ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กกร. ชง 7 มาตรการ จี้รัฐแก้ค่าไฟ-น้ำมันแพง

กกร. ชง 7 มาตรการ จี้รัฐแก้ค่าไฟ-น้ำมันแพง

31 ตุลาคม 2022


“สภาหอการค้าฯ-สอท.-สมาคมธนาคารไทย” ชง 7 แนวทาง จี้กระทรวงพลังงานแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า-น้ำมันแพง โดยเสนอปรับแผน PDP ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ-LNG เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนราคาถูกกว่า ผลิตไฟฟ้าแทน พร้อมปลดล็อกกฎระเบียบในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทุกประเภท – เร่งทำ TPA เปิดให้บุคคลที่ 3 ใช้สายส่งไฟฟ้า-เชื่อมต่อท่อส่งก๊าซตามหลักการค่าเสรี รวมทั้งกำหนดให้มี regulator กำกับดูแลการผลิต-ส่ง-จำหน่ายพลังงาน-เชื้อเพลิงทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด กรณีที่มีผู้ขายน้อยราย หรือ ที่เรียกว่า “oligopoly” – ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจ-ค่าครองชีพประชาชน-เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จากสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมานาน ทำให้ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมทั้งค่าครองชีพของประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว พบว่า “การที่ประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (NG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากเกินไป รวมทั้งขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังลดน้อยลง ทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระต้นทุนค่า LNG ที่ต้องนำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับระบบการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่เป็นแบบ cost plus ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับความเสี่ยงด้านต้นทุนที่สูงขึ้นแทนโรงไฟฟ้า และการที่ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองที่มากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 52% ทำให้เกิดภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าไม่เต็มกำลังการผลิต นอกจากนี้ ยังขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงาน และระบบ third party access ส่งผลให้ธุรกิจพลังงานไม่สามารถเกิดการแข่งขันด้านราคาได้ และไม่สามารถก้าวออกจากการเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายได้ (oligopoly market)”

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้ กกร. ได้มีการหารือร่วมกันทั้ง 3 สถาบัน และได้มีการจัดทำ “ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานสูง” เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ส่งให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณามีทั้งหมด 7 แนวทาง ดังนี้

1. ข้อเสนอแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า และต้นทุนพลังงานแพงในระยะสั้น

    1.1 พิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งที่มีราคาถูก เพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้ดีเซลจากแหล่งเดิมในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งเดิมๆ ที่นำเข้าจากแหล่งที่มีราคาสูง

    1.2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ “ERC” ควรเปิดให้มีระบบการ bidding เพื่อซื้อไฟฟ้าในรอบ 4 เดือน (ตามรอบคำนวณ Ft ) ที่เป็น idle capacity จากโรงไฟฟ้า SPP/VSPP ในราคาที่ต่ำกว่าดีเซล แทนการนำเข้า LNG ทั้ง Long Term LNG และ Spot LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า

    1.3 ทบทวนนำมาตรการการทำ demand response และ energy efficiency ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า รวมทั้งการลด หรือยกเว้นภาษี VAT และอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

2. ปรับนโยบายการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนพลังงานของประเทศ: โดยลดการพึ่งพา LNG เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าและเปลี่ยนมาใช้พลังงานอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า

    2.1 ส่งเสริมแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) สนับสนุนให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการ เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล และนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทน โดยกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับแผน NDC (Nationally Determined Contribution) มุ่งสู่การเป็น carbon neutrality อย่างเป็นรูปธรรม

    2.2 ควรเร่งให้เกิดโรงไฟฟ้า แบบ distributed generation (< 90 MW) แบบ partial-firm ของโรงไฟฟ้า solar และระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system: ESS) ที่มีต้นทุนน้อยกว่า 2.9 บาท/KWh ให้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพราะจะเป็นการตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับต่ำ 2.3 การประมูลโรงไฟฟ้าในอนาคต ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซหรือถ่านหิน จะต้องพิจารณาโครงสร้างราคาและความเสี่ยงของผู้ผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมารับภาระความเสี่ยงเรื่องราคาของเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าทั้งหมด 2.4 ชะลอการ COD ของโรงไฟฟ้า IPP ที่ยังไม่ก่อสร้างออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของโรงไฟฟ้า

