ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน : “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก

ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน : “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก

9 สิงหาคม 2022


วันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 : “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน

ThaiPublica Forum 2022 หรือเวทีปัญญาสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมวิทยากรจากวิทยากรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมเสวนาในาหัวข้อ “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” โดย เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities, จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์”

‘ความยั่งยืน’ คือไม่เบียดเบียนชีวิตคนรุ่นต่อไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความหมายของความยั่งยืนมีการตีความต่างกันไปในแต่ละคน จึงมีหลากหลายความหมาย นักเศรษฐศาสตร์อาจจะมองว่าเป็นการคงระดับการพัฒนาทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ได้ในระดับที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่สภาวะที่เติบโตเร็ว แล้วตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ ที่แสดงว่าไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตรงกับใจผมที่สุด คือ การพัฒนาที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายโอกาสในชีวิตของคนรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน หัวใจสำคัญคือ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่เบียดเบียนคนรุ่นต่อไป การมองบทบาทของการพัฒนา กรอบการพัฒนาและผลของการพัฒนาที่มากกว่าการตอบโจทย์ในปัจจุบันเท่านั้น”

ดร.วิรไทกล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีการถกเถียงกัน กลั่นออกมาเป็น sustainable development goalที่ผู้นำทั่วโลกให้ความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการมาตรการ ที่จะนำไปสู่การลดความยากจนไปพร้อมกับการรักษาคุณภาพของโลกให้อยู่ได้ต่อเนื่อง มีคุณภาพที่ดี ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของโลกมีเสรีภาพ มีสันติ มีความร่วมมือที่มากขึ้น จึงมีมิติการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมในรุ่นเดียวกันด้วย

“จะได้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงมีมิติของการ inter-generations และในเจเนอเรชันเดียวกันหรือ within generation ด้วย”

การนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีหลากหลายแนวทาง หลากหลายวิธี ที่ภาคธุรกิจในตลาดทุนให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก และมักมองเป็นกรอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ E — environment สิ่งแวดล้อม, S — social สังคม, G — governance ธรรมาภิบาล ที่สำคัญมากเมื่อพูดถึง ESG บางครั้งมองแยกส่วนนั้น เป็นการมุ่งตอบโจทย์เรื่อง E เรื่อง S หรือเรื่อง G

“แต่ผมคิดว่าการพัฒนาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนนั้นไม่มีทางที่เราจะแยก E, S และ G ออกจากกัน เราไม่มีทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ถ้าคนส่วนใหญ่ยังยากจน ถ้าคนส่วนใหญ่ยังเหลื่อมล้ำสูง หรือถ้าสังคมขาดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ในขณะเดียวกัน เราไม่มีทางลดความเปราะบางของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ ถ้าคนในสังคมยังขาดธรรมาภิบาล เรายังมีการคอร์รัปชัน และมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น เรื่องของ ESG ต้องเดินหน้าไปร่วมกันและไม่แยกส่วนกัน”

  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย” ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เขย่าวิธีคิดธุรกิจ ต้องเปลี่ยน me เป็น we แคร์สังคม สิ่งแวดล้อม
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม
  • ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ Sustainability อย่างจริงจัง

    ดร.วิรไทกล่าวว่า เหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับ sustainability อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ปีนี้เป็นปีที่ 7 หรือครึ่งทางของการประกาศ SDGs ในปี 2015 ในที่ประชุมระดับสูงสุดของสหประชาชาติ SDGs เป็นเป้าหมายของปี 2030

    รายงานของสหประชาชาติสรุปชัดเจน น่ากังวลมาก เพราะใช้คำว่า “2030 Agenda for sustainability development in grave danger along with humanity’s very own survival” เราเกิดวิกฤติต่างๆ มากมาย ทำให้โอกาสที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ยากมากๆ และยังจะทำให้การอยู่รอดของมนุษยชาติได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วย

