ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียขาดแรงงาน ยืดเวลาบังคับใช้เงื่อนไขจ้างต่างชาติ 2 ปี

ASEAN Roundup มาเลเซียขาดแรงงาน ยืดเวลาบังคับใช้เงื่อนไขจ้างต่างชาติ 2 ปี

17 กรกฎาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2565

  • มาเลเซียขาดแรงงาน ยืดเวลาบังคับใช้เงื่อนไขจ้างต่างชาติ 2 ปี
  • มาเลเซียอนุญาตนำเข้าไก่เพิ่มสต็อกในประเทศ
  • อินโดนีเซียยกเลิกภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มจนถึง 31 ส.ค.
  • ราคาที่ดินอุตสาหกรรมเวียดนามแนวโน้มสูงขึ้น
  • เวียดนามขึ้นอันดับ 1 ภูมิภาคซื้อของข้ามแดนผ่านออนไลน์
  • VinFast ค่ายรถเวียดนามรับสิทธิประโยชน์1.2 พันล้านดอลลาร์จากนอร์ทแคโรไลนา
  • ลาวเปิดสถานีขนส่งสินค้าในเวียงจันทน์
  • เมียนมากำกับใช้เงินดอลลาร์เฉพาะการค้าชายแดน
  • มาเลเซียขาดแรงงาน ยืดเวลาบังคับใช้เงื่อนไขจ้างต่างชาติ 2 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.humanresourcesonline.net/employers-in-malaysia-can-re-employ-foreign-workers-with-plks-on-a-year-by-year-basis-starting-20-dec-2021

    มาเลเซียประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานจนรัฐบาลตัดสินใจที่จะเลื่อนการบังคับใช้เงื่อนไขการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 20% ออกไปเป็นเวลาสองปี

    รัฐบาลมาเลเซียกำหนดบริษัทผู้ผลิตมาเลเซียต้องจ้างแรงงานในประเทศให้ได้อย่างน้อย 80% ของแรงงานทั้งหมดก่อนที่บริษัทจะได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ในอีก 20% ที่เหลือ

    เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศกล่าวว่า จะออกประกาศเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาบังคับใช้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ในสัปดาห์หน้า

    นอราซมาน อายอบ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการ (กระทรวงอุตสาหกรรม) ยืนยันว่า เขาได้พบกับตัวแทนธุรกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ และจะมีการส่งจดหมายจะไปยังสมาคมอุตสาหกรรมในภาคการผลิตในสัปดาห์หน้าเพื่อแจ้งถึงการตัดสินใจเลื่อนข้อกำหนดการข้างงานในอัตราส่วน 80:20 ออกไปอีก 2 ปี

    บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ออกมาร้องเรียนว่า การยื่นคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าวเมื่อเร็วๆ นี้ ถูกระงับเนื่องจากข้อกำหนดของรัฐบาลที่เชื่อว่ารัฐบาลได้ดำเนินการไปในปี 2559

    ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าสมาคมธุรกิจ 56 แห่งได้พบปะกับ นอราซมาน เพื่อหารือเกียวกับปัญหาที่อุตสาหกรรมของมาเลเซียเผชิญในการรับสมัครแรงงานข้ามชาติ

    บางบริษัทกล่าวว่า การจะดึงดูดแรงงานชาวมาเลเซียให้มาร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตก็ยากแล้ว อย่าว่าแต่การรักษาพวกเขาไว้ โดยเฉพาะในโรงงานที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

    นอราซมาน กล่าวว่า รายชื่อบริษัทและจำนวนแรงงานต่างชาติที่ต้องการจะถูกส่งไปยังกระทรวงภายในหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งรายชื่อไปยังกระทรวงทรัพยากรมนุษย์เพื่อดำเนินการ

    นอกจากนี้จะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการระยะกลางและระยะยาวในการจัดหาแแรงงานที่เหมาะสมสำหรับบริษัทผู้ผลิต โดยจะมีการหารือมาตรการที่เสนอเพื่อยกระดับไปใช้ระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะใน SMEs ในการประชุมเชิงปฏิบัติการด้วย

