ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ จัด 13 มาตรการ รับมือน้ำท่วม-มติ ครม.ลดภาษีป้ายวงกลม 90% ช่วย “แท็กซี่-สามล้อ-วินมอเตอร์ไซค์”

นายกฯ จัด 13 มาตรการ รับมือน้ำท่วม-มติ ครม.ลดภาษีป้ายวงกลม 90% ช่วย “แท็กซี่-สามล้อ-วินมอเตอร์ไซค์”

16 สิงหาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ เตรียม 13 มาตรการรับมือน้ำท่วม-สั่งมหาดไทยช่วยทุกพื้นที่-แจงลดภาษีป้ายวงกลม ช่วยรถรับจ้างลดภาระค่าครองชีพ – ย้ำดูแลทุกกลุ่มเต็มที่ แต่ช่วยทั้งหมดไม่ไหว – มติ ครม. ลดภาษีป้าย 90% ช่วย “แท็กซี่ -สามล้อ-วินมอเตอร์ไซด์” ลดค่าครองชีพ-ไฟเขียว 7 กลยุทธ์ สกัด “นักดื่มหน้าใหม่” วงเงิน 339 ล้าน-ควักงบกลาง 1,970 ล้าน ชดเชยรายได้ อปท.จากการลดภาษีดินปี’63-ตั้ง “กีรติ รัชโน” ขึ้นปลัดพาณิชย์

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

แจงลดภาษีป้ายวงกลม ช่วยรถรับจ้างลดภาระค่าครองชีพ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ได้อนุมัติหลักการลดภาษี 90% สำหรับผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้างประมาณ 270,000 คันที่จะครบกำหนดเสียภาษีประจำปีระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 โดยรถแท็กซี่ทั่วไปลดจาก 685 บาทเหลือ 68.50 บาท รถยนต์รับจ้างสามล้อลดจาก 135 บาท เหลือ 18.50 บาท

“รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนทุกเรื่อง โดยมีความเห็นใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการคนขับแท็กซี่ รถยนต์รับจ้างสามล้อ รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และวิกฤติน้ำมันโลก ทำให้ต้นทุนการประกอบอาชีพสูงขึ้น ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ขับรถยนต์รับจ้างกลุ่มเหล่านี้ที่อายุเกิน 65 ปี จำนวน 16,694 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไม่มีผู้ประกันตน โดยช่วยเหลือค่าครองชีพแล้วคนละ 5,000 บาท

ย้ำดูแลทุกกลุ่มเต็มที่ แต่ช่วยทั้งหมดไม่ไหว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ ครม. อนุมัติการขยายระยะเวลาโครงการวงเงินสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan ของธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยขยายออกไป 1 ปี จากเดิมสิ้นสุด 31 กรกฎาคม 2565 เป็น 30 มิถุนายน 2566 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการให้ทั่วถึงตามกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้ที่ 5,000 ล้านบาททุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ S Curve

“รัฐบาลต้องพิจารณาเป็นระยะว่าจะดูแลใครได้บ้าง ช่วงไหน มันขึ้นกับงบประมาณที่มีอยู่แล้ว อันนี้ต้องเข้าใจรัฐบาล รัฐบาลก็มีรายได้จากภาษีเท่านั้นเองที่เป็นรายได้ของรัฐ เพราะรัฐไม่ใช่ผู้ประกอบการ วันนี้เราลดหย่อนตรงนู้น ตรงนี้ไป ฉะนั้นเราต้องหาวิธีการอันเหมาะสม ต้องเลือกเป็นกลุ่มไป ให้ทั้งหมดพร้อมกัน คงไม่ไหว…เราก็พยายามดูแลทุกกลุ่มทุกธุรกิจ ทุกขนาด นั่นคือความยากง่ายในการบริหารของเรา แต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

หารือเกษตร เพิ่มเพิ่มยอดส่งออกกุ้งทะเล

นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มถัดมาที่สำคัญและรัฐบาลได้ช่วยเหลือ คือเกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง วันนี้ก็อนุมัติจัดสรรเงินให้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจำนวน 510 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทย ครอบคลุมเรื่องการจัดหาปัจจัยการผลิต กุ้งพันธุ์ การส่งเสริมสภาพคล่องผู้้เลี้ยงกุ้ง การอบรมเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการแปรรูป การทำการตลาด การลดความเสี่ยง ยกระดับมาตรฐานฟาร์มกุ้งและมาตรฐานสินค้าเกษตรที่สากลยอมรับต่อไป