    ดร.วิรไทกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ได้สร้างผล กระทบรุนแรงที่ต่อเนื่องไปถึงการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กระทบ SDGs ทั้งนั้น และที่สำคัญ วิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้ความก้าวหน้าในหลายเรื่องถูกย้อนกลับ เป็นโจทย์ใหญ่มาก หลายเรื่องถอยกลับไปหลายก้าว

    ดร.วิรไทกล่าวว่า อีกรายงานที่มีความสำคัญมาก คือรายงานของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change) ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเผยแพร่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่รุนแรงมากว่า ณ เวลานี้เป็น ‘now or never’ ที่จะทำให้ภาวะโลกร้อนถูกจำกัดไว้ที่เพียงแค่ 1.5 องศาเซลเซียส ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงปี 2010-2019 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษชาติ ถ้าเรายังใช้พลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ เราจะพลาดเป้าที่กำหนดให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปอีกเท่าตัว อาจจะไม่สามารถรักษาปริมาณการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 3 องศาเซลเซียสได้ด้วยซ้ำ

    “ในตอนนี้ที่พูดกันไม่ไช่เพียงแค่ climate change ไม่ใช่ climate crisis แต่เป็น climate catastrophy ไม่ใช่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ วิกฤติภูมิอากาศ แต่เรากำลังพูดถึงหายนะทางสภาวะภูมิอากาศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผลที่กว้างไกลมาก”

    กระทบกับวิถีชีวิตของเราทุกคนแทบจะทุกกด้าน กระทบกับการทำธุรกิจหลายอุตสาหกรรม โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นหลายโรคก็มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด ปัญหาผู้อพยพในหลายพื้นที่หลายล้านคน เกิดสงครามแย่งน้ำในหลายภูมิภาคของโลก ก็เป็นผลจากหายนะทางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

    ดร.วิรไทกล่าวว่า World Food Program ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เรื่องความมั่นคงด้านอาหารของสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในปีนี้และปีหน้าเรากำลังจะเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนอาหารรุนแรงจาก 3C คือ climate สภาพภูมิอากาศ, conflict ความขัดแย้ง, covid โควิด และทำให้เกิดวิกฤติ 3F คือ food วิกฤติอาหาร, fuel วิกฤติพลังงาน, fertilizer วิกฤติขาดแคลนปุ๋ย

    ปัญหาที่เราเผชิญในปีนี้เป็นเรื่องของราคาสินค้าอาหารสูงขึ้น food price inflation แต่ปีหน้าจะเกิดวิกฤติที่เรียกว่าเป็น access to food ไม่ใช่เพียงแค่ราคาขึ้นเท่านั้น แต่อาหารก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในโลก ส่วนสำคัญคือผลิตภาพลดลงมากจากการขาดแคลนปุ๋ย

    สิ้นปี 2022 WFP คาดว่า คนถึง 345 ล้านคนในมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกจะขาดความมั่นคงทางอาหาร หรือจะมีความเสี่ยงสูงมากด้านอาหาร เป็นการเพิ่มขึ้นจากเพียงแค่ 200 ล้านคนก่อนเกิดโควิด จะเห็นว่าความเปราะบางของการเข้าถึงอาหารเป็นเรื่องใหญ่มาก

    “ใครจะคิดว่าพัฒนาทางการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่เราคุ้นเคยกัน ก็ไม่สามารถบรรทาปัญหานี้ได้ ทำให้โลกเผชิญกับ global food crisis วิกฤติอาหารรุนแรงครั้งสำคัญที่สุด”

    เวลาที่เกิดการขาดแคลนอาหาร จะนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพการเมืองของรัฐบาลในหลายประเทศ จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นหรือ mass migration เกิดปัญหาอาชญากรรม เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมามากมาย รอบนี้ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเคยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารเพียงพอและส่งออก

    นี่คือภาพใหญ่ที่ว่า ทำไมทุกคนในโลกต้องให้ความสำคัญกับ sustainability อย่างจริงจัง

    อย่าปล่อยให้สังคมและธรรมาภิบาลก้าวข้าม Tipping Points

    ถ้ามองเข้ามาในประเทศไทย ดร.วิรไทกล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยก็น่ากังวลมากทีเดียว แม้ไม่เจอกับสภาวะการขาดแคลนอาหาร แต่

