ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ จี้ต่างประเทศแจงจัดงานประชุม APEC ทุกสัปดาห์ – มติ ครม. เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ เยียวยาน้ำท่วม 20 ล้าน

นายกฯ จี้ต่างประเทศแจงจัดงานประชุม APEC ทุกสัปดาห์ – มติ ครม. เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ เยียวยาน้ำท่วม 20 ล้าน

18 ตุลาคม 2022


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯสั่งทุกกระทรวงเตรียมของขวัญปีใหม่-จี้ต่างประเทศแจงจัดงานประชุม APEC ทุกสัปดาห์-ชู “หนองบัวลำภู” เป็นจังหวัดสีขาว – มติ ครม. ไฟเขียว 7 แบงก์รัฐ จัด 21 มาตรการ – เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯจ่ายเยียวยาน้ำท่วม 20 ล้านบาท- เว้นภาษีเงินได้ 5 ปี หนุนต่างชาติสร้างภาพยนต์ในไทย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้สื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

เร่งหามาตรการเยียวยาน้ำท่วม

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำ เนื่องจากระดับน้ำยังค่อนข้างสูง และขอให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยให้ส่วนปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ประสานงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการกำกับดูแลและสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และพบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง และการระบายน้ำต่างๆ ทั้งนี้อยากให้ผู้ได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลเรื่องการเยียวยาโดยเร่งด่วนที่สุด

ชู “หนองบัวลำภู” เป็นจังหวัดสีขาว

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายโดยทั่วไป 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่หนึ่ง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกำหนดให้จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นต้นแบบจังหวัดสีขาว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ และนำการเรียนรู้และศึกษาสิ่งต่างๆ ไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ

“ณ ตอนนี้ได้มีการปราบปราม เฝ้าระวัง แหล่งส่งของ กักเก็บและสถานที่ที่มีการดูแลผู้เสพยา และบำบัด ให้มีการวางระบบแบบยั่งยืนของจังหวัด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน” นายอนุชา กล่าว

ส่วนที่สอง การดำเนินการการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากยังพบการกระทำผิดประเภทนี้จำนวนมาก พลเอกประยุทธ์จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบ ปราบปราม และดูพฤติกรรมกลุ่มเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหา และนำการดำเนินการและรายงานความคืบหน้าภายใน 30 วัน

ส่วนที่สาม ปัญหาการพนันออนไลน์ และประเด็นคอลเซ็นเตอร์ที่ทำให้ทุกส่วนได้รับความเสียหาย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ กวดขันอย่างจริงจัง และรายงานให้ทราบทุกเวลา

สั่งทุกกระทรวงเตรียมของขวัญปีใหม่

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกกระทรวงหามาตรการเป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ สำหรับปลายปี 2565 ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการช่วยเหลือประชาชน มาตรการอื่นๆ ที่ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน หรือมาตรการลดค่าครองชีพ และต้องการให้เสนอเข้ามาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังประเมินกรอบทางการเงินและวินัยทางการเงินของมาตรการที่นำเสนอมา

จี้ต่างประเทศแจงจัดงาน APEC ทุกสัปดาห์

นายอนุชา กล่าวถึงการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนว่า “นายกรัฐมนตรี บอกว่าเวลาได้ใกล้เข้ามาแล้ว ตอนนี้เหลือไม่ถึงเดือนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม เข้าไปดูแลรายละเอียดและซักซ้อมความเข้าใจ โดยเฉพาะสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมในไทยเกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการประชุมได้อย่างสำเร็จลุล่วง และสร้างความประทับใจผู้มาเยือน โดยให้กระทรวงการต่างประเทศรายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์”

จัดงบกลาง 56 ล้าน เคลียร์เยียวยาชาวไร่ยาสูบ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงมาตรการเกี่ยวกับเกษตรกรที่ได้ร้องเรียนมาเรื่องยาสูบ โดยพบว่ามีการเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดเรื่องเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา แต่เมื่อได้ทราบรายละเอียดว่าฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ได้ชำระไปเรียบร้อย วงเงินประมาณ 150 ล้านบาท และบางส่วนมีวงเงินคงเหลือและคืนงบกลางไปแล้ว