3. ปลดล็อกระเบียบและอุปสรรคในการเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

    3.1 สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เอง ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม (independent power supply : IPS) และผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในกิจกรรมของตนเอง (in-plant utility : IPU) โดยเสนอให้ภาครัฐควรปลดล็อกระเบียบใดๆ ที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเร่งอนุมัติมาตรการส่งเสริมของ BOI, ใบอนุญาต รง.4, ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และอื่นๆ ให้รวดเร็ว สำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทุกประเภท เพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าเดิมที่มีต้นทุนสูง

    3.2 ส่งเสริมให้โรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เอง โดยใช้ระบบ net metering มาใช้กับ solar ที่ใช้เองในภาคอุตสาหกรรม

4. เร่งการเปิดให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (TPA — third party access) เพื่อให้ระบบเครือข่ายพลังงานของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเร่งให้เกิดการทำ third party assessment (TPA) ทั้งสายส่งไฟฟ้าและท่อย่อยของก๊าซธรรมชาติโดยด่วน เพื่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำในการโหลดใช้งาน และมีการใช้สายส่งไฟฟ้าและท่อย่อยของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ได้ลงทุนไปแล้วอย่างคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ

5. ควรมีหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานและส่งเสริมตลาดแข่งขันอย่างแท้จริง และเป็นธรรม ทั้งในส่วนของการผลิต, ส่ง, จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานของรัฐ หรือ ภาคเอกชน ควรต้องมี regulator มาคอยกำกับเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาดในรูปแบบของผู้ขายน้อยราย (oligopoly market)

6. กำหนด transition period ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดการพึ่งพา LNG โดยการประกาศนโยบายที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น “new demand” หรือ “old demand” ต้องรับต้นทุนใหม่ของก๊าซธรรมชาติ สำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะ COVID-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้โรงงานต่างๆ ได้มีเวลาปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และควรจะมีเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

7. ควรส่งเสริม risk management ด้านพลังงานของประเทศ ด้วยการเพิ่มทางเลือกของพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ โดยส่งเสริมให้มีพลังงานทางเลือกมากกว่า 1 ชนิด นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ เช่น พลังงานหมุนเวียน (renewable energy), น้ำมันเตา, LPG, ถ่านหิน (โรงงานเดิม) เพื่อพร้อมใช้งานสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยของให้รัฐสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ดังนี้

    7.1 กฎระเบียบที่เอื้อต่อการใช้พลังงานทางเลือก ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การใช้งาน และการกักเก็บ

    7.2 สนับสนุนเงินลงทุน หรือการลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และอุปกรณ์ รวมทั้งระบบ logistics เช่น ระบบท่อส่ง เป็นต้น

    7.3 ส่งเสริมให้มีคณะทำงานจัดทำแผนพลังงานของภาคอุตสาหกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

โดย กกร. ได้ทำหนังสือที่ กกร. 177/2565 นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน ตามที่กล่าวข้างต้น ส่งให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานในการดึงดูดการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป ลงชื่อ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

  • หมดยุคค่าไฟถูก (ตอนที่ 1) : ก๊าซอ่าวไทยกำลังจะหมด
  • กฟผ.แบกค่าเชื้อเพลิงเกือบ1 แสนล้าน วอนรัฐช่วย แจงกำไรสะสมไม่ใช่เงินสดพยุงค่าไฟฟ้าไม่ได้
  • “ประวิตร” ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง เซฟงบฯ ประกันรายได้ — มติ ครม. ให้ กฟผ. กู้ 8.5 หมื่นล้าน แบกค่าไฟแทน ปชช.
  • กพช.ยกเลิกเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมัน-ปรับสูตร ‘Pool Gas’ ตรึงค่าไฟ
  • นายกฯ สั่งเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า – มติ ครม. ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯ กู้ 1.5 แสนล้านใช้หนี้หมดปี’72
  • ttb analytics ห่วงน้ำมันแพง ดันต้นทุนโลจิสติกส์/GDP ไทยแตะ 14.1%