ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน : ‘เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย’ ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’

ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน : ‘เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย’ ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’

9 สิงหาคม 2022


วันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 : “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน

ThaiPublica Forum 2022 หรือเวทีปัญญาสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมวิทยากรจากวิทยากรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมเสวนาในาหัวข้อ “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” โดย เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities, จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายเลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities

WRI เป็นองค์กรวิจัยอิสระที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล ผู้นำทางธุรกิจ และเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในการคิดค้นและดำเนินการแก้ไขเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เท่าเทียม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต WRI มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เปลี่ยนความท้าทายทางด้านความยั่งยืนอันยากจะแก้ไข เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการขาดแคลนน้ำ ให้กลายเป็นข้อเสนอทางธุรกิจที่มองข้ามไม่ได้ รวมถึงรูปแบบธุรกิจที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและธุรกิจทั่วโลก และยังดำเนินงานทางด้านนี้ร่วมกับธุรกิจต่างๆ ด้วยการช่วยบริษัททำการวิจัย พร้อมด้วยเครื่องมือสำหรับวัดผล การจัดการ และปรับปรุง/ลดความเสี่ยงและผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน ช่วยสร้างมาตรฐาน/ แนวทางปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง

นายเลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities เชื่อมั่นในความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) บรรลุผลสำเร็จได้ภายในปี 2030 (พ.ศ 2573) ท่ามกลางสภาวะโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ (VUCA) ในอีก 7 ปีข้างหน้า

โลกที่เปลี่ยนเร็ว แผนงานต้องชัดเจน

นายเลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย กล่าวว่า ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความผันผวนมากขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงสร้างความปั่นป่วนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดจำนวน 15 ล้านคนและตัวเลขนี้ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างต้นทุนต่อเศรษฐกิจมากกว่า 25 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้คนจนต้องแบกรับผลกระทบจากการหยุดชะงักทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชน 150 ล้านคนตกอยู่ในความยากจน และเกือบ 700 ล้านคนไม่มีอาหารตกถึงท้องทั้งวัน

“การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในระบบของโลกอย่างน่าตกใจ … พวกเราต่างเห็นแล้วว่าคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก หรือมหาเศรษฐีของโลก ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการแพร่ระบาด ในขณะที่ประชาชนที่ดำรงชีวิตด้วยค่าจ้างสูญเสียรายได้เกือบเท่าๆ กับผลประโยชน์ที่มหาเศรษฐีของโลกได้รับ” นายเลี่ยวกล่าว

นอกเหนือจากนี้โลกยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างชัดเจน เช่น“แอมะซอน” ซึ่งเป็นปอดของโลกที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศโลก จากที่เคยเป็นตาข่ายดักจับหรือดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แต่กลายเป็นผู้ปล่อยมลพิษสุทธิไปแล้ว รวมไปถึงภัยแล้งกระจายไปทั่วโลก ฝนที่ตกหนักในมหาสมุทรอินเดีย ในมาดากัสการ์

ขณะเดียวโลกเผชิญกับความแตกแยก การแบ่งแยก และการเมืองประชานิยมที่ส่งผลต่อการล่มสลายของรัฐบาลบางประเทศ ทำลายบรรทัดฐานและความเชื่อมั่นในการเมืองอยู่ในระดับต่ำสุดสุด

“เราได้เห็นรัฐบาลล่ม บรรทัดฐานถูกทำลาย ความเชื่อมั่นในการเมืองอยู่ในระดับต่ำสุดสุด และยังมีหลายประเด็นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์เช่นกัน ทำให้พลังของขีดความสามารถในการดำเนินการร่วมกันด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ในช่วงที่เราต้องการให้มีการรวมพลัง มาร่วมกันและดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกัน พลังความสามารถที่จะทำงานร่วมกันนั้นอ่อนแอลง”

ขณะเดียวกันสงครามในยูเครนนำไปสู่โลกใหม่อย่างมีนัยสำคัญ มีการแบ่งออกเป็นหลายขั้ว มีการแบ่งแยกในแต่ละภูมิภาค การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและการดำเนินการร่วมกันในบริบทที่ว่านี้จะเป็นความท้าทายที่แท้จริงในช่วงปีที่เหลือในทศวรรษนี้ ท่ามกลางสภาวะโลกที่ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และคลุมเครือ (Ambiguous) หรือ VUCA

