ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม

ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ชู BCG ยกระดับอุตสาหกรรม

13 สิงหาคม 2022


วันที่ 8 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวไทยพับลิก้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 : “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน

ThaiPublica Forum 2022 หรือเวทีปัญญาสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมวิทยากรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” โดย เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย Head, WRI UK Office; and Director, Strategy and Partnerships, World Resources Institute Ross Center for Sustainable Cities, จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากได้ฟังวิทยากรหลายท่านบรรยายให้เห็นถึงภาพรวมของการดำเนินการต่าง ๆที่จะนำไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกกันไปแล้ว ลองมาดูว่าทางภาคอุตสาหกรรมของไทย เราทำอะไรกันไปบ้าง และสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร

ด้านล่างนี้ เป็นภาพที่ผมนำไปแสดงเกือบทุกเวทีในช่วงนี้ ผมอยากจะให้เห็นภาพความท้าทายที่ชัดที่สุดตามที่ ดร.วิรไทได้พูดเอาไว้ในช่วงแรกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า “VUCA” ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เราจึงเผชิญกับสิ่งที่เราเรียกว่าความท้าทาย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Digital Transformation ผมคิดว่าเมื่อดิจิทัลเข้ามา และนำไปสู่การปฏิรูป การปฏิวัติอย่างมากมาย ได้ส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคสังคม และภาคบริการ รวมถึงการใช้ชีวิตด้วย

ที่ผ่านมาในภาคอุตสาหกรรมของเรา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “Digital Disruption” ภาคอุตสาหกรรมไหนปรับตัวไม่ได้ ไปไม่ไหว ก็ถูกดิสรัปชัน บางรายก็ต้องล้มหายตายจาก เลิกกิจการกันไป ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ ก็กำลังหนีคลื่นของการถูกดิสรัปชันกันอยู่ โดยการพัฒนาปรับตัวเอง เพื่อความอยู่รอด

จากนั้นก็มาเกิดคลื่นลูกที่ 2 ขึ้นอีก ก็คือ “Trade War” หรือ “สงครามการค้า” ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น จากโลกที่เคยเป็นโลกาภิวัตน์ เปลี่ยนเป็นโลกที่ไม่โลกาภิวัตน์ เกิดการแบ่งแยก พวกใครพวกมัน อันเนื่องมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อันดับที่ 1 และ อันดับที่ 2 ของโลกมีปัญหาทะเลาะกัน ส่งผลกระทบไปยังทุกประเทศทั่วโลก จนเกิดกระแสความท้าทาย ที่เรียกว่า “Deglobalization”

ความเหลื่อมล้ำระหว่าง SMEs กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ต่อจากคลื่นลูกที่ 2 ก็มาเจอคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งหนักมาก คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกหยุดนิ่งไปกว่า 2 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้หายไป จากการแพร่ระบาดของโควิดฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นภาพความอ่อนแอของโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมากมาย

“ช่วงโควิดระบาด ทำให้เราเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเฉพาะในภาคสังคมเท่านั้น ในภาคอุตสาหกรรมของเราเองก็มีด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับการดูแลอย่างมากมายในการเข้าถึงแหล่งเงินที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ขณะที่ SMEs ทั้งหลายต้องการเงินใจจะขาด แต่กลับไม่ได้เงิน เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ผมขอใช้คำว่า ตายเหี้ยน ไม่เหลือเลย ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และ ตลาด MAI มีผลกำไรรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท”

  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “วิรไท สันติประภพ” ชี้สิ่งที่ต้องทำคือ ‘sustainability in substance’ ไม่ใช่แค่ติ๊กถูก
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย” ถามดังๆ ‘ถ้าไม่ใช่เราแล้วใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วเมื่อไหร่’
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์” รัฐต้องสร้าง “โมเดลดอกเห็ด” Active Partner – เลิกติดกับดักตัวชี้วัด
  • ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน: “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เขย่าวิธีคิดธุรกิจ ต้องเปลี่ยน me เป็น we แคร์สังคม สิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มสิ่งทอพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ผลิตชุด “PPE” ส่งขายทั่วโลก