    “วิกฤติสภาวะภูมิอากาศ หายนะทางภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ไม่มีพรมแดน ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ เพราะคนไทยครึ่งหนึ่งมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับภาคเกษตร ภาคเกษตรเป็นภาคที่เปราะบางมากที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศรุนแรง”

    ดร.วิรไทกล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่ภาคการเกษตรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในภาคอุตสาหกรรมมีแหล่งการผลิตจำนวนไม่น้อยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง หรือพื้นที่ราบต่ำเหมือนที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมหนัก 2554 อุตสาหกรรมบริการที่สำคัญที่สุดของไทยคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญก็เป็นพื้นที่ตามชายฝั่งเช่นเดียวกัน แม้แต่กรุงเทพมหานครก็โอกาสที่จะจมน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เราเผชิญกับน้ำประปาเค็มจนถือเป็นเรื่องปกติ ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น

    “วันนี้ในประเทศไทยเริ่มพูดถึงการเข้าสู่ low carbon economy หรือการเป็นเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ แต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถูกแรงกดดันจากมาตรฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานของนักลงทุนและมาตรฐานของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และยังไม่กระจายเข้าสู่วิถีชีวิต หรือรูปแบบการทำธุรกิจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่สำคัญมากกว่าการพูดคุยเรื่อง low carbon economy คือเราพูดถึงน้อยมากๆ ในสิ่งที่เรียกว่า adaptation plan แผนของการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

    ดร.วิรไทกล่าวว่า หลายประเทศมี adaptation plan ที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ห่างไกลจากการรับรู้หรือได้รับความสำคัญในสังคมไทย

    เมื่อมองนอกเหนือจาก E หรือวิกฤติของสภาวะภูมิอากาศ เราต้องระวังวิกฤติสังคมและวิกฤติทางด้านธรรมาภิบาล

    “ผมคิดว่าเรื่องของสังคมและเรื่องธรรมาภิบาลก็อาจจะอยู่ใกล้สิ่งที่เรียกว่า ‘tipping points’ มากขึ้น tipping points จุดอันตราย มีความสำคัญมาก”

    ในด้านระบาดวิทยาศัพท์ว่า tipping points มีความสำคัญมาก ถ้าการระบาดอยู่ในภาวะต่ำ ก็สามารถควบคุมได้ ไม่มีปัญหา แต่เมื่อไรก็ตามที่การระบาดก้าวข้ามจุดที่เรียกว่าเป็น tipping points การระบาดจะแพร่กระจายอย่างทวีคูณ และการที่จะดึงให้กลับเข้ามาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ก็จะทำได้ยาก จะมีต้นทุนต่อสังคม ต้นทุนต่อวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน

    ดร.วิรไทกล่าววา tipping points ที่เราเห็นเกิดขึ้นแล้วในมิติความยั่งยืน คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน

    เรื่องที่ประเทศไทยได้ก้าวข้าม tipping points ไปแล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่ทำให้เป็นสังคมผู้สูงอายุ และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

    “เรื่องเราต้องระมัดระวังไม่ให้ก้าวข้าม tipping points ต่อไป ทางด้าน S และ G คือ ปัญหาคอร์รัปชัน หากปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชันกลายเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับได้ในสังคม จะแก้ปัญหาได้ยากมากและจะมีผลกระทบที่กว้างไกลมาก ซึ่งหากมองแนวโน้มที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่าไม่ดีเลย ดัชนี Corruption Perception Index ของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องทุกปี เมื่อปี 2561 เราอยู่อันดับที่ 96 ปีที่แล้วเราอยู่อันดับที่ 110 แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น

    “ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังอย่าปล่อยให้ก้าวข้าม tipping points ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นของคนระหว่างรุ่นและความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เวลาที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ผ่านมา เราอาจจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสินทรัพย์ หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งก็ชัดเจนและมีขนาดกว้างมากขึ้น”