โดยปกติแล้วเมื่อโลกประสบกับภาวะชะงักงันก็มักจะฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากปัญหาการชะงักงันต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งสามารถฟื้นกลับมาได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้นธุรกิจก็สามารถที่ใช้ประโยชน์และโอกาสในโลก VUCAได้ แต่โอกาสแท้จริงต้องมาจากการกระทำ ดังนั้น เพื่อหาหนทางจัดการภาวะดังกล่าวและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีแผนงานที่ชัดเจนและองค์ประกอบที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในปี 2030

“เราใช้ชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อหาหนทางจัดการความวุ่นวายและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีแผนงานที่ชัดเจนและองค์ประกอบที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการของพวกเรา”

นายเลี่ยวกล่าวอีกว่าการระบาดของโควิด-19 สอนให้รู้ว่าในความเป็นจริงโลกมีการพึ่งพากันและกัน ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย นอกจากนี้โควิดยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกมานานตลอดจนความรุนแรงของสังคม ซึ่งป็นรากเหง้าของความอ่อนแอของโลกและระบบเศรษฐกิจ ส่วนอีกบทเรียนจากโควิดคือธรรมชาติคือพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยโลกจะหมดอนาคตหากปราศจากธรรมชาติที่สมบูรณ์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะปีที่แล้วธรรมชาติถูกยกระดับขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริงทั้งในเวทีระหว่างประเทศ ในเมืองต่างๆทั่วโลกที่เริ่มดำเนินการในการฟื้นฟูธรรมชาติอย่างจริงจัง

นอกจากนี้โควิดยังให้บทเรียนสำคัญที่ว่าการไม่ลงมือทำ อยู่เฉยนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย การป้องกันถูกกว่าการรักษา อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่สังคมโลกละเลยในสิ่งเหล่านี้ แล้วเราจะเผชิญกับวิกฤติในอนาคตอย่างไร เพราะในอนาคต วิกฤติในลักษณะนี้จะมีมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากการระบาดของโควิด-19 ก็คือ มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับเปลี่ยนได้อย่างเหลือเชื่อ ทุกสังคมหรือชุมชนได้คิดค้นวิธีการจัดการกับสิ่งต่างๆ รอบตัวในแต่ละวัน มีการสร้างพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อให้บรรลุความยั่งยืนตามที่มุ่งหวัง

“เมืองต่างๆ ได้พลิกโฉมตัวเองหลังเกิดโควิด เพื่อจัดการกับความท้าทายในการทำงาน ความท้าทายในการเลี้ยงดูผู้คน เรามีความสามารถในการปรับเปลี่ยนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เมืองต่างๆ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้” นายเลี่ยวกล่าว

Climate Change ต้องเป็นกลยุทธ์หลัก

นอกเหนือจากสภาวะ VUCA แล้ว ในอนาคตอันใกล้โลกยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามและการหยุดชะงักอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้ส่งผลกระทบมหาศาลและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดย “Climate Change” ได้ถูกบรรจุไว้ใน “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งมุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และ

พยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยได้มีการเปิดให้ลงนามอย่างเป็นทางการ เมื่อ 22 เมษายน 2559 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2559 มีประเทศภาคีร่วมให้สัตยาบันเกิน 55 ประเทศ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่า 55% ของโลก นับจากนั้นเป็นต้นมา มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมข้อตกลงนี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกร่วมลงนามใน “ข้อตกลงปารีสแล้วทั้งสิ้น 197 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การรับมือกับ “Climate Change” เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คาดว่าจะทำสำเร็จได้ภายในปี 2030

นายเลี่ยวกล่าวว่าเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสนั้น จะต้องไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในกลางศตวรรษนี้ ซึ่ง“คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ IPCC ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่มีสมาชิกเป็นนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศชั้นนำ เห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องดำเนินการ ให้บรรลุครึ่งหนึ่งของพันธกิจภายในปี 2030 จากระดับปี 2010 อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปัจจุบันการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนไม่ได้อยู่ในกรอบเส้นทางตามภาระผูกพันที่ได้บันทึกไว้ภายใต้ข้อตกลงปารีสหลังโควิด-19 แพร่ระบาด