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีวิกฤติ มันก็มีโอกาส ในช่วงโควิดฯระบาด ก็มีความสวยงามขึ้นมาหลายอย่าง สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย หลายภาคอุตสาหกรรมพยายามปรับตัว หรือ Transformation ตัวเองไปทำอุตสาหกรรมแนวใหม่ อย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถูกดิสรัปชัน ขายเสื้อผ้าไม่ได้ ร้านค้าขายเสื้อผ้าแฟชั่นหลายแห่งปิดกิจการ แต่ทว่าในช่วงนี้กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ร่วมมือกันพัฒนาจนเกิดชุดป้องกันเชื้อโรค ที่เรียกว่า “ชุด PPE” ของประเทศไทยขึ้นมา สามารถซัก และนำกลับมาใช้ได้ใหม่ถึง 20 ครั้ง ตอนนี้ก็กลายเป็นสินค้าทดแทนการนำเข้า และกำลังส่งออกไปขายต่างประเทศ

    โควิดฯ ยังไม่ทันได้คลี่คลาย เราก็มาเจอปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน เป็นคลื่นลูกที่ 4 กลายเป็นว่าปัญหาหนึ่งยังไม่จบ ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาทับซ้อน แม้สงครามรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้นไกลบ้านเรา แต่เกิดผลกระทบไปทั่วโลก นั่นก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะเรื่องการแซงก์ชันปุ๋ย และสารเคมีต่างๆ ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่มีปุ๋ยที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูก นำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาอีก คือ เรื่องการขาดแคลนอาหาร ซึ่งคาดการณ์กันว่าในสิ้นปีนี้จะมีประชากรกว่า 300 กว่าล้านคน ในหลายสิบประเทศขาดแคนอาหาร นี่คือวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

    คาดปี ’65 ส่งออกอาหารไทยโต 15% ขยับขึ้นทอปเท็นโลก

    แต่ในช่วงวิกฤติสงครามรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นนี้ ภาคอุตสาหกรรมของเราก็มีโอกาส คือ อุตสาหกรรมส่งออกอาหาร ซึ่งในปีนี้ ส.อ.ท. คาดว่าปีนี้ยอดส่งออกอาหารของไทยน่าจะมีมูลค่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15% ซึ่งยอดการส่งออกอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ในปีนี้การส่งออกอาหารของไทยน่าจะขยับขึ้นมาอยู่ในระดับทอปเท็นของโลก จากเดิมอยู่ที่อันดับ 13

    จากคลื่นลูกที่ 4 ก็มาเจอคลื่นลูกที่ 5 ตอนนี้ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นยาแรงและก็เร็ว ส่งผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนลง ทั้งนี้ เพื่อหยุดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “Recession”

    แต่ยังไม่ทันไร เราก็กำลังจะเจอคลื่นอีกลูกหนึ่งที่กำลังจะมา ก็คือ ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันและสหรัฐเมริกา ขณะที่ผมกำลังพูดอยู่ในขณะนี้ ที่บริเวณช่องแคบไต้หวันก็กำลังซ้อมรบกันอยู่ เราก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

    ห่วงปมขัดแย้ง “จีน-ไต้หวัน” ทำให้ “เซมิคอนดักเตอร์” ขาดตลาด

    ปัญหานี้ ส.อ.ท.มองเห็นเลยว่า สงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ซัพพลายเชนถูกดิสรัปชันไปหลายตัว เช่น ปุ๋ย, พลังงาน, อาหาร แต่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์” หรือ “ไมโครชิป” ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากไต้หวันเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดในการผลิตชิปส่งออกในสัดส่วน 64% ของโลก หากยืดเยื้อออกไป ก็มีโอกาสที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนชิปได้

    และนอกจากปัญหารัสเซียกับยูเครน หรือ จีนกับไต้หวันแล้ว คลื่นลูกใหญ่ที่สุดก็คือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่า “climate change” เป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ประเทศใหญ่มีเทคโนโลยีสูงแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นทั้งสิ้น ซึ่ง climate change นี้อาจจะเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติ

    ที่ผ่านมาเราเริ่มมองเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย อาจเกิดปัญหาน้ำท่วมในประเทศต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายทะเล เราเห็นปัญหาภัยพิบัติที่ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น อย่างในปีนี้หลายประเทศในยุโรปร้อนจัดมาก บางประเทศมีอุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศา แม้แต่ยางมะตอยของลานจอดเครื่องบินประเทศอังกฤษยังละลาย หรือ เกิดไฟไหม้ป่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

    สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ จากผลการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ก๊าซมีเทนต่างๆ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ และเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่พวกเราเอง ก็ต้องระมัดระวัง

    ในฐานะที่ผมดูแลภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ขณะนี้ผมขอเรียนว่านโยบายในเรื่องความยั่งยื่นของ ส.อ.ท.นั้นชัดเจน โดยเราแบ่งภาคอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อยู่ทางด้านซ้ายมือ สมาชิกของ ส.อ.ท. เรียกว่า “Frist Industries” ประกอบไปด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มนี้เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมประกอบกิจการกันมา 40-50 ปี กำลังถูกดิสรัปชัน และทุกคนกำลังหนีตายกันอยู่ ซึ่ง ทาง ส.อ.ท. ก็พยายามหาทางช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแพลตฟอร์มให้ แต่ทำแล้วใช่ว่าจะรอด เพราะถ้าเราหนีไม่ทัน ปรับตัวไม่ทัน มันก็โดนดิสรัปชันอยู่ดี แต่อย่างน้อยก็มีเวลาให้กลุ่มอุตสาหกรรมได้ปรับตัวสักหน่อย

    กลุ่มที่ 2 เป็น Next-gen Industries แห่งอนาคต เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ หรือ S-Curves Industries แบ่งออกเป็น 5 บวก 7 โดย 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เราเป็นแชมป์ในการส่งออก แต่กำลังโดนดิสรัปชัน

    ตัวอย่างแรก อุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจุบันเรายังเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์ในลำดับที่ 11-12 ของโลก หรือ “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”สามารถส่งออกรถยนต์ไปขายในต่างประเทศปีละ 1,000,000 คัน ผลิตขึ้นมาใช้เองภายในประเทศอีก 1,000,000 คัน มาเป็นเวลาหลาย 10 ปี ปัจจุบันกำลังจะถูกดิสรัปชันไปอย่างรวดเร็วด้วยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” อุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกว่า 700,000 คน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15% ของ GDP นี่คือตัวอย่างของ Frist-S-Curve ที่ผมพูดถึงต้องรีบปรับตัวไปสู่รถ EV ให้รวดเร็ว มิฉะนั้นจะถูกดิสรัปต์

    ตัวอย่างที่ 2 เป็นสินค้าที่เราส่งออกที่สุดในลำดับถัดมา คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีบริษัท เวสเทิร์นดิจิทัล หรือ “WD” เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยบูมใหญ่ เพราะทุกคนเวิร์กฟอร์มโฮม ประชุมต่างๆ ก็ใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จ้างคนงานเป็นแสนๆ คน เป็นธุรกิจส่งออกอันดับ 2 ของประเทศ รองมาจากรถยนต์ แต่ตอนนี้กำลังถูกดิสรัปชัน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า “โซลิดสเตตไดรฟ์” หรือ “SSD”

    ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ก็กำลังจะเกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรม Robotic, Automation, ศูนย์กลางทางการแพทย์, โลจิสติกส์, ศูนย์กลางการบิน และรวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่

    ขานรับนโยบายรัฐ ชู BCG ขับเคลื่นเศรษฐกิจไทย

    ตัวที่ 2 ธุรกิจ BCG (bio-circular-green economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งตัวนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วน ส.อ.ท. ก็มองว่า BCG เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องมาจากประเทศไทยเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และท้ายที่สุดเรากำลังไปในเรื่องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ซึ่งทั้ง BCG และ Climate Change เป็นประเด็นหัวข้อที่จะบรรยายต่อไปว่าทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไร

    “ผมเข้ามารับตำแหน่งประธานสภาอุตฯ นโยบายของผมก็คือ ONE FTI เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยมีความที่เป็นหนึ่งเดียว ผมใช้แมปปิงของ SGD Goals ทั้งหมด 17 เป้าหมาย นำมาผสมผสานกับนโยบายในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม มีทั้งหมด 4 หัวข้อใหญ่ คือ 1. Industry Collaboration 2. Frist 2 Next Gen Industry 3. Smart SMEs และ 4. Smart Service Platform สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ นโยบายหลัก ที่จะผลักดันเป้าหมายของความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในส่วนของ Industry Collaboration มี 3 โครงการ แต่ที่อยากเน้นคือโครงการ One Industry One Province พยายามกระจายความเจริญจากส่วนกลางออกไปยังทุกจังหวัด โดยมีโครงการ Smart Agricultural Industry หรือเรียกว่า “SAI” เป็นตัวที่จะขับเคลื่อนเพราะทุกจังหวัดมีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และก็มีโครงการ International Collaboration ซึ่งต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศ เป็นหัวข้อที่ผมจะกล่าวต่อไป”

    ภาระกิจในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืนของ ส.อ.ท.มี 10 เสาหลัก แต่บางครั้งเรากำหนดนโยบายขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีใครที่เป็นเจ้าภาพในการที่จะขับเคลื่อน มันไปไม่ถึงหรอก อย่างที่คุณวิทัยกล่าว ผมเห็นด้วย เรามีแค่นโยบาย แต่ถ้าเราไม่สามารถขับเคลื่อนได้จริง มันก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น เราจึงตั้งหน่วยงานภายใน ส.อ.ท.ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานทั้ง 10 เสาหลัก

    ภาพนี้เป็นตัวอย่างการดำเนินงานของ ส.อ.ท.ที่จะสนับสนุนเป้าหมายของ SDGs ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 17 เป้าหมาย มีหลายโครงการที่เราทำกันไปแล้ว อาทิ การจัดตั้ง “กองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19” ช่วงที่โควิดฯระบาด ส.อ.ท. ได้นำเงินจากกองทุนนี้ไปจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่จังหวัดสมุทรสาคร จัดหาวัคซีนและ ATK มาช่วยสมาชิก ส.อ.ท. เป็นต้น

    ด้านการพัฒนาบุคลากร เราก็จัดตั้ง “FTI Academy” ร่วมกับสมาชิกของ ส.อ.ท.จัดทำหลักสูตรพัฒนาคน (reskill) , เรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ ก็มีการจัดทำใบรับรอง หรือ water footprint และก็ทำ sandbox ฟื้นฟูคลองหัวลำโพง และ จัดทำโครงการ “RE 100 THAILAND” บางคนบอกเป็นสมาคมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน, จัดทำโครงอนุรักษ์พลังงาน และโครงการ “ENERGY POINT” เสริมสร้างอุตสาหกรรม S-curve , supply chain security รวมไปถึงการจัดตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม อันนี้ก็เป็น innovation fund เพื่อช่วยเหลือ SMEs ซึ่งวันนี้ลำบากมาก

    ร่วมทุน อว. ตั้ง “Matching Fund” ช่วย SMEs ต่อยอดธุรกิจ

    วันนี้เราร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)จัดตั้งกองทุน matching fund เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัปและเอสเอ็มอี ที่มีไอเดียดีๆ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนไปต่อยอดธุรกิจ โดยภาครัฐจัดงบประมาณมาสนับสนุน 1,000 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชนหาเงินมาสมทบอีก 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมาย ส.อ.ท. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติทั้งหมด ซึ่งเราทำร่วมกับ อว.มาโดยตลอด

    นอกจากนี้ ส.อ.ท.ก็มีการจัดทำระบบรับรองสินค้า Made in Thailand การส่งเสริม SMEs ให้ไปสู่ Go Digital, Go Innovation และ Go Global ซึ่งจะเห็นว่า BCG นั้น มันไปแมตช์กับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่เป็นเป้าหมาย และตัวอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ทาง ส.อ.ท. ใช้โรดแมปของ SDGs เป็นตัวตั้ง จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เราทำอยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพเป็น BGC ก็จะไปแมตช์กันทั้งหมด

    แนวคิดเรื่อง BCG หลายท่านคงทราบอยู่แล้ว สิ่งที่ ส.อ.ท. อยากจะเน้นก็คือ เราจะเปลี่ยนแรงกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มาเป็นโอกาสทางธุรกิจ อย่างตัว B ตามที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นระดับต้นๆของโลก สามารถทำตัว B ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ วันนี้เรากำลังจะพูดถึงตัว B ที่เป็นยารักษาโรค เครื่องสำอาง biofabrics เส้นใยผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เรากำลังพูดถึงตัว B ที่เป็น biochemical, biofertilizer และ biofuel เป็นสิ่งที่ทั่วโลกมีความต้องการ และสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งท้านที่สุดก็จะมี novel foods เราจะทำอย่างไรถึงจะมี food for the future เช่น โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ สิ่งเหล่านี้ ส.อ.ท. กำลังเร่งดำเนินการอยู่”

    ส่วนตัว C หรือ circular economy เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำเศษขยะของที่เหลือใช้ทั้งหลายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเดิมทีเคยเป็นปัญหา นอกจากไม่ใช้แล้ว ยังเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ก็ไม่รู้ สร้างปัญหาทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย แต่วันนี้เรานำสิ่งเหล่านี้กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ และที่สำคัญลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

    ขณะนี้เรากำลังเร่งทำแพลตฟอร์ม circular economy เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีของเสียได้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนของเสียกัน ทำเป็น feed stock ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยกำหนดราคาไว้ให้ชัดเจน ทุกโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใน ส.อ.ท. สามารถมาใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ ซึ่งต่อไปก็จะพัฒนาขึ้นเป็นโครงการ upcycling นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือ ขยะ มาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ

    สำหรับโครงการ circular economy นั้น สมาชิกของ ส.อ.ท. เราทำไปเยอะมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเศษพลาสติก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เราติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งเศษพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและสิ่งแวดล้อม จึงจัดทำโครงการ Circular Material Hub โดยนำพลาสติกที่ทิ้งแล้ว กลับมาเอามารีไซเคิลใหม่ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก “Alliance To End Plastic Waste” หรือ “AEPW” ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังทดลองทำอยู่ 2 โครงการ คือ

      1. โครงการนวัตกรรมถนนพลาสติก หรือ “Plastic Road” โดยนำเศษพลาสติกมาผสมกับยางมะตอย ซึ่งในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังทดสอบว่าควรนำเศษพลาสติกมาผสมในสัดส่วนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม สามารถรองรับแรงบดอัด และน้ำหนักรถบรรทุกได้ โครงการนี้ถ้าทำสำเร็จ นอกจากช่วยลดขยะพลาสติกของประเทศลงไปได้มากแล้ว ยังนำขยะพลาสติกที่เป็นปัญหากลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ได้
      2. โครงการ Mega City Project เราทำโมเดลบริหารจัดการพลาสติกที่จังหวัดระยอง ส่วนที่กรุงเทพฯ เราก็ไปทำแพลตฟอร์มในการจัดเก็บขยะพลาสติกใช้แล้วที่คลองเตย

    ตัว G หรือ “เศรษฐกิจสีเขียว” นั้น โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้โรงงานต่างๆ อยู่คู่กับสังคมได้ นอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแล้ว เราหวังว่าจะยกระดับขึ้นมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และในอนาคตก็จะกลายเป็นเมืองสีเขียวด้วย

    ในอดีตเราจะนำวัตถุดิบมาผลิตสินค้า พอผลิตเสร็จออกมาเป็นสินค้า ของเหลือที่เป็น waste ก็เอาไปทิ้งเป็นปัญหาตามมา แต่ตอนนี้เรานำกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะของ re-used ใหม่ re-used จนกระทั่ง ทำไม่ได้แล้ว เหลือ waste น้อยที่สุด ค่อยนำไปกำจัดต่อไป ซึ่งในอนาคตสิ่งที่กำลังพัฒนาให้เกิดขึ้นก็คือ bio resources ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนใน 4 อย่าง จนไม่เหลือเศษเลย จนกลายเป็น zero waste ต่อไป

