ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม” ระดมพล – ยานพาหนะ เร่งระบายน้ำท่วม -มติ ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จว. สูงสุด 354 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้

“บิ๊กป้อม” ระดมพล – ยานพาหนะ เร่งระบายน้ำท่วม -มติ ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จว. สูงสุด 354 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้

13 กันยายน 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กป้อม” ดึงชุมชนทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางแก้ปมยาเสพติด-สั่งระดมพล – ยานพาหนะ เร่งระบายน้ำท่วม – สั่งพลังงานหนุน ปชช.ติด “โซลาร์รูฟทอป” – มติ ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จว. สูงสุด 354 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้-ลดอัตราภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท อีก 2 เดือน-จัดงบกลาง 933 ล้าน จ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 2.35 ล้านคน-จ่ายเงินอุดหนุนชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์สูงสุดไร่ละ 4,000 บาท

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม พลเอก ประวิตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการต่อสื่อมวลชนแทนรองนายกรัฐมนตรี

ปลื้มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

พลเอกประวิตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม.วันนี้ว่า “รัฐบาลได้สั่งการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนเรื่องดี ๆ คือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัญหายาเสพติดก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานและข้าราชการทุกคนรับผิดชอบ ถ้าไปเจอผู้เสพยาเสพติด ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ให้โทรถึงหน่วยงาน 1567 หรือ 191 โดยทันที”

ระดมพล – ยานพาหนะ เร่งระบายน้ำท่วม-ช่วย ปชช.

ด้านนายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของพลเอกประวิตร เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งให้ลงพื้นที่สำรวจและช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว และเน้นย้ำให้หน่วยงานปฏิบัติ 13 มาตรการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เพื่อรับมือฤดูฝน พร้อมกำชับให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เร่งระดมสรรพกำลังยานพาหนะเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที รวมทั้งเร่งรัดการระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

“พลเอกประวิตร ได้ฝากไปยังหลายหน่วยงานให้มีความมุ่งมั่น ร่วมใจ ร่วมแรงปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง” นายอนุชา กล่าว

ดึงชุมชนทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางแก้ปมยาเสพติด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอกประวิตรมีข้อสั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการปราบปราม ดำเนินคดี ขยายผล ยึดทรัพย์เครือข่ายผลิต ผู้คนลำเลียง และผู้ค้ายาเสพติดอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อให้สังคมปลอดยาเสพติด รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลดจำนวนผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติดยา

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ทุกชุมชนและทุกหมู่บ้านจะเป็นศูนย์กลางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมาตรการเชิงรุก ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยต้องค้นหาผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด รักษา และเน้นการบำบัดรักษาโดยชุมชนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด แต่กรณีผู้ติดยามีอาการทางจิตให้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกันนำตัวเข้ากระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนและชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดทำนโยบายและแผนให้ครอบคลุมเรื่องการปราบปราม ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ครบทุกมิติ โดยมีตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ และติดตามการประเมินผลโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

พลเอกประวิตร ยังเน้นย้ำถึงข้าราชการว่า ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความสุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นอันขาด หากมีข้าราชการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะถูกลงโทษสถานหนัก

สั่งพลังงานหนุน ปชช.ติด “โซลาร์รูฟทอป”

นายอนุชา กล่าต่อว่า พลเอกประวิตรสั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการการทำงาน เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟทอป” ให้ได้เร็ว เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดให้เป็นทางเลือกในการใช้พลังงานของประชาชน รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง

มติ ครม.มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล , ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จว. สูงสุด 354 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 – 354 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ดังนี้

  • 354 บาท/วัน จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
  • 353 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • 345 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
  • 343 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
  • 340 บาท/วัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
  • 338 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
  • 335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
  • 332 บาท/วัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี
  • 328 บาท/วัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี
  • ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการ ฯ ได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ การพิจารณายังอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณา เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อ ให้ นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป

    ลดอัตราภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท อีก 2 เดือน

    นายอนุชา กล่าว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) …. เป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันประมาณ 5 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2565 – 20 พฤศจิกายน 2565

    ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆที่คล้ายกันนี้ เพื่อเป็นการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อประชาชนที่ต้องรับภาระค่าของชีพที่สูงขึ้น และเพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งเพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่า รายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งการดำเนินการระยะเวลา 2 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้น การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ไม่ให้สูงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

    ขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเตา-ดีเซลผลิตไฟฟ้าอีก 6 เดือน

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) …. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซ และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน รวมถึงน้ำมันเตา ที่โรงไฟฟ้าใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมด ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 เพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่า จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งสิ้นรวม 1,436 ล้านบาท แบ่งเป็น สรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) ประมาณ 1,400 ล้านบาท และจากน้ำมันเตาประมาณ 36 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรายได้ที่สูญเสียดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปรวมในเป้าหมายตั้งแต่ต้น ในทางกลับกันไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดเก็บภาษีอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในครั้งนี้ จะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่สูงมากเกินสถานการณ์ ส่งผลต้นทุนการผลิตในทุกอุตสาหกรรมก็จะไม่เพิ่มสูงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

    ลดค่าไฟฟ้าต่อถึงสิ้นปี’65

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนด้านพลังงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์พลังงานไปจนถึงเดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วย การขยายมาตรการที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 รวมทั้งมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft รายละเอียด ดังนี้

    การขยายมาตรการไปถึงเดือนธันวาคม 2565

    1. มาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซ LPG ประกอบด้วย การขยายระยะเวลาส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาท/คน/ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาท/คน/ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มประมาณ 5.5 ล้านราย งบประมาณประมาณ 302.5 ล้านบาท

    2 มาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเชล คงอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 เพื่อบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

    สำหรับ มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ดังนี้

      (1) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ส่วนลดค่า Ft จำนวน 92.04 สตางค์/หน่วย
      (2) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301 – 500 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft ร้อยละ 75 จำนวน 51.50 สตางค์/หน่วย
      (3) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351 – 400 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 45 คือ จำนวน 30.90 สตางค์ต่อหน่วย/เดือน
      (4) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401 – 500 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 15 คือ จำนวน 10.30 สตางค์/หน่วย คาดว่า จะใช้งบประมาณ 9,128.41 ล้่านบาท

    “มาตรการบรรเทาผลกระทบหลายมาตรการจสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่ แนวโน้มสถานการณ์ที่ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาค่าไฟฟ้า รัฐบาลจึงตั้งใจจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนทั่วไป และประชาชนที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย” นายอนุชา กล่าว

    จัดงบกลาง 933 ล้าน จ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 2.35 ล้านคน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 933.6 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพิ่มเฉพาะในรอบเดือนกันยายน 2565 จำนวน 2,354,558 คน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ได้รับจัดสรรมานั้น ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนฯ ในรอบเดือนกันยายน 2565 ที่เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการณ์ไว้ ที่ผ่านมา ครม. เคยมีมติอนุมัติงบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมาแล้ว 6 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,498.6 ล้านบาท

    ทั้งนี้ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพและมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี ที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ปี ในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน นับเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลส่งผ่านบิดา มารดา หรือผู้ปกครองไปยังเด็กแรกเกิด

    จ่ายเงินชาวนาหนุนปลูกข้าวอินทรีย์สูงสุดไร่ละ 4,000 บาท

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,747.90 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินอุดหนุนเกษตรกรของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2563 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์นี้ กรมการข้าวได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 – ปัจจุบัน มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 58 จังหวัด 5,818 กลุ่ม รวม 130,082 ราย มีพื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์รวม 1,209,911 ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยรายได้จากการผลิตข้าวที่ได้ผลผลิตลดลงในระยะเริ่มต้นของการผลิตระบบอินทรีย์ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ในอัตราตามที่กำหนด คือ 1.เกษตรกรที่ผ่านการประเมินเตรียมความพร้อม (T1) ไร่ละ 2,000 บาท 2. เกษตรกรที่ผ่านการประเมินระยะปรับเปลี่ยน (T2) ไร่ละ 3,000 บาท และ 3. เกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand (T3) ไร่ละ 4,000 บาท

    สาเหตุที่จ่ายเงินชดเชยรายได้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลื่อมปีงบประมาณนั้น เนื่องจากการผลิตข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมของทุกปี ทำให้การตรวจประเมินระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และการจ่ายเงินอุดหนุนจะแล้วเสร็จก็ข้ามปีงบประมาณ อีกทั้งในปี 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2564 มาแล้ว 450 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอเสนออนุมัติงบกลางเพื่อใช้จ่ายในโครงการต่อไป

    ไทยจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา 16 ก.ย.นี้

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 7 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ในวันที่ 16 กันยายน 2565 ณ กระทรวงมหาดไทย ร่างบันทึกการประชุมฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการหารือร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารระดับสูงในพื้นที่ที่มีเขตแดนติดต่อกัน ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสอดคล้องกับเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล รวมถึงเป็นการสานต่อความร่วมมือด้านต่างๆ ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงกันไว้แล้ว โดยมีประเด็นความร่วมมือหลากหลายมิติ จำนวน 18 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการข้ามแดน 2. การบริหารจัดการการสัญจรข้ามแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) 3. ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน 4. การคมนาคมขนส่ง 5. ความร่วมมือด้านการเกษตรบริเวณชายแดน 6. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม 7. ความร่วมมือด้านแรงาน 8. การบริหารจัดการจุดผ่านแดน 9. การสาธารณสุขและการพัฒนาชุมชน 10. การจัดการภัยพิบัติ 11. การลักลอบตัดไม้โดยผิดกฎหมาย 12. การดำรงรักษาสิ่งแวดล้อมชายแดน 13. การป้องกันและการปราบปรามอาชญากรรมบริเวณชายแดน 14. ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด 15. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 16. ความร่วมมือเมืองพี่เมืองน้อง/เมืองพี่เมืองน้องระดับจังหวัด 17. กลไกความร่วมมือระดับจังหวัดและท้องถิ่น และ 18. เรื่องอื่น ๆ

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา นี้ เป็นกลไกที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งสองฝ่าย ที่มุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ สาธารณสุข การท่องเที่ยว รวมถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยของทั้งสองประเทศอีกด้วย

    เห็นชอบจุดยืนไทยต่อที่ประชุม UNGA ครั้งที่ 77

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างเอกสารท่าทีไทย สำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (United Nations General Assembly : UNGA) ครั้งที่ 77 ซึ่งจัดประชุมขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2565 ตามเวลานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักในการประชุม คือ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง : ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน” (A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges) ซึ่งไทยพร้อมแสดงท่าทีในการประชุม รวมทั้งสิ้น 9 หมวด ประกอบด้วย

      หมวด A การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ติดตามประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียน และการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นและบทบาทของประเทศไทยในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความร่วมมือใต้-ใต้เพื่อการพัฒนา การพัฒนาสังคม ความก้าวหน้าของสตรี เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความมั่นคงทางอาหาร
      หมวด B การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ย้ำบทบาทที่แข็งขันและต่อเนื่องของประเทศไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสันติภาพของสหประชาชาติ การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน
      หมวด C การพัฒนาทวีปแอฟริกา ย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทย อาทิ 1.กระชับความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง 2.รักษาและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ 3.ผลักดันความเชื่อมโยงคมนาคมทางอากาศและทางทะเลระหว่างไทยกับภูมิภาคแอฟริกา
      หมวด D การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับรายงานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้เปราะบาง รวมทั้งเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ
      หมวด E การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นกรณีพิเศษ และให้ความสำคัญกับความร่วมมือและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยประเทศไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการประสานงานให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค
      หมวด F การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) และรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law – UNCITRAL) โดยสนับสนุนการทำงานในการยกร่างและรับรองเอกสารต่าง ๆ
      หมวด G การลดอาวุธ สนับสนุนประเด็นการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
      หมวด H การควบคุมยาเสพติด ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ โดยเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบองค์รวมและสมดุล
      หมวด I การบริหารองค์การและอื่นๆ ให้ความสนใจกับประเด็นสุขภาพโลกและนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นบทบาทนำของประเทศไทยด้านสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage – UHC) และให้ความสำคัญกับงานด้านบริหารองค์การ

    ขยายเวลาออก CI รับรองแรงงานเมียนมาถึง 13 ก.พ.ปีหน้า

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ให้แก่แรงงานเมียนมา ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ทางการเมียนมาดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคลฉบับเดิม ขยายเวลาดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งกรณีที่ทางการเมียนมาจะเพิ่มการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เพื่อพิจารณาออกเอกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานเมียนมาที่ได้รับอนุญาตทำงานเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารประจำตัว ก็ให้ขยายถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง และจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ร่วมดำเนินการในพื้นที่เดียวกับทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัดข้างต้น ในการพิจารณาอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานเมียนมาที่มาดำเนินการขอมีเอกสารรับรองบุคคล ณ สถานที่ดังกล่าว หากทางการเมียนมาร้องขอสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่การออกเอกสารรับรองบุคคล ให้ทางการเมียนมามีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