    วิกฤติการขาดแคลนแรงงาน ค่าธรรมเนียมให้กับตัวแทนจัดหางานที่สูงขึ้น และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 30% ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมหลายรายต้องปิดกิจการ หรือระงับการก่อสร้าง จากการเปิดเผยของ สมาคมช่างก่อสร้างแห่งมาเลเซีย(Master Builders Association Malaysia :MBAM)

    วี เฮียง ชิน ประธาน MBAM กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาที่อุตสาหกรรมเผชิญอยู่นั้น ถูกซ้ำเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เลวร้ายลง ซึ่งนำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและเงินเฟ้อสูงขึ้น

    วี ต้องการให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงและช่วยแก้ไขปัญหาที่สมาชิกจำนวนมากจากที่มีอยู่ 17,000 คนต้องเผชิญ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานประมาณ 550,000 คนที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำ “ช่องทางพิเศษการยื่นคำร้องขอจ้างแรงงาน” สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างเพื่อเร่งกระบวนการจัดหาแรงงานต่างชาติ เพราะแม้ว่ามาเลเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับบังกลาเทศเพื่อจัดหาแรงงานต่างชาติแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่ทำให้คนงานไม่เข้ามา

    ด้านสมาพันธ์นายจ้างมาเลเซีย (Malaysian Employers Federation:MEF) ระบุว่า การเลื่อนเวลาการบังคับใช้เงื่อนไขการจ้างแรงงานในประเทศอย่างน้อย 80% ของแรงงานทั้งหมดก่อนที่จะจ้างแรงงานต่างชาติได้ออกไป 2 ปีน้ั้น จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้

    ประธานสมาพันธ์ ดาโต๊ะ ไซเอด ฮุสเซน ไซเอด ฮุสมาน กล่าวในแถลงการณ์ว่า การเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้จะช่วยให้นายจ้างกลับมาทำธุรกิจได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคการผลิต เพราะการขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจกำลังเผชิญ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูธุรกิจของภาคเอกชน นอกจากนี้เป็นเรื่องยากมากสำหรับนายจ้างที่จะดึงดูดคนในท้องถิ่นมาเติมตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ แม้ชาวมาเลเซีย 699,000 คนจะว่างงานก็ตาม

    บางธุรกิจในภาคการผลิตต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อใหม่เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถทำตามกำหนดเวลาได้ บริษัทก่อสร้างต้องถูกปรับเพราะการส่งมอบล่าช้า

    ร้านอาหารเจอการร้องเรียนจากลูกค้าเกี่ยวกับบริการที่ช้า และโรงแรมก็ถูกตำหนิว่าไม่สามารถเช็คอินแขกได้ตรงเวลาเนื่องจากห้องไม่พร้อม บริษัททางการเกษตรประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานคนเก็บเกี่ยว

    นอกจากนี้นายจ้างยังมีความกังวลในการขออนุมัติที่พักสำหรับพนักงานในการประชุมสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติครั้งล่าสุด ขณะที่
    กระทรวงทรัพยากรบุคคลตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคในระดับกระทรวง และจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหา

    มาเลเซียอนุญาตนำเข้าไก่เพิ่มสต็อกในประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.bernama.com/en/news.php?id=2100893

    รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบและให้สิทธิพิเศษแก่องค์การเกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Organisation:NAFAS) นำเข้าไก่จากต่างประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณไก่ในสต็อกในประเทศเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

    ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ฮัมซาห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (MAFI) กล่าวว่า รัฐบาลยังอนุญาตให้สหกรณ์หลายแห่งที่อยู่ภายใต้หน่วยงานที่มีอำนาจทางการเกษตรกร นำเข้าไก่จากโรงงานในประเทศที่ได้รับใบอนุญาตและรับรองจากรัฐบาลมาเลเซีย

    “โรงงานแปรรูปไก่เพื่อส่งออกไปยังมาเลเซียทั้งหมดต้องได้รับการรับรองและรับรองโดยกรมพัฒนาอิสลามแห่งมาเลเซีย (Malaysian Islamic Development Department:JAKIM), MAFI และกระทรวงสาธารณสุข (MOH)