    เรื่อง green economy ส.อ.ท.ก็มีการออกใบรับรองให้กับบรรดาโรงงานต่างๆ ที่เข้าตามมาตรฐานของ ECO Factory และมาตรฐาน ECO Products ซึ่งในอนาคตหาก ECO Factory ขยายตัวไปกลายเป็น ECO Town นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้จัดตั้งสถาบันใหม่ที่เรียกว่า “สถาบัน Climate Change” ขึ้นมา และกำลังพยายามทำแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่ง ส.อ.ท. เรามี 45 กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องการใช้คาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสามารถที่จะนำมาเทรดได้

    อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า ที่ภาคอุตสาหกรรมของเราทำไปแล้ว มีเครื่องสำอาง novel foods, biofabrics, biochemical, biofertilizer และก็ bioplastics สำหรับโครงการ bioplastic ผมกล้าพูดได้เลยว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำอันดับที่ 1 ของผู้ผลิต bioplastics ของโลก ซึ่งตอนนี้ก็มีโครงการที่เกิดขึ้นแล้ว คือ “นครสวรรค์โมเดล” เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “KTIS” ซึ่งผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ กับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “GGC” ซึ่งเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.

    ภาพนี้ก็เป็นการขับเคลื่อนไปสู่ SDGs ขณะนี้ ส.อ.ท. กำลังดำเนินการในการสร้างและพัฒนา BCG Model เพื่อให้ความรู้ รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เราสร้างขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีมาตรฐานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ก็เพิ่งจะเปิดตัวโครงการ “Smart Agriculture Industry” หรือ “SAI” แปรรูปเห็ดเป็นเนื้อสัตว์ โครงการนี้เป็นการนำ Smart industry มาผสมผสานกับเกษตรอัจฉริยะ และ BCG นำมาร่วมกันภายใต้แนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่อง climate change ผสมผสานกันทุกอย่าง รวมไปถึงเรื่องพลังงาน ก็ใช้พลังงานสะอาด แสงอาทิตย์ พลังงานทดแทน ของเสียทุกอย่างเป็น zero waste หรือ เป็นของเสียที่สามารถเวียนกลับมาใช้งานได้ และที่สำคัญ Smart Agriculture Industry เราจะมี Carbon Footprint ที่จะบอกได้ว่าในโครงการนี้ เราจะมีคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ ซึ่งในอนาคตเรื่องนี้จะมีความสำคัญมาก

    ทั้งนี้ โครงการ SAI ที่เราจะทำสาขาแรก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4 ไร่ อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจะทดลองผลิตโปรตีนที่ทำมาจากพืช เริ่มจากเห็ด นำมาแปรรูปเป็นอาหารแทนเนื้อสัตว์ นำไปทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ตอนนี้นิยมรับประทานกันทั่วโลก ก็อยู่ในโมเดลนี้ ทั้งนี้ ส.อ.ท. จะให้อุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม เข้ามาช่วยกันทำ ทั้งในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด การบริหารจัดการน้ำ ของเหลือใช้ ของเสียทุกอย่างต้องนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็น zero waste และก็จะมีกระบวนการวัดจำนวน Carbon Credit ด้วย โดยโครงการนี้เราต้องเร่งทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการประชุมผู้นำ APEC ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานภายใต้Theme “BCG” ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะทำเป็นโครงการตัวอย่างให้กับผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาประชุมได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย และทิศทางของประเทศที่กำลังเดินหน้าไปสู่ BCG อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน SAI ก็จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษา และผู้ที่สนใจด้วย

    ชูโครงการ “One Province One Industry” แก้เหลื่อมล้ำ

    จากนั้น เราจะขยายแนวคิดดังกล่าวนี้ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้ง 5 ภาค และผลักดันขึ้นเป็นโครงการ “One Province One Industry” ต่อไป แต่ละจังหวัดจะทำไม่เหมือนกัน โดยเราจะใช้วิธีจับคู่กันระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ยกตัวอย่าง กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยา ต้องการสมุนไพรประเภทไหน คุณภาพเป็นอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ คิดราคาอย่างไร แจ้งมาได้เลย เราก็จะประสานไปยังกลุ่มสมุนไพร เป็นต้น จับมาเข้าคู่กันเพื่อให้โครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เชื่อว่าโครงการนี้อาจจะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างการเกษตรของประเทศไทยได้

    “เดิมที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ตามซัพพลาย พืชชนิดไหนได้ราคาดี ก็แห่กันปลูก แต่ในวันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ พยายามให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชตามดีมานด์แทน ถ้าทำได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้”

    เข็น “ปูนไฮดรอลิก” ออกขายปีหน้า-ลดก๊าซเรือนกระจก

    สำหรับ climate change เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP ขณะนี้สหภาพยุโรป เป็นเจ้าภาพในการกำหนดมาตรฐานที่เรียกว่า “Carbon Border Adjustment Mechanism” หรือ “CBAM” กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้านอก EU ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ หากผู้ส่งออกใช้พลังงานมาก หรือ ใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลผลิตสินค้า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของเสียออกมาเยอะ อุตสาหกรรมนั้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน

    ดังนั้น เราจึงต้องเร่งจัดตั้งสถาบันคาร์บอนเครดิตขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้มีการเทรดกัน ขณะนี้สมาชิกของ ส.อ.ท. หลายกลุ่มอุตสาหกรรมก็กำลังเร่งดำเนินการ และที่เริ่มทำกันไปบ้างแล้ว แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กำลังจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้เป็นล้านๆ ต้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทุกค่าย ตกลงกันว่าจะยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สูตรเก่าทั้งหมด โดยเปลี่ยนมาผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกตั้งแต่ในปีหน้าเป็นต้นไป ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สำคัญ ทำให้เห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มาก

    ภาพนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (renewable) มารวมตัวกับจัดตั้งคลับมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ทุกบริษัทมีเป้าหมายเดียวกันว่าจะใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    การบริหารจัดการน้ำ ส.อ.ท. มีเครือข่ายตั้งเป็นวอร์รูมบริหารจัดการน้ำ รวมตัวกันตั้งเป็นสถาบันบริหารจัดการน้ำโดยตรง โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่อีอีซี ซึ่งน้ำมีราคาแพงมาก และมีปัญหาขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้ง

    จับมือ กทม. แก้ปัญหาน้ำคลองเน่าเสีย

    นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดทำโครงการฟื้นฟูคูคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ในอดีตประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองเวนิสตะวันออก มีคูคลองกว่า 1,000 คลอง แต่ทว่าคลองส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย วันนี้ ส.อ.ท. จึงไปร่วมมือกับ กทม. เข้าไปพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองหัวลำโพง เป็นโครงการแรก ซึ่งผู้ว่า กทม. ได้มอบโจทก์มาให้ ส.อ.ท. กลับไปคิดเป็นการบ้านแล้ว เป็นเรื่องของ CSR แต่เราก็ทำควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้วย

    ประเด็นสุดท้าย เรื่องความยั่งยืนนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ในระดับสากลเราก็ทำด้วย โดยในการประชุมผู้นำ APEC เดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว เราก็เตรียมเรื่องความยั่งยืนเอาไว้อยู่ในหัวข้อที่ 4 ทาง ส.อ.ท. จะนำประเด็นนี้ เสนอต่อที่ประชุมผู้นำ APEC และรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ ที่มาประชุมในวันนั้น ซึ่งจะมีเรื่องของการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น การขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030 และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำหน่าย โดยนำ BCG มาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงเรื่องการสนับสนุนเอสเอ็มอี ส่งเสริมบทบาทของสตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้โลกเดินหน้าต่อไปได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน