ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ADB เตรียมเงิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ช่วยเอเชียแปซิฟิกบรรเทาวิกฤติอาหาร

ADB เตรียมเงิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ช่วยเอเชียแปซิฟิกบรรเทาวิกฤติอาหาร

27 กันยายน 2022


ธนาคารพัฒนาเอเชียเตรียมวงเงิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญเพื่อบรรเทาอาหาร เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวในเอเชียและแปซิฟิก

  • วิกฤติอาหารโลก (Global Food Crisis) เริ่มแล้ว!
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประกาศแผนการที่จะสนับสนุนทางการเงินอย่างน้อย 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงปี 2565-2568 ในโครงการบรรเทาวิกฤติอาหารที่เลวร้ายลงในเอเชียและแปซิฟิก และยกระดับความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวด้วยการเสริมสร้างระบบอาหารให้รับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

    แผนการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนเพิ่มเติมจากการดำเนินการที่มีอยู่แล้วของ ADB ในด้านความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ที่ผู้คนเกือบ 1.1 พันล้านคนขาดอาหารที่ดีต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากความยากจน และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เงินสนับสนุนจะถูกส่งผ่านโครงการที่มีอยู่เดิมและโครงการใหม่ในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมถึงปัจจัยการผลิตของฟาร์ม การผลิตและจำหน่ายอาหาร การคุ้มครองทางสังคม การชลประทาน และการจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนโครงการที่ใช้ประโยชน์จากการแก้ปัญหาอิงธรรมชาติ

    ADB จะยังคงลงทุนในกิจกรรมอื่นๆ ที่เอื้อต่อความมั่นคงด้านอาหาร เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน การขนส่ง การเข้าถึงการเงินในชนบท การจัดการสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา

    “นับเป็นการตอบสนองที่ทันท่วงทีและจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อวิกฤติ ที่ทำให้ครอบครัวที่ยากจนจำนวนมากในเอเชียต้องอดอยากและยากจนลงไปอีก” นายมาซัตซึกุ อาซากาวะ ประธานเอดีบี กล่าวในการประชุมประจำปีครั้งที่ 55 ของ ADB “เราต้องลงมือทำตอนนี้ ก่อนที่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายลง และกัดกร่อนประโยชน์จากการพัฒนาที่ได้มาอย่างยากลำบากของภูมิภาคนี้ การสนับสนุนของเราจะกำหนดเป้าหมาย บูรณาการ และมีผลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เปราะบาง ในระยะสั้น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนระบบอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารที่เกิดขึ้นและในอนาคต”

    การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้อุปทานอาหารหลักและปุ๋ยหยุดชะงัก ทำให้ระบบอาหารทั่วโลกถูกซ้ำเติมจากที่อ่อนแออยู่แล้วจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุปทานที่ตกต่ำจากการระบาดใหญ่ และการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน

    เอเชียและแปซิฟิกมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ food shock เนื่องจากบางประเทศต้องพึ่งพาอาหารหลักและปุ๋ยที่นำเข้า แม้กระทั่งก่อนการรุกรานของยูเครน ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศสมาชิกที่มีรายได้ต่ำของ ADB ก็ไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้

  • KKP Research เผยวิกฤติอาหาร-พลังงานโลก… “ชาวนาผู้รับเคราะห์สงครามและเงินเฟ้อ”
  • รายงานตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ADB ระบุ “เอเชียแปซิฟิก” ที่มีคนกว่าครึ่งโลก เสี่ยงแก้ยากจนถดถอย
  • นอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้ที่เปราะบาง การสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของ ADB จะส่งเสริมการค้าแบบเปิด ยกระดับการผลิตและการดำรงชีวิตของเกษตรกรรายย่อย บรรเทาปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย และส่งเสริมการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้อินทรีย์เป็นทางเลือก สนับสนุนการลงทุนในการผลิตและจำหน่ายอาหาร ส่งเสริมโภชนาการ และส่งเสริมความสามารถในการรับมือกับสภาพอากาศ ผ่านโซลูชั่นแบบบูรณาการที่อิงธรรมชาติ

    โดยจะเน้นไปที่การปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของภูมิภาคจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทำให้ดิน น้ำจืด และระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม

    “ส่วนสำคัญของแนวทางระยะยาวของเราคือ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนเกษตรกรและธุรกิจการเกษตรที่ผลิตและจำหน่ายอาหารในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ และส่งเสริมการค้าแบบเปิดเพื่อให้มั่นใจว่าเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอาซากาวะกล่าว

    การสนับสนุนภายใต้โครงการนี้จะเริ่มในปีนี้และดำเนินต่อไปจนถึงปี 2568 โดยจะมาจากการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนของ ADB และพยายามจะระดมทุนจากภาคเอกชนอีก 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร

    เอดีบีจะใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสนับสนุนสมาชิกในช่วงวิกฤติอาหารโลกในปี 2550-2551 และผ่านการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความมั่นคงด้านอาหารในปีถัดมา ตั้งแต่นั้นมาเอดีบีได้สนับสนุนเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในด้านความมั่นคงด้านอาหาร ในปี 2561 เอดีบีระบุว่าความมั่นคงด้านอาหารเป็นลำดับความสำคัญในการดำเนินงานที่สำคัญ

    เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงเดินหน้าขจัดปัญหาความยากจนต่อเนื่อง เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค