ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เล็งใช้เวทีซักฟอก แจงการทำงานรัฐบาล — มติ ครม. สั่งซื้อ “ไฟเซอร์” 30 ล้านโดส ส่งมอบปลายปีนี้

นายกฯ เล็งใช้เวทีซักฟอก แจงการทำงานรัฐบาล — มติ ครม. สั่งซื้อ “ไฟเซอร์” 30 ล้านโดส ส่งมอบปลายปีนี้

17 สิงหาคม 2021


ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ เล็งใช้เวทีซักฟอก แจงการทำงานรัฐบาล–แจงสั่ง ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม 12 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดไขว้กับ ‘แอสตร้าฯ’ — มติ ครม. อนุมัติ 9,372 ล้าน จ่ายค่าจัดหา “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดส–สั่งซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส ส่งมอบปลายปีนี้

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชน

แจงสั่ง ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม เพื่อฉีดไขว้กับ ‘แอสตร้าฯ’

โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลที่รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดสว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 แบบไขว้ชนิด ดังนั้น ประเทศไทยจึงศึกษาและเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนไขว้ชนิด พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคทั้ง 2 เข็ม อีกทั้งสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ในระดับหนึ่ง

สั่งสอบบุคลากรแพทย์ฉีด “ไฟเซอร์” เข็ม 3 ให้ญาติ ย้ำไม่มี VIP

กรณีที่มีข่าวบุคลากรการแพทย์นำวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้ภรรยาเป็นเข็มที่ 3 ทั้งที่ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้า นากยรัฐมนตรีจะจัดการอย่างไร นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า ช่วงที่ผ่านมาได้สั่งให้ทางจังหวัดสอบสวน และตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน รวมถึงให้สาธารณสุขจังหวัดได้เข้ามาตรวจสอบ หากพิจารณาว่าตรวจสอบแล้วมีความผิดจริง ต้องต้องดำเนินการลงโทษตามระเบียบวินัย และย้ำว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนให้กลุ่ม VIP

ยันฉีดวัคซีนได้ตามเป้า ฯ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้

นายอนุชากล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 24 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 ประมาณ 18,370,000 โดส เข็มที่ 2 ประมาณ 520,000 โดส และเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นบูสเตอร์ให้บุคลากรการแพทย์และด่านหน้าประมาณ 500,000 โดส คาดว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถฉีดได้ 30 ล้านโดส

“ศักยภาพการฉีดขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ส่งมอบ หากมีวัคซีนเข้ามาอย่างเพียงพอ เราสามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดได้ โดยสิ้นปี 2564 ได้มีการยืนยันว่าจะมีวัคซีนเข้ามาครบ 100 ล้านโดส เพราะฉะนั้น 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะมีศักยภาพการฉีดได้มากกว่า 15 ล้านโดสอย่างแน่นอน ก็จะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564”

เผยสอบประมูลรถไฟทางคู่เหนือ-อีสาน ยังไม่สรุป

ถามว่าคณะกรรมการตรวจสอบการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเหนือ-อีสาน ผ่านมา 2 เดือนมีความคืบหน้าอย่างไร นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตรวจสอบประเด็นการประมูลการก่อสร้างรถไฟทางคู่ส่วน สายเหนือ-อีสาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ และยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและการทุจริต

วอน ปชช. เลี่ยงชุมนุมการเมือง ฝ่าฝืนดำเนินคดีตาม กม.

ถามว่าภายหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม มักจะเกิดความวุ่นวายจากผู้ชุมนุม นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างไร นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายว่าให้เจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย โดยยึดกฎหมายที่มีอยู่ และให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยการสลายการชุมนุมต้องเป็นไปตามหลักสากล และระงับเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ชุมนุม เพราะนอกจากผลกระทบกับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีผลทั้งการจราจร การทำลายทรัพย์สินของราชการ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยกับบ้านเมืองโดยเร็ว

“ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่อยากให้กลับไปเหมือนในอดีต ช่วงที่มีการชุมนุม และเหตุการณ์บานปลาย ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุม หากยังมาชุมนุมในช่วงนี้ ต้องถูกเจ้าหน้าที่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย หลายกรณีต้องส่งฟ้อง และถ้าหากดำเนินการ และทำผิดตามเงื่อนไขที่ศาลให้ประกันตัว ก็จะโดนคุมขัง ขอให้ผู้ถูกดำเนินคดีพิจารณาตรงประเด็นนี้ด้วย”

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์โควิด-19 และขอบคุณประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือ ไม่ไปรวมตัวกัน และขอบคุณกิจการที่เดือดร้อนจากการปิดตัวที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ

เล็งใช้เวทีซักฟอก แจงการทำงานรัฐบาล

ส่วนคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีมีความพร้อมแค่ไหนในการรับศึกซักฟอกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเสมอว่าให้รัฐมนตรีที่อยู่ในรายชื่อถูกอภิปรายเตรียมความพร้อม โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่านี่เป็นโอกาสที่ดี สำหรับการชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบการทำงานของรัฐบาลในแง่มุมต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมา อาจจะเกิดความเข้าใจผิดที่ไม่ได้ชี้แจงให้ครบถ้วน ดังนั้น ในโอกาสนี้จะใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร สื่อสารให้ทราบถึงการทำงานที่ผ่านมา

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

อนุมัติ 9,372 ล้าน จ่ายค่าจัดหา “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดส

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (Pfizer) กรอบวงเงินจำนวน 9,372.7645 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดหาวัคซีน 8,439 ล้านบาท และการบริหารจัดการ 934 ล้านบาท ช่วงระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ สิงหาคม-ธันวาคม 2564 เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม (Pfizer) จำนวน 20,001,150 โดส ของกรมควบคุมโรค ตามนโยบายรัฐบาลที่จะจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประกอบกับ ขณะนี้มีผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่หลากหลาย รัฐบาลจึงเห็นควรให้มีจัดหาวัคซีนที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันให้สามารถครอบคลุมการกลายพันธุ์ของไวรัส โควิด-19 ที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่คนไทยได้อย่างแท้จริง ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรค COVID-19 รวมทั้งลดผลกระทบ พื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

สั่งซื้อ “ไฟเซอร์” เพิ่มอีก 10 ล้านโดส ทยอยส่งมอบก่อนสิ้นปี

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการจัดสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดและไบออนเทค ทำให้การจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านโดส ซึ่งจะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่างๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน และขอให้มีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดีด้วยแผนที่ชัดเจน รวมถึงการให้ข้อมูลการจัดสรรแก่ประชาชนต่อไป

การทำข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ทั้งในส่วนของ mRNA ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ชนิดเชื้อตาย ของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ชนิดไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 และเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้

สภาพัฒน์ฯ แจง GDP ปี’64 ขยายตัว 0.7-1.2%

นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 ขยายตัวร้อยละ 7 ขณะที่แนวโน้มทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 – 1.2 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 นี้ จะกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ รายได้ภาคเกษตรที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ รายละเอียดสำคัญ ดังนี้

    1. เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2564 ได้แก่ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2/2564 กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.1 การลงทุนเอกชนในไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 การส่งออก มีมูลค่า 67,761 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดเท่าที่มีการจัดเก็บข้อมูล ขยายตัวร้อยละ 36.2 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์นั่ง (89.1 %) รถกระบะ (190.5 %) เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 58,048 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.8 ในครึ่งปีแรกมีมูลค่า 131,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร ขยายตัวจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.035 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในไตรมาส 2/2564 มีจำนวน 20,275 คน
    2. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไทยมีอัตราการว่างงานในไตรมาส 2/264 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ร้อยละ 2.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะมีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.1 ของ GDP
    3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 – 1.2 ปรับลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อนร้อยละ 1.5 – 2.5 จากข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง ข้อจำกัดฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังสูง ความเสี่ยงของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งข้อจำกัดห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

