ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

ASEAN Roundup อาเซียนเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

19 ธันวาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 12-18 ธันวาคม 2564
อาเซียนเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

  • เวียดนามร่วมอินเดียพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-นวัตกรรม
  • กัมพูชา-จีน เซ็นข้อตกลงร่วมมือเศรษฐกิจและการลงทุน
  • กว๋างบิ่ญเวียดนาม- คำม่วนสปป.ลาว จับมือร่วมพัฒนา
  • ไทย-ฝรั่งเศสร่วมมือด้านคมนามขนส่ง
  • เวียดนามเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ
  • ธนาคารกลางเมียนมาอนุญาตใช้หยวน/จัตชำระเงินตรงชายแดนจีน-เมียนมา
  • อาเซียนเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

    การพัฒนาเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น การแสวงหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนจึงมีความสำคัญ เพื่อเสริมจุดแข็งและกำจัดจุดอ่อนของแต่ละประเทศ หรือในระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ระดับเมืองกับเมือง ดังที่ได้เห็นจากการลงนามในความตกลงในหลายด้าน เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ทั้งรูปแบบพหุภาค หรือทวิภาคี หรือข้อตกลงความร่วมมือเศรษฐกิจเฉพาะด้าน

    ในสัปดาห์นี้สมาชิกประเทศอาเซียนจำนวนหนึ่งจึงได้มีการลงนามกับพันธมิตรนอกกลุ่มหลายราย ได้แก่ กัมพูชาลงนามความร่วมมือกับจีน เวียดนามกับอินเดีย

  • เวียดนามร่วมอินเดียพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-นวัตกรรม
  • ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-indian-businesses-cooperate-in-infrastructure-development-innovation/218335.vnp

    เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่กรุงเดลี ได้มีการลงนามใน ข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และการพัฒนานวัตกรรมมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างเวียดนามและอินเดีย

    ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย Saigon Telecommunications Technology Joint Stock Company (Saigontel) และ Ecologic Engineering Private Limited ของอินเดีย ภายใต้เวทีการประชุมธุรกิจเวียดนาม-อินเดีย ซึ่งจัดโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุน สภาอุตสาหกรรมอินเดีย และ สถานทูตเวียดนามในอินเดีย และมีนายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนามและเจ้าหน้าที่อินเดียได้เข้าร่วมการลงนาม

    ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนาม ทั้งสองบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวในพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัด ท้ายเงวียน, หายเซือง, ด่ง นาย และโฮจิมินห์ซิตี้ของเวียดนาม

    ในอินเดีย ทั้งสองฝ่ายจะทุ่มทุนให้กับศูนย์กลางนวัตกรรมและศูนย์กลางการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น รัฐกรณาฏกะ รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังกานา รัฐทมิฬนาฑู รัฐมหาราษฏระ รัฐอุตตรประเทศและบังกาลอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซิลิคอนแวลลีย์ของอินเดีย

    นอกเหนือจากการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าวแล้ว Ecologic Engineering และ Saigontel จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีระหว่างเวียดนามและอินเดีย โดยมุ่งเน้นที่การฝึกอบรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

    Saigontel บริษัทในเครือ Saigon Investment Group ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนชั้นนำของเวียดนาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านบริการในภาคอุตสาหกรรม ในเมือง นอกเหนือจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ติดกัน พื้นที่ในเมือง และบริการที่จำเป็นเพื่อดึงดูดการลงทุนแล้ว Saigontel ยังเป็นผู้บุกเบิกด้านการลงทุนและการพัฒนาเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมในท้องถิ่น ในรูปแบบระหว่างประเทศและแนวโน้มระดับสากล

    Ecologic Engineering เป็นบริษัทลูกในอินเดียของบริษัทควอนตัมคอร์ปอเรชั่นแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมหลากหลายชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ปัจจุบันบริหารจัดการกองทุนเพื่อการลงทุนและบริษัทการลงทุนหลายแห่งในด้านน้ำมันและก๊าซ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม การดูแลสุขภาพและ เทคโนโลยีขั้นสูง Ecologic Engineering ให้ความสนใจกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม ศูนย์บริการด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมในอินเดียและเวียดนาม

    ด้วยจำนวนประชากร 1.39 พันล้านคน สูงเป็นอันดับสองของโลก และมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อวัดจากกำลังซื้อ อินเดียจะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มสดใส ตอกย้ำบทบาทใน ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในอนาคต

  • กัมพูชา-จีน เซ็นข้อตกลงร่วมมือเศรษฐกิจและการลงทุน
  • ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50990523/cambodia-china-signs-investment-and-economic-cooperation-agreement/

    กัมพูชาโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชาและจีนโดยกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding :MOU) ว่าด้วยการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 ธันวาคม โดยมีนายสก เจนดา โสภา เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา นายสก โสภาค เข้าร่วม

    ตัวแทนของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมพิธีลงนามยืนยันความมุ่งมั่นในการร่วมกันส่งเสริมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “Belts and Roads” ที่สอดประสานกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาช่วงปี 2558-2568

    ทุกฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ระหว่างกัน และปรับปรุงกลไกความร่วมมือด้านการลงทุนของคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-กัมพูชา

    เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ชื่นชมการลงนามใน MoU และเชื่อมั่นว่าจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการค้าระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในวันที่ 15 ตุลาคม ขณะที่กัมพูชาอยู่ในขั้นตอนของการเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและการดำเนินการเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

    ตลอดจนได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านเงินทุนจำนวนมากจากจีน ผ่านความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อกระบวนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

  • กว๋างบิ่ญเวียดนาม- คำม่วนสปป.ลาว จับมือร่วมพัฒนา
  • ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/quang-binh-khammoune-sign-cooperation-agreement/218378.vnp

    เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัดกว๋างบิ่ญ เวียดนาม และแขวงคำม่วนของสปป.ลาวได้ลงนามในความตกลงร่วมมือระหว่างการหารือที่ด้านสากลจาลอ ในจังหวัดกว๋างบิ่ญ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม

    นายหวู่ ได่ ทัง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคจังหวัดกว๋างบิ่ญ กล่าวยืนยันความมุ่งมั่นในการสืบทอดและส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น มิตรภาพที่ซื่อสัตย์ และความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างคณะกรรมการพรรค หน่วยงาน และประชาชนของทั้งสองเมืองในอนาคตอันใกล้

    ด้านนาย วันไซ พงสะหวัน เลขาธิการพรรคประจำแขวงคำม่วนและเจ้าแขวง กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาแขวงคำม่วนได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกว๋างบิ่ญ ในการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเร่งให้ข้อตกลงในความร่วมมือที่ได้ลงนามเกิดขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองจังหวัดแน่นแฟ้นมากขึ้น

    ทั้งสองเมืองตกลงที่จะเสนอให้รัฐบาลทั้งสองประเทศพิจารณาเพิ่มถนนหมายเลข 12 และด่านสากลจาลอ-นาโบ เข้าไปใน ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นําโขง หรือ Greater Mekong Sub-Region (GMS) Cross-Border Transport Facilitation Agreement รวมทั้งจะร่วมสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทและนักลงทุนในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการขนส่ง

    นอกจากการอนุรักษ์และรักษาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพที่อุทยานแห่งชาติฟองญา – แกะบ่าง และพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติหินน้ำโนแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การป้องกันชายแดน และการต่อสู้กับโรคระบาด

  • ไทย-ฝรั่งเศสร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง
  • ที่มาภาพ: https://www.mot.go.th

    ก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยและนายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นประธานใน พิธีลงนามปฏิญญาแสดงเจตจำนงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในนามของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา กำกับดูแลการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนของฝรั่งเศสที่ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีลงนาม

    จากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน ประกอบกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเช่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยินดีให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน

    ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ประเทศไทยและฝรั่งเศสได้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทยและฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน โดยการแลกเปลี่ยนนโยบายและประสบการณ์ด้านการขนส่งทางราง เมื่ออนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหมดอายุลง

    เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งฉบับใหม่ คือ ปฏิญญาแสดงเจตจำนงฯ ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งระบบราง การขนส่ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งมุ่งหวังที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันเกี่ยวกับการพัฒนา การขนส่งอย่างยั่งยืน อาทิ การขนส่งทางราง การขนส่งมวลชนในเมือง การขนส่งด้วยเทคโนโลยีสะอาด การขนส่งหลายรูปแบบและโลจิสติกส์ การขนส่งทางทะเล ทางหลวง และความปลอดภัยทางถนน รวมถึงมุ่งมั่นกระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งในส่วนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่มีต่อนโยบายการขนส่ง การบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

    โดยการดำเนินการความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจหลักของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านการขนส่งที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงาน คือ “พัฒนาระบบขนส่งอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” รวมถึงดำเนินโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทุกรูปแบบของการขนส่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การลงนามในปฏิญญาแสดงเจตจำนงฯ ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายในสาขาคมนาคมขนส่งอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป

    เวียดนามเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ

    ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20211212/vietnam-debuts-national-stock-exchange/64686.html

    ตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม(VNX) ได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันเสาร์(18 ธ.ค.) หลังจากการควบรวมตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ 2 แห่ง ถือเป็นก้าวสู่การพัฒนาใหม่ของตลาดหุ้นในประเทศ

    ในพิธีเปิดตัวที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการคลังในกรุงฮานอย รองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ข่าย ได้ส่งมอบอำนาจต่อให้กับเหงียน ทั่น ลอง ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ

    VNX เป็นบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของเต็ม 100% มีทุนจดทะเบียน 3 ล้านล้านดอง (130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีสำนักงานใหญ่ในกรุงฮานอย และดำเนินการภายใต้รูปแบบบริษัทแม่-บริษัทย่อย โดยอิงจากการปรับให้ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (HNX) และตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HoSE) เป็นบริษัทย่อยสองแห่ง

    HNX รับผิดชอบในการจัดการและบริหารตลาดอนุพันธ์ พันธบัตร และหลักทรัพย์อื่น ๆ ในขณะที่ HoSE รับผิดชอบหุ้นและหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

    การจัดตั้ง VNX จะช่วยให้รูปแบบองค์กร กลไก นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของตลาดหุ้นในประเทศเป็นหนึ่งเดียว รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในพิธี

    ตลาดหลักทรัพย์ฯจะช่วยดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มขนาดและสถานะของตลาดหุ้นเวียดนาม และสร้างเงื่อนไขที่ดีสำหรับการเชื่อมโยงเข้ากับตลาดหุ้นต่างประเทศ

    นอกจากนี้เน้นย้ำว่า การพัฒนาตลาดหุ้นเพื่อสร้างช่องทางการระดมเงินทุนระยะกลางและระยะยาวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นนโยบายที่สำคัญและสม่ำเสมอของพรรคและรัฐ

    ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นช่องทางการระดมเงินทุนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงิน รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

    รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ ยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงปี 2554-2563 และเสนอแนะกลยุทธ์ที่ใกล้เคียงกันสำหรับ 10 ปีข้างหน้า
    รวมทั้งการบูรณาการเข้ากับตลาดการเงินระหว่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นเวียดนาม และค่อยๆ ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างตลาดหุ้นในประเทศและทั่วโลก

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โฮ่ ดึ๊ก ฟ้อก ให้คำมั่นว่าจะ ผนวกทิศทางดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดหุ้นแห่งชาติในช่วงปี 2564-2573 และจะเปิดตัวแผนปฏิบัติการเพื่อทำให้ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ

    VNX ได้เตรียมกฎเกณฑ์ทางวิชาชีพ 7 ฉบับและอีกแผนหนึ่งเพื่อปรับโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะออกในเดือนนี้

    ดัชนี VN-Index ในตลาดหุ้นเพิ่งผ่านระดับ 1,500 จุด ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ และเพิ่มขึ้น 36% ตั้งแต่ต้นปีนี้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนอยู่ที่ 37.2 ล้านล้านด่อง (1.61 พันล้านดอลลาร์) ต่อช่วง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2020 ในช่วงมกราคม-ตุลาคม จำนวนบัญชีที่เปิดใหม่ของนักลงทุนราว 1.1 ล้านบัญชี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขสะสมในปี 2560-2560

    ธนาคารกลางเมียนมาอนุญาตใช้หยวน/จัตชำระเงินตรงชายแดนจีน-เมียนมา

    ที่มาภาพ: https://www.rfa.org/english/news/myanmar/border-07082021160841.html

    ธนาคารกลางเมียนมาอนุญาตให้ใช้ชำระเงินด้วย เงินหยวนและจัตโดยตรงที่ชายแดนจีน-เมียนมา ตามประกาศเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม

    ประกาศดังกล่าวออกโดยใช้อำนาจตามมาตรา 17 และ 22 ของกฎหมายการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    เพื่อเพิ่มการค้าจีน-เมียนมาและอำนวยความสะดวกในการหมุนเวียนของสินค้า จึงอนุญาตให้มีการชำระเงินโดยตรงของหยวน/จัตที่ชายแดนจีน-เมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบการชำระเงินและการหักบัญชีของทั้งสองประเทศ และเพิ่มสกุลเงินในประเทศตามเป้าหมายการรวมตัวทางการเงินของอาเซียน.

    ธนาคารที่ได้รับอนุญาต จะยังได้รับอนุญาตให้เปิดบัญชีหยวนของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสำหรับการค้าข้ามแดน ดังนั้น ธนาคารที่ได้รับการอนุญาตให้รับชำระเงินจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการใช้เงินหยวน/จัตโดยตรงในการค้าชายแดนจีน-เมียนมา และประกาศนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ธนาคารกลางประกาศ