“จริงๆ แล้วความมุ่งหมายที่วางไว้ลดลง เรายังมีความหวังในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจหยุดนิ่ง เราเห็นความมุ่งหมายลดลงชั่วขณะหนึ่งแต่กลับดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็กลับมาสู่ระดับก่อนการเกิดโรคระบาดแล้ว ในขณะที่พันธกิจโลกก็เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าดูเหมือนความก้าวหน้าเริ่มเห็นแสงสว่างทั้งในประเทศและในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งธุรกิจต่างๆ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสร้างแรงขับเคลื่อนที่แท้จริง”

ปัจจุบัน 155 ประเทศได้ปรับแก้ไขข้อผูกพันระดับชาติภายใต้ “ข้อตกลงปารีส” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้ โดย 83 ประเทศซึ่งคิดเป็น 73% ของเศรษฐกิจโลกได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และวางแผนที่จะเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าวตาม “ข้อตกลงปารีส” นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญอย่างมาก เช่น ข้อตกลงระหว่าง G7 และจีน ในการยุติการดำเนินธุรกรรมทางการเงินต่างประเทศให้แก่ธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักในการปล่อยมลพิษ

โดยเมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังขยับ มีเมืองประมาณ 1,000 แห่งที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังเห็นความมุ่งมั่นในระดับชาติที่มีมากกว่า 11,000 ฉบับในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเช่นเดียวกันกับบริษัทต่างๆ ที่กำลังก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำในด้านนี้ โดยกว่า 2,000 บริษัทได้ลงนามในเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายมาตรฐานสำหรับองค์กรและการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

“พวกคุณหลายอาจคิดว่าสายเกินไปที่จะคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศา นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุไว้แล้วว่าอุณหภูมิน่าจะสูงเกินนั้นเล็กน้อยภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งผมขอบอกว่าทุกเศษเสี้ยวของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความสำคัญ เพราะโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศา ที่รุ่นลูกของเราต้องอยู่นั้นเลวร้ายยิ่งกว่าโลกซึ่งอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาที่เราอยู่ ส่วนโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศานึกภาพกันไม่ออกเลย ดังนั้นทุกเศษเสี้ยวของอุณหภูมิที่สูงขึ้นจึงมีความสำคัญ” นายเลี่ยวกล่าวย้ำ

ในโลกของ VUCA ที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ผู้นำทางธุรกิจต้องนำกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ใช่เพราะรักษ์โลก แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจสมควรทำเพื่อสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในโลกที่ให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ดังนั้นหากธุรกิจต้องการดึงดูดผู้มีความสามารถ และสร้างชื่อเสียงในกลุ่ม รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่ล้ำหน้า จะต้องมีแนวปฏิบัติที่ไปไกลว่ากฎระเบียบและกฎหมาย เนื่องจากโอกาสทางธุรกิจทางด้านนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 12 ล้านล้านเหรียญ

“หากต้องการปกป้องการลงทุนจากผลกระทบด้านสภาพอากาศ ก็ต้องให้กลยุทธ์สภาพภูมิอากาศเป็นแกนหลักของกลยุทธ์องค์กรไม่ใช่เพียงแค่มีผู้บริหารระดับประธานเจ้าหน้าที่ (C suite) ดูแลสายงานความยั่งยืน นี่คือเรื่องราวของโอกาสที่ไม่ใช่แค่การปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือกฎหมาย หรือเพียงแค่สามารถแข่งขันได้ แต่เป็นเรื่องราวของการจับโอกาสอันยิ่งใหญ่ โอกาสทางธุรกิจที่อยู่ในแนวทางการแก้ปัญหาให้กับโลกที่ต้องบรรลุเป้าหมาย SDG และบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ”

  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เขย่าวิธีคิดธุรกิจ ต้องเปลี่ยน me เป็น we แคร์สังคม สิ่งแวดล้อม
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม
  • เสพติดการบริโภค ความไม่เท่าเทียมในระบบ การใช้อิทธิพล รากเหง้าของปัญหาต่างๆบนโลก