“ก่อนเกิดโควิดฯ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแนวหน้าการส่งออกกุ้งทะเลสู่ตลาดโลก ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 300,000 ตันต่อปี เพราะฉะนั้นรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือและพิจารณา เพื่อรักษาสัดส่วนการส่งออก…พูดคำว่ากุ้งคำเดียวนะเนี่ย ทำกี่เรื่อง กุ้ง กุ้ง กุ้ง มันไม่ง่ายนักหรอก แต่ก็ต้องทำให้ได้ ด้วยความร่วมมือรัฐ เอกชน ประชาชน ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

สั่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ – ล่วงละเมิดทางเพศผ่านออนไลน์

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และประกาศนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติว่า รัฐบาลไม่เพียงช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รัฐบาลมีมาตรการทางสังคม เพื่อป้องกันการหลอกลวงเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ เล่ห์เหลี่ยมหลากหลาย และสื่อออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนเกมและแชท ไม่ให้ใช้ประโยชน์อนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขู่คุกคาม ดึงเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ โดยปี 2564 มีสถิติสูงกว่า 600,000 กรณี

พลเอก ประยุทธ์กล่าวต่อว่า “ผมก็ห่วงใยเรื่องนี้ ได้สั่งการไปให้หามาตรการปกป้องลูกหลานของเรา ไม่ให้เสียอนาคต ได้สั่งจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้โครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงถึงประชาชนที่เป็นเหยื่อผ่านเว็บไซต์ โดยมีหน่วยงานต่างๆ และทีมสหวิชาชีพคอยให้ความรู้เด็กผู้เสียหาย และให้ความรู้ผู้ประกอบการ”

“เทคโนโลยีมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้อย่างไม่ระวัง ขอให้ระวังด้วย การใช้โทรศัพท์ การเก็บรักษาข้อมูลในโทรศัพท์ การซ่อมโทรศัพท์ การทิ้งโทรศัพท์ การเปลี่ยนโทรศัพท์ ต้องเรียนรู้ว่าข้อมูลมันอยู่ในโทรศัพท์ทั้งหมด ระวังอย่างที่สุดแล้วกัน” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

เตรียม 13 มาตรการรับมือน้ำท่วม

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หามาตรการ หรือแนวทางรับมือน้ำท่วมและอุทกภัยถึง 13 มาตรการ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเป็นแนวปฏิบัติ “ผมเคยบอกแล้วว่า เราห้ามธรรมชาติฝนตกมากน้อยไม่ได้ แต่เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ เราจะอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องมีการระมัดระวังตัว เตรียมตัว ปรับตัว หลายพื้นที่ฝนตกน้อย แต่วันนี้ตกมาก ตกไม่หยุด ตกหลายชั่วโมง ตกเกินขีดความสามารถที่ทางระบายน้ำธรรมชาติระบายไม่ไหว ทำให้น้ำท่วม แล้วคนเราส่วนใหญ่บ้านอยู่ริมตลิ่ง ตลิ่งพัง บ้านก็พังไปด้วย วันนี้สั่งเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับ ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมไว้เสมอ โดยเฉพาะหน้าฝน บ้านที่อยู่สูงใกล้ภูเขาที่เป็นทางน้ำผ่าน”

“แม้กรมอุตุฯ รายงานมาล่วงหน้าก็ตาม หลายอย่างมันสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะข้างบนมันผันผวนตลอดเวลา หลายประเทศในโลกไปดูสิเดือดร้อนไหม ก็เดือดร้อน อย่าง เกาหลีใต้ไม่เคยน้ำท่วมขนาดนี้เป็นสิบปี ก็มาเกิดน้ำท่วม ในยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้น 35 ถึง 40 องศาเซลเซียส ที่เป็นประเทศหนาว ก็กลายเป็นประเทศร้อนไปเสียแล้ว นี่คือสิ่งที่อากาศโลกมันเปลี่ยนแปลง เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ต้องเตรียมตัวกับมันให้พร้อม ต้องมองในภาพรวมด้วย” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

วอนสื่ออย่าพาดหัวข่าวขึ้นค่าไฟ 5 บาท ความจริงขึ้นเป็นสตางค์

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การขึ้นค่าไฟว่า “ทุกคนต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไปพาดหัวข่าว ขึ้นเป็น 5 บาทแล้วหรือ 4 บาท แล้ว มันขึ้นเป็นสตางค์ อย่าไปเขียนแบบนี้ให้คนเข้าใจผิด เข้าใจไหม แต่มัน จะขึ้นก็ต้องขึ้น ขึ้นจากอะไรต้องไปดูสาเหตุแห่งปัญหา ไปศึกษาธรรมะเสียบ้าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรียนซะบ้าง ให้รู้ว่ามันเกิดจากอะไร แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร วิธีการแก้ปัญหา”