    “ปัจจุบันไม่มีการอนุมัติใบอนุญาตอนุมัติใครๆ ก็สามารถนำเข้าไก่ได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า ที่ออกโดยกรมกักกันและตรวจสอบของมาเลเซีย เพื่อการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพที่จุดเข้าประเทศ”

    ปัจจุบัน โรงงานไก่ที่ได้รับอนุมัติให้ส่งออกเนื้อไก่และไก่ชิ้น เข้ามาเลเซีย มาจากประเทศไทย จีน บราซิล และเนเธอร์แลนด์

    “การอนุญาตให้นำเข้าได้ ทำให้เรามั่นใจว่าสามารถสร้างกลไกที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้และประเทศจะไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนไก่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล”

    ก่อนหน้านี้ สื่อรายงานว่ารัฐบาลได้อนุมัติบริษัทหลายแห่งที่ได้รับการแต่งตั้งจาก MAFI นำเข้าไก่แช่แข็งมากถึง 10,000 ตันหรือ 5.5 ล้านตัวต่อเดือน

    อินโดนีเซียยกเลิกภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มจนถึง 31 ส.ค.

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/indonesian-palm-oil-producers-told-to-move-to-sustainable-practices/
    อินโดนีเซียยกเลิกภาษีส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งหมดจนถึงวันที่ 31 สิงหคม ซึ่งเป็นความพยายามครั้งใหม่ที่จะกระตุ้นการส่งออกและระบายสินค้าคงคลังที่มีมาก เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกล่าวเมื่อวันเสาร์(16 ก.ค.) และว่า การยกเลิกภาษีจะไม่กระทบต่อรายได้ของรัฐบาล

    การตัดสินใจของผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกอาจกดดันราคาได้อีก หลังลดลงประมาณ 50% ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน สู่ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี

    ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียประสบปัญหาสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง นับตั้งแต่มีการสั่งห้ามส่งออกเป็นเวลา 3 สัปดาห์จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม เพื่อดึงราคาน้ำมันปรุงอาหารในประเทศลง

    นับตั้งแต่ยกเลิกการสั่งห้าม อินโดนีเซียได้ใช้มาตรการกำหนดการขายในประเทศ หรือที่เรียกว่า domestic market obligation (DMO) เพื่อเก็บผลผลิตไว้ในประเทศไปผลิตน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร

    ในขณะเดียวกัน ก็ได้พยายามที่จะระบายน้ำมันในสต็อก โดยการลดภาษีการส่งออกและดำเนินโครงการเร่งรัดเพื่อการจัดส่ง แต่การส่งออกยังคงชะลอตัวและหลายบริษัทชี้ว่าปัญหาอยู่ที่กฎ DMO และความยากในการจัดหาเรือบรรทุกสินค้า

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเก็บภาษีน้ำมันปาล์มแบบอัตราก้าวหน้าจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน โดยกำหนดอัตราไว้ระหว่าง 55 ถึง 240 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับน้ำมันปาล์มดิบ ขึ้นอยู่กับราคา

    สต็อกน้ำมันปาล์มที่สูงทำให้โรงสีต้องจำกัดการซื้อผลปาล์ม เกษตรกรร้องเรียนว่าผลปาล์มที่ขายไม่ออกถูกทิ้งให้เน่า

    ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มแห่งอินโดนีเซีย (GAPKI) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมมีน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 7.23 ล้านตันในคลัง

    เอ้ดดี้ มาร์โตโน เลขาธิการของ GAPKI ขานรับกับมาตรการใหม่ แต่ก็แนะนำให้ยกเลิกกฎ DMO ด้วย “โดยยกเลิก DMO จนกว่าสต็อกจะลดลงเหลือ 3 ล้านถึง 4 ล้านตัน ปัญหาของเราคือตอนนี้สินค้าคงคลังสูงเกินไป

