ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > หลุมดำพลังงานไทย (2): ชี้ต้นตอข้อมูลถูกบิดเบือน-อดีตปลัดพลังงานเสนอ 13 แนวทางฝ่าวิกฤติ

หลุมดำพลังงานไทย (2): ชี้ต้นตอข้อมูลถูกบิดเบือน-อดีตปลัดพลังงานเสนอ 13 แนวทางฝ่าวิกฤติ

9 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 คณะนักศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 (วพม.4) สถาบันวิทยาการพลังงาน จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หลุมดำ…พลังงานไทย”

ต่อจากตอนที่1จากเสียงของคนบางกลุ่มที่เคยออกมาคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนทำให้แผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมล่าช้ากว่ากำหนด ขยายวงไปถึงการต่ออายุสัญญาแหล่งเอราวัณ-บงกชที่กำลังจะสิ้นสุดลง ต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ภายหลัง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว สถานการณ์ของพลังงานไทยจะเดินหน้าออกจากหลุมดำได้หรือไม่

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สมัยที่ตนเรียนวิศวกรรมปิโตรเลียมและธรณีวิทยา คำว่า “หลุมดำ” คือ สิ่งที่นักลงทุนปรารถนา หากพบน้ำมันจะใช้สัญลักษณ์เป็น จุดดำๆ (Oil Well) แต่ถ้าพบก๊าซแทนสัญลักษณ์ด้วยพระอาทิตย์ (Gas Well)

ดร.คุรุจิตกล่าวต่อว่า ในช่วงที่ 2 ปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊กมากมาย เช่น ประเทศไทยผลิตก๊าซได้วันละ 3,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ข้อเท็จจริงมีการรวมกำลังการผลิตที่ JDA เข้าไปด้วย ทั้งนี้เพื่อจะตอกย้ำว่าประเทศไทยผลิตก๊าซมากกว่ากลุ่มโอเปก รัฐควรจะเก็บภาษีได้มากกว่านี้ แต่ข้อเท็จจริงนั้น โอเปกเป็นประเทศส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ไม่ใช่ส่งออกก๊าซธรรมชาติ คนที่เรียนวิศวกรรมปิโตรเลียมจะทราบดี แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติจะมีต้นทุนจะสูงกว่าแหล่งผลิตน้ำมัน ยกตัวอย่าง กลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันแล้วได้ก๊าซธรรมชาติเป็นผลพลอยได้ กรณีนี้มีต้นทุนต่ำกว่า แต่ประเทศไทยมีแหล่งผลิตก๊าซได้อย่างเดียว ต้นทุนจึงสูงกว่า ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาจึงเป็นหลุมดำพลังงานไทย ถือเป็นอวิชชา เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และยังไปบิดเบือนข้อมูลพลังงาน ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า ทั้งการลงทุนด้านปิโตรเลียม โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ แม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็ยังเคยถูกประท้วงเลย

“รวมทั้งข้อความที่พบบ่อยมีปริมาณสำรองก๊าซเป็นจำนวนมาก แต่กราฟที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ปริมาณสำรองทั้งก๊าซและน้ำมันดิบของโลกที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายๆ แต่จะผลิตได้มากเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่ากับปริมาณความต้องการใช้ ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกามีปริมาณสำรองมากที่สุด แต่มีปริมาณความต้องการใช้มากกว่าจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในระยะหลังค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ อย่างเชลล์ออย หรือ เชลล์แก๊ส จึงถูกนำมาใช้ทดแทนการนำเข้า” ดร.คุรุจิตกล่าว

สำหรับสถานการณ์ของพลังงานไทยในขณะนี้ ดร.คุรุจิตกล่าวว่า ที่ทำได้ดีและควรรักษาไว้ให้ดีต่อไป การซื้อ-ขายน้ำมันอย่างเสรี มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเปิดให้บริการสถานีจำหน่ายน้ำมันหลายยี่ห้อ ราคาน้ำมันปรับขึ้น-ลงตามราคาตลาด, ปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน ให้มีราคาเดียว, กำกับค่า Ft ทุกๆ 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น-ลงอย่างโปร่งใส และล่าสุดกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถนำไปใช้หาเสียงทางการเมืองเหมือนในอดีต

ด้านการจัดหาพลังงาน มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) ขยาย LNG Terminal เพื่อรองรับกำลังการผลิตก๊าซที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ถึงแม้จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมทั้งเดินหน้าสัมปทานแหล่งผลิตเอราวัณ-บงกช ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงต้องเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้บริการท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เพื่อเพิ่มการแข่งขัน หาก ปตท. นำเข้าน้ำมันมาแพง ก็อาจมีผู้ประกอบการรายอื่นนำเข้าได้ในราคาถูกกว่ารายอื่น, เปิดเสรีการนำเข้า LPG แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม, ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน, แก้ปัญหาโซลาร์ฟาร์ม เปลี่ยนเป็น FIT หากไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนก็ให้ยกเลิก รวมทั้งจัดลำดับพลังงานทดแทนตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบสายส่ง