    แต่ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ข้ามรุ่น และเป็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส จะยิ่งน่ากลัวมาก

    ที่เห็นได้ชัดคือ ด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งเดิมเป็นบันไดที่สำคัญทางสังคม คนสามารถที่จะยกระดับทางสังคมยกฐานะทางเศรษฐกิจได้ด้วยการศึกษา วันนี้บันไดนั้นดูเหมือนว่าจะให้โอกาสน้อยลงสำหรับคนที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่มีฐานะที่ดี

    ดร.วิรไทกล่าวว่า อีกด้านหนึ่งที่ควรกังวลคือ เส้นแบ่งของดิจิทัล digital divide เพราะความรู้ความเข้าใจ การเข้าถึงบริการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ก็จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสสูงขึ้น เราเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ คนที่มีฐานะดีทางสังคม สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ถูก ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ด้านล่างของสังคม

    ดร.วิรไทกล่าวว่า ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิด tipping points และเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่มีความเปราะบางอยู่มาก และเป็นความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด และเป็นปัญหาที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ระมัดระวังและช่วยกันหาทางแก้ไข

    “ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้นำไปสู่ความแตกต่างทางความคิดของคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายรุ่น ซึ่งจากความแตกต่างทางความคิดได้นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด ทำให้สังคมไทยมีความเปราะบาง ทำให้เราไม่สามารถสร้างพลังร่วมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เท่ากันกับความท้าทายใหม่”

    “นอกจากนี้ ในแวดวงธุรกิจเอง เราเห็นการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ปลาใหญ่กินปลาเล็กอาจจะไม่เพียงพอ บางช่วงเราเห็นปลายักษ์กินปลาเล็กด้วยซ้ำ เราเห็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่มาจากอำนาจของทุนใหญ่ในสังคม เรื่องเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวังไม่ทำให้เกิดความเปราะบางของสังคมไทยมากขึ้นไปอีก”

    ดร.วิรไทกล่าวว่า ถ้าคิดในกรอบ ESG ที่ตลาดทุนคุ้นเคยกันดี กรอบในเรื่องความยั่งยืน โลกตะวันตกอาจจะเน้นที่ E สิ่งแวดล้อม “แต่ปัญหาของไทยที่สำคัญมาก ที่เราต้องให้ความสนใจคือ S สังคม และ G ธรรมมาภิบาล ถ้าเราแก้ปัญหา S และ G ไม่ได้หรือปล่อยให้ปัญหา S และ G ก้าวข้าม tipping points เราก็จะไม่มีทางที่จะรักษา E ไว้ได้”

    การวางยุทธศาสตร์ความยั่งยืนในสังคมไทยจึงต้องเป็นการคิดในองค์รวม ดูความเชื่อมโยงกัน เราต้องร่วมกันให้ความสนใจให้ความใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในโลกปัจจจุบันและโลกข้างหน้า ที่ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก และที่สำคัญ ‘กันชนหรือ buffer’ ที่เรามีเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสิ่งแวดล้อม หรือมิติด้านสังคม เหลือน้อยลงเรื่อย’

    รูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจที่สร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก็จะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงไปสู่ส่วนอื่นๆ ของสังคมได้

    การแก้ปัญหาความยั่งยืนเป็นหน้าที่เราทุกคน

    ดร.วิรไทกล่าวว่า เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ก็มักมีคำถามกลับมาว่า การแก้ปัญหาควาามยั่งยืนเป็นหน้าที่ของใคร คนทั่วไปที่มองโจทย์ในภาพกว้าง มองสังคมเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ก็มักจะพูดว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่พอ เมื่อเทียบกับขนาดและความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งภาครัฐก็มีข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ องค์ความรู้ บุคคลากร วิธีคิด และความสามารถในการบริหารจัดการ

