ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > อินโดนีเซียกับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาขยะทะเลและมลภาวะจากพลาสติก

อินโดนีเซียกับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาขยะทะเลและมลภาวะจากพลาสติก

10 กุมภาพันธ์ 2022


ดร.เพชร มโนปวิตร

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างขยะทะเลสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงแค่ประเทศจีน และยืนหนึ่งในอาเซียนแบบขาดลอย สาเหตุหลักมาจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ การผลิตและการบริโภคพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บและจัดการขยะที่จำกัดอย่างมาก วิกฤติขยะพลาสติกได้ทำให้อินโดนีเซียมีการปฏิรูปกฎหมายในระดับสูงสุด และผลักดันให้ขยะพลาสติกเป็นวาระแห่งชาติที่มีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาขยะทะเลแห่งชาติที่มีเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้ได้ 70% ภายในปี ค.ศ. 2025 การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท การสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหลายภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ และความก้าวหน้าในการผลักดันให้ผู้ผลิตมาร่วมรับผิดชอบในการสร้างระบบจัดเก็บกลับคืน ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และครอบคลุมประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ในการปรับปรุงการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพในอนาคต อินโดนีเซียเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญวิกฤติขยะพลาสติกไม่แพ้กัน

วิกฤติขยะล้นเมือง

การจัดการขยะมูลฝอยนับเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายที่สุดประการหนึ่งของอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 2017 อินโดนีเซียผลิตขยะมากถึง 65.8 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะไม่อาจรองรับอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะอย่างรวดเร็วได้ เป็นผลให้เกิดขยะที่ไม่ถูกจัดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมากโดยเฉพาะแม่น้ำและมหาสมุทร ทำให้อินโดนีเซียจัดเป็นประเทศที่สร้างขยะทะเลมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีนเท่านั้น

รายงานของ Prof. Jenna Jembeck เมื่อปี 2015 ระบุว่า มีขยะจากอินโดนีเซียรั่วไหลออกสู่มหาสมุทรราว 0.48-1.29 ล้านตัน หรือราว 10% ของขยะทะเลทั่วโลก (Jembeck et al. 2015) การประเมินโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซียเมื่อปี 2018 ระบุว่ามีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวราวครึ่งหนึ่ง คือ 0.27-0.59 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่ามีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมหาศาลซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 4% ต่อปี โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีละ 2.3 ล้านตันในปี ค.ศ. 2013 เป็น 2.9 ล้านตันในปี ค.ศ. 2017 อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังต้องอาศัยการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ ยุโรป และอเมริกา เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ โดยมีปริมาณนำเข้าสินค้าจากวัสดุพลาสติกถึงปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณถึง 8 แสนตันต่อปี ในแง่ความต้องการใช้พลาสติกภายในประเทศอาจไม่สูงเหมือนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยมีอัตราการใช้พลาสติกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 22.54 ก.ก./คน/ปี ซึ่งนับว่าต่ำกว่าอัตราการใช้พลาสติกของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยต่างมีอัตราการใช้สูงกว่า 60 ก.ก./คน/ปี)

ในตลาดสินค้าพลาสติกของอินโดนีเซีย บรรจุภัณฑ์นับเป็นสินค้าพลาสติกประเภทที่ใหญ่ที่สุดโดยมีสัดส่วนสูงถึง 49.6% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นราวปีละ 5.2% โดยคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 1.1 แสนล้านหน่วยในปี ค.ศ. 2016 เป็น 1.4 แสนล้านหน่วยในปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านหน่วยในปี ค.ศ. 2025 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นผู้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุดในรูปแบบพอลิเมอร์ที่หลากหลาย (PET, PE และ PP) โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 70% ของตลาดทั้งหมด

