ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง – ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (1)

ผู้นำโกง – ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (1)

11 มิถุนายน 2013


รายงานโดย : อิสรนันท์

ในบรรดาประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือที่ถูกพายุทะเลทราย “อาหรับสปริง” โหมกระหน่ำเมื่อปี 2554 ลิเบีย ดินแดนแห่งอาณาจักรโบราณและที่ฝังกายของเบดูอิน ชนเผ่าเร่ร่อนกลางทะเลทราย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด การประท้วงของประชาชนได้บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อและนองเลือดมากที่สุด เนื่องจากอินทรีผยองสหรัฐฯ ศัตรูแต่ปางบรรพ์ของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้ยืนยงคู่ลิเบียมานาน 42 ปี ได้จับมือกับพันธมิตรตะวันตกในยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้กระโจนเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ในศึกครั้งนี้ด้วย ถึงขั้นส่งทหารและอาวุธไปช่วยฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผยภายใต้ร่มธงของสหประชาชาติและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าการกระทำเชรภายลิเบียโดยตรงก็ตาม

ท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตที่เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงและโดยอ้อมในการล้มรัฐบาลพันเอกกัดดาฟีนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการวางตัวเป็นกลาง ขณะที่กระแส “อาหรับสปริง” กำลังแผ่ลามจากตูนีเซีย ไปอียิปต์ เยเมน และบาห์เรน ตามลำดับ เนื่องจากผู้นำทั้ง 4 ประเทศนั้นต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดผิดปรกติกับผู้นำประเทศตะวันตก ซึ่งแสร้งทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ในมือของคนผู้เดียวหรือตระกูลเดียวมานาน 20-30 ปี หรือแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นเครือข่ายการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ จนประชาชนแทบจะอดตาย สุดท้ายต้องลุกฮือสร้างปรากฎการณ์ “อาหรับสปริง” ขึ้นมา

ผิดกับพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี เจ้าของสมญา “พี่ชายผู้นำแห่งการปฏิวัติ” ในสายตาของอิสลามิกชนในหลายทวีป หรือ “หมาบ้าแห่งตะวันออกกลาง” ที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ตั้งสมญาให้ ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ ตลอดกาล ในฐานะเผด็จการตัวพ่อผู้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอย่างไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ แถมยังท้าทายมหาอำนาจเหล่านั้นด้วยการลงมือก่อการร้ายหรือให้ทุนสนับสนุนหรือให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่มีเป้าหมายจะเล่นงานสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรป กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยของการก่อการร้าย อาทิ กลุ่มเรด บริเกตส์ ในอิตาลีที่เคยฝากผลงานลือลั่นคราวลักพาตัว นายอัลโด โมโร นายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานถึง 54 วัน ก่อนจะสังหารอย่างโหดเหี้ยม หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ ที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษหลายยุคหลายสมัยปวดเศียรเวียนเกล้ามาแล้ว หรือการส่งสายลับลิเบียไปลอบวางระเบิดสายการบินแพนแอม เที่ยวบิน 103 ที่ตกเหนือเมืองล็อกเคอร์บีในสก็อตแลนด์ รวมทั้งการลอบวางระเบิดสายการบินฝรั่งเศสเหนือทะเลทรายไนเจอร์เมื่อปลายทศวรรษ 2523 ฯลฯ

การทำตัวเป็นลูกพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศอิสลามสายเหยี่ยวก็ดี การไม่ยอมก้มหัวให้กับอดีตเจ้าอาณานิคมตะวันตกหรือหลายครั้งถึงกับตั้งตัวเป็นศัตรูโดยตรงกับมหาอำนาจเหล่านั้นก็ดี การเป็นนายทุนการก่อการร้ายก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นข้อหาฉกรรจ์ที่ประเทศตะวันตกใต้การนำของสหรัฐฯ ใช้เป็นข้ออ้างที่จะรวมหัวกันโดดเดี่ยวและปิดล้อมลิเบียทุกวิถีทาง ทั้งแซงค์ชันด้านการค้า การลงทุนหรือการขายอาวุธ ทั้งอายัดทรัพย์สินที่ฝากไว้ในประเทศต่างๆ หรือถึงขั้นส่งเครื่องบินไปถล่มรังลับของพันเอกกัดดาฟีในกรุงตริโปลี ฯลฯ