    ดร.วิรไทกล่าวว่า การแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก จะต้องมุ่งไปที่ต้นเหตุของปัญหา ถ้าจะให้เกิดผลที่พึงประสงค์ ปัญหาเรื่องความยั่งยืนเกิดจากวิถีชีวิต วิถีการทำธุรกิจของทุกคน ดังนั้น ความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ร่วมของเราทุกคน หากไม่สามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ จะเกิดผลเสียต่ออนาคตของเราทุกคน ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการปรับตัว ต้นทุนการทำธุรกิจในอนาคตจะสูงขึ้น และจะสูงขึ้นมากหากปล่อยให้ก้าวข้าม tipping points ไป

    ในส่วนของภาคธุรกิจต้องมีบทบาทที่สำคัญ เพราะวิถีการทำธุรกิจที่ผ่านมาได้สร้างให้เกิดผลเสียต่อมิติต่างๆ ในด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ระมัดระวัง ไม่ได้สนใจ คาดไม่ถึง หรือเป็นเพียงเพราะว่าก็ทำตามธรรมเนียมที่เคยทำมา ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคอร์รัปชัน หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

    ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน เพราะสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีความคาดหวังที่สูงขึ้นมากต่อบทบาทของภาคธุรกิจในเรื่องความยั่งยืน คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ พนักงานของเรา ก็จะมีความคาดหวังที่สูงขึ้นมาก วันนี้เขาอาจจะไม่ใช่ลูกค้าของเราในวันนี้แต่คนรุ่นใหม่ก็คือลูกค้าของเราในอนาคต คนรุ่นใหม่คือพนักงานของเราในอนาคต

    ดร.วิรไทกล่าวว่า กฎเกณฑ์กติกาของการทำธุรกิจที่จะออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืน คำว่าของดีกับสินค้าที่ดี ในอนาคตไม่ใช่เพียงแค่มีคุณภาพที่ดีเท่านั้น แต่จะต้องดีสำหรับ greater good คือ ดีสำหรับภาพใหญ่ของสังคมด้วย

    ภาคธุรกิจมีทรัพยากร มีองค์ความรู้ มีความสามารถที่จะบริหารจัดการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น การแก้ปัญหาความยั่งยืนนี้ ภาคธุรกิจจะต้องมีบทบาทสำคัญ เราอย่างไปคาดหวังให้ภาครัฐเป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้นำหลัก ภาครัฐอาจจะมีบทบาทในการช่วยกำหนดนโยบายต่างๆ ช่วยตีกรอบในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน แต่ถ้าเราคาดหวังให้ภาครัฐทำอย่างเดียว หลายเรื่องก็จะก้าวข้าม tipping points และกลายเป็นต้นทุนของพวกเราทุกคน ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต

    ถ้าภาคธุรกิจจะต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น คำถามที่มักได้ยินประจำคือ ธุรกิจจะได้อะไรจากการทำเรื่องความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น มีผู้บริหารหลายคนมองว่าการทำเรื่องความยั่งยืนจะทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น หากคู่แข่งยังไม่ทำ ธุรกิจไหนทำไปก่อนต้นทุนจะสูงขึ้น กำไรจะลดลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผลประกอบการไม่ดีเท่าในอดีต รอให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผลประกอบการดีขึ้นแล้วค่อยทำเรื่องความยั่งยืนไม่ได้หรือ

    คำถามลักษณะนี้ไม่ผิด ถ้าคิดว่าความยั่งยืนเป็นเพียงแค่เรื่องของ CSR (corporate social responsibility) เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นคนดีของสังคม แต่กระแสของธุรกิจกับความยั่งยืนไปไกลกว่านั้นมาก ในโลกปัจุบัน “ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ CSR ไม่ใช่ว่ามีกำไรแล้วแบ่งกำไรบางส่วนมาทำ CSR การคิดเรื่องความยั่งยืนต้องเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำกำไรของธุรกิจ ความยั่งยืนเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์องค์กร”