ในภาพรวม อินโดนีเซียมีการสร้างขยะมูลฝอยราว 65 ล้านตันต่อปีตามข้อมูลของกระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในปี ค.ศ. 2018 แบ่งได้เป็นขยะเศษอาหาร 44%, พลาสติก 15%, ขยะอินทรีย์จากการเกษตร 13%, กระดาษ 11%, สิ่งทอ 3%, เหล็ก ยาง และแก้ว 2% และอื่นๆ 8% การจัดการขยะดำเนินการโดยเทศบาลในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น โดยองค์กรชุมชนจะทำการจัดเก็บและขนส่งขยะไปยังที่ทิ้งชั่วคราว (Temporary Disposal Sites – TPS) หรือที่เก็บขยะกลางรอขนส่ง (Intermediate Transfer Facilities – TPST) หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดเก็บไปยังหลุมฝังกลบ ซึ่งมีอยู่ 521 แห่ง แต่มีเพียงส่วนน้อยราว 10% เท่านั้นที่มีการจัดการและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการจัดการขยะที่ไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพทำให้ขยะมีโอกาสหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมทางน้ำและออกสู่ทะเลได้มาก โดยเฉพาะสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ

แม่น้ำสี่สายในอินโดนีเซีย ได้แก่ Brantas, Solo, Serayu และ Progo ติดอันดับแม่น้ำที่มีมลภาวะพลาสติกสูงที่สุดในโลก ขยะพลาสติกในแม่น้ำและทางน้ำส่วนใหญ่มาจากเมืองขนาดใหญ่บนเกาะชวาและสุมาตรา รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมเช่นเกาะบาหลี ข้อมูลจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของบาหลีระบุว่า มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นปีละ 1.6 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก 19.6% และหลุดรอดออกสู่ทางน้ำและทะเลปีละกว่า 33,000 ตัน ขยะมูลฝอยบนเกาะบาหลีมีการจัดการอย่างถูกต้องผ่านการรีไซเคิลและฝังกลบราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น (48%) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนปัญหาการจัดการขยะโดยรวมของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะมากมายหลายฉบับ และได้มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการบูรณาการมากยิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญคือกฤษฎีกาของประธานาธิบดีว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน ค.ศ. 2017 (Presidential decree No.97/2017 on National Policy & Strategy on management of household waste and household-like waste or JAKSTRANAS) และ กฤษฎีกาของประธานาธิบดีว่าด้วยการจัดการขยะทะเล ค.ศ. 2018 หรือแผนปฏิบัติการขยะพลาสติกทางทะเลแห่งชาติ (Presidential decree No.83/2018 on Marine Debris Management or National Plan of Action on Marine Plastic Debris) ซึ่งเป็นผลให้มีการตั้งเป้าหมายว่าอินโดนีเซียจะต้องลดขยะพลาสติกให้ได้ 70% ภายในปี ค.ศ. 2025 และยุติปัญหามลภาวะพลาสติกให้ได้อย่างสิ้นเชิงภายในปี ค.ศ. 2040 ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการพลาสติก

ที่มา: National Plastic Waste Reduction Strategic Actions for Indonesia 2020
แผนผังสรุปกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะของประเทศอินโดนีเซีย
ที่มา: National Plastic Waste Reduction Strategic Actions for Indonesia 2020

แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล 2018-2025 และแผนการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน ค.ศ. 2017 ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกลงให้ได้ 70% ภายในปี ค.ศ. 2025

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ยังได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR (MoEF Regulation No. P.75/2019 on Roadmap to Waste Reduction by Producers) ทำการรณรงค์การแยกขยะอย่างกว้างขวาง (Waste Sorting Movement หรือ Gerakan Pilah Sampah) และทดลองโมเดลการรวบรวมขยะเพื่อรีไซเคิลในหลายพื้นที่เช่น ขวด PET และกระดาษกล่อง ในลำดับต่อไปจะได้แนะนำกฎหมายและเครื่องมือต่างๆ ในการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ของประเทศอินโดนีเซียที่อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้