“นายกรัฐมนตรี ทำความเข้าใจส่วนที่คลาดเคลื่อน สรุปแล้วเงินเยียวยางบประมาณไม่ได้หายไป แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาหลักเกณฑ์ชำระการเยียวยา โดยที่อนาคตการยาสูบฯ จะเสนอผ่านกระทรวงการคลังมาที่คณะรัฐมนตรี”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ การยาสูบแห่งประเทศไทยจะดำเนินการพิจารณางบประมาณของฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ตามระเบียบผ่านกระทรวงการคลัง และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนปัจจัยค่าการผลิต วงเงิน 112.32 ล้านบาท ที่เก็บกับเกษตรกรยาสูบ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเงินที่การยาสูบฯ อนุมัติเบื้องต้น 50% ของงบประมาณ คิดเป็นเงิน 56.16 ล้านบาท ที่เหลืออีก 56 ล้านบาท อยู่ระหว่างการขออนุมัติงบกลาง คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรในกรณีที่จะซื้อใบยาสูบฤดูกาลที่ 2565/66 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2566

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล(ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

7 แบงก์รัฐ จัด 21 มาตรการ เยียวยาน้ำท่วม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปี 2565 ของ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่) รวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกันจำนวน 1 มาตรการ รายละเอียด ดังนี้
1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่

    1.1 มาตรการพักชำระหนี้ โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 10 – 100 และกรณีอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวดร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
    1.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นเงินทุนในการดำรงชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
    1.3 มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกิน 5,000,000 บาท
    1.4 มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.49 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ร้อยละ 100 ของหลักประกัน
    1.5 มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติ
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่

    2.1 มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ สูงสุด 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
    2.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร้อยละของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) หรือประมาณร้อยละ 6.50 ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
    2.3 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 2 หรือประมาณร้อยละ 4.50 ต่อปี เพื่อเป็นค่าซ่อมแชมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

    3.1 มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว
    3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือ กู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหลักประกัน สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่
    3.3 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้

      3.3.1 กรณีหลักประกันเสียหาย ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
      3.3.2 กรณีได้รับผลกระทบต่อรายได้ ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
      3.3.3 กรณีเสียชีวิตหรือผู้กู้หรือทายาทผ่อนชำระต่อ ได้รับอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่คงเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี
      3.3.4 กรณีหลักประกันได้รับความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ได้รับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ

    3.4 มาตรการสินไหมเร่งด่วน จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ กรณีทำกรมธรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

    4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด
    4.2 มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 5.5 ต่อปี ปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5,000,000 บาท

5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565 ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่สำหรับบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing) ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

    6.1 มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
    6.2 มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (Prime Rate) หรือประมาณร้อยละ 5.75 โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3 เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
    6.3 มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 1 ปี
    6.4 มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน

ทั้งนี้ หากลูกค้าตามข้อ 6.3 และ 6.4 ชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) ร้อยละ 2 ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

    7.1 มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย.ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
    7.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุดร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี

  • 7 แบงก์รัฐ จัด 21 มาตรการ เยียวยาน้ำท่วม
  • เคาะ 9 มาตรการภาษี-เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯเยียวยาน้ำท่วม 20 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 14 มาตรการ ประกอบด้วย กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ และการยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ สาระสำคัญ ดังนี้

    กรมสรรพากร ประกอบด้วย – มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าด้วย

    – มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย

    – มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

    -มาตรการในระยะถัดไป : บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

    2. กรมศุลกากร: ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามา เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565

    3. กรมสรรพสามิต: ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

    4. กรมบัญชีกลาง: ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้

    5. กรมธนารักษ์: ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552

    6. การยาสูบแห่งประเทศไทย : ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น

