภาพทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Convergence) ในปี 2015 เศรษฐกิจของ 5 ประเทศกลุ่ม BRICS มีมูลค่ารวมกัน 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรือ 11 เท่าของเศรษฐกิจเกาหลีใต้

แม้ว่าประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS จะมีลักษณะที่เหมือนกันในเรื่อง ศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต แต่ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น รัสเซียและบราซิล เป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนจีนกับอินเดีย เป็นประเทศส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการบริการรายใหญ่ ในทางการเมือง จีนกับอินเดียก็มีปัญหาพิพาทพรมแดน ทำให้ผู้สื่อข่าว New York Times เขียนวิเคราะห์ไว้ในปี 2012 ว่า “กลุ่ม BRICS ประสบปัญหาการแข่งขันและขัดแย้งในหมู่กันเอง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของกลุ่ม ที่มีเป้าหมายต้องการจะปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ชาติตะวันตกครอบงำอยู่”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มประเทศ BRICS จะยังมีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศตะวันตก แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของกลุ่มประเทศ BRICS จะมีอัตราที่สูงหรือต่ำลง ก็ยังขึ้นกับปัจจัยทางการเมือง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สามารถอธิบายด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง เช่น ภาวะผู้นำ ระบอบการเมือง กฎเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพของกลไกรัฐ เป็นต้น

ที่มาภาพ : https://brics2017.org/English/China2017/Logo/

เอกสารประกอบ
Jim O’Neill. The Growth Map, Penguin, 2011.
Oliver Stuenkel. The BRICS and the Future of Global Order, Lexington Books, 2015.
Michael Mandelbaum. The Road to Global Prosperity, Simon & Schuster, 2014.