กฎหมายและนโยบายในการจัดการขยะยุคใหม่ในอินโดนีเซีย

1. พระราชบัญญัติการจัดการขยะมูลฝอย ฉบับที่ 18/2008 (Waste Management Law No. 18/ 2008) ได้รับการบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายหลักสำหรับนโยบายการจัดการขยะในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะขยะมูลฝอยในระดับครัวเรือนและระดับเทศบาล ส่วนขยะในระดับอุตสาหกรรมและขยะอันตรายจะใช้พระราชบัญญัติการจัดการและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 32//2009 (Environmental Protection and Management No.32/2009) โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยทั่วไปการจัดการขยะมูลฝอยเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพยายามนำหลักการ 3R เข้ามาปฏิบัติ คือ การลด การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล จึงพยายามส่งเสริมมาตรการลดขยะ (waste minimization) และการจัดการขยะ (waste handling) กฎหมายฉบับนี้ได้เริ่มนำหลักการ EPR เข้ามาใช้ โดยเน้นให้ผู้ผลิตต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์และสินค้าให้ได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ผลิตควรรับผิดชอบต่อสินค้าและบรรจุภัณฑ์หลังจากการใช้งานแล้ว

มาตรการอื่นๆ ที่มีการพัฒนาภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ยังรวมถึงการห้ามนำเข้าขยะมูลฝอย และกำหนดให้ปิดการฝังกลบแบบเทกอง (open dumpsites) ที่มีการใช้งานอยู่ทั้งหมดให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2013 เป้าหมายที่ทะเยอทะยานดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ จากการสำรวจล่าสุดของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้พบว่ายังคงมีการฝังกลบแบบเทกองที่ใช้งานอยู่ถึง 167 แห่ง

ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ยังได้มีความพยายามปรับปรุงการจัดการขยะมูลฝอยภายในอินโดนีเซียผ่านโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

  • โครงการ Adipura หรือเมืองสะอาด ซึ่งเป็นโครงการที่ตรวจวัดความสำเร็จในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนผ่านการจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง
  • การส่งเสริมและนำหลักการ 3R ไปปฏิบัติใช้ในระดับชุมชนเน้นการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และการรีไซเคิลขยะผ่านโครงการนำร่อง 356 แห่ง และการผลักดันในระดับเมือง 3 แห่ง รวมไปถึงการขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่อง 3R ในโรงเรียนประถมทั่วประเทศ
  • การทำธนาคารขยะ เพื่อให้การศึกษาประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะและการสร้างรายได้จากการรีไซเคิล
  • โครงการปรับปรุงหลุมฝังกลบขยะให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมในเมือง 190 แห่งระหว่างปี ค.ศ. 2006-2012

2. ระเบียบราชการที่ 81/2012 ว่าด้วยการจัดการขยะและของเสียในครัวเรือน(Government Regulation No. 81 of 2012 regarding The Management of Domestic Waste and Domestic Waste Equivalents) มาตรา 10 ของระเบียบฉบับดังกล่าวระบุว่าประชาชนทุกคนมีหน้าที่ลดและจัดการขยะที่เกิดขึ้นของตนเอง ซึ่งหมายรวมถึงมาตรการ การลดปริมาณขยะ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ในขณะที่มาตรา 12 และ 13 ระบุว่าผู้ผลิตเองต้องจำกัดปริมาณขยะและรีไซเคิลขยะที่เกิดขึ้นของตัวเอง โดยมีแผนงานที่ชัดเจน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และ/หรือ ป้องกันการเกิดขยะจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์โดยการพัฒนาระบบเก็บคืน ส่วนมาตราที่ 14 ระบุให้ผู้ผลิตต้องทำการนำของเสียมาใช้ซ้ำ ไมว่าจะด้วยการใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากการรีไซเคิล หรือมีระบบนำขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำอีกครั้ง

