ThaiPublica > เกาะกระแส > คู่มือทำความเข้าใจสำหรับคนที่สับสนเรื่องสงครามกลางเมืองในซีเรีย

คู่มือทำความเข้าใจสำหรับคนที่สับสนเรื่องสงครามกลางเมืองในซีเรีย

11 เมษายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.worldfuturefund.org/Reports/syria.jpg

หลังจากได้เห็นภาพเด็กและผู้ใหญ่ 50 คนเสียชีวิตในเมือง Khan Sheikhoun ในซีเรีย เพราะกองกำลังรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด โจมตีทิ้งระเบิดอาวุธเคมีใส่เมืองที่กลุ่มพวกกบฏยึดครองอยู่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวว่า “เมื่อคุณสังหารเด็กที่บริสุทธิ์ ทารกที่บริสุทธิ์ ด้วยก๊าซเคมีที่อันตรายถึงชีวิต สิ่งนี้ได้ก้าวข้ามเส้นหลายเส้น ได้ก้าวพ้นจากเส้นแดง”

แล้วในวันพฤหัสที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา เรือพิฆาตของสหรัฐฯ ในทะเลเมดิเตอร์เนเนียนก็ยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์ก 59 ลูก โจมตีสนามบิน Shayrat ใกล้เมือง Homs เพราะเครื่องบินที่ใช้การโจมตีด้วยอาวุธเคมีบินขึ้นจากสนามบินแห่งนี้ หลังจากนั้น ทรัมป์ออกแถลงการณ์ว่า “เป็นเรื่องผลประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่จะป้องกันและต่อต้านการขยายตัวของการใช้อาวุธเคมี”

การสั่งโจมตีทางทหารต่อรัฐบาลประธานาธิบดีอัลอะซัดของซีเรีย เป็นการพลิกกลับของประวัติศาสตร์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวปราศรัยมาตลอดว่า เขาต้องการร่วมมือกับรัสเซียและอัลอะซัดในการต่อสู้กับพวก ISIS และคัดค้าน “การเปลี่ยนระบอบ” แต่หลังจากเห็นภาพเด็กเสียชีวิตที่เมือง Khan Sheikhoun ทรัมป์กล่าวว่า “ทัศนะของผมต่อซีเรียและอัลอะซัดเปลี่ยนไปมาก” ในเวลาต่อมา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ก็ออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐฯ มีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ ต่อสู้กับพวก ISIS พร้อมกันกับกดดันให้อัลอะซัดออกจากตำแหน่ง

จุดเริ่มต้น

ที่มาภาพ : http://www.unog.ch/unog/website/news_media.nsf/%28httpPages%29/4d6470dbeaf92917c1257e59004fac2d?OpenDocument
สงครามกลางเมืองในซีเรีย มีจุดเริ่มต้นที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จากเหตุการณ์อาหรับสปริง ในปี 2011 ประชาชนซีเรียลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดีอัลอะซัด เหตุการณ์ครั้งนี้พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่ดึงเอาหลายประเทศเข้ามาร่วมวงด้วย ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งคือ สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับประชาชนซีเรีย อีกส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เป็นสงครามระหว่างนิกายศาสนา คือ ระหว่างรัฐบาลอัลอะซัดที่นับถืออิสลามนิกายอลาวียะห์ (Alawite) กับพวกกบฏที่นับถือนิกายซุนนี อลาวิยะห์เป็นนิกายที่แตกย่อยมาจากนิกายชีอะฮ์

รัฐบาลประธานาธิบดีอัลอะซัดจึงได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และขบวนการฮิซบุลลอฮ์ของเลบานอน หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางทหารในซีเรียก็กลายมาเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน และสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตร แต่เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนับจากปี 2011 เป็นต้นมา ทำให้คนซีเรียเสียชีวิตไปแล้ว 2 แสนกว่าคน ประชาชน 12 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ต้องพลัดพรากจากบ้านตัวเอง และกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ISIS เติบโตขึ้นมา

ในปี 2011 เหตุการณ์อาหรับสปริงที่เริ่มจากตูนิเซียและอียิปต์ได้ขยายวงมายังซีเรีย การชุมนุมประท้องของคนซีเรียถูกรัฐบาลอัลอะซัดตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคน ทหารส่วนหนึ่งประกาศแยกตัวจากรัฐบาลและก่อตั้งกองกำลังซีเรียเสรี (Free Syrian Army) เกิดกลุ่มกบฏต่างๆ ที่ต้องการโคล่นล้มรัฐบาลอัลอะซัด นับจากนั้นเป็นต้นมา ซีเรียก็เริ่มเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง

ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าการปราบปรามการประท้วงของประชาชนซีเรียด้วยความรุนแรงจะพัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างคนที่ต่างนิกายแต่นับถือศาสนาเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งที่เป็นพวกกบฏประกอบด้วยคนมุสลิมนิกายซุนนีซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของซีเรีย อีกฝ่ายหนึ่งคือระบอบอัลอะซัดที่ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มน้อยในซีเรียที่นับถือนิกายอลาวียะห์ มีสัดส่วน 10% ของประชากร ส่วนหนึ่งของคนนับถือศาสนาคริสต์ในซีเรียมีจำนวน 10% ก็สนับสนุนอัลอะซัด

