ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันไม่แทรกแซง ธปท.-สั่งคลังจัดข้อมูลหนุน-มติ ครม. รับทราบ ปปง. อายัดทรัพย์คดีฟอกเงิน 42,654 ล้าน

นายกฯ ยันไม่แทรกแซง ธปท.-สั่งคลังจัดข้อมูลหนุน-มติ ครม. รับทราบ ปปง. อายัดทรัพย์คดีฟอกเงิน 42,654 ล้าน

5 ตุลาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ยันไม่แทรกแซง ธปท.-สั่งคลังจัดข้อมูลสนับสนุน-ขอบคุณ “บิ๊กป้อม” นั่งรักษาการนายกฯ แทนกว่า 1 เดือน-ยินดี “วราวุธ ศิลปะอาชา” ขึ้น หน.พรรคชาติไทยพัฒนาคนใหม่-มติ ครม. รับทราบผลงาน ปปง.อายัดทรัพย์คดีฟอกเงิน 42,654 ล้าน-แก้เกณฑ์ช่วย ปชช.กว่า 1 แสนราย ลงทะเบียนบัตรคนจน-อนุมัติ 422 ล้าน จัด “พาณิชย์…ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย”-โยก “ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส” ขึ้นปลัดสำนักนายกฯ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ขอบคุณ “บิ๊กป้อม” นั่งรักษาการนายกฯ แทนกว่า 1 เดือน

นายอนุชา กล่าวว่าก่อนเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการหรือข้อสังเกตประมาณ 2-3 ประเด็น เรื่องแรกพลเอก ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณข้าราชการทุกหน่วยงานที่ได้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า “เวลาต่อจากนี้ไปจะพยามให้รัฐมนตรีทุกท่านได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน การแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย”

มอบผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งระบายน้ำ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องของสถานการณ์น้ำท่วม ในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม หลังจากได้ไปลงพื้นที่มาเมื่อวานนี้ คือ ที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนในวันพรุ่งนี้ก็จะลงพื้นที่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในเรื่องของปริมาณน้ำฝน ขณะนี้อาจจะมีฝนตกลงมาเพิ่มเติม และยังมีน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาเติมในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีน้ำสะสมอยู่ในปริมาณที่สูงมาก ก็จะต้องเร่งระบายน้ำให้ดีด้วย นอกเหนือจากการระบายน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น คู คลอง หนองบึง และแก้มลิงต่างๆแล้ว รัฐบาลก็ได้จัดเครื่องมือ เครื่องจักรเข้าไปเสริม เพื่อช่วยให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการที่จะระบายน้ำออกจากทุ่ง หรือระบายน้ำออกจากเขตเศรษฐกิจตามพื้นที่ต่างๆ

“ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งติดตามการพร่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ และการเตรียมการตามมาตรการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการพิจารณาหามาตรการที่จะสามารถทำได้เพิ่มเติม หากมีข้อใดที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค ก็ขอให้แจ้งมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”

สั่งคมนาคมเร่งซ่อมถนน-วัฒนธรรมป้องกันน้ำท่วมวัด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งช่วยเหลือประชาชน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ ผู้ที่ประสบภัยที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ ก็ขอให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อมาพำนักอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือ ตามแผนการเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลดด้วย 2. กลุ่มผู้เปราะบางโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และ 3. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปซ่อมแซมสถานที่สาธารณะ, สะพานและถนนให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมเฝ้าระวัง ป้องกันวัดวาอารามและโบราณสถาณต่างๆ ไม่ให้ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม รวมทั้งดูแลชุมชนบริเวณรอบๆวัดอารามราม และโบราณสถานด้วย โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณภาคประชาชาสังคม และภาคเอกชนด้วย ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย

สำหรับเรื่องของการพร่องน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ รวมถึงการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในการระบายน้ำ และการผันน้ำเข้าไปในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดในเรื่องของการดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ปัญหา เพื่อทำให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็วที่สุด

