ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่งทุกหน่วยใช้ ‘ยูทูป’ โปรโมทผลงานรัฐ-มติ ครม.เว้นภาษีเงินได้ ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทยล้านคน

นายกฯสั่งทุกหน่วยใช้ ‘ยูทูป’ โปรโมทผลงานรัฐ-มติ ครม.เว้นภาษีเงินได้ ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักเข้าไทยล้านคน

22 กุมภาพันธ์ 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯสั่งทุกหน่วยใช้ ‘ยูทูป’ เผยแพร่ผลงานรัฐบาล-นัดนายกฯมาเลเซียหารือความร่วมมือ ศก. 25 ก.พ.นี้-มติ ครม.ขึ้นภาษี ‘รถยนต์-ไฮบริด-มอเตอร์ไซด์’ เริ่ม 1 ม.ค.69 พร้อมลดภาษีนำเข้า ‘รถอีวี’ ไม่เกิน 2 ล้าน เหลือ 40% – ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักพำนักไทย 1 ล้านคน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ดร.ธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกฝ่ายและทุกส่วนราชการที่ให้ข้อมูลในการอภิปรายทั่วไป และไม่ลงมติตามมาตรา 152 และขอให้ทุกส่วนราชการสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องและเร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

มอบหลักการแก้จน “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน”

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังฝากให้ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งสถานที่ต่างๆ และหากมีประเด็นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ขอให้ชี้แจงและแก้ไขปัญหา รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาความยากจนเป็นรายครัวเรือน โดยให้ลงลึกไประดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งมีหลักการ “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน”

สั่งทุกหน่วยใช้ ‘ยูทูป’ เผยแพร่ผลงานรัฐบาล

ดร.ธนกร กล่าวถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีในส่วนราชการว่า “ฝากคณะรัฐมนตรีติดตามเทคโนโลยีการบริหารจัดการสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) ระบบการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล ไม่ผ่านตัวกลางมีความโปร่งใส ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเปิดช่องสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ให้ทุกหน่วยงานศึกษาและปรับใช้ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ มอบหมายให้ทุกหน่วยงานใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูป (Youtube) ในการเผยแพร่ผลงานต่างๆ เพราะเป็นสื่อออนไลน์ที่มีคนติดตามจำนวนมาก”

กำชับหน่วยงานใน กทม.ดูแลระบบรักษาโควิดฯ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดูแลรักษาโควิด-19 ใน กทม. โดยกำชับให้บริหารจัดการระบบการรักษาทั้ง HI (Home Isolation) และ CI (Community Isolation) พร้อมเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในเด็ก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดมาตรการ

นัดนายกฯมาเลเซียหารือความร่วมมือ ศก. 25 ก.พ.นี้

นอกจากนี้ ดร.ธนกร กล่าวว่าดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน

“การเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดหารือข้อราชการกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศจะหารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านให้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือแนวทางเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอาเซียนและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ” ดร.ธนกร กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ธนกร กล่าวว่า “วันนี้ไม่มีคำตอบจากท่านนายกฯ มีแต่คำถามจากสื่อมวลชน

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ขึ้นภาษี ‘รถยนต์-ไฮบริด-มอเตอร์ไซด์’ เริ่ม 1 ม.ค.69 หนุนคนไทยใช้ ‘อีวี’

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวม 27 ประเภท โดยจะมีรถยนต์ ต้องจัดเก็บภาษีตามอัตราในร่างกฎกระทรวงนี้เมื่อกฎกระทรวง มีผลใช้บังคับ (วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) รวม 6 ประเภท ดังนี้

1. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2578 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50

2. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวง มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 8 – 10

3.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 14 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2 และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 10 – 12 ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

4. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้ พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

5. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568 ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568 และ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

6. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง [Fuel Cell Powered Vehicle ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5

สำหรับรถยนต์ที่เหลืออีก 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2569 – 2578 ตามลำดับ ได้แก่

7. รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2570 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2571 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 13 – 38 กรณี ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 25 – 40 สำหรับรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50

8. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) ความจุกระบอกสูบ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 18 – 50 ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ร้อยละ 16 – 50 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

9. รถยนต์นั่งที่ผลิตจากรถยนต์กระบะ หรือ แชสซีส์และกระจก บังลมหน้า (Chassis With Windshield) ของรถยนต์กระบะ หรือดัดแปลงจากรถยนต์กระบะที่ผลิต หรือ ดัดแปลงโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2.5 – 40 ที่ดัดแปลงโดยผู้ดัดแปลง จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

10. รถยนต์สามล้อชนิดรถสกายแลป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

11. รถยนต์อื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1 – 5 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

12. รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2570 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 13 – 38 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 – 40 สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

13. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ใช้เป็นรถพยาบาล และรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาดเป็นการทั่วไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

14. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle) แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2570 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 6 – 28 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป มีการจัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 – 30 กรณีที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 40 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

15. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 5 – 10 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 – 20 สำหรับความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 30 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

16. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 1 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป

17. รถยนต์นั่งสามล้อ และรถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์สามล้อ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 – 4 รถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของ รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค 2569 เป็นต้นไป

18. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (No Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 – 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค 2569 – 31 ธันวาคม 2578

19. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 – 4 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

20. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 – 7 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

21. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 – 8 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

22. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 8 – 13 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

23. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิง ประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 6 – 12 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

24. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 -2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

25. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle)ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 0 – 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2578

26. รถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาด จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569

27. รถยนต์ประเภทอื่น ๆ นอกจากข้อ 15 – ข้อ 26 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 – 50 ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ และอัตราการปล่อย CO2

สำหรับ การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้า รถจักรยานยนต์รวม 4 ประเภท ได้แก่

    1. แบบพลังงานไฟฟ้า โดยจะพิจารณาจากแรงดันไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 0 – 10 ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป
    2. แบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือแบบผสมที่ใช้พลังงาน เชื้อเพลิงและไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 – 25
    3. รถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป
    4. รถจักรยานยนต์อื่น ๆ นอกจากข้อ 1 – ข้อ 3 แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 – 31 ธันวาคม 2572 และตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 25 – 30

ดร.ธนกร ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังกำชับให้มาตรการภาษี ให้เกิดประโยชน์ในการลงทุน และ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป้าหมายคือ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระตุ้นผู้ประกอบการปรับปรุงและพัฒนาสู่เทคโนโลยีทันสมัย การลดปล่อยก๊าซ CO2 และยังเป็นการสนับสนุน พลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อน ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย

  • มติ ครม.ขึ้นภาษี ‘รถใช้น้ำมัน-ไฮบริด-มอเตอร์ไซด์’ เริ่มปี’69 หนุนคนไทยใช้ ‘อีวี’
  • ลดภาษีนำเข้า ‘รถอีวี’ ไม่เกิน 2 ล้าน เหลือ 40%

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (CBU) โดย ครม. ยังเห็นควรให้ระบุวันมีผลใช้บังคับของร่างประกาศฯ ให้สอดคล้องกับมติ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/64 (ครั้งที่ 4) และครั้งที่ 1/65 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 โดยมีการปรับลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (CBU) ประกอบสำเร็จรูปนำเข้าทั้งคัน ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และการนำเข้าทั่วไป ในปี 2565-2566 ดังนี้
    1. ราคาขายปลีกแนะนำ ไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับกรณีนำเข้าทั่วไป อากรร้อยละ 80 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 40

      กรณีใช้สิทธิ FTA อากรไม่เกินร้อยละ 40 ให้ยกเว้นอากร
      กรณีใช้สิทธิ FTA อากรเกินร้อยละ 40 ให้ลดลงอีกร้อยละ 40

    2. ราคาขายปลีกตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท สำหรับอัตราอากรนำเข้าทั่วไปร้อยละ 80 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 60

      กรณีใช้สิทธิ FTA อากรไม่เกินร้อยละ 20 ให้ยกเว้นอากร
      กรณีใช้สิทธิ FTA อากรเกินร้อยละ 20 ให้ลดลงอีกร้อยละ 20

    ดร.ธนกร กล่าวเสริมว่า การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรดังกล่าว ให้ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ CBU ที่มีหนังสือรับรองการได้รับสิทธิชำระภาษี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหรือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลาง จากกรมสรรพสามิต แม้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสีย รายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

    จัดงบฯ 150 ล้าน แก้โควิดฯระบาดในเรือนจำ

    ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานวงเงินรวม 150.69 ล้านบาท เพื่อให้กรมราชทัณฑ์นำไปจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 19 รายการ ให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ได้แก่ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 162,000 ตัว หน้ากากอนามัย N95 162,000 ชิ้น ถุงมือยาง 540,000 คู่ ชุดตรวจ ATK จำนวน 454,674 ชุด นอกจากนี้ ยังมี แอลกอฮอล์น้ำ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว น้ำยาตรวจหาเชื้อไวรัส(น้ำยา PCR ) เป็นต้น เพื่อแจกจ่ายให้กับเรือนจำและทัณฑสถานที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ

    อนุมัติ 7,660 ล้าน ประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564–2565 วงเงิน 7,660 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 3.8 แสนราย โดยยังคงหลักการเดิมเช่นเดียวกับในครั้งที่ผ่านมา คือ กำหนดราคาประกันของปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมันร้อยละ 18) กิโลกรัมละ 4 บาท ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรและต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มอายุ 3 ปีขึ้นไปที่ให้ผลผลิตแล้ว ส่วนระยะเวลาการจ่ายเงินประกันรายได้จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – สิงหาคม 2565