3. ระเบียบกระทรวงกิจการสาธารณะที่ 03/2013 ว่าด้วยการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับขยะและของเสียจากครัวเรือน(Ministry of Public Work Regulation No. 3 of 2013 Regarding The Provision of Facilities and Infrastructure to Handle Domestic Waste and Domestic Waste Equivalents) ในระเบียบฉบับนี้ได้อธิบายคำจำกัดความของพื้นที่รองรับขยะชั่วคราวประเภทต่างๆ ได้แก่ พื้นที่รองรับขยะชั่วคราว (Temporary Waste Disposal Area – TPS) ซึ่งเป็นสถานที่รองรับขยะก่อนที่จะถูกนำส่งไปรีไซเคิล จัดการ และ/หรือ ส่งต่อไปยังสถานกำจัดขยะแบบบูรณาการ พื้นที่รองรับขยะชั่วคราวมีข้อกำหนดต่างๆ เช่น ต้องมีอุปกรณ์ในการคัดแยกขยะ จึงหมายความว่า ขยะตามบ้านเรือนควรจะได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้องก่อนส่งต่อมายังพื้นที่ดังกล่าว ส่วนพื้นที่รองรับขยะแบบ 3R (3R Waste Treatment Facility – TPS 3R) คือสถานที่ที่มีความพร้อมในการรองรับการจัดเก็บ การคัดแยก การนำไปใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ซึ่งภายในพื้นที่รองรับดังกล่าวจะมีการจัดการขยะอินทรีย์ การรีไซเคิลขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ รวมทั้งการจัดการขยะเป็นพิษ ก่อนที่จะนำส่งไปยัง สถานที่ทิ้งขยะขั้นสุดท้าย หรือหลุมฝังกลบ (Landfill – TPA) ซึ่งกำหนดให้รองรับเฉพาะขยะและของเสียจากครัวเรือนเท่านั้น

4. กฤษฎีกาของประธานาธิบดีว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน ค.ศ. 2017 (Presidential decree No.97/2017 on National Policy & Strategy on management of household waste and household-like waste or JAKSTRANAS) นับเป็นแผนงานสำคัญในการไปสู่เป้าหมายอินโดนีเซียที่ปราศจากขยะภายในปี ค.ศ. 2025 (Indonesia Bersih Sampah 2025) กฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีการตั้งเป้าต่างๆ ดังนี้

  • ลดปริมาณขยะภายในประเทศอย่างน้อย 30% (ลดที่แหล่งกำเนิด)
  • จัดการขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ได้อย่างน้อย 70% เพื่อป้องกันการสะสมที่หลุมฝังกลบ
  • องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาแผนงานให้สอดคล้องกับแผนฉบับนี้
  • แผนงานทุกอย่างตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2025

5. กฤษฎีกาของประธานาธิบดีว่าด้วยการจัดการขยะทะเล ค.ศ. 2018 หรือแผนปฏิบัติการขยะพลาสติกทางทะเลแห่งชาติ ค.ศ. 2018-2025 (Presidential decree No.83/2018 on Marine Debris Management or National Plan of Action on Marine Plastic Debris) ตั้งเป้าในการลดขยะพลาสติกลงให้ได้ถึง 70% (เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2017) ภายในปี ค.ศ. 2025 องค์ประกอบที่สำคัญของแผนปฏิบัติการดังกล่าวคือ

    1) การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ
    2) การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมขยะพลาสติกรวมทั้งระบบการจัดการที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีระบบติดตามข้อมูล
    3) ขับเคลื่อนหลักการ 3R ทางสังคมอย่างจริงจัง

แผนปฏิบัติการฯ ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ให้แก่กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีการกำหนดบทบาทของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ผลักดันและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจรีไซเคิล และภาคธุรกิจที่ผลิตพลาสติกแบบย่อยสลายได้ กระทรวงกิจการทะเลและประมงรับผิดชอบเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานที่คัดแยกขยะตามท่าเรือและทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด ในขณะที่กระทรวงกิจการสาธารณะและการเคหะ รับผิดชอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บขยะในแม่น้ำ และอาคารจัดการขยะ รวมไปถึงการนำขยะพลาสติกมาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น การทำถนนจากขยะพลาสติก

แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฉบับนี้ประกอบไปด้วย 5 แนวทาง คือ 1) การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 2) การลดการรั่วไหลของขยะจากบนบก 3) การลดการรั่วไหลของขยะในทะเล 4) การทำร่วมกับฝ่ายอุตสาหกรรม และ 5) งานวิจัยและพัฒนา โดยกำหนดงบประมาณในการดำเนินการตลอดสี่ปีไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ ยังได้มุ่งให้ความรู้แก่ชุมชนและสถานประกอบการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ทะเล ทางการนครใหญ่ๆ เช่น สุราบายา บันจาร์มาสิน บาลิกปาปัน โบกอร์ โดยเฉพาะเกาะบาหลีได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดขยะพลาสติก เช่น ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองเช่น ถุงไม้ไผ่สาน หลอดไม้ไผ่และใช้ใบตองห่ออาหาร เป็นต้น ส่วนในศูนย์การค้า ร้านขายของและตลาดกลางแจ้ง ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติก ควบคู่กันนั้น ยังมีการจัดขบวนการต่างๆ เช่น ขบวนการอินโดนีเซียสะอาด ขบวนการลาก่อนถุงพลาสติก ขบวนการนูซันตาราที่รณรงค์ให้ทำความสะอาดทะเล เป็นต้น ซึ่งขบวนการเหล่านี้เน้นกิจกรรมเก็บขยะ การควบคุมของเสียที่จะทิ้งลงทะเลและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขยะพลาสติกให้แก่ประชาชน

6. กฤษฎีกาของประธานาธิบดีที่ 38/2015 ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (The Presidential Decree No. 38/2015 on Cooperation between Government and Business Entity in Procurement of Infrastructure) เป็นหลักการสำคัญที่ส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ (Public Private Participation — PPP) จึงมีการจัดตั้งองค์กรและกองทุนขึ้นอย่างหลากหลายอาทิ Indonesia Infrastructure Guarantee Fund (IIGF) SaranaMulti Infrastruktur (PT SMI) และ Indonesia Infrastructure Finance (PT IIF) เพื่อเป็นการสนับสนุนการเงินให้กับโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หนึ่งในกิจการที่จำเป็นต้องดำเนินการคือการทำความสะอาดแม่น้ำและชายฝั่งทะเลซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าจะจัดสรรงบประมาณผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ได้ปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท

7. ระเบียบกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ที่ P75/2019 ว่าด้วยแผนงานการลดขยะโดยผู้ผลิต หรือ แผนงานเกี่ยวกับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Ministry of Environment and Forestry Regulation No. P.75/2019 concerning Roadmap of Waste Reduction by Producer or Roadmap of EPR) วัตถุประสงค์ของนโยบายสำคัญฉบับนี้คือการให้คำแนะนำและอำนวยให้ผู้ผลิต ซึ่งรวมถึงเจ้าของแบรนด์ โรงงานผลิต ผู้นำเข้า ร้านค้าปลีก และอุตสาหกรรมบริการอาหารและเครื่องดื่ม แสดงความรับผิดชอบในการลดขยะที่เกิดจากธุรกิจของตัวเอง เช่น บรรจุภัณฑ์ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม หรือแก้ว โดยมีองค์ประกอบสำคัญสามประการที่ผู้ผลิตสามารถลดขยะได้ คือ

    1) เพื่อป้องกันและลดการผลิตขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการใช้หลักการออกแบบเพื่อความยั่งยืน (Design for Sustainability — DfS) ในรูปแบบของการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ และพยายามกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังควรทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลและใช้ซ้ำได้ง่าย รวมทั้งออกแบบให้มีความทนทาน นำมาคืน หรือใช้เติมได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

    2) มีระบบรับคืนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน เพื่อการใช้ซ้ำ

    3) มีระบบรับคืนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน เพื่อการรีไซเคิล

