ThaiPublica > คอลัมน์ > ชมรมเพื่อนโบนัส

ชมรมเพื่อนโบนัส

29 มิถุนายน 2022


ธนากร คมกฤส

การเสียชีวิตของ “โบนัส” เด็กหญิงวัย 14 ปีที่จังหวัดพัทลุง เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ และน่าจะถูกหยิบยกมาสร้างอุทธาหรณ์แก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

น่าเห็นใจโบนัสที่ต้องแบกรับเรื่องหนักๆ เกินกว่าที่บุคคลวัยเด็กอย่างเธอจะรับได้ เปรียบเหมือนเธอถูกผู้ใหญ่รอบตัวหย่อนลูกตุ้มหนักๆ ทีละลูกๆ ลงบนบ่า … พ่อแม่แยกทาง พ่อไม่รับเลี้ยง แม่ไม่พร้อมรับผิดชอบ ไปอาศัยกับญาติก็ถูกล่วงเกิน … สุดท้ายถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษา น้ำหนักที่กดทับลงบนบ่าไหล่เล็กๆ คู่นี้ทีละครั้งๆ คงทำให้เธอค่อยๆ จมดิ่งลงในห้วงของความทุกข์ไปเรื่อยๆ

เชื่อได้ว่าโบนัสได้พยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือหลายครั้ง เธอติดต่อขอความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแต่ถูกปฏิเสธ เธอกลับมาขอให้แม่ช่วยกู้เงินมาเรียน แต่ก็กู้ไม่ผ่าน และเกิดการมีปากเสียงรุนแรงกับแม่ เพราะเธออดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากขอร้องให้แม่เลิกเล่นพนัน เธอถูกแม่ไล่ตะเพิดออกมาจากพื้นที่ชีวิตของบุพการี เธอพยายามขอความสงเคราะห์จากรัฐ โดยติดต่อขอมาอยู่ที่บ้านพักเด็กจังหวัด แต่ก็ยังไปไม่สุดของขั้นตอนทางธุรการ และแน่นอนเธอได้ขอความช่วยเหลือจากระบบโรงเรียน แต่ …

ไม่แน่ใจว่าเธอเคยได้รับการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตด้วยหรือไม่? การวินิจฉัยว่าเธอมีภาวะซึมเศร้าเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือสังคมวินิจฉัยกันเอง? เพราะหากเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์แล้ว ก็ถือเป็นการการันตีอย่างชัดเจนว่า เด็กคนนี้กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง และไม่ควรปล่อยให้เธอต้องเผชิญความทุกข์โดยลำพัง

น่าเสียดายที่บรรดามือแห่งความช่วยเหลือ (helping hand) ต่างๆ ที่โบนัสไปขอความช่วยเหลือ ไม่มีฝ่ายไหนยื่นมือมารับเธอเลย ไม่มีใครยินดีช่วยเธอในเวลาที่เธอต้องการ

น่าสังเกตว่าฝ่ายที่ดูจะเป็นผู้เห็นอกเห็นใจเธอมากที่สุด และเป็นผู้รับฟังความทุกข์ของเธอมากที่สุด คือ “เพื่อน” ฟังจากคำบอกเล่าของเพื่อนเธอ โบนัสส่งสัญญาณต้องการความช่วยเหลือชัดมาก แต่น่าเสียดายที่สัญญาณนี้จบลงที่ความรับรู้ของเพื่อน และไปไม่ถึงมือแห่งความช่วยเหลือดังกล่าว

ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเธอเลย ????

ในทางจิตวิทยามีความรู้หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า “การฟังเชิงลึก” (deep listening) หรือเรียกให้สวยๆ อีกแบบว่า “การฟังด้วยหูรู้ถึงใจ” เป็นการฟังที่ลึกกว่าการฟังแค่คําพูด แต่ได้ยินไปถึงสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด เช่น อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ หรือความคิดความเชื่อของเขา ณ ปัจจุบันขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้คน เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักแนะแนว เป็นต้น

แต่เอาเข้าจริง ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นทักษะมนุษย์ที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากต่อสังคม

การฟังเชิงลึก เป็นการใส่ใจฟังผู้พูดอย่างแท้จริง เหมือนว่ามีแค่ผู้พูดอยู่ด้วยกับเราเท่านั้น เป็นการฟังโดยปราศจากการตัดสินว่าเขาเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอย่างนี้ ปล่อยวางจากความเดิมๆ ที่รับรู้หรือเรียนมา แม้กระทั่งความรู้จักว่าผู้พูดเป็นคนมีนิสัยอย่างไร รวมถึงการไม่คาดคะเนต่อสิ่งใดๆ เพื่อให้เป็นการฟังที่ปราศจากอคติและสมมติฐานใดๆ ทั้งมวล (วัลภา ฐาน์กาญจน์ : การฟังอย่างลึกซึ้ง .มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ภาพคร่าวๆ ของกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง แน่นอนว่าเริ่มต้นที่การฟัง ฟังอย่างใส่ใจขณะที่เขาเล่าเรื่อง ไม่ขัด ไม่แย้ง ไม่แทรก ให้เขาเล่าจนพอใจ จากนั้นหากมีบางเรื่องที่ไม่ชัดเจนค่อยถามเขากลับ กระตุ้นให้เขาได้ระบายออกมาอีก เมื่อเขาหยุดเล่าเราก็ทวนความเรื่องราวที่เขาเล่ามา ซึ่งอาจช่วยให้เขาได้เห็นเรื่องราวของตนเองได้ชัดขึ้น

กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างคือ การสะท้อนความ เป็นการสะท้อนกลับไปยังความรู้สึกนึกคิด หรือความต้องการของเขา ณ ปัจจุบันขณะ “เธอกำลังรู้สึกว่า …” “เธอกำลังคิดว่า …” “เธอกำลังต้องการ … อย่างนี้ใช่หรือไม่?” ตั้งใจฟัง ค่อยๆ ถาม ค่อยๆ สะท้อน ค่อยๆ สรุป แล้วให้กำลังใจ

มหัศจรรย์ของการฟังลักษณะนี้ มีพลังสะท้อนกลับไปหาผู้เล่าเรื่องได้มากมาย ทำให้เขามีตัวตน รู้สึกมีคุณค่า และรู้ว่ามีคนเห็นความสำคัญในเรื่องราวของเขา โดยเฉพาะในยามที่เขากำลังต้องการมันอย่างที่สุด

ใครที่เคยชมคลิป “เป้ อารักษ์” คุยกับผู้ให้คำปรึกษา จะเห็นว่าเพียงชั่วเวลาไม่กี่นาที กิจกรรมนี้สามารถเปลี่ยนคนที่กำลังมีน้ำตา ให้มาเป็นคนที่ยิ้มและรู้สึกดีขึ้นได้ (YouTube Samaritans Thailand : “เป้ อารักษ์ กับการฟังที่จะเปลี่ยนชีวิตที่เหลือของเขา” 5 ก.ย. 2558)

ทักษะนี้อาจไม่ง่ายที่แค่คิดก็ทำได้ จำเป็นต้องมีการฝึกกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ยากถึงขนาดที่คนอย่างเราๆ จะเรียนรู้และทำไม่ได้

หากถอยมามองในภาพกว้างของสังคม ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฉายภาพว่า นักเรียนที่อยู่ตรงชั้นรอยต่อ เช่น ชั้นอนุบาลขึ้น ป.1 ชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่พบข้อมูลการเรียนต่อมากถึง 43,060 คน และมีจำนวนนักเรียนในครอบครัวที่มีรายได้น้อย จำนวน 2.2 ล้านคนเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา

ผลสำรวจของยูนิเซฟ พบว่าเด็กนักเรียนในครอบครัวยากจนจะหลุดจากระบบโรงเรียนไปประมาณ 20% เมื่อถึงเวลาเรียนต่อชั้น ม.ต้น และเมื่อถึงชั้นมัธยมปลายจะหายไปอีกเกือบ 48% (“เด็ก Drop out” เหมือนใบไม้ร่วง ภาวะไม่ปกติของการศึกษาไทย. The Active (Thai PBS), 20 ตุลาคม 2021)

โบนัสเป็นกรณีหนึ่ง ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่อาจอยู่ในสภาพคล้ายเธอ

คงจะดีกว่านี้ถ้ามีใครรับฟังพวกเขา และช่วยนำพาสัญญาณขอความช่วยเหลือจากพวกเขาไปส่งถึงมือที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ

เพราะเราเชื่อว่า ในห้วงเวลาที่กำลังรู้สึกอับจน หากคนเรารู้ว่ามีมือที่พร้อมที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ เขาอาจจะไม่คิดสั้น … ไม่ก่ออาชญากรรม ไม่ไปปล้นร้านทอง หรือไม่คิดฆ่าตัวตาย

สังคมควรร่วมกันตั้ง “กองทุนโบนัส” ขึ้นมา เพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิดผู้ฟังอย่างลึกซึ้งจำนวนมาก เป็น “ชมรมเพื่อนโบนัส” ที่ใครก็ได้สามารถมาร่วมเป็นสมาชิกผู้พร้อมฟังเพื่อนร่วมสังคม

ฟังอย่างตั้งใจ ถามด้วยความใส่ใจ และส่งต่อความห่วงใยนั้นไปยังกลไกความช่วยเหลือต่างๆ ที่มีอยู่

ผู้คนควรได้เรียนรู้เรื่องนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู เพื่อนร่วมชุมชน เพื่อนนักเรียน และอื่นๆ ฟังกันด้วยหัวใจความเป็นเพื่อน โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับบทบาทหรือสถานะอะไรที่เป็นทางการ เพราะอาจทำให้เกิดความแข็งกระด้างจนคนทุกข์ใจไม่อยากเข้าใกล้

กิจการพนันทั้งหลายที่กฎหมายสามารถยื่นมือเข้าไปถึง อย่างมวย ม้า สลากกินแบ่ง บ่อนไก่ บ่อนไพ่ บ่อนวัว รวมทั้งคาสิโน หรืออื่นๆ ที่กำลังถูกเสนอให้มีอย่างถูกต้องในสังคม ต้องร่วมจ่ายให้แก่กองทุนโบนัส เพราะการพนันมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้เยาวชนอย่างเธอต้องเดินไปสู่จุดจบด้วยเหตุอันไม่บังควร

ดีที่สุดคือ ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะคิดให้มีการพนันต่างๆ มากขึ้นในสังคม เพราะเราเลี่ยงไม่พ้นแน่นอนว่าจะมีครอบครัวจำนวนหนึ่งหลุดเข้ามาในบ่วงนี้ และจะเกิดเคราะห์กรรมเยี่ยงนี้แก่เด็กและเยาวชน ที่ยังมีหนทางให้เขาได้เดินอีกยาวไกล

มาร่วมเป็นสมาชิก “ชมรมเพื่อนโบนัส” กันเถอะ