หาทางช่วยเหลือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงการขอขึ้นราคาของผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า “เรื่องมาม่า ขอขึ้นราคาสองปีมาแล้ว ก็ไม่ได้ขึ้นให้เขา ต้องไปดูว่าต้นทุนการผลิตเป็นอย่างไร หลายอย่าง ก็บอกไม่ให้ขึ้นๆ ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ผมต้องทำทั้งสองส่วน ทั้งให้ประชาชนไม่เดือดร้อน และผู้ประกอบการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ไม่งั้น ก็เจ๊งทั้งคู่ เขาก็ปิดโรงงาน มันก็จบแค่นั้น ผมไม่ได้เข้าข้างใครอยู่แล้ว ขอให้เห็นใจซึ่งกันและกันแค่นั้น”

ชื่นชมส่งออกยางพาราขยับขึ้นอับดับหนึ่งของโลก

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ไทยสามารถกลับมาเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก จากความสำเร็จและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่เข้าไปชะลอขายยางของสถาบันชาวสวนยาง และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง การสนับสนุนการวิจัยต่างๆ แล้วนายกฯ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ การยางแห่งประเทศไทย ช่วยดูแลให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากการส่งออกยาง และติดตามสถานการณ์โลกอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือภาคเอกชนให้เร่งรัดพัฒนาคุณภาพยาง

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ รับสั่ง นำสินค้าไทยแสดงในงาน APEC

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในงาน “เพียรสาน งานศิลป์” และทรงรับสั่งถึงงานเอเปคที่จะเกิดขึ้นว่า เนื่องจากในงานมีการจัดแสดงของสวยงามจำนวนมาก เหมาะสมที่จะให้แขกของเอเปคได้ชื่นชมศิลปะไทยที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควรนำของสวยงามเหล่านี้มาจัดแสดงให้ต่างชาติชม รวมทั้งนำมาตกแต่งในห้องประชุม หรือบนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยง เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยมีศิลปะวัฒนธรรมที่งดงาม รวมทั้งให้มีพื้นที่จัดแสดงสินค้าโอทอป ผลงานศิลปาชีพ และจำหน่ายสินค้า เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของงาน

ห่วงน้ำท่วม สั่งมหาดไทยช่วยเหลือทุกพื้นที่

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงฤดูฝนให้คอยหมั่นตรวจยานพาหนะ และระมัดระวังอย่าขับรถเร็วขณะฝนตก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง

นอกจากนี้ นายกฯ สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยประสานความร่วมมือไปทุกจังหวัด และกำชับให้ทุกหน่วยงานลงไปทุกพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

“ธนกร” สั่งลาเก้าอี้โฆษกฯ พร้อมนั่งตำแหน่ง ส.ส. แทน “มาดามเดียร์”

ผู้สื่อข่าวถาม ดร.ธนกร ถึงประเด็นของ ดร.ธนกร ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐที่จะได้เลื่อนมาเป็น ส.ส.แทน น.ส.วทันยา บุนนาค ซึ่งได้ประกาศลาออกไป ดร.ธนกร ตอบว่า “ต้องไปดูกระบวนการของสภาฯ ว่าเป็นอย่างไร ตลอดเวลาที่ได้ทำงานในฐานะโฆษกรัฐบาล ผมก็มีความสุข ทุกวันที่ได้ทำงานกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้ให้ความไว้วางใจผม และทำงานด้วยดีมาโดยตลอด ถือเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์สำหรับผม”

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ่ายรูปกับรองโฆษกฯ เป็นที่ระลึก

“ต้องขอขอบคุณ นายกฯ และรัฐมนตรีทุกท่าน โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ทั้งสองคน รวมถึงสื่อมวลชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือและทำงานด้วยดีมาโดยตลอด ผมก็พร้อมที่จะทำงานในทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย”

ดร.ธนกร ยังย้ำว่า “ถ้าลำดับบัญชีรายชื่อถึงผม ผมก็พร้อมไปทำงานตรงนั้น เพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชน จริงๆ แล้วผมคิดอยู่เสมอ เนื่องจากบัญชีรายชื่อของพรรคใกล้ถึงผม ซึ่งผมก็คิดไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้ปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ ผมก็ได้หารือกับท่านนายกฯ ท่านก็ยินดีกับผม และผมก็เรียนท่านว่าผมยินดีที่จะทำงานให้พลเอก ประยุทธ์เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน” ดร.ธนกรกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ลดภาษีป้ายวงกลม 90% ช่วย “แท็กซี่-สามล้อ-วินมอเตอร์ไซด์”

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบการรถสาธารณะทั้งรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากราคาพลังงานโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวิกฤติพลังงานรอบใหม่ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ จากสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานถึงร้อยละ 75 ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพ อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ.ฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีรถประจำปีระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 ลงร้อยละ 90 ของอัตราภาษีประจำปีท้าย พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ดังนี้

  • รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) มีน้ำหนักรถ 1,300 กก. เสียภาษี 68.50 บาท จากเดิม 685 บาท
  • รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) มีน้ำหนักรถ 2,000 กก. เสียภาษี 106 บาท จากเดิม 1,060 บาท
  • รถยนต์รับจ้างสามล้อ น้ำหนัก 500 กก. เสียภาษี 18.50 บาท จากเดิม 185 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ (อัตราภาษีจะคิดต่อคัน) เสียภาษี 10 บาท จากเดิม 100 บาท
  • ซึ่งมาตรการลดอัตราภาษี ในครั้งนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 70.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.197 ของภาษีของรถทุกประเภททั้งหมดที่จัดเก็บ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กทม. และ อปท. เพียงเล็กน้อย แต่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะได้อีกมาตรการหนึ่ง

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเยียวยาโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ รถแท็กซี่ และรถยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตน ตาม ม.33, ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ไปแล้ว รวม 16,694 คน (แท็กซี่ จำนวน 12,918 คนและวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 3,776 คน) โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าของชีพคนละ 5,000 บาท/เดือน รวม 16,694 คน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท แล้ว

    เคาะ 7 กลยุทธ์ สกัดนักดื่มหน้าใหม่วงเงิน 339 ล้าน

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) ระยะเวลา 6 ปี โดยเป็นแผนต่อเนื่องมาจากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 2554 – 2563 ที่สิ้นสุดลง เพื่อควบคุมขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจาก ใน 4 เป้าหมาย ได้แก่ (1) ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของประชาชน (2) ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมจำนวนผู้บริโภค (3) ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค (4) จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

    แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ภายใต้กรอบวงเงิน 339.30 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

      กลยุทธ์ที่ 1 ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและในประชากรกลุ่มเสี่ยง ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพง หาซื้อยาก และเพิ่มสัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตในการเข้าถึงจุดจำหน่ายของประชาชนขึ้นจากปี 2562 เช่น โครงการควบคุมจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โครงการพัฒนาระบบและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย งบประมาณ 96.70 ล้านบาท
      กลยุทธ์ที่ 2 ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โครงการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม โครงการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล กรณีเมาแล้วขับ งบประมาณ 15 ล้านบาท
      กลยุทธ์ที่ 3 คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา จัดการผู้มีปัญหาดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสม เช่น โครงการพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบติดตามผลการบำบัด ฟื้นฟูสภาพ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการบำบัดและผู้ดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา โครงการพัฒนาและสนับสนุนการจัดบริการบำบัดรักษานอกระบบบริการสุขภาพ งบประมาณ 22.20 ล้านบาท
      กลยุทธ์ที่ 4 ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายและการให้ทุนอุปถัมภ์ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อคุ้มครองสังคมและเยาวชนมิให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ เช่น โครงการติดตามเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โครงการส่งเสริมการรับรู้ให้รู้เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณาและสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชิงรุก โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์งบประมาณ 141.20 ล้านบาท
      กลยุทธ์ที่ 5 ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี มีระบบการคิดภาษีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และโปร่งใสตรวจสอบได้ มาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ (minimum unit pricing) ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การผูกอัตราภาษีกับเงินเฟ้อ เช่น โครงการสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษี โครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษี
      กลยุทธ์ที่ 6 สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม เช่น โครงการสื่อสาร รณรงค์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงถึงผลกระทบต่อตนเองและสังคมจากการดื่มแอลกอฮอล์ โครงการสร้างทางเลือก มาตรการเชิงบวก และเพิ่มโอกาสในการไม่ดื่ม งบประมาณ 47.60 ล้านบาท
      กลยุทธ์ที่ 7 ระบบสนับสนุนและบริหารจัดการที่ดี สร้างกลไกจัดการปัญหาแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการดำเนินนโยบายในระดับต่างๆ โดยมีกิจกรรม เช่น พัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการควบคุมและลดปัญหาจากแอลกอฮอล์ พัฒนาช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว ชัดเจน โครงการพัฒนาองค์ความรู้และการติดตาม ประเมินผลเชิงระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ งบประมาณ 16.60 ล้านบาท