ก่อนหน้านี้บริษัทรายใหญ่ต่างๆ ในอินโดนีเซีย เช่น บริษัท Nestle Indonesia, Unilever, Coca Cola, Danone Aqua, Indofood และ Tetra Pak ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอินโดนีเซีย (PRAISE — Packaging and Recycling Association for Indonesia Sustainable Environment) ซึ่งนอกจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการคัดแยกบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการติดตั้งจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ (drop off box) แล้ว ทางกลุ่มยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านรูปแบบเศรษฐกิจเส้นตรงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการใช้หลักการ EPR โดยทางกลุ่มเชื่อว่าการจัดการบรรจุภัณฑ์ภายหลังการใช้งานมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ได้เปิดเผยว่ามีบริษัทผู้ผลิต 16 ราย เช่น Nestle Unilever Coca Cola P&G และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 7 ราย ได้ส่งแผนปฏิบัติการดำเนินงานลดขยะ ค.ศ. 2020-2029 ภายใต้ EPR Roadmap เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงฯ กำลังตรวจสอบและให้ข้อคิดเห็น ซึ่งหลังจากนี้เมื่อแผนได้รับการอนุมัติก็จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที

8. มาตรการจูงใจทางการเงิน (Fiscal Incentive) รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงระบบการจัดการขยะขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการจัดสรรงบประมาณพิเศษสำหรับพื้นที่ที่สามารถลดขยะได้เกินเป้า ในส่วนของงบประมาณที่ได้จัดสรรให้รัฐบาลท้องถิ่นนั้นรวมถึงการปรับปรุงหลุมฝังกลบที่มีอยู่เดิม การสร้างหลุมฝังกลบแห่งใหม่ และงบประมาณพิเศษในการก่อสร้างสถานที่จัดการขยะมูลฝอย เช่น โรงงานปุ๋ยหมักจากขยะ ธนาคารขยะ ยานพาหนะสำหรับจัดเก็บและขนส่งขยะรูปแบบใหม่ และโรงงานรีไซเคิล นอกจากนี้ ก็มีการอุดหนุนงบประมาณพิเศษเพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าจากขยะ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ของอินโดนีเซียได้นำมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก (ถุงละประมาณ 60 สตางค์) มาใช้ใน 22 เมือง อย่างไรก็ตามต่อมาสมาคมร้านค้าปลีกได้ปฏิเสธที่จะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยอ้างว่าขาดกฎหมายรองรับ ในขณะที่จาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองหลวง และบาหลี ได้มีประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก ในปี ค.ศ. 2020 สภาผู้แทนราษฏรได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการเก็บเงินภาษีถุงพลาสติก (ราว 70 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้มากถึง 50% และยังก่อให้เกิดรายได้กับภาครัฐปีละมากกว่า 3,500 ล้านบาท ข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ถุงพลาสติกแบบบางที่มีความหนาน้อยกว่า 75 ไมครอน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความพยายามที่จะเก็บภาษีพลาสติกโดยรวมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา

ปี ค.ศ. 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทให้แก่ท้องถิ่นที่มีผลงานที่ยอดเยี่ยมในการบริหารจัดการขยะ และนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ ในอินโดนีเซียมีเมือง 12 แห่งที่ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งจะเปิดใช้งานในระยะปี 2019-2020 โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะผลิตไฟฟ้าได้อย่างน้อย 234 เมกะวัตต์จากขยะ 1 หมื่น 6 พันตันต่อวัน