    ราคาที่ดินอุตสาหกรรมเวียดนามแนวโน้มสูงขึ้น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/double-digit-rise-predicted-in-industrial-land-prices-4485897.html
    ราคาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมอาจสูงขึ้น 5-10% และ 8-13% ต่อปีในภาคเหนือและภาคใต้ตามลำดับในช่วง 3 ปีข้างหน้าเป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้น เพราะการผลิตฟื้นตัว รายงานฉบับใหม่ของที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE ระบุ

    ตลาดทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมของเวียดนามกำลังฟื้นตัวเนื่องจากมีการกลับมาทำการบินในเส้นทางการบินระหว่างประเทศและการก่อสร้างโครงการการผลิตต่างๆ เริ่มขึ้น รายงานระบุ

    นิคมอุตสาหกรรมได้รับการสอบถามขอข้อมูลเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบเป็นรายปีในภาคเหนือ และ 7%ในภาคใต้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราการเข้าใช้พื้นที่อยู่ที่ 80%ในภาคเหนือและ 90% ในภาคใต้

    ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ราคาได้เพิ่มขึ้น 5-12% เมื่อเทียบเป็นรายปีในภาคเหนือและ 8-13% ในภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งมีราคาเพิ่มขึ้น 20% และ 26% ตามลำดับ

    รายงานระบุในอีก 3 ปีข้างหน้า พื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 14,000 เฮกตาร์จะเข้าสู่ตลาด

    รายงานอีกฉบับหนึ่งโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield กล่าวว่า นครโฮจิมินห์มีราคาที่ดินอุตสาหกรรมสูงสุดที่ 200 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรต่ออายุสัญญา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทางตอนใต้ที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐฯอย่างมาก ส่วนฮานอยมีราคานำในทางเหนือที่ 139.9 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 109 ดอลลาร์

    เวียดนามขึ้นอันดับ 1 ภูมิภาคซื้อของข้ามแดนผ่านออนไลน์

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-tops-region-in-online-cross-border-purchase-volume-4486706.html
    เวียดนามมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าข้ามแดนผ่านระบบออนไลน์เฉลี่ย 104 คำสั่งซื้อต่อปี สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 66 คำสั่งซื้อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ประเทศไทยตามมาเป็นอันดับสองด้วยยอดซื้อเฉลี่ย 75 ครั้งต่อปี รองลงมาคือสิงคโปร์และฟิลิปปินส์โดยแต่ละประเทศมีคำสั่งซื้อเฉลี่ย 58 ครั้ง จากการศึกษาเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่เพิ่งเปิดตัวโดย Ninja Van Group ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของสิงคโปร์และ DPDgroup ซึ่งเป็นบริษัทแม่

    การศึกษาตลาดครอบคลุมผู้เข้าร่วม 9,000 คนจาก 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

    คำสั่งซื้อส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าและรองเท้า

    ร้อยละ 59 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเวียดนามกล่าวว่า พวกเขาซื้อของและสั่งซื้อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซต่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ที่ 60%

    รายงานระบุว่า เวียดนามมีสัดส่วน 15% ของตลาดการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบเท่ากับฟิลิปปินส์ ขณะที่ไทยติดอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 16%

    เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพอีคอมเมิร์ซสูง “ด้วยการเติบโตที่ยั่งยืนและชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” ฟาน ซวน ดุง ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ Ninja Van Vietnam กล่าว

    รายงานพบว่า 76% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเวียดนามกล่าวว่าเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์คือการประหยัดเงิน และการคาดการณ์อื่นๆ อีกหลายประการเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจออนไลน์ในเวียดนามได้ให้มุมมองเชิงบวกแก่อุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน

    ตามสถิติของพอร์ทัลข้อมูลของเยอรมัน Statista คาดว่าเวียดนามจะกลายเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียก่อนปี 2568 ปัจจุบันเวียดนามมีระดับการซื้อเฉลี่ย (ABS) อยู่ที่ 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าไทย (25 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และอินโดนีเซีย (18 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

    นอกจากนี้ข้อมูลของหน่วยงานการตลาดและโฆษณาของอังกฤษ We Are Social พบว่า จำนวนชาวเวียดนามที่ซื้อสินค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 51 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 13.5% จากปีก่อนหน้า โดยคาดยอดการใช้จ่ายในการช็อปปิ้งออนไลน์ในปีนี้คือ 12.42 พันล้านดอลลาร์