    ที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564 รัฐบาลไม่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตลอดทั้งโครงการ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในการบริโภคและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปาล์มทะลายมีราคาเฉลี่ยทั้งปี 64 อยู่ที่ประมาณ 6.9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ 4 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดทั้งปี

    รับทราบความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ‘ไทย-ญี่ปุ่น’

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมจะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อาทิ

    1.ด้านพลังงาน เช่น ไทยมุ่งเน้นดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานและมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านพลังงานกับไทย ผ่านกลไกข้อริเริ่มด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานแห่งเอเชีย (Asia Energy Transition Initiative: AETI) ที่ได้ดำเนินการร่วมกันอยู่แล้ว พร้อมทั้งเสนอแนะให้ไทยส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดในช่วงเปลี่ยนผ่าน

    2.ด้านการค้าการลงทุน เช่น (1)ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทยจำนวนมาก เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยแนวคิดข้อริเริ่ม (Asia-Japan Investment for The Future Initiative : AJIF) จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น (2)ญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ในไทย โดยบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ส่งเสริมนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันลงนามเอกสารต่างๆ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 บันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ ฉบับที่ 2 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ และฉบับที่ 3 บันทึกแสดงเจตจำนงด้านความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่น ในพื้นที่ EEC

    เห็นชอบประชุม ‘ไทย-กัมพูชา’ ปม ‘ค้ามนุษย์-ยาเสพติด-แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2564 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

    ประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ อาทิ 1)อำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน 2)นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของไทยและเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานกัมพูชา 3)บรรลุเป้าหมายการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 4)ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออานวยยิ่งขึ้นต่อการลงทุน 5)ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการปรับใช้ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) 6)ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยหารือกันเพื่อเตรียมการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชาที่เชื่อมโยงจังหวัดสระแก้วของไทย กับ จังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา 7)การกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ประเด็นการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และการส่งเสริมมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยและกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ อาทิ 1) ป้องกันและปราบปรามปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด และการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 2) เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและฝึกอาชีพแห่งชาติ ในจังหวัดพระสีหนุ โดยไทยสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์จำนวน 38 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจอันดีและมิตรภาพในระดับประชาชน

    ประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ACMECS รวมถึงการสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี 2565

    ชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบธุรกิจ ‘ยางแห้ง’ 600 ล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 603.50 ล้านบาท และให้การยางแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบกิจการยางสามารถซื้อผลผลิตยางแห้งได้ไม่น้อยกว่า 350,000 ตัน (คิดราคาเฉลี่ยปี 2564 ยางแผ่นดิบราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อผลผลิตยางแห้งจากเกษตรกรชาวสวนยางในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนระยะเวลาดำเนินการโครงการจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 – ธันวาคม 2565

    นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ได้ เช่น การขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ การซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่เก็บสต็อกยาง เป็นต้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อไม้ยางและผลิตภัณฑ์มาเก็บสต็อกและแปรรูปเท่านั้น

    สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีดังนี้

    1) แหล่งสินเชื่อ ผู้ประกอบการจะต้องมีสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและหรือ “สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์” กับสถาบันการเงินตามรายชื่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน (เฉพาะกิจ) ที่สนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ “สินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน” เท่านั้น

    2) รัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท โดยเพิ่มเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ คือ ชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง และหรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ จากเดิมที่ไม่กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว

    ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ดึงต่างชาติกระเป๋าหนักพำนักไทย 1 ล้านคน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย มีสาระสำคัญ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว(Long-term resident Visa : LTR Visa) 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง, กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

    ขณะเดียวกันยังได้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือร้อยละ17 สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

    สำหรับชาวต่างชาติกลุ่มซึ่งเป็นเป้าหมายตามมาตรการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    1. ประชากรโลกที่มีความมั่นคั่งสูง ได้แก่ ผู้ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 500,000.02 ดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ

    2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมีรายได้ (เงินบำนาญ) ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ

    3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย : มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับเงินทุน Series A มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

    4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ : มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานห้าปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังได้ประมาณการว่าจะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน

    นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้คือ ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น , การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น

    ผ่านแผนจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิปี 2564-75 วงเงิน 67,956 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิปี 2564-2575 กรอบวงเงินงบประมาณ 67,956 ล้านบาท โดยจะตั้งรายการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน ซึ่งแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมินี้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นกรอบทิศทาง เป้าหมาย และกลไกการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มศักยภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิทุกรูปแบบที่ขับเคลื่อนโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน โครงการจัดทำคู่มือเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โครงการสรรหานักเรียนในพื้นที่เข้าสู่โครงการแพทย์คืนถิ่น โครงการสร้างสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและเป็น happy work place