9. ความร่วมมือในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกแห่งชาติ (Indonesia National Plastic Action Partnertship – NPAP) เป็นความร่วมมือหลายภาคส่วน (Multistakeholder Platform) ที่เกิดจากรัฐบาลอินโดนีเซีย และ Global Plastic Action Partnership (GPAP) ซึ่งริเริ่มโดย World Economic Forum โดยมี World Resource Institute (WRI) Indonesia เป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 230 องค์กรอันประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคม ตัวแทนกลุ่มเยาวชน ภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา มีการจัดตั้งคณะทำงาน 5 ฝ่ายที่ครอบคลุมเรื่องของนโยบาย นวัตกรรม การเงิน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และตัวชี้วัด ผลผลิตที่สำคัญของความร่วมมือดังกล่าวคือการพัฒนา แผนปฏิบัติการหลายภาคส่วนในการลดมลภาวะพลาสติกอย่างเฉียบพลัน (Radically Reducing Plastic Pollution in Indonesia: A Multistakeholder Action Plan) ซึ่งเป็นการพัฒนาแผนปฏิบัติการที่คู่ขนานไปกับ แผนปฎิบัติการของภาครัฐ โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ 5 ด้าน

    1) ลดการใช้พลาสติกหรือแทนทีพลาสติกด้วยวัสดุทดแทนให้ได้ปีละ 1 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2025
    2) ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใหม่ให้เหมาะกับการใช้ซ้ำหรือการรีไซเคิลที่มีมูลค่าสูงให้ได้อย่างน้อย 500,000 ตัน
    3) เพิ่มความสามารถในการจัดเก็บขยะให้ได้สองเท่าจาก 39% เป็น 84% ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยการสนับสนุนระบบจัดเก็บของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระบบจัดเก็บที่ไม่เป็นทางการ
    4) เพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลให้ได้สองเท่าหรือรีไซเคิลพลาสติกให้ได้เพิ่มขึ้นปีละ 975,000 ตัน
    5) พัฒนาสถานที่ทิ้งขยะที่มีการจัดการเพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านตันต่อปีภายในปี ค.ศ. 2025

แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ประเมินว่าประเทศอินโดนีเซียจะสามารถป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมได้กว่า 16 ล้านตัน พร้อมๆ กับสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะได้มากกว่า 150,000 ตำแหน่ง

ความท้าทายในปัจจุบัน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างขยะทะเลสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ปัญหาขยะทะเลและมลภาวะจากพลาสติกจึงเป็นหนึ่งในวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในระดับภูมิภาค อุปสรรคสำคัญในการปรับปรุงระบบการจัดการขยะของอินโดนีเซียอยู่ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคัดแยกขยะแต่ทำหน้าที่เพียงแค่จัดเก็บและขนส่งไปทิ้งเท่านั้น แต่ด้วยความพยายามปรับปรุงกฎหมายพื้นฐานและนโยบายที่มีความก้าวหน้าด้านนโยบายหลายอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้พอที่จะเห็นความหวังในการแก้วิกฤติขยะทะเลและมลภาวะจากพลาสติก และเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ซึ่งหากอินโดนีเซียทำได้สำเร็จจะกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะวิกฤติขยะทะเลเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างแท้จริง

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยภายใต้โครงการศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

เอกสารอ้างอิง
Kenji, A. 2021. Indonesia MOEF reports implementation status of waste reduction regulations
https://enviliance.com/regions/southeast-asia/id/report_3466
Ministry of Environment and Forestry (2020): National Plastic Waste Reduction Strategic Actions for Indonesia, Republic of Indonesia
OECD. 2021. Towards a more resource-efficient and circular economy The role of the G20. A background report prepared for the 2021 G20 Presidency of Italy
Purba & Erliyana. 2019. Legal Framework of Waste Management in Indonesia. Advances in Social Science, Education and Humanities Research, volume 413. 103-108.
UNEP. 2020. Indonesia: Country Profile. SEA Circular. https://www.sea-circular.org/publications/sea-circular-country-profile-indonesia/
ReportLinker. 2021. Trends and Opportunities in the Indonesian Packaging Industry
https://www.globenewswire.com/news-release/2021/08/09/2276904/0/en/Trends-and-Opportunities-in-the-Indonesian-Packaging-Industry.html
World Bank. 2021. Plastic Waste Discharges from Rivers and Coastlines in Indonesia. Marine Plastics Series, East Asia and Pacific Region. Washington DC.