    รายงาน e-Conomy Southeast Asia 2021 จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Co. คาดการณ์ว่า เวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยภายในปี 2568 และกลายเป็นเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมูลค่า 57 พันล้านดอลลาร์ รองจากอินโดนีเซียที่ 146 พันล้านดอลลาร์

    การพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ในการขยายการดำเนินงาน จากการประเมินโดยผู้ให้บริการจัดส่ง J&T Express พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของชาวเวียดนามมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังคงต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งความต้องการสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นสูงไม่เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในพื้นที่ชนบทด้วย

    VinFast ค่ายรถเวียดนามรับสิทธิประโยชน์ 1.2 พันล้านดอลลาร์จากนอร์ทแคโรไลนา

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vinfast-receives-12-billion-usd-in-incentives-for-north-carolina-carmaking-complex/233791.vnp

    ผู้ผลิตรถยนต์ VinFast เปิดเผยว่าได้ สิทธิประโยชน์จูงใจมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกาสำหรับโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา

    แพ็คเกจจูงใจทางเศรษฐกิจซึ่งลงนามโดยผู้ว่าการ รอย คูเปอร์ นั้นจัดว่าเป็นสิทธิประโยชน์ชุดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐนอร์ทแคโรไลนา ทำให้ VinFast เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่ตั้งอยู่ในรัฐ

    โรงงานจะก่อสร้างที่ Triangle Innovation Point ใน Chatham County รัฐนอร์ทแคโรไลน่าด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะแรก

    โรงงานมีพื้นที่ 800 เฮกตาร์ โดยมีพื้นที่หลักสองแห่งสำหรับการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสาร และอุตสาหกรรมเสริมสำหรับซัพพลายเออร์ โรงงาน VinFast ได้รับการออกแบบให้มีกำลังการผลิตถึง 150,000 คันต่อปี เมื่อมีการนำไปใช้จริงแล้ว โรงงานแห่งนี้จะสร้างระบบนิเวศของซัพพลายเออร์และงานนับพันตำแหน่ง

    “การเป็นหุ้นส่วนระหว่างนอร์ธแคโรไลนากับวินฟาสต์เพื่อนำงานพลังงานสะอาดและดี มาสู่นอร์ทแคโรไลนาได้ก้าวไปข้างหน้าในวันนี้ด้วยการลงนามในงบสนับสนุน” รอย คูเปอร์ ผู้ว่าการรัฐนอร์ทแคโรไลนากล่าวในการแถลงข่าวของวินฟาสต์

    ยานพาหนะไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่ VinFast จะผลิตใน Chatham County เป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างนอร์ทแคโรไลนาให้เป็นศูนย์กลางสำหรับเศรษฐกิจพลังงานสะอาด

    วัน แองห์ เหงียน ซีอีโอของ VinFast Manufacturing สหรัฐฯกล่าวว่า VinFast ขอบคุณรัฐนอร์ทแคโรไลนาสำหรับการดำเนินการและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลังงานสะอาดและเป้าหมายการลดคาร์บอนของรัฐ

    การลงทุนโดยรัฐนอร์ทแคโรไลนานี้เป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรม การสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    โครงการเฟสที่ 1 จะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 การจัดตั้งโรงงานตอกย้ำความมุ่งมั่นของ VinFast ในการขยายธุรกิจและลงทุนในสถานที่สำคัญทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

    ลาวเปิดสถานีขนส่งสินค้าในเวียงจันทน์

    ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=67705

    เมื่อเร็วๆนี้ มีการเปิดใช้ สถานีขนส่งสินค้าที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ ของรถไฟลาว-จีน โดยตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าตู้แรกถูกบรรทุกจากรางรถไฟมาตรฐานไปยังตู้คอนเทนเนอร์ขนาดกว้าง 1 เมตร เพื่อขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการรถไฟลาว-จีนได้กลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าข้ามชาติที่เป็นเส้นทางขนส่งทางบกและทางทะเลที่สะดวกยิ่งขึ้นและส่งเสริมการรวมตัวในระดับภูมิภาค ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลได้กลายเป็นประเทศที่เชื่อมโยงทางบกและกำลังได้รับประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาที่ไม่เคยมีมาก่อน

    ตั้งแต่การเปิดตัวในช่วงปลายปี 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 การรถไฟลาว-จีนได้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 4 ล้านคนและสินค้าเกือบ 5 ล้านตัน รวมถึงสินค้าผ่านแดนมากกว่า 800,000 ตัน

    ในฝั่งจีน กว่า 20 จังหวัดและเมืองต่างๆ ได้เปิดตัวรถไฟบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศบนรถไฟลาว-จีน ซึ่งขนส่งสินค้ามากกว่า 100 ประเภท รวมถึงผลไม้ อุปกรณ์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ไปยังกว่า 10 ประเทศ

    การรถไฟลาว-จีนได้กลายเป็นภาพการพัฒนาคุณภาพร่วมของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และได้เห็นการดำเนินการร่วมกันของโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาระดับโลกของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน

    เมียนมากำกับใช้เงินดอลลาร์เฉพาะการค้าชายแดน

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/instructions-made-to-use-us-dollars-for-border-trade/

    เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมคณะกรรมการกำกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศออกแถลงการณ์ว่า จะให้ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าข้าว ถั่ว ข้าวโพด และพืชผลที่รับประทานได้ ณ จุดซื้อขายชายแดนของเมียนมา เท่านั้น

    ก่อนหน้านี้ ทางการอนุญาตให้ใช้เงินจั๊ตเมียนมาแทนเงินหยวนและบาทที่การค้าชายแดนจีนและไทย และล่าสุดได้สั่งให้ผู้ค้าใช้เฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

    การดำเนินการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ราคาส่งออกคงที่และการค้าผ่านเส้นทางทะเลมีความสอดคล้องกัน แถลงการณ์ระบุ

    “เราต้องซื้อขายตามอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของธนาคารกลางเมียนมา เมื่อเราส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย เราต้องนำรายได้จากการส่งออกมาฝากภายใน 45 วัน และภายใน 90 วัน หากเราส่งออกไปยังประเทศอื่น” อู ซาน จาก Bayintnaung Wholesale Center กล่าว

    นอกจากนี้ ได้มีการเปิดสำนักงาน 4 แห่งของ Myanma Economic Bank และธนาคารเอกชนในเขตปกครองตนเองโกกั้งและชายแดนชินชเวฮอว์ ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกลาง เพื่อตอบสนองข้อเสนอของการค้าชายแดนชินชเวฮอว์และหอการค้า จากการเปิดเผยของหอการค้าชายแดนคุนหลง-โฮปัน-ชินชเวฮอว์-ล็อกไก

    สำนักงานของ Myanma Economic Bank, Myanma Apex Bank, AYA Bank, KBZ Bank และ United Amara Bank จะใช้ห้องโถงโรงแรม Wamgli ที่ชายแดนชินชเวฮอว์เป็นที่ตั้ง การเปิดบัญชีหยวนและการชำระเงินสำหรับการนำเข้า/ส่งออกโดยใช้หยวนสามารถทำได้ที่สำนักงานเหล่านี้ในวันที่ 4 กรกฎาคม

    รายได้จากการส่งออกที่ได้รับจากการค้าชายแดนจะต้องฝากไว้ตามอัตราอ้างอิงของธนาคารกลาง ที่ 1,850 จั๊ตและผู้ที่ไม่สามารถปฎิบัติตามได้จะถูกขึ้นบัญชีดำและจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต

    ก่อนหน้านี้ เงินดอลลาร์ถูกใช้ในการค้าขายชายแดน และระบบปัจจุบันใช้สำหรับระบบการชำระเงินการค้าเส้นทางเดินเรือเท่านั้น หากธนาคารกลางอนุญาตให้เงินดอลลาร์ที่จำเป็นเต็มจำนวน นักธุรกิจก็สามารถดำเนินธุรกิจของตนได้อย่างเหมาะสม อู ซานจากศูนย์ค้าส่งกล่าว