    “ผมอยากชวนให้ผู้บริหารลองถามตัวเอง ชวนทีมของบริษัทช่วยกันคิดว่า ถ้าองค์กรของเราไม่ทำเรื่องความยั่งยืนจะทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องใดบ้างหรือไม่ ถ้ามองความยั่งยืนเป็นเรื่องความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เรื่อง CSR เชื่อว่ามุมมองจะเปลี่ยนไป และนอกจากเรื่องความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์แล้ว ความยั่งยืนจะมีผลกับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของธุรกิจหรือไม่ ถ้าไม่ทำ และคู่แข่งทำก่อน คู่แข่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ หลายบริษัทในโลกตะวันตก เมื่อสามารถทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง ผลักดันเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ผลักดันเป็นกฎเกณฑ์ กติกาใหม่ของสังคม เราจะเห็นว่าบริษัทไหนที่ไม่ทำก็ต้องวิ่งตามตลอดเวลา ความสามารถในการแข่งขันถูกกระทบได้อย่างแรง”

    บริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังเร็วกว่าคู่แข่งก็จะมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สามารถสร้างความแตกต่าง สร้าง brand equity (คุณค่าของแบรนด์) ได้ดี สร้าง engagement (ความผูกพัน) กับพนักงานคุณภาพสูงให้อยู่กับองค์กรได้ และที่สำคัญคือการสร้างบรรทัดฐานในการทำธุรกิจในสังคม ที่ทำให้คนอื่นต้องวิ่งตาม เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

    การทำเรื่องความยั่งยืน จะทำให้มาตรฐานการทำธุรกิจสูงขึ้น คุณภาพของกระบวนการทำงานขององค์กรที่ใส่ใจในเรื่องนี้สูงขึ้นเช่นกัน ต้องมีกระบวนการควบคุมต่างๆ มากขึ้น เช่น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลดของเสีย การจัดการขยะ ก็จะเป็นการลดต้นทุน ที่เดิมจะทิ้งไป และสามารถทำให้กระบวนการผลิตรัดกุมมากขึ้น มีจุดควบคุมที่ชัดเจนมากขึ้น หลายบริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืน สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น สร้างคุณค่าได้เพิ่มสูงขึ้น บริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชน ก็จะเห็นว่าบริษัทคู่ค้าอาจจะให้ความสำคัญกับ procurement with purposes การจัดซื้อจัดหาที่ตอบโจทย์กว้างไกลกว่าความต้องการของภาคธุรกิจ แต่มองไปที่เรื่องความยั่งยืนด้วย เกิดมาตรฐานในด้านซัพพลายเชนใหม่ๆ

    ในด้านการบริหารความเสี่ยง หากมองความยั่งยืนเป็นประเด็นความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างจริงจัง เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มองไกล มองกว้าง มองรอบตัวแบบเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเผชิญกับความเสี่ยง มีหลักการบริหารความเสี่ยงที่ดีกว่าธุรกิจอื่น โดยเฉพาะในโลกที่ VUCA ผันผวน (volatile), ไม่แน่นอน (uncertain), ซับซ้อน (complex) และคลุมเครือ (ambigous) มากขึ้นจะสามารถมีพันธมิตร มีภูมิคุ้มกัน ที่จะรับมือกับความผันผวน รับมือกับแรงปะทะ ความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคตได้อีกมาก อย่างน้อยที่สุดช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องชื่อเสียง reputational risk ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น

    ถ้ามองไปในโลกตะวันตกจะเห็นว่า การทำเรื่อง sustainability วันนี้ไม่ได้อยู่ในระดับของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่ได้มีการขับเคลื่อนในระดับของอุตสาหกรรมด้วย ในธุรกิจท่องเที่ยวไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรงแรมจำนวนมาก พยายามมุ่งเป็นโรงแรมเพื่อความยั่งยืน โรงแรมสีเขียว แต่วันนี้หลายพื้นที่ไม่ได้พูดเพียงแค่โรงแรมเพื่อความยั่งยืน แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน(sustainable destination) สามารถทำให้ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

    ในภาคของตลาดเงินตลาดทุน ก่อนหน้านี้เราได้เห็นกองทุน ESG ออกมาแข่งขันกันเป็นรายกองทุน วันนี้อุตสาหกรรมการลงทุนที่สอดคล้องกับความยั่งยืน หรือเรียกว่า sustainable investment industry (อุตสาหกรรมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน) มีขนาดใหญ่ขึ้น มีวิธีปฏิบัติ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น

    การออกมาตรการใหม่เช่น CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป (อียู) หรือมาตรการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสายการบินก่อนบินเข้าอียู ก็จะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางความยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่างๆ ใครก็ตามที่ไม่ใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ

    “โจทย์สำคัญของวันนี้ คือจะทำอย่างไรให้ก้าวร่วมกันได้ และเป็นก้าวที่ยั่งยืน ความยั่งยืนเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องมีบทบาทร่วมกัน คงต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร เป็นเรื่องที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว ความยั่งยืนเป็นหลักคิดที่จะช่วยให้ธุรกิจชนะไปพร้อมกับสังคมวัฒนา เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการที่จะก้าวร่วมกัน เดินไปข้างหน้า”

    ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน

    ดร.วิรไทกล่าวว่า เมื่อมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ช่วยให้ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา การกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องความยั่งยืนของแต่ละองค์กร ต้องกำหนดจากภายในองค์กรเอง แม้ธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็อาจจะมีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ต่างกันได้ และขอย้ำว่าความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของ CSR

    การทำ CSR หลายครั้งมักเป็นประเด็นปัญหาจากภายนอกองค์กร ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรนัก ไม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความเสี่ยงขององค์กรนัก อาจจะขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัวของผู้บริหาร ที่ไม่โยงกับธุรกิจขององค์กร และหลายที่การทำ CSR มักเป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือฝ่ายสื่อสารองค์กร มีกำไรก็จัดสรรให้ไปทำ

    “แต่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องทำ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร ต้องมีการคิดให้ตกผลึกว่าความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราคืออะไร และหากไม่ทำแล้วคู่แข่งทำ จะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของเราในระยะยาวได้อย่างไรบ้าง ถ้าเราเริ่มคิดลักษณะนี้การทำเรื่องความยั่งยืนของเราก็จะไม่ใช่เพียงวาระปีต่อปี หรือทำเมื่อมีกำไรสูง แต่เป็นการทำเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับระยะยาว เป็นเรื่องของความอยู่รอดของธุรกิจ และไม่ใช่เพียงความอยู่รอดในระดับองค์กรธุรกิจแต่ละแห่ง แต่เป็นความอยู่รอดในระดับอุตสาหกรรมและระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

    การขับเคลื่อนจึงต้องมาจากหลายองค์ประกอบเพื่อให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราสามารถที่จะก้าวร่วมกัน และเป็นก้าวที่ยั่งยืนได้ คือ ต้องมาจากคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องมองเรื่องความยั่งยืนเป็นความเสี่ยงด้านยุทธศาสตร์ และ เป็นโอกาสทางยุทธศาสตร์ขององค์กร ถ้าคิดเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ต้องมีการวิเคราะห์ วางแผน ติดตาม ดำเนินการเหมือนกับยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ขององค์กร จะต้องทำความเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดจะต้องมีทัศนคติที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ขึ้น

    วันนี้เราเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายธุรกิจที่มีการประกาศเจตนารณ์ เรื่อง net zero อย่างจริงจัง และมีแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนไปสู่กระบวนการการทำงานขององค์กร เรื่อง net zero อย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะความท้าทายของเรามีทั้งเรื่อง S และ G ด้วย

    องค์ประกอบที่สอง ที่มีบทบาทสำคัญ คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล จะต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน มีการออกนโยบาย ออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่จะยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการความยั่งยืน อย่าปล่อยให้มีการซื้อเวลา หรือศัพท์ภาษาอังกฤษ kick the can ไปเรื่อย ถ้าจะปล่อยไปในลักษณะแบบนั้นก็จะเกิดปัญหาเหมือนหลายเรื่องในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประมงกับ IUU ที่ต้องมาเร่งแก้ในภายหลัง หรือธงแดง ICAO กับปัญหาของสายการบินใน 7-8 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยไม่สามารถวิ่งตามมาตรฐานของโลกได้ทัน

    ความยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกันสูง ต้องทำต่อเนื่องและใช้เวลา ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิต มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น การที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง และนอกจากหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว เราก็ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศในเรื่องนี้ให้ชัดเจนและให้มีประสิทธิผลด้วย

    การสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะพฤติกรรมของเราทุกคนขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ ในภาคตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารพาณิชย์ มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการลงทุนและการเงินเพื่อความยั่งยืน เรื่องระบบภาษี โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตจะเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะทำให้เราระมะดระวังมากขึ้น ทั้งในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับสังคม

    การสร้างกลไกตลาด ทั้ง carbon credit หรือ carbon offset เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ภาคเอกชนที่จะช่วยกันยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมการค้า หรือ IOD จะมีความสำคัญมาก พร้อมกับองค์กรภาคประชาสังคม ที่จะช่วยกันติดตาม ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และช่วยกันสร้างความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ทำกับไม่ทำเรื่องความยั่งยืน

    สร้างระบบนิเวศความยั่งยืน

    การทำเรื่องความยั่งยืน นอกจากสร้างระบบนิเวศในสังคมและเศรษฐกิจไทยแล้ว จะมี 3-4 ประเด็นที่สำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนเกิดผลและเป็นก้าวที่ยั่งยืน

    ประการแรกต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็น champion ในเรื่องของความยั่งยืน คนรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจในเรื่องความยั่งยืนสูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ มาก เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    ประการที่สอง ต้องให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีในเรื่อง sustainability ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือกระบวนการทำงาน ถ้าเราทำธุรกิจแบบเดิม และสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ก็มีแต่ต้นทุนจะสูง ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมาก ทำให้ราคาลดลงมากและช่วยทำให้เราสามารถติดตามความคืบหน้าและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมได้ การเก็บข้อมูลสำคัญมาก เพื่อให้เรื่องความยั่งยืนเกิดผล

    ประการที่สาม ต้องส่งเสริมความยั่งยืนให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร อยู่ในกระบวนการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ระดับต่างๆ ขององค์กร

    ประการสุดท้าย เน้นการสื่อสารภายในและภายนอกอย่างชัดเจน ในโลกข้างหน้า เวลาที่เกิดเรื่องอะไรก็ตามเกี่ยวข้องกับสังคม กับสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าทุกองค์กรจะถูกตั้งคำถามจากพนักงาน จากลูกค้า และจากสังคม ว่าองค์กรมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

    “ผมดีใจที่ไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำ จัดงานวันนี้ขึ้นและมีผู้นำจากหลากหลายองค์กร ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญมาช่วยกันคิด ช่วยกันหาแนวทางที่จะช่วยกันสร้างระบบนิเวศสำหรับการก้าวร่วมกัน เพื่อก้าวที่ยั่งยืน

    ผมเชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเป็น platform เป็นผู้สนับสนุน เป็นตัวเร่งที่สำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า sustainability in substance การเอาความยั่งยืนไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงในภาคธุรกิจไทย ไม่ใช่ sustainability in form (ความยั่งยืนแค่เพียงรูปแบบ) เท่านั้น”

    ดร.วิรไทกล่าวว่า sustainability in substance จะช่วยให้เราสามารถลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จากการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กับการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น รวดเร็วขึ้น ทุกภาคส่วนต้องมีบทบาทมากขึ้นบนเส้นทางของความยั่งยืน และภาคธุรกิจต้องไม่ประเมินบทบาทของตัวเองต่ำเกินไปในเรื่องนี้ เพราะภาคธุรกิจมีทั้งทรัพยากร มีทั้งความสามารถในการจัดการ และที่สำคัญเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ และเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย

    “ถ้าเราช่วยกันทำให้ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา จะไม่ได้เพียงแค่ทำให้คนรุ่นเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องเบียดบังทรัพยากร ไม่ต้องเบียดบังโอกาส และไม่ต้องเบียดบังคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อๆ ไป”