    ดร.ธนกร ยังกล่าวว่า การควบคุมปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคทุกโรคที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสูญเสียเนื่องมาจากโรคและความรุนแรงที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดการดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุทางถนนลดลงด้วย และนอกจากนี้ ยังทำให้ ประเทศไทยได้รับการยอมรับการเป็นหนึ่งในผู้นำการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ

    ไฟเขียว 12 มาตรการ Quick Win รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางของมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจและมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเสนอ ซึ่งผลการประเมินเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน กล่าวคือ

      1. วิกฤติต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ พบว่า ปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็น ยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และจากการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง
      2. วิกฤติการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร พบว่า วัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวนาปีและยางพารามีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน
      3. วิกฤติการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ
      4. วิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับรองวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต พบว่า ควรต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

    สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น

      1. มาตรการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (ตอนบ่ายและช่วงหัวค่ำ)
      2. ลดการใช้ไฟฟ้าของหน่วยงานราชการ
      3. เร่งรัดการบังคับใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. ….
      4. จัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือน
      5. พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง
      6. โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ประกอบด้วยการชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้สถาบันเกษตรกร
      7. โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ปุ๋ยแพง
      8. โครงการพักทรัพย์พักหนี้
      9. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)
      10. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs
      11. การบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและฐานข้อมูลพื้นที่ทางการเกษตร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกร
      12. การขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้วงเงินจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ

    ส่วนมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) เช่น 1. ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 2. ลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งโดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง 3. ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ 4. ศึกษาความคุ้มค่าในการร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส 5. พัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย 6. การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย 7. เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 8. การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและหุ่นยนต์ 9. เจรจา Digital Economic Partnership กับสิงคโปร์ 10 .ขยายความร่วมมือด้าน BCG เป็นต้น

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น 1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2565) 2. ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2565) 3. มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. 4. การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 5. โครงการพักทรัพย์พักหนี้ 6. โครงการคนละครึ่ง 7. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ 8. การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น

    จัดงบฯ 500 ล้าน ปล่อยกู้คนเลี้ยงกุ้งทะเลดอก 0% ไม่เกิน 5 แสนบาท/ราย

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 โดยจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมประมงยืมสำหรับใช้ดำเนินการโครงการ วงเงิน 500 ล้านบาท มีกำหนดเวลาในการชำระคืนภายใน 3 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2565 – 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งทะเลแต่ขาดสภาพคล่อง ได้มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

    โครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องในด้านปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และสร้างความมั่นคงทางอาชีพ โดยกรมประมงจะปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 1,000 ราย ในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลรวม 33 จังหวัด แบบไม่คิดดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงกุ้งทะเล แบ่งเป็นค่าลูกพันธุ์กุ้ง 85,000 บาท และค่าอาหารกุ้ง 415,000 บาท ตลอดโครงการเกษตรกรจะได้รับสิทธิกู้รวมทั้งสิ้น 3 รอบการผลิต (รอบการผลิตเพาะเลี้ยงกุ้งประมาณ 3 เดือน) ภายในระยะเวลา 2 ปี แต่เกษตรกรจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดก่อน จึงได้รับสิทธิในการขอกู้ในรอบการผลิตถัดไป ทั้งนี้ สำนักงานประมงจังหวัดจะเปิดรับสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่อไป

    ดร.รัชดากล่าวต่อว่า คุณสมบัติและเงื่อนไขของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่เข้าร่วมโครงการ เช่น 1.เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ต้องมีขนาดพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งรวมทั้งหมด 4 – 10 ไร่ และต้องเสนอรูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลที่ประสบความสำเร็จภายหลังจากได้รับการอนุมัติ 2.ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่ผ่านการตรวจโรคลูกกุ้งทะเลจากกรมประมง (White List Hatchery) ของกรมประมง 3.จดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) เป็นต้น