แต่เมื่อใช้ไม้แข็งไม่ได้ผล สุดท้ายหลายประเทศในยุโรปรวมไปถึงอังกฤษกับฝรั่งเศส ที่ทนกลิ่นยั่วยวนของน้ำมันดิบและการลงทุนมูลค่ามหาศาลไม่ไหวก็หันไปใช้ไม้นวม ทะยอยประกาศจับมือเป็นมิตรกับพันเอกกัดดาฟี ซึ่งเริ่มมีทางทีอ่อนลงเช่นกัน ถึงขนาดยอมจับตัวสายลับที่กลายเป็นแพะรับบาปในคดีลอบวางระเบิดสายการบินแพนแอมไปขึ้นศาลอังกฤษ ส่วนสหรัฐฯ เอง แม้ภายนอกจะทำเป็นปากแข็งไม่ยอมคืนดีกับลิเบียง่ายๆ แต่ลับหลังก็แอบร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน

จากแฟ้มเอกสารลับของหน่วยข่าวกรองลิเบียที่พบในกรุงตริโปลีหลังล้มรัฐบาลกัดดาฟีได้แล้วเผยว่า หน่วยข่าวกรองเอ็มไอ 6 ของอังกฤษ ซีไอเอของสหรัฐฯ และหน่วยข่าวกรองของกลุ่มประเทศตะวันตกได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองลิเบีย ถึงขนาดซีไอเอได้ลักพาตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายหลายคนแล้วส่งตัวไปอยู่ในความดูแลของลิเบียระหว่างปี 2545 ถึง 2547 ส่วนหน่วยเอ็มไอ 6 เคยมอบรายละเอียดของกลุ่มต่อต้านกัดดาฟีที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศให้กับสายลับของกัดดาฟี แลกกับการที่สายลับลิเบียได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยชาวลิเบียในคดีก่อการร้ายร่วมกับเครือข่ายอัลไกดาและส่งมอบให้ซีไอเอนำตัวไปสอบปากคำในคุกลับต่างแดน ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดนี้ปูทางไปสู่การตั้งสำนักงานซีไอเอถาวร ที่กรุงตริโปลีในสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ประกาศทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายให้สิ้นทราก

muammar gadaffi  ที่มาภาพ : http://www.celebritynetworth.com/articles/
muammar gadaffi ที่มาภาพ : http://www.celebritynetworth.com/articles/

ส่วนรัฐบาลอังกฤษในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ก็เอาใจพันเอกกัดดาฟีอย่างออกนอกหน้า ถึงกับเคยเสนอให้จัดประชุมสุดยอดกับพันเอกกัดดาฟีในกระโจมของชนเผ่าเบดูอิน บรรพบุรุษขนานแท้ของบุรุษเหล็กเจ้าทะเลทรายแห่งลิเบีย นอกจากนี้ หน่วยเอ็มไอ 6 ยังได้ส่งบัตรอวยพรวันคริสต์มาสให้พันเอกกัดดาฟีและรัฐมนตรีสำคัญหลายคน นอกเหนือจากเชิญนายซาอัดดี ลูกชายคนที่ 3 และนายคามิส ลูกชายคนสุดท้องของพันเอกกัดดาฟี ไปชมการแสดงสาธิตของหน่วยพิเศษ “เอสเอเอส” ที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงลอนดอน แถมยังมอบหมายให้เจ้าหน้าที่บางคนคอยช่วยนายซาอิฟ อัล อิสลาม ลูกชายคนที่ 2 ของผู้นำลิเบียทำวิทยานิพนธ์ระหว่างกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ

นโยบายที่กลับกลอกไปมาตามสถานการณ์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมีขึ้นเพื่อหวังผลเลิศเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ได้ร่วมทุนในกิจการน้ำมันของลิเบีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่สุดของทวีปแอฟริกา เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของทวีปนี้ และใหญ่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก มีความสามารถในการผลิตน้ำมันคุณภาพสูงประมาณวันละ 1.6 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 2% ของกำลังการผลิตทั่วโลก ที่สำคัญ แหล่งน้ำมันในลิเบียมีปริมาณน้ำมันมากพอที่จะสูบขึ้นมาได้อีกนาน 80 ปี

ระหว่างที่กระแส “อาหรับสปริง” ลามมาที่ลิเบีย บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของตะวันตก อาทิ บริษัทน้ำมันเอนิ ของอิตาลี และโทเทล ของฝรั่งเศส ได้ทุ่มสุดตัวสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ขณะที่บริษัทน้ำมันอื่นๆ อาทิ บีพี ของอังกฤษ มาราธอน โคโนโคฟิลลิปส์ เฮสส์ ออคซิเดนทัล และซันคอร์ ของสหรัฐฯ และแคนาดา ก๊าซพรอม เนฟต์ และแทตเนฟต์ ของรัสเซียต่างถอนตัวออกชั่วคราวช่วงที่สงครามกลางเมืองกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดจนท้ายที่สุดพันเอกกัดดาฟีถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด เป็นอันสิ้นสุดระบอบกัดดาฟีที่ครองลิเบียมานานกว่า 40 ปี บริษัทน้ำมัน เอนิ ของอิตาลี และโทเทล ของฝรั่งเศส คงได้รับส่วนแบ่งเป็นเค้กชิ้นโตในอุตสาหกรรมน้ำมันของลิเบียสมปรารถนา ที่เหลือก็กระจายให้กับบริษัทน้ำมันอื่นๆ ที่ถาโถมเข้าไปชิงส่วนแบ่งนี้อย่างโกลาหล โดยกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ และอังกฤษซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัยได้เสนอจะเข้าไปช่วยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานลิเบียให้ทันสมัยกว่าเดิม เพื่อชดเชยความเสียหายที่ต้องหยุดการผลิตน้ำมันชั่วคราวในช่วงสงครามกลางเมือง ทำให้กำลังการผลิตของลิเบียหายไปวันละ 3 แสนล้านบาร์เรล จากที่ผลิตได้ทั้งหมด 1.6 ล้านบาร์เรล

ห้วงเดียวกันนั้น รัฐบาลตะวันตกก็ผนึกกำลังกันตามล่าหาขุมทรัพย์ที่บุรุษเหล็กกัดดาฟีและครอบครัวแอบขนไปซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศ สื่อยักษ์ใหญ่หลายสื่อต่างพากันเปิดโปงว่าพันเอกกัดดาฟี มีสินทรัพย์สุทธิในบัญชีธนาคารต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 6.16 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปีก่อนสงครามถึง 2 เท่า และมากกว่ามูลค่าทรัพย์สินของเอกอัครบรมมหาเศรษฐีอันดับ 1 -3 ของโลก ได้แก่ คาร์ลอส สลิม ชาวเม็กซิโก ที่มีทรัพย์สินราว 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ที่มีอยู่ราว 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังที่มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมกันเสียอีก

มูลค่ามหาศาลของทรัพย์สินที่ได้มาจากการยักยอกสมบัติของแผ่นดินและจากน้ำมัน ทำให้กัดดาฟีกลายเป็นคนที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ แต่กลับไม่มีชื่ออยู่ในทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เนื่องจากสถาบันจัดอันดับต่างๆ อาทิ ฟอร์บส์ จะมีสูตรคิดจากเงินส่วนตัว, มูลค่าของวิสาหกิจ และมูลค่าจากตำแหน่งหน้าที่การงาน จึงยากที่จะแยกได้ว่าทรัพย์สินส่วนใดเป็นของประเทศ และส่วนใดเป็นของส่วนบุคคล หรือถ้าจะจัดอันดับจริงๆ ก็จะแยกเป็นการจัดอันดับความมั่งคั่งร่ำรวยของประมุขของประเทศ กษัตริย์ และบรรดาชีคออกไปต่างหาก

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์Celebrity Networthได้จัดอันดับผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตลอดกาล โดยนำมูลค่าทรัพย์สินของบรรดามหาเศรษฐีชายย้อนกลับไปเมื่อพันปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันมาคำนวณพร้อมกับค่าความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีมาคำนวณ ปรากฎว่า พันเอกกัดดาฟีครองอันดับ 8 มีทรัพย์สิน 2 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับบิล เกตส์ ที่รั้งอันดับ 12 ด้วยทรัพย์สิน 1.36 แสนล้านดอลลาร์