นายอนุชา กล่าวต่อว่า สภาพัฒน์ฯ ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 มีทั้งหมด 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ลดการแพร่เชื้อเร่งรัดจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง 2. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของโรคยังรุนแรงและมีใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด 3. การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง 4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 5. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และ 7. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ผ่านร่าง พ.ร.บ.รับมือโรคติดต่อร้ายแรง แทนการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือ ขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติ หรือ บรรเทาลงโดยเร็ว โดยเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่ / โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ทั้งนี้ ครม. เห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ

แจงความคืบหน้าแก้ กม.อำนวยความสะดวก หนุน “รัฐบาลดิจิทัล”

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. รับทราบการพัฒนากฎหมาย เพื่อเร่งรัดให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายไปแล้ว อาทิ

1.จัดทำร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยื่นคำขอหรือการติดต่อใดๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐหรือระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน สามารถทำโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

2. จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) โดยหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

3. ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินงานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัดและคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

4.ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ. ศ.2558 ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ และพร้อมรองรับการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

5.จัดทำระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมาย ที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565

เห็นชอบร่างแถลงความร่วมมือ APEC สร้างความมั่นคงทางอาหาร

นางสาวรัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีความมั่งคงอาหารและร่างแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ.2030 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ที่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 19 สิงหาคม 2564 (สมาชิกเอเปค มี 21 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ไทย) สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับมีดังนี้

    1.ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค มีสาระสำคัญ คือ (1)รับทราบผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารและห่วงโซ่อุปทานจากสถานการณ์โควิด-19 (2)วางแนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพโลกและสภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และ (3)รองรับแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ.2030
    2.ร่างแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี 2030 มีสาระสำคัญเป็นการผลักดันประเด็นความมั่นคงอาหาร โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้ (1)มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ในระบบอาหารและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ (2)มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านผลผลิตอาหาร (3)สนับสนุนการมีส่วนร่วมที่สมดุลของเพศ ชาติพันธุ์ และอายุ (4)ร่วมกันพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน (5)ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนที่เป็นศูนย์กลางตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหารในการผลิตและการแปรรูปอาหาร การกระจายสินค้า

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของไทย รวมถึงมีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวในภาคเกษตรของไทย

กำหนด 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันอาสาสมัครสากล”

นางสาวรัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดให้มีการจัดงานวันอาสาสมัครสากล (International Volunteer Day: IVD) ตามมติสหประชาชาติในวันที่ 5 ธันวาคมเป็นประจำทุกปี เพื่อให้การขับเคลื่อนกิจกรรมด้านอาสาสมัครของไทยเผยแพร่สู่ระดับสากล และเป็นการยกระดับสู่การบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs) โดยกำหนดช่วงระยะเวลาการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม (วันอาสาสมัครไทย) ถึงวันที่ 5 ธันวาคม (วันอาสาสมัครสากล) ของทุกปี นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมรับผิดชอบในส่วนของการสนับสนุนและประสานงานในการจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องในโอกาสวันอาสาสมัครสากล

ความเป็นมาของ “วันอาสาสมัครสากล” ถูกกำหนดขึ้นจากมติขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2528 ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสากล และเชิญชวนประเทศต่างๆ จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับงานอาสาสมัคร โดยคณะรัฐมนตรีเคยมีมติ เมื่อ 19 ธันวาคม 2543 กำหนดให้ “วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครไทย” เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับอาสาสมัคร สำหรับการจัดกิจกรรมวันอาสาสมัครสากลในไทย ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และโครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติ (United Nations Volunteer: UNV) ได้จัดงานวันอาสาสมัครสากลของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติกรุงเทพมหานคร และจัดกิจกรรมตามหัวข้อที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ในแต่ละปี

ยืม “แอสตร้าฯ” ภูฏาน 1.5 แสนโดส-รับบริจาคยารักษาโควิดฯจากเยอรมัน 2 พันชุด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบในการลงนามในร่าง In-kind Donation Agreement ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมัน กับ กระทรวงสาธารณสุขของไทย ซึ่งเป็นการรับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จากเยอรมันของบริษัท Regeneron และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา และ ครม. ยังเห็นชอบในการลงนามในร่าง FORM OF AGREEMENT Tripartite Agreement ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นการรับมอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ของบริษัท AstraZeneca จำกัด และ อนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา

ทั้งนี้รัฐบาลภูฏานมีความประสงค์จะมอบวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จำนวน 130,000-150,000 โดส แก่ประเทศไทย ผลิตโดย Statens Serum Institute ประเทศสวีเดน บนพื้นฐานของการส่งมอบคืนในอนาคต ตามข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัทAstraZeneca จำกัด

ส่วนประเทศเยอรมันมีความประสงค์บริจาค Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จำนวน 1,000-2,000 ชุด โดยเป็นการบริจาคแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยประเทศไทยในฐานะผู้รับบริจาค ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนสำหรับยา แต่มีภาระในการรับมอบจาก Bundeswehrapotheke (Military pharmacy) Epe และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ

ออกกฎกระทรวง กำหนด “ถุงมือยางตรวจโรค” ต้องผ่าน มอก.

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด -19) ทำให้เกิดความต้องการใช้ถุงมือยางจำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิตถุงมือยางแบรนด์ต่างๆ โดยหลอกให้ผู้ซื้อโอนเงินค่าสินค้า หรือหลอกขายถุงมือยางเก่าที่ใช้งานแล้ว ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว หรือ ที่เรียกว่า “ถุงมือยางตรวจโรค” ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.1056 เล่ม 1-2556 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ผู้ทำและผู้นำเข้าจะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 หรือมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และผู้จำหน่ายต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นของผู้ได้รับอนุญาต และมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ถูกต้องครบถ้วน

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปได้ใช้ถุงมือยางตรวจโรคที่มีคุณภาพ ป้องกันการนำเข้าถุงมือยางตรวจโรคที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถุงมือยางตรวจโรค มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อีกด้วย

จัดงบกลาง 490 ล้าน หาแหล่งน้ำบาดาล 9 โครงการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 9 โครงการ วงเงินงบประมาณ 490 ล้านบาท โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งงบประมาณจำนวน 490 ล้านบาท จะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 ข้อ106 ในกรณีที่หน่วยรับงบไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2564 โดยให้สามารถกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้ เพื่อให้การดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหา การรับมือปัญหาภัยแล้งตามแผนงานที่วางไว้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถมีน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงทำการเกษตรได้ปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 5.6648 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้ประโยชน์ 18,420 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับประโยชน์ 192,109 ไร่ โดย 9 โครงการประกอบด้วย

    1.โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
    2.โครงการฯ ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
    3.โครงการฯ เทศบาลตำบลศรีรัตนะ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ และตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ
    4.โครงการฯตำบลนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
    5.โครงการฯตำบลโพธิ์ตากและตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
    6.โครงการฯตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
    7.โครงการฯตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
    8.โครงการฯตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และ
    9.โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

ปรับเงื่อนไขบรรจุทันตแพทย์เข้ารับราชการ เน้นมีใบ กว.

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2525 เกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหาการกระจายทันตแพทย์ที่มีเงื่อนไขเรื่องการเข้ารับราชการ โดยได้ปรับปรุงสาระสำคัญของโครงการเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขการเข้ารับราชการใหม่ดังนี้คือ เดิมนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการกระจายทันตแพทย์ ได้กำหนดให้ นักศึกษาทันตแพทย์ทุกคนทำสัญญาเข้ารับราชการ ขอปรับปรุงเป็น ให้นักศึกษาทันตแพทย์คู่สัญญา ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาภาครัฐที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมและได้รับคัดเลือก ตามแผนความต้องการทันตแพทย์ของส่วนราชการ หรือ หน่วยงานในองค์กรของรัฐทุกคน เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามสัญญา

สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับปรุงสาระสำคัญโดยระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนมากขึ้นข้างต้น เนื่องจากในระยะแรกของโครงการฯ มีเพียงสถาบันการผลิตทันตแพทย์ภาครัฐ แต่ในปัจจุบันมีสถาบันผลิตทันตแพทย์ภาคเอกชนด้วย และเพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดหาตำแหน่งงานอื่นมารองรับผู้สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณปีละ 100 คน ไปปฏิบัติชดใช้ทุน เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะต้องรับผู้สำเร็จการศึกษาภายหลังกระบวนการคัดเลือกของส่วนราชการ หรือ หน่วยงานในองค์การของรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นการรับผู้สำเร็จการศึกษาที่ไม่ได้รับใบอนุญาตไว้ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังทบทวนสาระสำคัญที่เดิมระบุว่า จำนวนทันตแพทย์ในแต่ละปีนั้นให้รับราชการในส่วนภูมิภาค โดยรับราชการในกระทรวงสาธารณสุขไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และรับราชการในหน่วยงานอื่นไม่เกินร้อยละ 30 ปรับเป็น จำนวนทันตแพทย์ผู้ทำสัญญาในแต่ละปีนั้น ให้เข้าปฏิบัติงานในส่วนราชการ หน่วยงานในองค์การของรัฐ ตามแผนความต้องการของส่วนราชการหรือหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการทันตแพทย์คู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแนวโน้มจะต่ำกว่าร้อยละ 70 และความต้องการที่ลดลงของส่วนราชการหรือหน่วยงานในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งหลังจากที่ ครม. มีมติตามที่เสนอครั้งนี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะประสานส่วนราชการจัดทำแผนความต้องการทันตแพทย์ราย 5 ปี และในแต่ละปีจะทบทวนความต้องการที่เกิดขึ้นจริง เพื่อประเมินสถานะความต้องการด้วย

ทั้งนี้อัตราส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรในปี 2525 ในส่วนภูมิภาคอยู่ที่ 1:177,781 คน ทั้งประเทศสัดส่วนอยู่ที่ 1:26,678 คน ขณะที่ในปี 2563 อัตราส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ 1:10,673 คน ทั้งประเทศอยู่ที่ 1:3,989 คน ซึ่งเป้าหมายอัตราส่วนของทันตแพทย์ต่อประชากร ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 1:5,000 คน เป้าหมายของไทยในปี 2563 ในภูมิภาคอยู่ที่ 1:8,000 คน และทั้งประเทศอยู่ที่ 1:3,000 คน

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนความต้องการรับทันตแพทย์คู่สัญญาเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนประมาณปีละ 400 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 59.44 ของผู้สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตร์จากสถาบันการศึกษาภาครัฐทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 700 คนต่อปี ประกอบกับส่วนราชการหรือหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีตำแหน่งรองรับและคัดเลือกทันตแพทย์คู่สัญญาไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนลดลง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องรับทันตแพทย์คู่สัญญาส่วนที่เหลือทั้งหมดเข้าปฏิบัติชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาคประมาณ 612 คนต่อปี ซึ่งรวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมประมาณ 100 คนต่อปี ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องรับทันตแพทย์คู่สัญญาเกินความต้องการภายใต้เงื่อนไขสัญญาแบบเดิม

โยก “บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” นั่งปลัดแรงงาน -“สุรชัย อจลบุญ”คุมป่าไม้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้ง (วันที่ 17 ส.ค.64) ดังนี้

1. เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นางอุรุญากร จันทร์แสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกีฏวิทยา (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มกีฏวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

    2. นางนวลจันทร์ วิจักษณ์จินดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภูมิคุ้มกันวิทยา (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ภูมิคุ้มกันวิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ(กระทรวงมหาดไทย)

ที่ประชุม ครม. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายชัยยา เจิมจุติธรรม วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายเฉลิมชัย ปาปะทา ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำ แหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมป่าไม้
    4. นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
    5. นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    6. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    7. นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอรับโอน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แทนตำแหน่งที่ว่าง

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 1 คน คือ นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง การบริหารความเสี่ยง การวางแผนกลยุทธ์องค์กร และการบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการสื่อสารมวลชน) ในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แทนผู้ที่ลาออก และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายอนุชา สะสมทรัพย์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

8. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 8 คน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ มีดังนี้

    1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน
    2. นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
    3. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
    4. นายปรเมธี วิมลศิริ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปัจจุบันคือตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
    5. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน
    6. นายประเสริฐ ตปนียางกูร ผู้แทนสภาวิศวกร
    7. นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้แทนของอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
    8. นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เพิ่มเติม