    ดร.รัชดา ยังกล่าวถึง การอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลเพื่อการแปรรูป ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานในที่ประชุมว่า เป็นความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ซึ่งไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศอย่างแน่นอน เพราะเป็นการอนุญาตให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการแปรูปเท่านั้น โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะต้องรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ – ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไว้ ขณะนี้ ราคากุ้งทะเลขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางกรมประมงได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนอย่างเด็ดขาด

    เห็นชอบความร่วมมือ “ไทย-อินเดีย” เดินหน้า “ถนนสามฝ่าย”

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-อินเดีย (The Thailand – India Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ครั้งที่ 9 ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2565 ร่างเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ เป็นการกำหนดท่าทีของประเทศไทยผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ กับอินเดีย ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น

      1.ด้านการเมืองและความมั่นคง พร้อมรับมือความท้าทายทางด้านความมั่นคง ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางทะเล ยาเสพติด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การประมงผิดกฎหมาย การลักลอบค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมือง การก่อการร้าย รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์
      2.ด้านเศรษฐกิจการค้าทวิภาคีและการลงทุน ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่สอดรับกันของทั้งสองประเทศ โดยอินดีมีนโยบาย เช่น นโยบาย Made In India นโยบาย Smart City นโยบาย Startup India เป็นต้น ส่วนนโยบายของไทย เช่น นโยบาย Bio Circular Green Economy (BCG) นโยบาย Thailand 4.0 เป็นต้น
      3.ด้านความเชื่อมโยง มุ่งเน้นผลักดันโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย (IMT) การจัดทำความตกลงยานยนต์สามฝ่าย IMT Motor Vehicles Agreement (MVA) รวมถึงความตกลง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย ซึ่ง ครม. เห็นชอบไปแล้วเมื่อ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้สายการบินทั้งสองประเทศสามารถทำการบินรับขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ระหว่างกันได้ รวมถึงการขยายขอบเขตการบริการเดินอากาศให้สามารถบริการเที่ยวบินตรง เพื่อเชื่อมโยงไทยกับอินเดียได้มากขึ้น
      4.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กับองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรมสาขาอวกาศและอวกาศเชิงประยุกต์
      5.ด้านการกงสุล ไทยเสนอให้อินเดียพิจารณาความเป็นไปได้ให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA)

    ส่วนประเด็นภูมิภาคและพหุภาคีที่มีจะมีการหารือในที่ประชุม เช่น 1. อินเดียพร้อมสนับสนุนการเป็นประธาน BIMSTEC ของไทย ภายใต้หัวข้อ Prosperous Resilient and Open BIMSTEC หรือ PRO BIMSTEC และเน้นย้ำการพัฒนาอ่าวเบงกอลให้มีสันติภาพ มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจุดแข็งร่วมกัน 2. ไทยจะจับมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 3. ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา

    สตช. แจงดำเนินคดีทุจริตเงินเยียวยาแล้ว 639 คดี

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการรายงานการดำเนินคดีอาญาระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564 – 1 เมษายน 2565 มีการดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 639 คดี แบ่งเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 529 คดี โครงการคนละครึ่ง 106 คดี และโครงการเราชนะ 4 คดี ส่วนใหญ่เป็นข้อหาฐานความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกง รวมกันฉ้อโกง ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงโดยนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 541 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการแล้ว 55 คดี และอื่นๆ 43 คดี เช่น ชดใช้ค่าเสียหายก่อนร้องทุกข์ และถอนคำร้องทุกข์

    จัดงบฯ 12 ล้าน เยียวยาศิลปินอายุเกิน 65 ปี 2,459 คน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนรวม 2,459 คน กรอบวงเงินรวม 12.29 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายในโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

    สำหรับกลุ่มศิลปินที่ได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เปิดให้มีการลงทะเบียนศิลปินผู้มีอายุเกิน 65 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบและไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากเครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิงและสมาคมศิลปินพื้นบ้าน ทั้งหมด 29 สมาคม

    ทั้งนี้ มีผู้ผ่านคุณสมบัติละได้รับการเยียวยารวม 2,459 คน แยกเป็น 1) ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด จำนวน 1,140 คน วงเงิน 5.7 ล้านบาท และ 2) ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 1,319 คน วงเงิน 6.59 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 3 เดือน ระหว่าง ส.ค.- ต.ค. 2565