ปลื้มทูตหลายประเทศชื่นชมไทยแก้ปัญหาโควิดฯ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จนนำไปสู่การประกาศปรับลดระดับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งในเรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้แจ้งในที่ประชุม ครม. ว่าในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และสถานพยาบาลสามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างดี รวมทั้งเอกอัครราชทูตหลายหลายประเทศ ต่างชื่นชมความสำเร็จในเรื่องของการดำเนินการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื่อ โควิด-19 ในประเทศไทย จนนำไปสู่การเปิดเที่ยวบินระหว่างกันมากขึ้น และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องเน้นในเรื่องของการเฝ้าระวัง ป้องกัน รวมทั้งให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

ยันไม่แทรกแซงณปท.-มอบคลังจัดข้อมูลสนับสนุน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ย ในส่วนนี้รัฐบาลยืนยันไม่เข้าไปแทรกแซงการพิจารณาดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ทั้งนี้ได้มอบให้กระทรวงการคลังสนับสนุนข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบการตัดสินใจตามที่เห็นสมควร

ยินดี “วราวุธ ศิลปะอาชา” ขึ้น หน.พรรคชาติไทยพัฒนาคนใหม่

นายอนุชา กล่าวว่า เรื่องสุดท้าย นายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงความยินดีกับนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการเสนอชื่อและเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนาให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เคาะ 16-18 พ.ย.นี้เป็นวันหยุด รับประชุมเอเปค

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี กำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเพื่อให้การอารักขาและการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นควรให้ช่วงวันดังกล่าวเป็นวันทำการตามปกติ โดยจะขอความร่วมมือ ให้หน่วยงานที่ไม่ได้ให้บริการประชาชนหรือไม่ใช่ ส่วนงานที่มีความสำคัญต่อระบบสถาบันการเงิน (critical function) ซึ่งหากมีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อการดําเนินงาน เน้นการทำงานที่บ้าน (WFH) ขณะที่ รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ภาคเอกชน และกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาความเหมาะสม โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้ วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี และวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมผู้นำและกิจกรรมคู่สมรส ทั้งนี้ จะมีผู้นำและคู่สมรส ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจำนวน 20 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา และเวียดนามเข้าร่วม รวมถึงสำนักเลขาธิการเอเปค ผู้สังเกตการณ์ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council – PECC) และกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum – PIF) รวมถึงเขตเศรษฐกิจและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกของเจ้าภาพด้วย จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

แก้เกณฑ์ช่วย ปชช.กว่า 1 แสนราย ลงทะเบียนบัตรคนจน

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นมา พบว่ามีประชาชนที่ประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ แต่มีปัญหาในการลงทะเบียน โดยเฉพาะในกรณีที่มีคู่สมรส แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสลงนามในแบบฟอร์มการลงทะเบียนตามโครงการฯ ซึ่งมีประชาชนอยู่ในข่ายนี้ประมาณ 1 แสนราย

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ดังนี้

    1. กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565) ผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 โดยรับรองตนเองว่า ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ พร้อมลายมือชื่อพยานรับรองด้วยจำนวน 2 คน และต้องมีการลงนามรับรองจากเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองและเทศบาลนครในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สำนักเขตที่ผู้อำนวยการเขตมอบหมาย เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเมืองพัทยา) ไปยื่นที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ซึ่งกระทรวงการคลังจะตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มดังกล่าวตามสถานะ
    2. กลุ่มทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ยื่นแบบฟอร์มการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ 2565 กรณีไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการได้ ให้ผู้ลงทะเบียนรับรองในเอกสารที่กระทรวงการคลังกำหนดว่าไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้พร้อมลายมือชื่อพยานจำนวน 2 คน นำไปยื่นต่อหน่วยงานรับลงทะเบียน กระทรวงการคลังจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนกลุ่มดังกล่าวในสถานะไม่มีคู่สมรส
    3. เมื่อผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ผู้ลงทะเบียนจะสามารถใช้สิทธิตามโครงการฯ ปี 2565 ได้เมื่อยืนยันตัวตน ณ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และธนาคารกรุงไทย (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด) ทั้งนี้ หากต้องใช้ใบสำคัญการหย่าในการลงทะเบียน ผู้ลงทะเบียนจะต้องนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนด มาแสดงให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ

นายอนุชา ชี้แจงว่า แนวทางการดำเนินการนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสเพื่อลงนามในแบบฟอร์มการลงทะเบียนได้ โดยอาจมีหลายสาเหตุ เช่น ถูกทิ้งร้าง แยกกันอยู่กับคู่สมรส อยู่ระหว่างการดำเนินการหย่า เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการฯ จะปิดการลงทะเบียนในวันที่ 19 ตุลาคม 2565

รับทราบผลงาน ปปง.อายัดทรัพย์คดีฟอกเงิน 42,654 ล้าน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปี พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญ อาทิ

    1.การป้องกันการฟอกเงิน ได้ดำเนินการการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์หาความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเชื่อมโยงเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 594 คดี
    2.การปราบปรามการฟอกเงิน ได้ตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินผู้กระทำความผิด จำนวน 739 คำสั่ง โดยส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา 158 เรื่อง มูลค่ารวมกว่า 2,393 ล้านบาท ส่วนการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้มูลค่ารวม 42,654 ล้านบาท ได้ดำเนินการโดย 1) ขายทอดตลาด จำนวน 22 ครั้ง ทรัพย์สินที่ขายได้ 580 รายการ คิดเป็นมูลค่า 98.52 ล้านบาท 2) นำทรัพย์สินออกบริหาร 1,606 รายการ มีรายได้จากการบริหาร 33.42 ล้านบาท 3) การนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดส่งคืนเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าทั้งสิ้น 172.85 ล้านบาท 4) นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดิน มูลค่าทั้งสิ้น 1,967.87 ล้านบาท
    3.การกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ได้รับรายงานการทำธุรกรรม จำนวน 20.48 ล้านธุรกรรม โดยเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย จำนวน 129,875 ธุรกรรม และธุรกรรมเงินสดผ่านแดน จำนวน 3,645 ธุรกรรม
    4.ความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้ดำเนินการส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมจำนวน 55 ฉบับ กับ 52 ประเทศ
    5.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบติดตามสถานะทางคดี (Case Tracking) พัฒนาระบบสนับสนุนข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction Analysis System: FTAS)

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ประชุมกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) พิจารณาเห็นชอบให้ไทยมีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ในด้านกรอบกฎหมาย จำนวน 31 ข้อ คงเหลืออีก 9 ข้อ และด้านประสิทธิผล จำนวน 4 ด้าน คงเหลืออีก 7 ด้าน โดยในระยะต่อไป ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อรักษามาตรฐานที่ดีให้คงไว้ ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น

อนุมัติ 422 ล้าน จัด “พาณิชย์…ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย”

ดร.รัชดา กล่าวว่ าที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางปี 2566 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 422.75 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ “พาณิชย์…ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย” ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โครงการ “พาณิชย์…ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย” นี้ เป็นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาประหยัดแก่ประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าเกษตร ผลไม้ เป็นต้น สินค้าที่จำหน่ายจะจัดหาจากสมาคม ซัพพลายเออร์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า 100 – 200 คูหา ในพื้นที่สาธารณะหรือลานอเนกประสงค์ เช่น สำนักงานเขต การเคหะชุมชน สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือแหล่งชุมชนที่เหมาะสม กำหนดจัดงานครั้งละ 3 วัน ตั้งเป้าหมายการจัดงานไม่ต่ำกว่า 274 ครั้ง มีระยะเวลาดำเนินการโครงการ 30 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 นี้

ขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผ่านที่ประชุม WCCE ครั้งที่ 3

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารวาระบาหลี 2022: แผนที่นำทางระดับโลกเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Bali Agenda 2022: A Global Roadmap for Creative Economy) ที่จะมีการรับรองร่างเอกสารในการประชุม World Conference on Creative Economy (WCCE) ครั้งที่ 3 ระหว่าง 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ เมืองบาหลี โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ส่วนประเทศไทยจะเข้าร่วมประชุมและรับรองผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุม WCCE ครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การสร้างสรรค์อย่างครอบคลุม: การฟื้นฟูระดับโลก” (Inclusively Creative : A Global Recovery) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ 1) รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายหรือองค์การระหว่างประเทศ 2) นักวิชาการ 3) องค์กรเอกชน 4) ชุมชน และ5) สื่อ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนในระดับสากล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ฟื้นฟูโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 สำหรับร่างเอกสารวาระบาหลี 2022 ที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ มีสาระสำคัญ อาทิ

    1.การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ปรากฏในการประชุมระดับ นานาชาติที่ผ่านมา เช่น การประชุม Urban 20 Riyadh 2020 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ครอบคลุมและอนาคตของการทำงาน”
    2.การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โลกและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีการผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
    3.การเน้นย้ำศักยภาพเชิงกลยุทธ์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
    4.แนวทางการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 15 ประการ อาทิ 1) การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้มั่นใจว่าภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความเท่าเทียมสำหรับทุกคน 2) ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3) ส่งเสริมการวิจัยและเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงความคิดสร้างสรรค์ 4) การสนับสนุนด้านงบประมาณ สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสินค้าสร้างสรรค์ 5) ให้มีนโยบายสนับสนุนผู้ที่มีบทบาทในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6) ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางนี้

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้กระทรวงวัฒนธรรมประสานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม World Conference on Creative Economy ครั้งที่ 3 มาต่อยอดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย

เชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมแรงงานอาเซียน

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบต่อการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคม สำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้ความคุ้มครองด้านประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปทำงานในภูมิภาคอาเซียน โดยร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ซึ่งจะเป็นการคงสิทธิและคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศสมาชิกอาเซียนและคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียนในไทยด้วยโดยเฉพาะด้านสิทธิในประกันสังคมตามที่เน้นย้ำไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ความคุ้มครองด้านประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนได้รับโอกาสในการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยที่รัฐผู้รับและรัฐผู้ส่งแรงงานข้ามชาติของอาเซียนจะรับผิดชอบต่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัวตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายของประเทศผู้ส่งและผู้รับ ซึ่งเป็นไปตามมติของอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ฉันทามติอาเซียน)

“การดำเนินการตามร่างปฏิญญาอาเซียนฯ นี้ จะทำให้ประชาชนและแรงงานข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมตลอดจนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ซึ่งปฏิญญานี้จะมีผลให้รัฐผู้รับแรงงานข้ามชาติจะจัดให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ค่าตอบแทนและการปฏิบัติที่เป็นธรรมตามกฎหมายของประเทศผู้รับ เช่น ค่าตอบแทน ความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองสุขภาพ ในขณะที่รัฐผู้ส่งแรงงานข้ามชาติจะรับรองสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับประเทศต้นทางในการเข้าถึงบริการเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศต้นทาง นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนานโยบายการย้ายถิ่นฐานที่เหมาะสมและครอบคลุมสำหรับแรงงานข้ามชาติภายในเขตอำนาจศาลของตน เช่น กำหนดการเข้า – ออก จากเขตแดน และแนวปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่แรงงานข้ามชาติต้องปฏิบัติตามรวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนกลางด้านแรงงาน อีกด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว

ผ่านแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) และมีมติรับร่างหลักการการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดำเนินการต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง แข่งขันได้ เชื่อมโยง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) สามารถสรุปได้ 7 มาตรการสำคัญและมีผลสำเร็จดังนี้

    1. การเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยได้มีการออกหลักเกณฑ์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือการระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากสำหรับตราสารหนี้และธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลผ่านออนไลน์ได้ และกำลังดำเนินการจัดทำกลไกคะแนนเครดิตที่สถาบันการเงินใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ SMEs
    2. การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยได้แก้เกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการแผนงานการปรับปรุงเกณฑ์ภาษี กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
    3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยที่เร่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 25 แผนงานจากแผนงานทั้งหมด 33 แผนงาน แผนงานที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วตามมาตรการนี้ อาทิเช่น การแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของการกระทำความผิด และมี 7 แผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
    4. การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วทั้ง 7 แผนงาน เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
    5. การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 แผนงาน เช่น การศึกษาเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญ รองรับการเกษียณ และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 แผนงาน เช่น การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ
    6. การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล ที่แผนงานการพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุนโดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลกำลังดำเนินการอยู่
    7. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 ใน 7 แผนงานได้ดำเนินการแล้ว เช่น การจัดทำ Roadmap เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับตลาดทุนไทย และกำลังเร่งดำเนินการแผนงานการพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือระดมทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

“สำหรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) นั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะจัดทำแผนตามหลักการที่ ครม. มีมติรับร่างหลักการที่มีสาระสำคัญ คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดทุนของต่างประเทศ การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย การส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินผ่านกลไกตลาดทุน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน ตลาดทุนยั่งยืน และการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวครอบคลุมถึงวัยเกษียณต่อไป” นางสาวทิพานัน กล่าว

เว้นค่าใบอนุญาตเรือไฟฟ้า 5 ปี – ลดต่อ 50% อีก 10 ปี

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เรือ และยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เรือสำหรับเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบการขนส่งทางเรือ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบคมนาคมที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับพัฒนาการเทคโนโลยีในปัจจุบัน ลดปัญหามลพิษทางอากาศ และป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การกำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เรือ สำหรับขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าของเรือแจ้งเปลี่ยนแปลงชนิดของเครื่องยนต์เรือหรือปรับปรุงเครื่องยนต์เรือ ซึ่งเมื่อครบ 5 ปีแล้ว ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เรือในอัตราครึ่งหนึ่งตามที่กำหนดไว้ เป็นเวลา 10 ปี โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตใช้เรือพลังงานไฟฟ้าไว้ เช่น ขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส ให้คิดปีละ 100 บาท เกิน 10ตันกรอสแต่ไม่เกิน 20 ตันกรอส คิดปีละ 150 บาท เกิน 5,000 ตันกรอสขึ้นไป คิดปีละ 1,600 บาท

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ประมาณการสูญเสียรายได้จากเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตใช้เรือในปัจจุบันจำนวน 51 ลำ และเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่คาดการณ์ว่าจะมาขอใบอนุญาตใช้เรือเพิ่มเติมในภายหลังออกกฎกระทรวงโดยเฉลี่ยขนาดไม่เกิน 80 ตันกรอส จำนวน 1,800 ลำ รวมจำนวน 1,851 ลำ ประมาณการสูญเสียรายได้ต่อปีอยู่ที่ 614,740 บาท และประมาณการสูญเสียรายได้ 15 ปีอยู่ที่ 9,221,100 บาท สำหรับเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะหมายถึง เรือที่ขับเคลื่อนตัวเรือให้เคลื่อนที่โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vessel) เท่านั้น

ไฟเขียวคลังค้ำเงินกู้ รฟท. 15,200 ล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชา ครม. เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 15,200 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นวงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้น ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดตามความเหมาะสม โดยรฟท.จะกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว โดยที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบให้รฟท.ดำเนินการกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องและเงินกู้ระยะสั้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รฟท.ได้ขอกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องรวมแล้วจำนวน 88,905 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่า รฟท.ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 59,320 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,620 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2565 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,200 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดยคาดว่า รฟท.จะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2565 สำหรับเงินวงเงินกู้ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท จะเป็นวงเงินสำรองสำหรับกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการต้องบริหาร ขณะที่รายจ่ายด้านต่างๆ อาทิ การบำรุงรักษาทาง อาณัติสัญญาณ รถจักรล้อเลื่อนและการบริหารต่างๆ ยังคงเดิม แต่ ร.ฟ.ท. ยังมีภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องและอาจประสบภาวะเงินสดขาดมือในบางช่วง จึงจำเป็นต้องเปิดวงเงินกู้ระยะสั้นในกรอบ 1,500 ล้านบาทข้างต้น สำหรับการสำรองเงินให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การดำเนินงานต้องกระทบกระเทือนหรือหยุดชะงัก

ปรับเกณฑ์คัดกรองต่างด้าวขอลี้ภัย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ เพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง

ทั้งนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง โดยคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้อง จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ที่เข้ามา หรืออยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติของตน หรือกรณีเป็นบุคคลไร้สัญชาติไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐที่เดิมตนมีถิ่นพำนักประจำ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร และต้องไม่เป็นคนต่างด้าวหรือบุคคลในกลุ่มใดที่กระทรวงมหาดไทยมีกลไกหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ รวมทั้งไม่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีกลไกหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ

สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับการคุ้มครอง จะต้องมีมูลที่จะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการประหัตประหาร การคุกคามชีวิตหรือเสรีภาพ การทรมาน การกระทำให้สูญหาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นอย่างร้ายแรง และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับการคุ้มครองจากหรือเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติ ไม่เป็นผู้ที่ถูกพิจารณาว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ หรือกรณีที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐที่เดิมมีถิ่นพำนักประจำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ ขณะเดียวกันผู้ยื่นคำขอต้องได้รับการตรวสอบ ดังนี้ คือ ประวัติอาชญากรรม, พฤติการณ์บุคคลและทางการเมือง,พฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และหมายจับจากกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ยื่นคำขอต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อแสดงว่าไม่มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว

คลอดกฎกระทรวงยกมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงหมู

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสุกรตั้งแต่ระดับฟาร์ม สร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์สุกรของประเทศไทย

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้คือ กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรให้แก่ผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป เช่น สถานที่ตั้งของฟาร์มต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมที่สามารถขนส่งสุกร อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆได้สะดวก ไม่อยู่ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมขังได้ มีแหล่งน้ำที่สะอาดและใช้ได้เพียงพอ มีพื้นที่ขนาดเพียงพอและเหมาะสมไม่หนาแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ มีคู่มือการจัดการฟาร์มที่แสดงให้เห็นรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม

ทั้งนี้ได้กำหนดวันใช้บังคับตามขนาดและประเภทของฟาร์มสุกรดังนี้ ฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัว หรือเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95-119 ตัว ซึ่งจัดเป็นฟาร์มขนาดกลาง ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 1,500 ขึ้นไป หรือเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป จัดเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับฟาร์มสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงระบบปศุสัตว์อินทรีย์และหมูหลุมที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรใดเป็นมาตรฐานบังคับจะส่งผลให้ผู้ที่จะผลิต ส่งออก หรือนำเข้าสินค้าเกษตรนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับในอนุญาตเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรนั้นก่อน รวมทั้งต้องมีใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวตสอบมาตรฐาน โดยหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ปรับไม่เกิน 300,000 บาทในกรณีเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับโดยไม่มีใบอนุญาต หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับไม่มีใบรับรองมาตรฐาน

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงสุกรมากกว่า 160,000 รายทั่วทุกภูมิภาคของไทย มีทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรขึ้น และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับดังกล่าว

โยก “ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส”ขึ้นปลัดสำนักนายกฯ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ ดังนี้

1. การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฝ่ายการเมือง) และโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฝ่ายข้าราชการประจำ)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ การแต่งตั้งโฆษก อว. (ฝ่ายการเมือง) และโฆษก อว. (ฝ่ายข้าราชการประจำ) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง โฆษก อว. ได้ลาออกจากตำแหน่งโฆษก อว. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายรัฐบาลและการประสานงานเชื่อมโยงกับโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงอื่นๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อว. จึงได้แต่งตั้ง นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว. เป็น โฆษก อว. (ฝ่ายการเมือง) [คำสั่งที่ 118/2565 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก อว. (ฝ่ายการเมือง) ลงวันที่ 6 กันยายน 2565] และนายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. เป็นโฆษก อว. (ฝ่ายข้าราชการประจำ) [คำสั่งที่ 120/2565 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก อว. (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ลงวันที่ 15 กันยายน 2565]

2. การอนุมัติให้ นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ไปรักษาราชการแทน หรือไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปรักษาราชการแทน หรือไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นต้นไป เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 มีมติอนุมัติให้รับโอน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมที่เกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้อยู่ระหว่างขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งเดิมและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายนรุตม์ ธัญวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

    2. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    3. นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    4. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

    2. นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

    3. นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

    4. นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมจะดำรงตำแหน่งครบวาระสองปีในวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ดังนี้

    1. นายสิทธิพร หาญญานันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโรงแรมประเภทที่ 1

    2. นายธรณินทร์ สิริพัฒโนดมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโรงแรมประเภทที่ 2

    3. นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโรงแรมประเภทที่ 3

    4. นายสุรเชษฐ วรวงศ์วสุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโรงแรมประเภทที่ 4

    5. นายชัยรินทร์ นุกูลกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรงแรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

9. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นายปณิธิ ชุณหสวัสดิกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านนิติศาสตร์) ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไป ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2565 เพิ่มเติม