การแทรกแซงจากต่างประเทศ

ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/world-middle-east-14703856

สงครามกลางเมืองซีเรียขยายตัวและส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกเพราะปัจจัยหลายอย่าง แม้จะได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่รัสเซียและอิหร่านก็มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนค้ำจุนระบอบอัลอะซัด เมื่อความขัดแย้งพัฒนาบานปลายมากขึ้น หลายประเทศก็เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ซาอุดีอาระเบียและประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ให้การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่กลุ่มกบฏ แต่ส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มอิสลามการเมืองหัวรุนแรง กลุ่มกบฏสายกลาง ที่เรียกกันรวมๆ ว่ากองกำลังซีเรียเสรี ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด ก็ต้องแข่งขันแย่งชิงกับกลุ่มกบฏอิสลามหัวรุนแรง เรื่องการสนับสนุนจากประเทศที่นับถือนิกายซุนนี ส่วนพวก ISIS ก็เริ่มขยายอำนาจและครอบครองดินแดนซีเรียมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2014 สหรัฐฯ ประกาศต่อต้านรัฐบาลอัลอะซัดมาตลอด แต่ก็ลังเลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้ง แม้ว่าในปี 2013 รัฐบาลอัลอะซัดได้ใช้อาวุธเคมีโจมตีกลุ่มกบฏ ซึ่งรัฐบาลโอบามาเคยประกาศว่าเป็น “เส้นแดง” ที่จะทำให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงซีเรียทันที แต่รัฐบาลโอบามาก็พยายามทุกอย่างที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “หลุมทรายดูด” ของซีเรีย ดังนั้น เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์ก 59 ลูก จึงเป็นการโจมตีทางทหารครั้งแรกของสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลอัลอะซัด

เดือนกันยายน 2015 รัสเซียเปิดยุทธการโจมตีทางอากาศกับ “กลุ่มก่อการร้าย” ในซีเรีย ที่ได้แก่กลุ่ม ISIS และกลุ่มพวกกบฏที่ตะวันตกหนุนหลัง รัสเซียยังส่งที่ปรึกษาทางทหารไปช่วยเหลือรัฐบาลอัลอะซัด เดือนสิงหาคม 2016 ตุรกีเข้าแทรกแซงทางทหารในซีเรียเป็นครั้งแรก โดยปฏิบัติการทางทหารข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีพวก ISIS ในเมืองที่ติดกับชายแดนตุรกี ประเทศในตะวันออกกลาง ที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏซีเรีย เช่น ตุรกี กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และ UAE ส่วนประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนรัฐบาลอัลอะซัด เช่น อิหร่าน และอิรัก สงครามกลางเมืองซีเรียจึงคล้ายๆ กับเป็นสงครามภูมิภาคของประเทศกำลังพัฒนา

เข้าใจกลุ่มต่างๆ จากแผนที่นักเรียนดัตช์

ทวิตเตอร์ Thomas van Linge ที่มาภาพ : https://twitter.com/arabthomness

หลังจากที่มีการตั้งกองกำลังซีเรียเสรี ก็เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้นมามากมายในซีเรีย ที่สำคัญๆ มี 13 กลุ่ม ขณะที่หน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินว่า กลุ่มต่อต้านในซีเรียมีมากกว่า 1,200 กลุ่ม แต่คนที่ทำให้โลกเราเข้าใจง่ายขึ้นเรื่องกลุ่มต่างๆ มากมายในซีเรียที่กำลังขัดแย้งกัน กลับเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายชาวดัตช์ชื่อ Thomas van Linge ที่ทำแผนที่ได้ชัดเจนว่า กลุ่มต่างๆ ยึดครองพื้นที่ไหนบ้างของซีเรีย

Thomas van Linge แบ่งกลุ่มใหญ่ๆ ที่ขัดแย้งและทำสงครามกลางเมืองในซีเรียออกเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มพวกกบฏ ตั้งแต่พวกสายกลางจนถึงกลุ่มการเมืองอิสลามหัวรุนแรง (2) กลุ่มจงรักภักดีต่อรัฐบาลซีเรีย ตั้งแต่กองทัพรัฐบาลจนถึงผู้สนับสนุน (3) กลุ่มพวกเคิร์ด ที่มีอำนาจในดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย พวกเคิร์ดยังไม่ต่อต้านรัฐบาลอัลอะซัด แต่ต่อสู้กับพวก ISIS และ (4) กำลังต่างชาติ

บทความวันที่ 19 สิงหาคม 2015 ใน Der Spiegel Online รายงานว่า Thomas van Linge ที่มีอายุ 19 ปี ไม่เคยไปซีเรียหรืออิรัก และเขาเรียนภาษาอารบิกจากทาง YouTube แผนที่ซีเรียของเขาถูก CNN และ New York Times นำไปใช้เพราะให้รายละเอียดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ได้ชัดเจนมากกว่าแผนที่ที่ทำโดยพวกมืออาชีพ เขาเลือกสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นหัวข้อการทำงานพิเศษในชั้นเรียน โดยเริ่มจากการดูแผนที่กูเกิล แล้วใช้สีแบ่งกลุ่มพวกกบฏต่างๆ จากนั้นก็ใส่ข้อมูลการยึดครองดินแดนของกลุ่มต่างๆ