    แจงเบิกจ่ายเงินกู้ 5 แสนล้าน ล่าสุดเหลืองบฯ กว่า 4.4 หมื่นล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานผลการคืนเงินกู้เหลือจ่ายของหน่วยงานรับผิดชอบโครงการจำนวน 16 โครงการ รวมทั้งสิ้น 17,427 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คงเหลือ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นจาก 26,764 ล้านบาท เป็น 44,192.32 ล้านบาท แต่เมื่อหักส่วนของโครงการเยียวยาศิลปินฯ ในครั้งนี้แล้วจะทำให้กรอบวงเงินกู้ฯ คงเหลือ 44,180.03 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินคงเหลือ จากแผนงานฯ กลุ่มที่ 2 ช่วยเหลือ/เยียวยา วงเงิน 8,593.23 ล้านบาท และ จากแผนงานฯ กลุ่มที่ 3 ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 35,586.80 ล้านบาท

    สำหรับ 16 โครงการที่คืนเงินกู้เหลือจ่าย มีโครงการที่สำคัญเช่น โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19)สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (Pfizer) วงเงินอนุมัติ 9,372 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 8,616 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 756 ล้านบาท, โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี ของกรมการจัดหางาน กระทวงแรงงาน วงเงินอนุมัติ 37,521 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 27,025 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 10,496 ล้านบาท

    โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 วงเงินอนุมัติ 34,800 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 30,344 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 4,455 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถรับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินอนุมัติ 166 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 86 ล้านบาท มีเงินคืนเหลือจ่าย 80 ล้านบาท เป็นต้น

    ขยายเวลาอนุมัติสินเชื่อ “EXIM Biz” ถึงสิ้น มิ.ย.นี้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ขยายระยะเวลาอนุมัติวงเงินโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งจะช่วยให้สามารถดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการและให้บริการสินเชื่อได้ตามเป้าหมายภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกประมาณ 3,049 ล้านบาท และยังเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาคการส่งออกของประเทศไทย

    สำหรับโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการที่เริ่มฟื้นตัวให้กลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยวงเงินอนุมัติสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาทระยะเวลาการให้กู้ยืม ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2, ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลบร้อยละ 2 และ ปีที่ 6-7 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ทั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

    โดยผลการดำเนินงาน EXIM Biz ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ธสน.ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 55 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,583 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มียอดเบิกใช้วงเงินจำนวน 15 ราย จำนวนเงิน 299 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออีกจำนวน 3,049 ล้านบาท

    ควักงบฯ 1,970 ล้าน ชดเชยรายได้ อปท.จากการลดภาษีดินปี’63

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,970 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ กรุงเทพมหานครจำนวน 1,245 ล้านบาท เมืองพัทยาจำนวน 37 ล้านบาท เทศบาลนคร 30 แห่ง จำนวน 332 ล้านบาท และเทศบาลเมือง 195 แห่ง จำนวน 354 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 227 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2563 โดยให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่ กทม. เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท สำหรับปีภาษี 2563 ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง 21,890 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ที่จัดเก็บได้ในปี 2562 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในปีงบประมาณ 2563 โดยที่ผ่านมา อปท.กลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการชดเชยรายได้ดังกล่าว ในขณะที่อปท.ประเภทอื่นที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ เทศบาลตำบล และ องค์การบริหารส่วนตำบล ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อชดเชยรายได้ดังกล่าวแล้วจำนวน 10,067 ล้านบาท ดังนั้นในครั้งนี้ อปท.กลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะดูแล และจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและท้องถิ่น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 โดยมีสาระสำคัญเป็นการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ให้แก่ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี 2563

    เห็นชอบโรงงานยาสูบกู้เสริมสภาพคล่อง 1,500 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นโดยวิธีกู้เบิกเกินบัญชี วงเงิน 1,500 ล้านบาท อายุเงินกู้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 -16 มีนาคม 2566 เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของ ยสท. ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว

    โดยผลประกอบการล่าสุดในรอบ 6 เดือน ปี 2565 ของ ยสท. มีรายได้รวม 17,748 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 17,783 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 35 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ยสท. ยังได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565-2566 กรณีที่ประมาณการยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศต่ำที่สุด (Worst Case) โดยในปีงบประมาณ 2565 คาดการณ์ว่าจะจำหน่ายบุหรี่ในประเทศได้จำนวน 12,050 ล้านมวน และผลกระทบจากโควิด 19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจถดถอยและผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ประกอบกับปัญหาจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆที่ ยสท.ต้องนำมาใช้ในการผลิตยาสูบและดำเนินกิจกรรมในองค์กรเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงปัญหาการแพร่กระจายของบุหรี่ผิดกฎหมาย จะส่งผลให้ยสท.มีรายรับรวม 38,338 ล้านบาท รายจ่ายรวม 44,571 ล้านบาท ขาดทุนรวม 6,233 ล้านบาท และเงินสดปลายงวดคงเหลือจำนวน 2,684 ล้านบาท