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบสารสนเทศ การวิจัย และนวัตกรรมระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากลไกและกระบวนการสร้างหลักธรรมาภิบาลในการอภิบาลระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการบูรณาการงานสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมโยงการทำงานกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โครงการบริหารจัดการการเงินการคลังในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายและชุมชน เช่น โครงการขับเคลื่อนโดยทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ( พชอ.) เน้นจัดสภาพพื้นที่ จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพให้ประชาชน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดบริการด้านสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ มีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีความเชื่อมั่นศรัทธา และมุ่งสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

    เห็นชอบแผนงานอาเซียนด้านเยาวชนปี 2564-68

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชนปี 2564-2568 (Draft ASEAN Work Plan on Youth 2021-2025) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบงานด้านเยาวชนของประเทศไทย มีหนังสือแจ้งการรับรองร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชนไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนหลังจากครม.มีมติเห็นชอบแล้ว ซึ่งจะต้องแจ้งการรับรองร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชนภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

    ทั้งนี้ร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชน มีความสอดคล้องกับมาตรการเชิงกลยุทธ์และผลลัพธ์ของแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 2025 และมีวิสัยทัศน์คือ มุ่งสู่เยาวชนอาเซียนที่พร้อมรับอนาคตโดยเสริมทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 และทักษะดิจิทัล และการสร้างสถาบันกลไกของการมีส่วนร่วมของเยาวชน รวมถึงการกำหนดนโยบายระดับภูมิภาค ประกอบด้วยผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย 5 ประเด็นหลัก 5 ผลลัพธ์ระยะสั้น 13ผลผลิต และ 14 โครงการ ได้แก่ประเด็นเรื่องการศึกษา , เรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ , การจ้างงานและโอกาส, การมีส่วนร่วมและการจ้าง และประเด็นสุดท้าย ความตระหนักรู้ คุณค่า และอัตลักษณ์อาเซียน

    สำหรับแผนงานเดิมตามกรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านเยาวชน ปี 2559-2563 ได้สิ้นสุดลงในปี 2563 ประเทสสมาชิกอาเซียนจึงได้จัดทำร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชน เพื่อใช้เป็นแผนงานฉบับใหม่ในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบงานด้านเยาวชนของประเทศไทยจะต้องรับรองแผนงานดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้ร่างแผนงานอาเซียนด้านเยาวชนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

    ไฟเขียวกรอบท่าทีไทยในเวทีสมัชชาสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ สมัย 5

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อกรอบท่าทีไทย สำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ –2 มีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” และการประชุมสมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP@50) ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening UNEP for the implementation of the environmental dimention of 2030 Agenda for Sustainable Development” ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

    นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบในหลักการต่อร่างข้อมติและข้อตัดสินใจ 17 ข้อมติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP) ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก และเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยร่วมอุปถัมภ์(Co- sponsor)ข้อมติที่ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอย่างโดดเด่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกใน 4 ข้อได้แก่ ร่างข้อมติการจัดการมลพิษจากพลาสติกและการจัดการขยะทะเล 2 ข้อมติ และร่างข้อมติด้านการจัดการสารเคมี 2 ข้อมติ

    พร้อมกันนี้ครม.ยังเห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19และเห็นชอบร่างปฏิญญาทางการเมือง ซึ่งมีเนื้อหาเน้นย้ำถึงการให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ โดยบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับนโยบายและโครงการ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้ทุกภาคส่วน โดยให้สอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และครม.ยังได้อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี และร่างปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าว

    จัดสรรข้าราชการ สคทช.เพิ่ม 65 อัตรา

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) สำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 65 อัตรา โดยจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลเพิ่มขึ้นประมาณ 22 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสคทช.เป็นส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 มีบทบาทเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) โดยมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
    นอกจากนี้ยังมีภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) และกำหนดแนวทางมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการและการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ โดยสคทช.มีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวง ประกอบด้วย 6 กอง และ 3 กลุ่มงาน

    ตั้ง ‘พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์’ ขึ้นอธิบดีกรมการขนส่งทางราง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง หรือ โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายอนุวัตร พงษ์คุณากร นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์) กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลลำปาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลลำปาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564

      2. นางผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาวัณโรค) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. ปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ประธานกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติเสนอปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นายสุวิทย์ สุขชิต ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรทำไร่พงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นกรรมการ ฯ แทนกรรมการ ฯ เดิมที่ขอลาออก
      2. แต่งตั้ง นายศราวุฎ เรืองเอี่ยม เกษตรกรจากจังหวัดระยอง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ฯ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ฯ เดิมที่ขอลาออก
      3. แต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นกรรมการ ฯ เพิ่มเติม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นางพรรณี พุ่มพันธ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมการขนส่งทางบก ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายอภิสิทธิ์ พรหมเสน รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมการขนส่งทางราง ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางราง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันการบินพลเรือน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันการบินพลเรือน รวม 3 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

      1. นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ประธานกรรมการ
      2. นายนภดล วณิชวรนันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. พลอากาศโท มนัท ชวนะประยูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มเติม