หลังจากนั้น เขาพยายามติดต่อกับนักเคลื่อนไหวในซีเรีย จนในที่สุดก็ได้รับความไว้วางใจและให้ข้อมูลกับเขา เดือนมกราคม 2014 Thomas van Linge เปิดเผยแผนที่ซีเรียของเขาครั้งแรกใน Twitterทุกวันนี้ มีคนทั่วโลก 14,000 คน ติดตามเขาทาง Twitter และเขาเองก็ปรับปรุงแผนที่ซีเรียให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

ทุกวันนี้ Thomas van Linge บอกกับ Der Spiegel ว่า เขามีแหล่งข่าวมากกว่า 1 พันแห่ง ตั้งแต่นักรบในแนวหน้า กลุ่มกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งพวกทำแผนที่มืออาชีพก็ส่งข้อมูลให้เขาตลอด ผ่านทาง Twitter, Facebook และ YouTube เขาบอกกับ Der Spiegel ว่า หลังจากดูเหตุการณ์ซีเรียจากจุดห่างไกล ถึงเวลาที่เขาจะเดินทางไปจุดใดหนึ่งในซีเรีย เพื่อหาทางช่วยเหลือคนที่ประสบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แผนที่กองกำลังต่างๆในซีเรีย ที่ทำโดย Thomas van Linge นักเรียนชาวดัตช์ ที่มาภาพ : wikipedia

เข้าใจสงครามซีเรียใน 60 วินาที

สงครามกลางเมืองในซีเรียมีความสลับซับซ้อน เพราะเป็นความขัดแย้งในหลายๆ มิติที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่นาย Andrew Tabler ผู้เชี่ยวชาญด้านซีเรียของสถาบัน Washington Institution for Near East Policy ได้สรุปความขัดแย้งในซีเรีย เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจใน 60 วินาทีไว้ดังนี้

“สงครามกลางเมืองในซีเรียเป็นวิกฤติมนุษยธรรมที่เลวร้ายสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนกว่า 250,000 คนเสียชีวิต มีคนจำนวนเดียวกันนี้บาดเจ็บและสูญหาย และครึ่งหนึ่งของประชากรซีเรีย 22 ล้านคน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ยิ่งไปกว่านั้น ซีเรียในทุกวันนี้ สิ่งที่โลกเราได้เห็นคือสมรภูมิรบและแหล่งที่สร้างความขัดแย้งใหญ่สุดระหว่างนิกายซุนนีและชีอะฮ์ ซึ่งจะมีนัยที่สำคัญต่อพรมแดนในอนาคตของตะวันออกกลาง และการแพร่ระบาดของการก่อการร้าย

ปัญหาซีเรียเริ่มต้นจากความพยายามรักษาอำนาจของระบอบประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอะซัด โดยสั่งยิงการลุกขึ้นมาของประชาชนครั้งใหญ่สุดในซีเรีย ทำให้เหตุการณ์พัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม สงครามกลางเมืองทำให้ซีเรียถูกแบ่งแยกเป็น 3 ส่วน โดยองค์กรก่อการร้ายที่สหรัฐฯ หมายหัวไว้ครอบครองพื้นที่ใหญ่สุด พื้นที่ทางตะวันตกของซีเรียครอบครองโดยระบอบอัลอะซัด และกำลังพลที่ได้รับการฝึกฝนจากกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของอิหร่าน ส่วนตอนกลางของซีเรียแบ่งพื้นที่ครอบครองกันในหมู่กลุ่มพวกซุนนีสายกลาง กลุ่มพวกอิสลามการเมือง และกลุ่มนักรบญิฮาด เช่น ISIS และกลุ่มอัลกออิดะห์ al-Nusra ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือ กองกำลัง People’s Protection Units (YPG) ของพวกเคิร์ด พยายามขยายพื้นที่ครอบครองเพื่อสถาปนาเคอร์ดิสถานตะวันตก (Western Kurdistan)

ขณะที่ประเทศทำให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ ประเทศเพื่อนบ้านต่างก็พากันเข้ามาเชือดเฉือนดินแดนให้กลายเป็นเขตอิทธิพลตามนิกายความเชื่อทางศาสนา เท่ากับเป็นการดึงเส้นสายใยของสังคมซีเรียให้หลุดออกไป โดยอิหร่าน (ปัจจุบันรวมรัสเซีย) ให้การค้ำจุนระบอบอัลอะซัด ขณะที่ ตุรกี จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และยูเออี สนับสนุนฝ่ายต่อต้านที่เป็นพวกซุนนี และพรรค Kurdistan Worker’s Party (PKK) ในตุรกี ให้การสนับสนุนกองกำลังของพวกเคิร์ด YPG”