    สำหรับปีงบประมาณ 2566 ยสท. คาดการณ์ว่าจะจำหน่ายบุหรี่ในประเทศได้จำนวน 11,552 ล้านมวน มีรายรับรวม 36,711 ล้านบาท รายจ่ายรวม 40,323 ล้านบาท ขาดทุน 3,612 ล้านบาท และเงินสดปลายงวดติดลบจำนวน 928 ล้านบาท

    ดังนั้น ยสท. จึงมีความต้องการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นโดยวิธีกู้เบิกเกินบัญชีวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นทุนหมุนเวียน เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

    สั่งกองทุนอนุรักษ์พลังงานนำเงินส่งคลัง 14,377 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการเรียกให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน ปีบัญชี 2565 จำนวนเงินทั้งสิ้น 14,377 ล้านบาท ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินโดยเร็วหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ซึ่งหลังจากนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานยังมีกระแสเงินสดที่สามารถดำเนินงานได้ปกติโดยไม่ขาดสภาพคล่องประมาณ 11,734 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เห็นชอบการเรียกให้ทุนหมุนเวียนจำนวน 7 ทุน นำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน ปีบัญชี 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินภายใน 60 วัน หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ และรับทราบรายงานผลการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูที่ได้นำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินปีบัญชี 2562 จำนวน 350 ล้านบาท และกองทุนสิ่งแวดล้อมที่ได้นำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินปีบัญชี 2563 จำนวน 81 ล้านบาท และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 1/2565 ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวนเงิน 14,377 ล้านบาท

    เผยผลสำรวจรากหญ้ามีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากที่สุด

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดเก็บข้อมูลจากผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2565 ซึ่ง 5 อันดับแรกของปัญหาความเดือดร้อนคือ ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 42.7, รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 26.8, ว่างงาน/ตกงาน ร้อยละ 23.9, สินค้าราคาแพง ร้อยละ 23.3 และค่าครองชีพสูง ร้อยละ 15.8

    สำหรับผลสำรวจด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้านมากที่สุด คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 97.6 รองลงมาเป็น โครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 96.5, โครงการม.33 เรารักกัน ร้อยละ 74.8, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 38.3, โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ร้อยละ 31.1, ทัวร์เที่ยวไทย ร้อยละ 31 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 30.1 ส่วนผลสำรวจแนวทางและมาตรการป้องกันให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ฉีดวัคซีนเข็มแรก ร้อยละ 81.4, ปฏิบัติตัวตามมาตรการของสาธารณสุข ร้อยละ 80.3, ขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางหากไม่จำเป็น ร้อยละ 61.7, ปิดสถานบริการ/ร้านค้าที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร้อยละ 40 และแจก ATK ให้ทุกครัวเรือน ร้อยละ 38

    ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้, ควรมีการสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร เช่น การทำฝนเทียม ขุดลอกหนอง บึง สระเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ, ควรส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ให้รู้ถึงวิธีการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า, ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และควรมีการติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่

    ตั้ง “กีรติ รัชโน” ขึ้นปลัดพาณิชย์

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการปกครอง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564

      2. นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เสนอแต่งตั้ง นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

      1. นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ครั้งที่ 2)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวิชวุทย์ จินโต ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 7 ราย ดังนี้

      1. แต่งตั้งนายธัญญา เนติธรรมกุล รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)

      2. แต่งตั้งนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ (ทดแทนนายอรรถพล)

      3. แต่งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)
      4. แต่งตั้งนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรธรณี (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)

      5. แต่งตั้งนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)

      6. แต่งตั้งนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)

      7. แต่งตั้งนายกุศล โชติรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (แทนนายปิ่นสักก์)

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ จำนวน 6 ราย ดังนี้

      1. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2565
      2. นายสรรเสริญ สมะลาภา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565
      3. นายอนุชา สะสมทรัพย์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565
      4. นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2565
      5. พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2565
      6. นายธีระยุทธ วานิชชัง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2565

    7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายพลวัฒน์ ศุภภัทรเศรษฐ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ แทน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    8. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    9. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครบกำหนดออกตามวาระ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่งตั้งประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ดังนี้

      1. นายสราวุธ ทรงศิริวิไล ประธานกรรมการ
      2. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. พลโท พิเชษฐ คงศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เผ่าภัค ศิริสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :