ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกฯสิงคโปร์ชี้ “หมดยุคทองของโลกาภิวัฒน์”

ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกฯสิงคโปร์ชี้ “หมดยุคทองของโลกาภิวัฒน์”

28 กันยายน 2022


ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า ยุคทองของโลกาภิวัตน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

นายลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์กล่าวว่า ยุคทองของโลกาภิวัตน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในการเดินหน้าของโลกกำลังเริ่มขึ้น

แม้ประเทศต่างๆ จะยังไม่หันกลับไปใช้มาตรการกีดกันและการปกป้องทางการค้า(protectionism)อย่างเต็มที่ แต่ธุรกิจต่างๆ ได้รับอิทธิพลมากขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ นายหว่องกล่าวในการเสวนา Forbes Global CEO Conference ที่สิงคโปร์เมื่อคืนวันจันทร์(26 ก.ย.) โดยชี้ไปที่ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์และประเทศสมาชิกรายอื่นของอาเซียนต้องการความสัมพันธ์ที่สมดุลกับทั้งสหรัฐฯ และจีน และต้องการให้ทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้ “ด้วยข้อดีของอาเซียนเอง” มากกว่าที่จะผ่านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

“ตรรกะเดิมนั้น ประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน อันที่จริงแล้ว สิ่งที่คาดหวัง คือ ยิ่งเราค้าขายและลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เราจะลดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ลง” นายหว่องกล่าว

“จำทฤษฎีของแมคโดนัลด์ได้ไหมว่า ที่ๆแมคโดนัลด์มีทุกที่ จะไม่มีสงคราม? แต่นั่นก็กลายเป็นประวัติศาสตร์และจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์”

ตอนนี้ก็มีตรรกะที่ต่างออกไป …

ยุคทองของโลกาภิวัตน์ที่เราพบเจอในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงอย่างชัดเจน และเรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคใหม่ที่จะถูกขีดเส้นโดยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น

หากการพัฒนาการเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องปกติ โลกจะเป็นอันตรายและแตกหักมากขึ้น

ด้านความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนและภาคธุรกิจนั้น นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์จะยังคงทำงานร่วมกับทั้งสหรัฐฯ และจีนต่อไปโดยไม่มีเข้าเข้าฝ่ายใด พร้อมเสริมว่า โอกาสที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะพบปะกันก็มีความเป็นไปได้

“การที่สามารถมาพบปะกันแบบเจอตัว จะสามารถสร้างแนวทางใหม่(modus vivendi)ระหว่างทั้งสองประเทศ และตระหนักว่าจริงๆ แล้ว โลกนี้ใหญ่พอสำหรับจีนและสหรัฐอเมริกา และทั้งสองประเทศไม่จำเป็นต้องทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นปฏิปักษ์กัน” นายหว่อง กล่าว

นายหว่องเตือนว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาและจีน

“และหากไม่สามารถทำให้มีการเชื่อมต่อและการสื่อสารระดับประชาชน มันง่ายมากที่จะวาดภาพให้ว่าอีกฝ่ายเป็นคนเลว เราเป็นคนดี และทั้งสองฝ่ายทำอย่างนั้น”

“และคุณมีคนรุ่นหนึ่งที่เติบโตมาและคิดแบบนั้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีก 50 ปีต่อจากนี้อีก 30 ปีต่อจากนี้? ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่เราควรกังวล”

แม้การมีส่วนร่วมในเชิงบวกไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี “การแข่งขันที่รุนแรง” ระหว่างทั้งสองประเทศ แต่การทำงานร่วมกันจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในประเด็นบางด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ นายหว่อง กล่าว

ผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมการเสวนาเห็นพ้องกันว่า ความแตกแยกที่กว้างขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ

“มองจากภาพสะท้อนอีกด้าน จีนเพิ่งหายช็อกจากอเมริกา” Cheah Cheng Hye ประธานร่วมของ Value Partners Group บริษัทจัดการกองทุนที่จดทะเบียนในฮ่องกง กล่าวในการเสวนา

“คนจีนรุ่นที่อาจจะเกิดในรุ่นสุดท้าย หลายคนมีอุดมคติแบบอเมริกาและมีวิถีชีวิตแบบอเมริกัน เป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับชาวจีนในตอนนี้ที่ถูกปฏิเสธจากอเมริกาและถูกแบ่งแยกเชื้อชาติ มีความกระจ่างมากขึ้น และมีสิ่งเราจะทำอย่างไรต่อไปมากมาย”

Ng Kok Song ประธานผู้ก่อตั้ง Avanda Investment Management อดีตประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ GIC แห่งสิงคโปร์กล่าวว่าสหรัฐฯ และจีนได้รับประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ทางการเงินซึ่งกันและกัน

Ng กล่าวว่า การศึกษาแสดงให้เห็นว่าบริษัทอเมริกันในดัชนี S&P 500 จำนวนมากได้รับประโยชน์จากการเติบโตของจีนทั้งในด้านรายได้และขนาด

John Studzinski รองประธานและกรรมการผู้จัดการของ Pimco บริษัทจัดการด้านการลงทุนของสหรัฐฯ กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า จีนได้เปิดรับเงินทุนและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเข้าสู่ตลาดในประเทศ

  • “ลอว์เรนซ์ หว่อง” ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนต่อไป