    ทั้งนี้ ให้มีผล ตั้งแต่ ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    ช่วยค่าแก๊สหุงต้มผ่านบัตรคนจน 3 เดือน 100 บาท

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบฯ ปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 302.5 ล้านบาท ให้กรมธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยครอบคลุมถึงการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 100 บาท/คน/3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 5.5 ล้านราย

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกรมบัญชีกลางจะดำเนินการเบิกจ่ายส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มให้กับร้านค้าก๊าซหุงต้มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้สิทธิ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2565

    ตั้งกองทุนชดเชยราคาอ้อย-น้ำตาลใหม่ยึดหลัก WTO

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ การจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ โดยการจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ใช้ชื่อตามกองทุนเดิม)

    การจัดตั้งกองทุนนี้ สืบเนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีการโอนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นทุนหมุนเวียนใหม่ และมีเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ

    “วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค และกระทำการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน และเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การจ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อชดเชยราคาอ้อยจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่กำหนดให้เป็นงบประมาณจากภาครัฐ นางสาวทิพานัน กล่าว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เงินกองทุนนั้นจะมีที่มาจาก 9 แหล่ง คือ ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ค่าธรรมเนียมเพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เบี้ยปรับ เงินที่ได้รับ ดอกผลของกองทุน เงินกู้ เงินและสินทรัพย์ที่ได้รับมาเพื่อคุ้มครองและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากการดำเนินงานของกองทุน และเงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน

    เว้นภาษีเงินได้ 5 ปี หนุนต่างชาติสร้างภาพยนต์ในไทย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่.. (พ.ศ.)…. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดึงดูดการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์และนักแสดงที่มีชื่อเสียงไปยังต่างประเทศทั่วโลก

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงนี้คือจะยกเว้นให้เงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้มาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศที่สร้างโดยบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยร่างกฎกระทรวงจะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    “มาตรการนี้จึงเป็นการดึงดูดและจูงใจให้นักแสดงต่างชาติและกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติมาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศไทย นอกจากจะได้ประโยชน์ทาง soft power ที่ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกจะได้รู้จักสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ กระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ร้อยละ 10 จากนักแสดงภาพยนตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ กรณีที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้นคาดว่าจะเป็นมูลค่าปีละประมาณ 14.35 ล้านบาท แต่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3,500 ล้านบาท ยังไม่นับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการถ่ายทอดความรู้-บุคลากรอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรมไทยกับต่างประเทศ รวมถึงผลประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศผ่านภาพยนตร์ นักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงของวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการนี้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศในระยะยาวต่อไป

    ตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ดัน SMEs สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ตามร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ จะเป็นการยกระดับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (เดิม) ให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการให้กู้ยืมและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าวเพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาวิสาหกิจ

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาวิสาหกิจเป็นกองทุนที่ตั้งใหม่แทนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (เดิม) มีกลไกที่แก้ไขข้อขัดข้องของกองทุนเดิมให้หมดไป ซึ่งกองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาด้านมาตรฐาน การเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    “กองทุนจะส่งเสริมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน และเพิ่มช่องทาง เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการให้กู้ยืมและให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาวิสาหกิจตามที่ คกก. บริหารกองทุน เห็นสมควรด้วย” นางสาว ทิพานัน กล่าว

    นางสาวทิพานัน กล่าว ในการบริหารงานและแหล่งเงินทุนจะมีความโปร่งใส ต้องมีการแสดงรายละเอียดของการบริหารทุนหมุนเวียน เช่น การบริหารกระแสเงินสดรับ-จ่ายจากการให้กู้ยืมแก่กลุ่มเป้าหมายในแต่ละปีหรือระบุให้ชัดเจนว่ามีแหล่งเงินทุนมาจากแหล่งใด และต้องช่วยเหลือแก่ SMEs อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างแท้จริง

