ธนากร คมกฤส
ผู้ยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การพนัน เมื่อปี พ.ศ. 2478 คงมีเหตุผลอะไรบางอย่าง จึงกำหนดให้การจัดกิจกรรมแถมพกเสี่ยงโชคเพื่อการส่งเสริมการขายของธุรกิจการค้าต่างๆ ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยก่อน จึงจะจัดกิจกรรมนั้นได้ ฉะนั้น การที่สินค้าทั้งหลายอยากกระตุ้นยอดขายด้วยวิธีการที่มากกว่าการลดแลกจากแถมธรรมดา โดยการเอากิจกรรมเสี่ยงโชคเข้ามาผนวก จะทำได้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานกระทรวงมหาดไทย
ภาคธุรกิจคงอึดอัดมานานกับบทบัญญัติดังกล่าว ด้วยเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการค้าขายตามปกติในปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของผู้ประกอบธุรกิจเกินสมควรแก่เหตุ จึงเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายแยกเรื่องการจัดกิจกรรมแถมพกเสี่ยงโชคออกจาก พ.ร.บ.การพนัน และมาออกเป็นกฎหมายใหม่ โดยอ้างบางมาตราของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐพึงยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
เรื่องนี้ตกถึงมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดให้มีการเสี่ยงโชคในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ พ.ศ. …. ขึ้นมา สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้มีประมาณว่า ให้ภาคธุรกิจการค้าสามารถจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคได้โดยเพียงแค่จดแจ้ง ไม่ต้องขออนุญาต รางวัลของกิจกรรมสามารถมีขนาดใหญ่เกินกว่าล้านบาทได้ สามารถออกรางวัลถี่เกินกว่า 1 ครั้งต่อเดือนได้ และสามารถถ่ายทอดการจับรางวัลผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะของกิจกรรมเสี่ยงโชคต้องห้าม โดยมีประเด็นคำถามพ่วงท้ายว่า รัฐมนตรีนั้นควรเป็นรํบมนตรีกระทรวงใด มหาดไทย หรือพาณิชย์ หรืออื่นๆ
หลายปีที่แล้ว (ตุลาคม 2558) แวดวงภาคประชาสังคมเคยถกกันว่า การจัดกิจกรรมแถมพกโดยการเสี่ยงโชค หรือที่เรียกด้วยภาษานักการตลาดว่า “Lotto Marketing” ที่เอากิจกรรมคล้ายๆ การเสี่ยงโชคทายตัวเลขมาเป็นกิจกรรมกระตุ้นยอดขายนั้น แม้จะไม่ใช่การพนัน ด้วยเหตุที่ผู้ลงเงินได้สินค้า แต่กิจกรรมมีความเสี่ยงแพ้ชนะ และมีรางวัลล่อใจ อันเป็นอีกสององค์ประกอบของการพนัน จึงมีความใกล้เคียงเป็นพนัน หรือคล้ายพนันเป็นอย่างยิ่ง และสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนการพนันได้ ถ้ามัน “ง่าย กระตุ้น และลุ้นถี่” มากเพียงพอ
- ง่าย คือ การกำหนดวิธีการร่วมสนุกให้ง่ายที่สุด ลดเงื่อนไขลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ผู้คนตัดสินใจเข้าร่วมแบบไม่ลังเล เช่น ซื้อปุ๊บเปิดปั๊บ ส่งรหัสชิงโชคได้ทันที
- กระตุ้น คือ การใช้รางวัลที่มีมูลค่าสูง ยิ่งสูงมากเท่าไรยิ่งกระตุ้นความสนใจมากเท่านั้น
- ลุ้นถี่ คือ การออกรางวัลที่ยิ่งถี่มาก ยิ่งปลุกความหวังมาก เช่น ออกรางวัลทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน หรือทุกชั่วโมง (สมัยหนึ่งเคยมีรางวัลแบบรู้ผลทันที “รวยเปรี้ยง” เปิดฝาปุ๊บเจอคำแจ็กพ็อตปั๊บ รับรางวัลทันที 1 ล้านบาท ซึ่งต่อมาถูกห้ามดำเนินการ)
ลองจินตนาการดู สินค้าชนิดหนึ่งราคาขายเพียงสิบยี่สิบบาท แต่หากผู้ซื้อส่งเลขใต้ผลิตภัณฑ์มาชิงโชค อาจได้รางวัลเป็นรถยนต์ยี่ห้อหรู หรือบ้านจัดสรร หรือแพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศ หรือทองคำ หรือย่อมลงมาหน่อยอาจได้เป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ล่าสุด ออกรางวัลทุกสัปดาห์ แค่นี้ก็ปลุกเร้าความสนใจแก่ผู้คนได้มากมาย อย่าว่าแต่เด็กเยาวชนเลย ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ตาลุกวาวได้ไม่แพ้กัน
ผลสำรวจทางวิชาการในครั้งนั้นชี้ชัดว่า Lotto Marketing มีอานุภาพคล้ายการเล่นหวย เช่น สร้างความหวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้หากถูกรางวัล บ้างเห็นว่าการร่วมกิจกรรมนี้คุ้มกว่า ง่ายกว่า และสะดวกกว่าการซื้อหวยใต้ดินด้วยซ้ำ แถมเป็นการเล่นหวยแบบไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจริยธรรมด้วย จึงเป็นผลให้ผู้บริโภคกว่า 30% ตัดสินใจซื้อสินค้านั้นเพราะต้องการเสี่ยงโชค ไม่ได้ซื้อเพราะต้องการบริโภค
ประเด็นที่อยากยกมาพินิจพิจารณาก็คือ
หนึ่ง กิจกรรมแถมพกเสี่ยงโชคอยู่ใน “จักรวาลการพนัน” หรือไม่ แม้จะมีองค์ประกอบไม่ครบ คือ ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเดิมพัน แต่ด้วยรางวัลหรือเงื่อนไขอื่นที่ปลุกเร้าและล่อใจ ก็อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจจ่ายเงินโดยมองข้ามความต้องการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค กลับกลายเป็นการจ่ายเงินเพื่อเสี่ยงโชคเพราะหวังรางวัล ถ้าเป็นเช่นนี้ การออกกฎหมายใหม่นี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไปช่วยรับรองให้สิ่งที่เข้าข่ายเป็นการพนันกลับกลายเป็นไม่ใช่การพนัน สร้างการรับรู้ที่บิดเบือนแก่ประชาชน
สอง การสามารถจัดกิจกรรมแถมพกเสี่ยงโชคได้โดยการจดแจ้ง ไม่ต้องขออนุญาต เป็นการอำนวยความสะดวกโดยไม่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ แม้การกำหนดให้ต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายเดิมอาจเป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบธุรกิจการค้าบ้าง แต่ก็มิใช่อุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการประกอบอาชีพ เพียงแต่เป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพึงคิดอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจกำหนดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าของตน ในทางกลับกัน การปลดล็อกให้ใช้ Lotto Marketing ได้โดยมิต้องขออนุญาต อาจนำมาสู่การจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคกันอย่างไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จัดแคมเปญกันอย่างเว่อร์วัง และอาจยากต่อการกำกับตรวจสอบหรือควบคุมของรัฐได้
หลักคิดที่สำคัญสำหรับประเด็นนี้ คือ สิ่งใดก็ตามที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมได้ พึงให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ยาก โดยรัฐไม่มีความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกให้แต่อย่างใด นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพจริง ก็น่าจะส่งเสริมการขายได้ด้วยวิธีการอื่น โดยไม่ต้องใช้การเสี่ยงโชคมาเป็นกลยุทธ์
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การมอบอำนาจให้รัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจประกาศกิจกรรมเสี่ยงโชคต้องห้าม เป็นการฝากความหวังที่เลื่อนลอยเกินไปหรือไม่ หากรัฐมนตรียังไม่ประกาศด้วยเหตุผลหรือข้อจำกัดใดๆ ก็ตาม อาจเกิดภาวะสุญญากาศของการจัดกิจกรรมแถมพกเสี่ยงโชคกันโดยเสรี เหมือนกรณีกัญชาขึ้นมาอีกหรือไม่
ทางที่ดี เพื่อความชัดเจนต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายผู้ประกอบการ ที่ต้องการความชัดเจนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ กฎหมายควรระบุกิจกรรมที่ต้องห้ามไว้ตั้งแต่แรก เช่น
- ห้ามให้รางวัลเป็นเงิน
- เพดานของขนาดหรือมูลค่าของรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกินเท่าไร (เช่น ไม่เกิน 20 เท่าของราคาสินค้า ดังเช่นที่หลายประเทศกำหนด)
- กำหนดความถี่ในการประกาศผู้โชคดี ที่ไม่ควรอนุญาตให้มีความถี่มากเกินไป เช่น ไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือน เป็นต้น
- กำหนดให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการชนิดใด ต้องไม่กำหนดให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าร่วมกิจกรรมได้ (ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.การพนัน)
- ห้ามใช้ถ้อยคำหรือสื่อโฆษณาใดๆ ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจที่บิดเบือนว่าโอกาสในการจะได้รับรางวัลมีมาก หรือยิ่งส่งมากยิ่งมีสิทธิ์ได้รับรางวัลมาก เป็นต้น
ทั้งหลายทั้งปวงนี้เพื่อจูงใจให้ผู้จำหน่ายสินค้ามุ่งไปพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้มีคุณภาพ แทนที่จะมามุ่งกระตุ้นยอดขายด้วยการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค ซึ่งอาจลงทุนไม่มากเท่าแต่ก่อให้เกิดผลกำไรสูง ขณะที่ผู้บริโภคกลับไม่ได้รับสินค้าที่ถูกพัฒนาคุณภาพมากเท่าที่ควร
เป็นความจริงว่าพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 บังคับใช้มาเป็นเวลานาน และอาจมีบทบัญญัติบางประการที่ล้าสมัย สิ่งที่น่าจะทำมากที่สุด คือ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนี้ให้มีความทันสมัย และเพิ่มหมวดว่าด้วยเรื่อง “การจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค” ที่ชัดเจนเข้าไป และกำหนดให้มี “คณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติ” เป็นผู้มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ หรือนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการชี้ชัดความถูกผิดเหมาะสมของการกระทำใดๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค เช่น กล่องสุ่ม ตักได้ใจ หรืออื่นๆ นี่น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการหาหน่วยงานผู้รักษากฎหมาย ที่นอกเหนือจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค