ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิทัย รัตนากร” ปักธงธนาคารเพื่อสังคม ใส่ Social Mission ทุกกระบวนการทำงาน

ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิทัย รัตนากร” ปักธงธนาคารเพื่อสังคม ใส่ Social Mission ทุกกระบวนการทำงาน

16 สิงหาคม 2022


วันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 : “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน

ThaiPublica Forum 2022 หรือเวทีปัญญาสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยมี ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมวิทยากรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” โดย เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities, จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภารกิจธนาคารออมสินก้าวสู่ความยั่งยืนหลังประกาศตัวเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ social bank เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาในงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 หัวข้อ Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability: ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืนซึ่งจัดโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้ระบุว่า ธนาคารออมสินมีความชัดเจนในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ด้วยการปักธง 2 เป้าหมาย จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGS) ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก คือ เป้าหมายที่ 1 NO Poverty การขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 2 Reduce Inequality หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม การปักธงการแก้ปัญหาในเรื่องความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ดำเนินการไปพร้อมกับในอีกหลายเรื่อง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ในจำนวน 17 เป้าหมายของ SDGs ธนาคารออมสินปักธงแค่ 2 ตัวเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่าประเทศไทยมีปัญหาหลักในเชิงโครงสร้าง 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ governance ของไทย มีปัญหามากและฝังลึกในทุกหน่วยงาน ทุกสังคมทุกมติ ส่วนอีกปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นตัวเหนี่ยวรั้งสังคมไทย คือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความยากจนถือเป็นปัญหาที่เหนี่ยวรั้งประเทศไทยมาก”

ปักธง “แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำทางการเงิน”

นายวิทัยยอมรับว่า การแก้ปัญหาในเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหามีความลึกซึ้งกว้างขวาง ไม่สามารถใช้เวลา 1-2 ปี ในการแก้ไขได้ ยิ่งเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนมีความรุนแรงมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเดิมเพิ่มมากขึ้นไปอีก

แต่ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้หากมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และเริ่มทำงานกันอย่างจริงจัง โดยไม่ได้เน้นภาพลักษณ์องค์กร แต่เน้นการดำเนินการที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกที่เกิดขึ้นจริง

“ถ้าคนทำงานกับผมก็จะรู้ว่าผมไม่ใช่เป็นมนุษย์พีอาร์และทำไม่เป็นด้วยครับ ผมทำโครงการที่ต้องการ impact หรือผลกระทบเกิดขึ้นจริง แต่ถ้าประชาสัมพันธ์แล้ววันเดียวจบไม่เกิดผลกระทบ ผมไม่ทำ เอาเวลาไปทำงานช่วยคนดีกว่า”

การปักธงทั้งเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน แก้ปัญหาความยากจน ตามแนวคิดของ triple bottom line (สิ่งสำคัญสามประการ) ต้องบริหารจัดการให้ people, planet, profit (คน, โลก, ผลกำไร) ดำเนินการไปด้วยกันได้ โดยในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ หากองค์กรไหนไม่มีก็เหมือนตกยุค เพียงแต่จะทำอะไร หรือทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบ และทำธุรกิจที่ต้องใส่ใจกับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยที่ยังรักษาระดับการทำกำไรให้เหมาะสม ถือเป็นความยาก แต่เมื่อเริ่มทำแล้วต้องทำให้เกิดขึ้นจริงอย่างมีรูปธรรม

“เราคงคอนเซปต์ 2 เป้าหมายมากำหนดเป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างเป็น social bank ธนาคารเพื่อสังคม โมเดลการทำงานคือ ทำธุรกิจปกติ ไม่ว่าจะเป็นทำบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อขนาดใหญ่ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล แล้วนำกำไรจากธุรกิจปกติมาดำเนินการภารกิจเพื่อสังคม”

หลักการนำกำไรจากธุรกิจปกติมาขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคม ทำให้ธนาคารออมสินเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการทำงานเพื่อสังคมใหม่ จากเดิมที่หลายองค์กรดำเนินการในรูปแบบซีเอสอาร์ มาดำเนินการโครงการเพื่อสังคมโดยไม่คิดเรื่องกำไร ซึ่งหากสามารถคุ้มทุนได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แม้ดำเนินการแล้วขาดทุน แต่ยังอยู่ในเป้าหมาย ก็ยังดำเนินการต่อไปโดยไม่ได้คาดหวังเรื่องกำไร

“ถ้าเป็นโครงการเพื่อสังคมและอยู่ในเป้าหมาย แม้ว่าจะขาดทุนผมก็ทำ ถือว่าเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานเพื่อสังคม จากเดิมบริษัทส่วนใหญ่ทำเพื่อสังคมจะเป็นเรื่องการทำซีเอสอาร์เท่านั้น ถ้าทำเป็นโครงการเพื่อสังคมต้องไม่ขาดทุน ผมยอมขาดทุน แต่ผมเอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาอุดหนุน ซึ่งแต่ละปีผมใช้เงินหลายพันล้านบาท แต่กำไรของธนาคารไม่ตกลงเลย มีกำไรเพิ่มขึ้น”

  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย” ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เขย่าวิธีคิดธุรกิจ ต้องเปลี่ยน me เป็น we แคร์สังคม สิ่งแวดล้อม
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม
  • “วิทัย รัตนากร” ตอกย้ำ ‘ออมสิน’ ธนาคารเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนด้วย ESG
  • ใช้ Socail Mission ทุกกระบวนการทำงาน

    นายวิทัยกล่าวว่าเพื่อให้การดำเนินการตาม ESG เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ธนาคารออมสินจึงใช้ social mission integration เป็นกระบวนการหลักของการทำงานในองค์กร โดยทุกหน่วยธุรกิจต้องมี social mission โดยทุกคนต้องไปคิดว่าจะนำเอา social mission เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานอย่างไร

    กระบวนการทำงาน หลักการต้องคิดว่าจะใช้ social mission ในองค์กรให้เป็นเรื่องจริงและถาวรได้อย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น การซื้อน้ำขวดปีหนึ่งหลายแสนขวด บางส่วนต้องเปลี่ยนไปซื้อจากโรงงานคนพิการ ฯลฯ ขณะที่คนทำตลาดทุนต้องไปวิเคราะห์ green bond, social bond, sustainability bond, หรือฝ่ายสินเชื่อก็ต้องคิดว่าถ้าลูกค้าทำ ESG และเป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ หากทำได้ดีก็ลดดอกเบี้ยให้ เป็นต้น

    “ทุกฝ่ายทุกสายต้องใส่ social mission เข้าไป ซึ่ง ผมดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ social mission integration เพราะเวลาบอกว่าความยั่งยืน สิ่งที่ต้องการคือผลกระทบต่อสังคม ต้องการผลลัพธ์ที่เป็นเชิงบวก จับต้องได้ วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่เอาพีอาร์”

    นายวิทัยกล่าวต่อว่า การนำเอา social mission ไปใส่ในกระบวนการทำงานหลักขององค์กร ก็เพื่อให้แข็งแรงจากภายใน เพราะการเป็นธนาคารเพื่อสังคมไม่ใช่สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาธนาคารมีปัญหาภายใน ในการจัดการกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เช่นกัน เนื่องจากในช่วง 2 ปีก่อนเงินสำรองของธนาคารเพื่อรองรับ NPL อยู่ในระดับต่ำ

    “ผมต้องบริหารคนเพื่อขับเคลื่อนองค์กร เปลี่ยนจากองค์กรที่เคยใช้เงินพีอาร์จำนวนมากมาเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสังคมอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น ความแข็งแรงจากภายนอก ในการช่วยเหลือคน ต้องเกิดความแข็งแรงจากภายในด้วย ถ้าจะบอกว่าไปช่วยคนข้างนอก แต่ข้างในองค์กรพัง แบบนั้นถึงจะอยู่ได้ ก็อยู่ได้ไม่ยาว ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น external และ internal รวมถึง sustainable ต้องมีต้องสำคัญไปด้วยกัน”

    2 ปีเริ่มโครงการเพื่อสังคม 45 โครงการ

    นายวิทัยกล่าวว่า เริ่มเข้ามาทำงานที่ธนาคารออมสินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว 3 เดือน แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถทำโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคมไปแล้ว 45 โครงการ และช่วยเหลือประชาชนได้กกว่า 13 ล้านราย

    สำหรับโครงการที่ดำเนินการไปแล้วและเห็นผลกระทบในเชิงบวกคือ การเข้าดูแลลูกค้าฐานรากที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงระบบสินเชื่อ นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดจนถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มลูกค้าฐานรากจาก 1.59 ล้านคน ในปี 2562 มาเป็น 4.2 ล้านคนในปัจจุบัน

    “ผมปล่อยสินเชื่อไปทั้งหมด 5.7 ล้านคน ถ้าเป็นปีปกติที่ไม่ใช่การระบาดของโควิด-19 ผมปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแค่ปีละ 7 แสนราย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ”

    การปล่อยสินเชื่อบุคคล จำนวน 5.7 ล้านคน ถือเป็นการดึงคนเข้าสู่ระบบบการเงิน หรือ financial inclusion เนื่องจากพบว่าในจำนวน 5.7 ล้านคนที่ปล่อยสินเชื่อไป มีจำนวน 2.7 ล้านคนไม่มีเครดิตบูโร เพราะไม่เคยกู้เงินในระบบมาก่อนเลย หรืออาจจะเคยติดเครดิตบูโรกู้เงินไม่ได้แล้ว แต่สามารถดึงคนเหล่านี้กลับมากู้ในระบบใหม่ได้อีกครั้ง

    นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังดำเนินการโครงการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล หรือ digital lending มากถึง 1.6 ล้านคน โดยการกู้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ไม่ซับซ้อนผ่านโมบาย และกด verify หากคำขอสินเชื่อผ่าน ในวันรุ่งขึ้นธนาคารโอนเงินเข้าทันที

    “ธนาคารอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญการปล่อยกู้ด้วยระบบโมบายแบงกิ้งได้ดีเท่ากับธนาคารเอกชนขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง แต่การดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าเราทำได้ดีและมาได้ไกลแล้ว ภายในสิ้นปี 2565 ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อผ่านโมบายโดยที่ไม่ต้อง verify หรือยืนยันรายได้ แต่ใช้ alternative data เข้ามาช่วยวิเคราะห์”

    ไม่เพียงการปล่อยสินเชื่อสวนบุคคลเพื่อเข้าไปช่วยประชาชนฐานรากที่มีรายได้น้อย แต่ยังมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 4 ล้านคน แม้โครงการนี้อาจจะขาดทุนแต่นำเอากำไรในส่วนอื่นมาดำเนินการ แม้จะขาดทุนในโครงการนี้แต่ถือว่าสามารถช่วยบรรเทาการเกิดปัญหา NPL และสามารถทำให้กลับมากู้ใหม่ได้อีก

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน และเป็นธุรกิจที่มีแรงปะทะสูง ด้วยการปล่อยสินเชื่อในตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไปแล้วกว่า 1 ล้านราย โดยสามารถดึงคนเข้ามาในระบบได้จากการลดดอกเบี้ย จากเดิมดอกเบี้ยในตลาดกลุ่มนี้อยู่ที่ 28% เมื่อธนาคารเข้าไปปล่อยสินเชื่อ ประกาศลดดอกเบี้ยเหลือ 16-18% ทำให้ดึงคนเข้าระบบได้มากขึ้น

    นายวิทัยกล่าวต่ออีกว่า ในช่วงโควิด-19 ยังได้เข้าไปช่วย SME ที่มีปัญหา ไม่มีสภาพคล่อง แต่มีที่ดินให้นำมายื่นกู้ โดยที่ธนาคารไม่ได้วิเคราะห์เครดิต แต่ปล่อยกู้ในราคาต่ำกว่าตลาด ซึ่งทำให้สามารถช่วย SME ไปแล้ว 22,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ในเดือนตุลาคมจะตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป

    ไม่เพียงทำโครงการเพื่อช่วย SME ในช่วงโควิด-19 ยังมีโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยฝึกอบรมอาชีพสำหรับคนตกงาน หากพบว่าผู้อบรมมีศักยภาพ ก็จะปล่อยสินเชื่อให้ดำเนินธุรกิจด้วย โครงการนี้อบรมสร้างงานสร้างอาชีพไปแล้ว 1 แสนราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้เข้าอบรมอาชีพกว่า 2 แสนราย

    “โครงการเพื่อสังคมทั้งหมดที่ธนาคารดำเนินการ เป็นความภูมิใจของผมและของคนออมสิน เพราะเราสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเงิน และแก้ปัญหาความยากจน แม้การดำเนินการตามเป้าหมายนี้มันอาจจะไม่จบในเร็ววัน แต่เราร่วมกับพันธมิตรในการเดินต่อไป”

    เป็นธนาคารเพื่อสังคมแต่สร้างกำไรได้

    การทำโครงการเพื่อสังคม เพื่อเดินตาม 2 เป้าหมาย ในการบริหารความเหลื่อมล้ำทางการเงินและลดความยากจน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นายวิทัยกล่าวว่า แต่ด้วยการบริหารจัดการปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายจากเดิม 36,305 ล้าน ตอนนี้เหลือ 34,956 ล้านบาท การปรับลดงบประมาณดังกล่าวซึ่งเป็นไขมันส่วนเกิน ให้เป็นการใช้งบประมาณที่เหมาะสม คุ้มค่า ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 5,469 ล้านบาทในปี 2564 และในปีนี้ 2565 คาดว่าถึงสิ้นปีจะสามารถทำรายได้ 29,000 ล้านบาทได้

    “ผมเชื่อการทำโครงการเพื่อสังคมสามารถบริหารจัดการ people, planet, profit ให้ไปด้วยกันได้ โดยปีที่แล้ว ผมส่งรายได้เข้าคลังเป็นอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ และปีนี้เป็นอันดับ 3 รองจาก ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้นเอง นอกจากนี้ ผมยังเพิ่มเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจาก 36,025 ล้านบาทมาเป็น 41,199 ล้านบาทได้”

    ธนาคารออมสินได้ทำกระบวนการเชิงความลึกของ social bank เพราะต้องการผลกระทบเชิงบวก โดยการเอา social mission เข้าไปในทุกโครงการ ทุกกระบวนการและทุกคนในองค์กรต้องเดินตาม โดยการดำเนินการดังกล่าวทำให้ธนาคารแข็งแรงขึ้น พนักงานมีโบนัส และได้ช่วยสังคม ชุมชน

    แม้เป้าหมายในการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจะใช้เวลา แต่หากเดินร่วมกับพันธมิตร เชื่อว่าสามารถไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้