    “มติเห็นชอบการออกเอกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานเมียนมาของวันนี้ เพื่อให้แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคลฉบับเดิมและที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ได้รับสิทธิการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและการอนุญาตทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์สวัสดิการคุ้มครองสิทธิที่พึงได้รับ รวมทั้งสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้หลังจากที่วาระการจ้างงานสิ้นสุดลงหรือไม่ประสงค์จะทำงานอีกต่อไป ตลอดจนเป็นการลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องหากเอกสารประจำตัวสิ้นสุดอายุลง อันจะทำให้เกิดภาระการติดตามตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และงบประมาณที่ต้องใช้” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เห็นชอบรับทุน USTDA ยกระดับภูเก็ต สู่ “เมืองอัจฉริยะ”

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการ ร่างข้อตกลงการรับทุน (Grant Agreement) โครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Trade and Development Agency: USTDA) ที่เสนอโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    โดยข้อตกลงรับทุน มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี วัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ ในการศึกษา และจัดทำแผน ความช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance) ให้แก่โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ และช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นในจังหวัดภูเก็ต 2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาต่อยอดระบบการจัดเก็บและพัฒนาข้อมูลของเมือง (City Data Platform) การพัฒนาศูนย์บัญชาการ สถานการณ์และเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Command Center) การประเมินโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และ ให้ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม และ 3.เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาทักษะด้านเทคนิคที่จำเป็น และสนับสนุน การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

    และขอบเขตความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงการรับทุนฯ ได้แก่ 1. ร่วมดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภูเก็ต เพื่อศึกษาและเสนอแผนความช่วยเหลือด้านเทคนิคให้แก่โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ และช่วยให้ข้อเสนอแนะ ด้านนโยบายต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นในจังหวัดภูเก็ต 2. ให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิคโดยละเอียด พร้อมแผนการดำเนินการที่สามารถ นำไปปฏิบัติได้ พร้อมแนวทางเลือก สำหรับการวางแผนการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และการออกแบบ บริการที่มุ่งปรับปรุงการเข้าถึงดิจิทัลของจังหวัดภูเก็ต และการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยจะสนับสนุน ให้เกิดการกำหนดข้อกำหนดของระบบ แพลตฟอร์ม และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการรวบรวมข้อมูล และ ทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปรับปรุงในอนาคต

    แจงผลงาน 5 กระทรวง หนุนเกษตรกรขายสินค้าออนไลน์

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมและมติคณะกรรมการติดตามการดำเนินการงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) และเดินหน้าดำเนินการต่อตามข้อเสนอแนะในเรื่องการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีการบูรณาการร่วมกันทำงานทั้ง 5 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรทรวงมหาดไทย

    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตร 9 หมวดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ โดยมีมูลค่าการจำหน่ายสะสม 444.29 ล้านบาท และผ่านช่องทาง Coopshopth.net และ Coop-mart.net ซึ่งในปี 2565 มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรอยู่บนแพลตฟอร์มฯ แล้วกว่า 500 ราย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับปรุงและส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมขน เช่น ส่งเสริมช่องทางการค้าออนไลน์ผ่าน http://agrimark.dit.go.th และ Thaitrade.com จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่มี 8 ประเทศเข้าร่วมเจรจา ได้แก่ ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เมียนมา อินเดีย และไต้หวัน ทำให้เกิดการเจรจา 59 คู่ มีมูลค่าคาดการณ์ภายใน 1 ปีถึง 116.71 ล้านบาท

    สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พัฒนาระบบคำนวณโครงสร้างราคาอัตโนมัติ เพื่อให้ร้านค้าสามารถกำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ถูกต้องและได้รับอนุมัติการนำสินค้ามาจำหน่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีการจัดทำระบบการแจ้งเตือนร้านค้าผ่าน Line Notification เพื่อให้ร้านค้าได้รับแจ้งเตือนคำสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ รวมถึงแจ้งเตือนทางระบบร้านค้า Thailand Postmart โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ปัจจุบันมีผู้ขายสินค้า 6,696 ร้านค้า มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เช่น ข้าวสาร ผลไม้ตามฤดูกาล น้ำผึ้ง กาแฟ เครื่องดื่มสมุนไพร และอาหารแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรปลอดภัยเพื่อยกระดับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร 90 กลุ่มใน 9 จังหวัด และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 80 กลุ่มใน 8 จังหวัด

    ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล “ระบบเชื่อมโยงผลผลิตการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน (Farm to School)” เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน โดยแบ่งผู้ใช้งานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียน เกษตรกรปลูกพืช และผู้จัดหาผลผลิต/วิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ได้นำระบบ Farm to School ไปใช้งานนำร่องการใช้งานระบบดังกล่าว ณ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายเกษตรกรแกนนำ อำเภอจอมพระ อำเภอลำดวน และอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

    สำหรับความคืบหน้าในการสนับสนุนสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร นั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 256 ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ 167 ราย ในพื้นที่ 36 จังหวัด บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาจนเกิดผู้ประกอบการระดับ Startup companies จำนวน 43 ราย ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน 25 เรื่อง และส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเกษตรกรรุ่นใหม่ เช่น ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต โดยมีสถาบันอุดมศึกษาได้รับการคัดเลือก 42 สถาบัน เช่น สาขาอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรและเครื่องมือ 214 รายการ เช่น หุ่นยนต์ทำนา “หนูนา” และเครื่องคัดขนาดพุทราแบบแฟลบ

    จ่ายค่ารักษาโควิดฯให้ สปสช. 27,562 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 5 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการ สถานพยาบาล ที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด19 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2565 รวม 3 เดือน วงเงิน 27,562.56 ล้าน บาท โดยให้ใช้จ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564) วงเงิน 25,845.84 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,716.71 ล้านบาท ให้ สปสช. ดำเนินการโดยใช้จ่ายจากแหล่งอื่น อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นลำดับแรก

    ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้ สปสช. เร่งดำเนินการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในกลุ่มที่หน่วยบริการ สถานพยาบาลที่อยู่ระหว่าง หรือคาดว่าจะส่งเบิกทันตามเวลาที่กำหนดไว้ (ธ.ค. 2565) ว่ามีการบริการจริง พร้อมทั้งรวบรวมและจัดเก็บเอกสารค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติหลักการกลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 6 โครงการซึ่งเกี่ยวกับการการดูแลโรคโควิด19 รวมวงเงิน 13,124.102 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง วงเงิน 12,123.109 ล้านบาท และ กลุ่มบุคลากรอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานด้านการสนับสนุน วงเงิน 2,167.354 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 จำนวน 12,123.109 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1,000.99 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งอื่นที่เหมาะสมต่อไป

    สำหรับ 6 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ประกอบด้วย 1) โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่:กรณีโรคิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 2) ค่าตอบแทนบุคลากรนอกภารกิจปกติ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3) โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ของกรมการแพทย์ 4) โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5) โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ของกรมสุขภาพจิต และ6) โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางกาแพทย์และสาธารณสุขรองรับการระบาดของโควิด19 ของกรมอนามัย

    เพิ่มคดียาเสพติด-คิด ดบ.เกินอัตรา-สื่อลามก เป็นพิเศษ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับเพิ่มและยกเลิกคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวน และสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษจากร่างกฎกระทรวงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษได้เห็นชอบดังนี้คือ ให้คงคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายรวม 3 ฉบับ เป็นคดีพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และได้เพิ่มเติมคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายรวมอีก 3 ฉบับเป็นคดีพิเศษได้แก่ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก และได้ยกเลิกคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมาย 2 ฉบับเป็นคดีพิเศษ คือ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุราและคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ

    สำหรับสาเหตุที่ยังให้คงคดีความผิดเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ยา และอาหาร เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากพบว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ยา และอาหาร เป็นการกระทำความผิดที่เกิดโดยการปลอมผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีการนำวัตถุต้องห้ามมาใช้เป็นส่วนผสม ใช้สถานที่ผลิตไม่มีมาตรฐาน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลและใช้สื่อดิจิทัลในการกระทำความผิดในช่องทางต่างๆ รวมทั้งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา และอาหาร ให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล ทั้งการผลิต การนำเข้า หรือการขาย ส่งผลให้คดีความผิดในกลุ่มนี้มีจำนวนผู้เสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศและระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นคดีพิเศษ

    ส่วนการให้เพิ่มเติมคดีความผิดทางอาญา 3 ฉบับเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจาก รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปราบปรามยาเสพติด และกระทรวงยุติธรรมได้มอบนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีบทบาทในการปราบปรามยาเสพติด และใช้มาตรการในการริบทรัพย์สินเครือข่ายค้ายาเสพติดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ต้องให้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบนำไปสู่อาชญากรรมประเภทอื่น โดยผู้ให้กู้ยืมเงินมักเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และมักใช้วิธีการทวงหนี้ ข่มขู่ บังคับ หรือใช้ความรุนแรง บางครั้งอาจรวมกลุ่มกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จึงทำให้มีลักษณะการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน

    สำหรับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ที่ต้องให้เป็นคดีพิเศษเนื่องจาก ปัญหาสื่อลามกอนาจารเด็กใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ทำให้เด็กสามารถรับรู้ เข้าถึง และเผยแพร่สิ่งต่างๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อันอาจส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ทำให้เด็กถูกล่อลวงหรือชักจูงให้ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นอาชญากรรมต่อเด็กรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และพบว่าการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีส่วนสัมพันธ์กันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในรูปแบบอื่น เช่น การกระทำชำเรา การกระทำอาจาร เป็นต้น

    ไฟเขียว “อนุทิน” เข้าร่วมข้อริเริ่ม “PREZODE” ป้องกันโรคอุบัติใหม่

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการของแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม Preventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) และอนุมัติให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREZODE ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวถูกจัดทำขึ้น เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะทำงานร่วมกันของประเทศผู้เข้าร่วมข้อริเริ่ม PREZODE เพื่อป้องกันการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากสัตว์ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อสมทบแก่ข้อริเริ่ม PREZODE ประจำปี 2566-2570 กรอบวงเงินรวม 50 ล้านบาท หรือปีละ 10 ล้านบาท

    สำหรับแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREZODEนี้ มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญประกอบด้วย การพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวทางที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 และสนับสนุนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากสัตว์ เพื่อเสริมสร้างนโยบายสาธารณะ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการดำเนินงานของภาคเอกชน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวที่มีอยู่เดิมหรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวข้อง

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระดับสูง และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเปิดตัวโครงการวิจัย นวัตกรรม การศึกษา และการพัฒนาเพื่อปรับปรุงและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเกิด และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการเฝ้าระวังและการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ และการใช้ประโยชน์จากข้อเสนอแนะจากการบริหารจัดการเหตุการณ์โรคระบาดก่อนหน้านี้ เพื่อเสริมสร้างเกณฑ์และวิธีการในการเตรียมความพร้อมใหม่

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ความเป็นมาของข้อริเริ่ม PREZODE เกิดจากในการประชุมสุดยอด One Planet Summit ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศจัดตั้งข้อริเริ่ม PREZODE ตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) เนื่องจากเล็งเห็นความสัมพันธ์ของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่กับสุขภาพสัตว์และประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีประเทศผู้เข้าร่วมประกอบด้วย เม็กซิโก, เบลเยียม, เวียดนาม, ซิมบับเว, คอสตาริกา, เฮติ, กัมพูชา, อุรุกวัย, โดมินิกัน และเซเนกัล

    ตั้ง “ประยูร อินสกุล” ขึ้นปลัดกระทรวงเกษตรฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายดนัย สังข์ทรัพย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2564

      2. นายอาจินต์ ชลพันธุ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564

      3. นายพรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่งวันที่ 27 ตุลาคม 2564

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

      1. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

      2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565

      2. นางพิชญดา หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565

      3. นายหทัย วสุนันต์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นายบุญชู ประสพกิจถาวร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนและตำแหน่งที่จะว่าง ดังนี้

      1. นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์

      2. นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

      3. นายชัยรัตน์ ศิริวัฒน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ข้าราชการในข้อ 1. และ 2. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และข้าราชการในข้อ 3. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1. และ 2. รวม 2 ราย ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    6. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายปารเมศ โพธารากุล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์) แทน นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายนพดล พลเสน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565

      2. นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2565

    8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายลัทธจิตร มีรักษ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 10 คน ดังนี้

      1. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

      2. นายพสุ โลหารชุน

      3. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ

      4. นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้แทนองค์การเอกชน

      5. นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง ผู้แทนองค์การเอกชน

      6. นายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค

      7. นายมนตรี จงวิเศษ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค

      8. นายสุรัตน์ เมฆะวรากุล ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค

      9. นายกรกฎ เตติรานนท์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค

      10. นายอภิชิต ประสพรัตน์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในส่วนกลาง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

    10. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้ง นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 กันยายน 2565 เพิ่มเติม