    ยกเว้นแสดงใบรับรองแพทย์-ขอรับใบอนุญาตทำงาน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบเรื่องการยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa) หรือ LTR Visa ที่ต้องการขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐให้กับคนต่างด้าวที่ประสงค์เข้ามาลงทุน หรือ อยู่อาศัยในประเทศไทย เป็นการตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยของรัฐบาล

    ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะออกร่างประกาศ ที่จะกำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตาม ซึ่งเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR Visa) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่จะขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักร ได้รับการยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง

    สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา 4,841 ล้าน-เชื่อมเกาะลันตา 1,854 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 141 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้คิดเป็นวงเงิน 3,290 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 1,410 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงาน 141 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

    ทั้งนี้ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที ช่วยพัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด คือตรัง – พัทลุง – สงขลา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปริมาณจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางและในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ และยังช่วย สนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม ครม. ได้กำชับว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ใกล้เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงซึ่งห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กม. และเป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี ซึ่งในประเด็นนี้ธนาคารโลกซึ่งจะเป็นผู้ให้กู้ตามโครงการนี้ได้แสดงความห่วงใยมาเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงการคลังจะมีการประสานกับธนาคารโลกและหน่วยงานต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดแนวทางป้องกันผลจากโครงการก่อสร้างไม่ให้กระทบสัตว์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองต่อไป

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้อนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 2.2 กม. (ความยาวสะพาน 1.92 กม. และความยาวถนนต่อเชื่อม 280 เมตร) ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 54 ล้านบาท โดยในส่วนของวงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 คิดเป็นเงินกู้วงเงิน 1,260 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 540 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงาน 54 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

    สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่ ตำบลเกาะกลางและเกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อยทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่าในการเดินทาง ประกอบกับในบางช่วงเวลาจะมีปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติซึ่งเป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้บริการสะพานสิริลันตา เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างเกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่แล้ว ดังนั้น โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาจะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ไขปัญหาการจราจรที่ล่าช้าบริเวณท่าแพขนานยนต์ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง แก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา มีดังนี้คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง จากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ซึ่งจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่การใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดระยะทางการเดินทางระหว่างอำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะ ลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่

    เพิ่มตำแหน่งรองปลัด สธ.อีก 1 ตำแหน่ง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)เสนอ โดยให้นำตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข นายแพทย์ด้านวิจัยหรือด้านสาธารณสุข ระดับทรงคุณวุฒิตำแหน่งเลขที่ 10 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วมาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ทั้งนี้หากกระทรวงสาธารณสุขยังมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวต่อไปอีกในระยะยาว อาจกำหนดให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงรับผิดชอบการบริหารและกำกับดูแลกลุ่มภารกิจตามการจัดกลุ่มภารกิจในกระทรวงสาธารณสุขที่จะกำหนดเพิ่มใหม่ต่อไป

    ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติให้กระทรวงสาธารณสุขมี 10 ส่วนราชการ จำนวน 3 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข และกลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริหารสุขภาพ โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงรวม 4 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งรองปลัดกระทรวงด้านบริหาร 1 ตำแหน่ง และเป็นรองปลัดกระทรวงด้านการจัดกลุ่มภารกิจในกระทรวงสาธารณสุข 3 ตำแหน่ง

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบการบริหารและกำกับดูแลงานในภารกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนระดับชาติ และภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การบริหารเขตสุขภาพ 12 เขต และกรุงเทพมหานคร, การขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ, การบัญชาการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพ, การผลักดันงานด้านการต่างประเทศ, การส่งเสริมนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์(Medical Hub)และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งล้วนส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งการมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขใหม่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของภารกิจและปัญหาภาระงาน สามารถกำกับ สั่งการ อนุมัติ อนุญาต ได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

    ตั้ง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ นั่งที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565

      2. นายมนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายกิตติพงศ์ บุญยิ่ง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารความเสี่ยงหรือการประกันภัย) ในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน แทน นายสุรพล โอภาสเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

    ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไปให้กระทรวงการคลังดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เพิ่มเติม