    สำหรับปัญหามากมายที่โลกเราต้องเผชิญนั้น เกิดจากสามประเด็นหลักที่เกื้อหนุนและขับเคลื่อนปัญหาอื่นๆ ทั้งหมด ประกอบด้วยการบริโภคที่มากเกินไปหรือการเสพติดการบริโภค ซึ่งเราจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร 2.5 พันล้านคนที่จะย้ายไปยังเมืองต่างๆ และเลื่อนเข้าสู่ชนชั้นกลางในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นสามเท่าเพื่อตอบสนองตอบความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และแตะ “ขีดความสามารถในการรองรับของโลก” ขณะที่ทรัพยากรและที่ดินกำลังจะหมดลง ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่าเราอยู่ในสภาวะเกินขีดความสามารถในการรองรับของโลกเพื่อตอบสนองการบริโภคในปัจจุบัน

    ประเด็นต่อมาที่เป็นรากเหง้าของปัญหาต่างๆ บนโลกคือ “ความไม่เท่าเทียมกันในระบบ” ซึ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมและวิกฤติสภาพภูมิอากาศสามารถเชื่อมโยงกันได้ ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จึงมีความรับผิดชอบที่สำคัญในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่อยู่ด้านล่างสุดของพีระมิด รวมทั้งลดความไม่เท่าเทียมกันลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น วิธีการที่เมืองต่างๆ สามารถทำได้ คือ โอกาสภายในเมืองที่ควรจะเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับ 3 ใน 4 ของประชากรโลกภายในปี 2050 นอกจากนี้โซลูชันที่ให้บริการสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย จะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ไม่ว่าจะในธุรกิจขนส่ง การเคหะ บริการน้ำ ปูนซีเมนต์ การจ้างงาน

    ส่วนประเด็นที่สามนั้นคือระบบที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ตามเป้าหมาย และรักษาการเติบโตของเมือง โดยความไม่ต่อเนื่องถือเป็นบ่อนทำลายความยั่งยืนทั้งหมด โดยความยั่งยืนไม่สามารถสร้างได้หากมีการล็อบบี้การดำเนินงานหรือนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนดังกล่าว ดังนั้น มาตรฐานเป้าหมายความรับผิดชอบขององค์กรที่พูดถึงอำนาจทางการเมืองที่ธุรกิจมีคือ การมีจรรยาบรรณในการจัดทำกลยุทธ์ และการจัดสรรงบประมาณตามความมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีการเปิดเผยความคืบหน้า และกำกับดูแลตนเองให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นบนเส้นทางนั้น

    โอกาสเหลือน้อยต้องเลือกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือช่วยแก้ปัญหา

    นายเลี่ยวกล่าวว่า บนเส้นทางแห่งความยั่งยืนนี้ ธรรมชาติจะเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในฐานะที่เป็นตัวดักจับคาร์บอนในอากาศ เป็นที่กักเก็บหรือเป็นที่กำบังเพื่อสร้างผลกระทบอย่างเงียบๆ นอกจากนี้ ธรรมชาติยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงดูประชากรที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตพลังงานของระบบอาหารประมาณ 50% ภายในกลางศตวรรษนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการที่ไม่ล่วงล้ำธรรมชาติอีกต่อไป

    นอกจากนี้ธรรมชาติยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง นั่นคือการเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจจากการอนุรักษ์ธรรมชาติ” ซึ่งสามารถสร้างงานได้ถึง 395 ล้านตำแหน่ง สร้างโอกาสทางธุรกิจมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

    “การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ถือเป็นการเดินทางอันยาวนาน ยิ่งถ่วงเวลาไว้ให้นานเท่าไหร่ จะทำให้งานนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้หน้าต่างที่เปิดให้จัดการกับปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Climate Change ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงโอกาสในการรักษาโลกไว้ภายใต้ขีดจำกัดที่กำลังแคบลงทุกขณะในอีกเจ็ดปีข้างหน้านี้”

    ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหาทางออกในการหาพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับตัวเราเองภายในปี 2573

    “ในภูมิทัศน์ที่เราจำเป็นต้องจัดการและมีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบบนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่มีสถานที่ให้แสดง ไม่มีที่ว่างที่จะให้เราอยู่ข้างนอกได้ ดังนั้นเราจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาก็ได้ นั่นคือทางเลือกที่เราทุกคนต้องทำในฐานะรายบุคคลหรือธุรกิจ ผมขอเรียกร้องให้พวกเราทุกคนมาสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อการเดินทางอย่างมีความสุข”

    นายเลี่ยวปิดท้ายการสัมมนาด้วยการยกคำพูดของ “John E Lewis” เพื่อถามว่า “ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร?” “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่