หากต้องการให้สุขภาพพลังงานไทยมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ยั่งยืน ดร.คุรุจิตเสนอให้ควรเร่งดำเนินงานดังนี้

    1. เร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่ล่าช้ามานานเกือบ 5 ปี เนื่องจากเกิดความแตกแยกทางความคิด ไม่เข้าใจข้อมูล ซึ่งรัฐบาลก็ต้องรับฟัง ไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องหยุดชะงัก กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก็ยกข้อกล่าวหาที่รุนแรง ก็ต้องมาดูว่าแรงจริงหรือเปล่า

    2. เร่งจัดเปิดประมูลแหล่งก๊าซที่สัมปทานกำลังจะหมดอายุ

    3. เร่งเปิดให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น นอกจาก ปตท. เพื่อให้เกิดการแข่งขัน

    4. การจัดหาไฟฟ้า ตามแผน PDP ระบุต้องใช้ถ่านหิน 20-25% ก็เท่าเดิมที่มีอยู่ หรืออาจจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย

    5. กระจายความเสี่ยงจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศให้เหมาะสม ทุกวันนี้มุ่งแต่ซื้อลาว เพราะมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในลาวมาก ควรกระจายไปพม่า กัมพูชา

    6. ควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามแผน PDP

    7. มาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากทำได้ตามแผน PDP ปริมาณก๊าซ CO2 ก็ลดลง ควรรักโลกแบบมีสติ ไม่ใช่ปฏิเสธทุกอย่าง

    8. การใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปช่วยลดต้นทุน ส่งเสริมการลงทุนในสิ่งที่ไม่กล้าทำ เช่น Energy Storage

    9. สร้างระบบขนส่งมวลชน แบบครบวงจร ลดการใช้รถยนต์

    10. ผมอยากเห็นมาตรการการคลัง ขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อลดปริมาณการใช้และลดการนำเข้า

    11. ร่วมมือกับต่างประเทศ แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

    12. เตรียมเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

    13. ต่อยอดพลังงานชีวภาพ เราเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

“เร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 2 ภายหลัง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ฝ่ายที่คัดค้างก็ต้องยอมรับ เพราะมีเพิ่มทางเลือกให้ตามข้อเรียกร้อง ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต แต่จะเลือกแบบไหนก็ต้องระมัดระวัง เลือกเหมาะกับประเทศไทย ต่อคำถามที่ว่า ควรให้ผู้สัมปทานเดิมทำต่อไปดีหรือไม่ แหล่งผลิตก๊าซที่สัมปทานกำลังจะหมดอายุ เปรียบเสมือนรถแท็กซี่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ตอนนี้ใช้มาแล้ว 9 ปี นำไปปรับปรุงเพื่อให้ขับต่อไปให้ได้ 15 ปี เครื่องยนต์ก็อาจสะดุดบ้าง ทำอะไรก็ไม่คล่องแคล่ว ซึ่งเรากำลังจะทำให้รถเก่าๆ วิ่งได้เร็วและใช้งานได้นานขึ้น แต่ค่าโดยสารต้องมีราคาถูกลง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องนี้มันจบไปแล้ว นายกรัฐมนตรีและ กพช. ตัดสิน เปิดประมูลใหม่ ก็ต้องยอมรับกติกา และต้องมั่นใจประมูลไปแล้วต้องดำเนินการได้ ไม่ใช้ประมูลเพื่อนำไปขายต่อ ผู้ที่ประท้วงก็ต้องรับฟังคนที่เชี่ยวชาญในวิชาชีพนี้ด้วย” ดร.คุรุจิตกล่าว

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้า สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วง คือ เรื่องเสถียรภาพของไฟฟ้าและต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวอยู่ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคต จากกระแสของยานยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟ ก็อาจจะหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานขับเคลื่อนมากขึ้น ทำให้เป็นห่วงว่าอุปทานของพลังงานในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่

“ส่วนเรื่องเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า ภาคเอกชนอยากมีพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนและสร้างเสถียรภาพการใช้พลังงานในระยะยาวให้ได้ มิฉะนั้น ก็จะมีภาคเอกชนบางส่วนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่เสถียรภาพสูงมาก ระดับเสี้ยววินาที อาจจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้เอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น” นายเจนกล่าว