ThaiPublica > คนในข่าว > “โครงการก่อการครู” ร่วมปล่อยแสง สำแดงพลัง เสียงคนตัวเล็ก: ‘ครูเอ็ม’ ต้องจุดไฟให้ครู ถ้าเสียงดังมากพอ จะสะเทือนถึงการศึกษา

“โครงการก่อการครู” ร่วมปล่อยแสง สำแดงพลัง เสียงคนตัวเล็ก: ‘ครูเอ็ม’ ต้องจุดไฟให้ครู ถ้าเสียงดังมากพอ จะสะเทือนถึงการศึกษา

15 สิงหาคม 2022


โครงการก่อการครู ก่อกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรทั้งด้านการศึกษา ภาคเอกชน รวมไปถึงคุณครูของเด็กๆ โดยหมุดหมายคือจุดประกายการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ที่เริ่มจากคุณครู แม้จะเริ่มด้วยย่างก้าวเล็กๆ แต่ไม่เคยหยุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ก่อการครูได้จัดเสวนา “ครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง : ครูปล่อยแสง สำแดงพลัง” เพื่อให้ครูและบุคคลากรในแวดวงทางการศึกษามาร่วมกันหาคำตอบถึงบทบาทครูในโลกอนาคตที่ “การเรียนรู้” เกิดขึ้นได้จากทุกหนแห่ง ส่งผลให้ความสนใจของผู้เรียนไม่หยุดนิ่งและเต็มไปด้วยการแสวงหารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ครูในก่อการครูรุ่นที่ 3 มาปล่อยแสง แชร์ประสบการณ์ และส่งผ่านแรงบันดาลใจของพวกเขาให้กับครู ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของพวกเขา

เส้นทางชีวิตของ ครูเอ็ม ภณเอก ภัชรวาณิชสกุล จากโรงเรียนวัดบูรพาพิทยาราม เป็นตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้อย่างดี เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน ที่ต้องกลายเป็นเด็กหลังห้อง เพียงเพราะครูสอนภาษาอังกฤษให้ตอบอาชีพของพ่อแม่ แล้วครูเอ็มไม่รู้ว่าศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ช่างซ่อมรถยนต์” คืออะไร จึงตอบครูไปว่า I don’t know เพราะหวังว่าครูจะช่วยบอกศัพท์กลับมา แต่สิ่งที่ได้ คือถูกด่าทออย่างเกรี้ยวกราดก่อนจะไล่ไปยืนหน้าชั้น

“นี่คือประสบการณ์ในโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุดของจังหวัด ที่พ่อแม่ตั้งใจส่งผมไปเรียน ผมรู้สึกว่า ประสบการณ์ครั้งนั้น ครูได้เอาความอยากเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่งใส่กล่องขุดหลุมฝังแล้วเอาเท้าเหยียบซ้ำ”

ครูเอ็มบอกว่า ไม่ได้เป็นคนจริงจังกับการเป็นครู เพราะความใฝ่ฝันคือจะไปทำงานต่างประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ เขาทำงานในวงการศึกษามากว่า 10 ปี เริ่มจากครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ 7 ปี จากนั้นไปหาประสบการณ์การเป็นบรรณาธิการหนังสือวิชาการ สื่อการเรียนการสอนของนักเรียนอีก 2 ปี โดยคิดจะใช้ประสบการณ์การเป็นครูหาสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่จะส่งผลให้กับนักเรียน เพราะความเป็นครูทำให้รู้ว่าสื่อที่มีอยู่ไม่พอจะให้ความรู้เด็ก และการเป็นบรรณาธิการต้องอ่านหนังสือให้มาก ค้นคว้าให้มากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด แม้หนังสือที่ทำจะขายดี แต่ครูเอ็มก็ตัดสินใจลาออก เพราะขัดแย้งเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน กลับไปเป็นครูอีกครั้ง

ครั้งนี้เป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลสิกขาเอเชีย ที่ร่วมทุนกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กในชุมชนสวนพลู ทำได้ระยะหนึ่ง มีข่าวสำนึกรักบ้านเกิด ทำให้คิดอยากกลับบ้าน เลยทิ้งชีวิตเมือง ไปสมัครเป็นครูอาสาที่จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนที่มีอาคารเรียน 1 หลัง มีนักเรียนประมาณ 50 คน และขออยู่บ้านพักครู เพราะอยากกลับไปแก้เรื่องอดีตที่เมื่อครั้งเจอครูภาษาอังกฤษฝังกลบความอยากรู้อยากเห็นของเด็กคนหนึ่ง

เมื่อกลับไปสอนโรงเรียนบ้านเกิด ครูเอ็มบอกว่า มีความสุขมาก โดยเฉพาะแม่ที่เป็นกำลังใจอย่างมาก ก่อนก้าวเท้าออกจากบ้าน แม่จะบอกว่า มีไม่กี่อาชีพนะที่ทำแล้วจะได้บุญทุกวัน ได้ออกจากบ้านไปทำบุญทุกวัน ถามแม่ว่า อาชีพอะไร แม่บอกว่า ครูไง นอกจากครู ก็มีแต่พระ ที่ได้บุญทุกวัน นั่นเป็นอีกจุดเปลี่ยน…

ครูเอ็มบอกว่าตอนเป็นครูอาสา มีความสุขมากมาย แต่รายได้ต่ำ เงินเดือนแต่ละเดือนไม่เคยเหลือ หมดไปกับค่าขนมให้เด็กๆ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถดัดแปลงการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาพพื้นที่ได้ เช่น เรียนเรื่องดินก็พาเด็กไปขุดดิน สอนเรื่องแร่ธาตุในอาหาร สอนความแตกต่างของดินแต่ละพื้นที่ ดินในสวน ดินหลังห้องน้ำโรงเรียน ดินริมถนน และเด็กรู้สึกว่าครูเป็นเพื่อน

อยู่ได้ไม่นานครูเอ็มถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนขยายโอกาส ที่มีชั้นประถมกับมัธยมต้น ครูเอ็มเห็นถึงไม่มีความพร้อมของเด็ก เคยถามเด็กเรื่องการเรียน เด็กตอบว่า เรียนไปทำไม สุดท้ายก็ไปทำสวนอยู่ดี ถามต่อว่า ไม่อยากเป็นคนทำสวนที่มีความรู้บ้างหรือ เด็กตอบ ไม่อะครู อยู่แบบนี้ก็โอเค ถามว่าชีวิตนี้อยากได้อะไร เด็กอยากได้รถกระบะแต่งซิ่ง อยากได้โทรศัพท์ ถามว่าจะได้ได้อย่างไร เด็กบอกว่า ไม่รู้สิ เดี๋ยวก็มีมั้ง ขอแม่ ขอพ่อ …สะท้อนว่า เด็กไร้ซึ่งจุดมุ่งหมายในชีวิต มันอันตรายมาก พอไปคุยกับพ่อแม่เด็ก ก็พบว่าเรื่องจริงแย่กว่าที่เด็กพูดมากมาย และที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น อย่างเด็กคนหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กเลว เป็นเด็กหลังห้อง แต่เวลากลับไปบ้าน เขาทำงานบ้านทุกอย่าง เพราะแม่เป็นต่างด้าว พิการถูกเครื่องมือในโรงงานตัดแขนขาด และไม่มีสวัสดิการ

ครูเอ็มไม่ได้เป็นแค่ครูที่สอนในห้องเรียน แต่ยังต้องดูแลชีวิตนอกห้องเรียนที่เด็กๆ ประสบปัญหา เป็นเรื่องเดียวกันที่ครูจำเป็นต้องใส่ใจ

อยู่โรงเรียนขยายโอกาสมาได้ระยะหนึ่ง ครูเอ็มสอบบรรจุเป็นข้าราชการ และย้ายไปอยู่โรงเรียนระดับมัธยมของรัฐ แต่เจอปัญหาความขัดแย้งกับผู้บริหาร เพราะกระบวนการการเรียนการสอนไม่ถูกใจผู้บริหาร ทำให้ครูเอ็มรู้สึกว่า ระบบการศึกษา พร้อมจะเหยียบย่ำครูคิดต่าง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ครูเอ็มได้ก้าวย่างมาสู่โครงการ “ก่อการครู”

“ตอนนั้นเจอปัญหาหนักมาก ผมไม่มีปัญหาการเรียนการสอน เด็กรัก ผู้ปกครองรัก แต่ผู้บริหารไม่ชอบ ถูกรังแกหนัก ปรึกษาใครก็ไม่ได้ เพราะถูกเอาพูดต่อ ถูกสังคมรอบข้างตั้งแง่ ถูกตั้งกรรมการสอบเพื่อจะเอาออกจากราชการให้ได้ นี่คือสิ่งที่ครูคนหนึ่งที่ทำเพื่อนักเรียนต้องเจอ นี่หรือคือความสุขที่แม่บอกว่าได้บุญ คำถามต่างๆ ย้อนกลับมาหมด”

“พอได้ยินโครงการก่อการครู ครูที่จะสมัคร ต้องเขียนบรรยายความเป็นตัวตน 1 หน้ากระดาษ สิ่งที่เขียนคือ เรื่องราวที่ตัวเองเจอในโรงเรียน เรื่องที่นักเรียนเจอ ตัดผม กล้อนผม ฟาด ถูกให้ถอดถุงเท้า เพียงแค่สั้นไป แล้วให้ทิ้งถังขยะ… บรรยายเพียงแค่อยากระบายให้ใครสักคนรู้ว่า เราไม่ไหวแล้ว เป็นเรื่องที่คิดว่ายังไงก็ไม่ถูกเลือกเข้าโครงการ ปรากฏว่า “ก่อการครู” เลือกเข้าโครงการ”

  • ถอดแก่นคิด “โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์” ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย(1)
  • ถอดแก่นคิด “สาธิตธรรมศาสตร์” ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย (จบ)
  • “ก่อการครู” ผู้จุดสตาร์ตเปลี่ยนการศึกษา “ทุกข์ของแผ่นดิน” สู่หมุดหมายการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป (1)
  • “ก่อการครู” ก่อการใหญ่ จุดไฟเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ “หลุมดำ”การศึกษาไทย (2)
  • ครูเอ็มบอกว่า วันแรกที่มาเข้าโครงการที่ต้องอยู่กับเพื่อนครู 3 วัน เขามาด้วยความรู้สึกไร้เรี่ยวแรง เหมือนต้นไม้ขาดน้ำที่โดดแดดแผดเผาเป็นเวลานาน แต่ 3 วันในก่อการครูได้ปลุกครูเอ็มคนเดิมกลับมา เป็นครูเอ็มที่มีพลังมากมายที่แม้จะยังถูกกระบวนการศึกษาทำร้ายอยู่ก็ตาม เพราะเขาได้รับรู้กระบวนการ วิธีต่างๆ ที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่โดดเดี่ยว เพราะมีเพื่อนที่เห็นแบบเดียวกัน

    “วันแรกของก่อการครู เขาให้เราปรับจากข้างใน ปรับทัศนคติ จนเรามีพลังมากมายกลับมา เพราะทำให้เราเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเราเป็นใคร และเคยตั้งใจอะไรไว้ เป็นสิ่งที่ผมอยากขอบคุณก่อการครู เพราะช่วงที่ถูกทำร้ายมากๆ เคยคิดจะลาออกจากราชการ ความตั้งใจตั้งแต่แรกต้องการทำเพื่อการศึกษา เพื่อนักเรียนของผม แต่พอเจอเรื่องมืดดำที่กระทบใจ จนอยากลาออก เท่ากับทิ้งความเป็นตัวเราทันที เมื่อความตั้งใจเดิมกลับมาก็คิดได้ว่า ไม่เป็นไร เราต้องผ่านเรื่องนี้ให้ได้ และเราไม่ได้ตัวคนเดียว เพราะมีเพื่อนๆ ในก่อการครู ไม่ได้เดินคนเดียว ไม่ใช่ครูเอ็มคนเก่าที่เดินคนเดียวในซอยมืดๆ อีกแล้ว และเรายังเป็นแรงเสริมให้เพื่อนๆ คนอื่นอีกด้วย

    ครูเอ็มบอกว่า…

    สิ่งเหล่านี้กลับมาได้ด้วยกระบวนการของก่อการครู ที่รับฟัง เปิดใจ ให้เราเรียนรู้ความต่างของคน รู้ในอำนาจ ที่มีทั้งอำนาจเหนือ อำนาจร่วม พอรู้แล้ว เมื่อเจอสิ่งกระทบก็แยกแยะได้และควรรับมือด้วยภาวะจิตใจแบบไหน ต่อให้ไม่มีเพื่อนในโรงเรียน แต่มี “ก่อการครู”

    หลายครั้งต้องไปต่อสู้กับระบบการศึกษา เช่น การดูแล การวัดผล ฯลฯ กำลังจะหมดไฟ ก็ได้ก่อการครูมาเติมไฟ ก่อการครูก็ทำให้กลับมาโฟกัสความตั้งใจที่มีอยู่เดิม คือ นักเรียน และความหวังของแม่ที่อยากให้ลูกเป็นครู และครูที่ดี ที่เคยหายไป เพราะถูกบางอย่างกดทับอยู่ “ก่อการครู” มาสร้างยอดพีระมิดใหม่นี้ให้กลับมา และทำให้ชัดขึ้น ไม่โดดเดี่ยว และไม่ยอมแพ้ ทำให้รู้สึกว่าจะผ่านเรื่องนี้ไป สามารถมองปัญหาที่โรงเรียนและคิดหาวิธีแก้ไข จนทำเรื่องขอย้ายโรงเรียนในปัจจุบัน

    “ผมไม่ได้หวังจะไปทำให้อะไรเปลี่ยน แค่อยากบอกว่า ผมทำ คุณจะทำหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าทำก็ดีกว่าแน่ๆ ผมรู้ว่าทำดีกว่าไม่ทำแน่ๆ ทุกวันนี้ต่อให้เจอระบบการบริหารแบบไหน ผมจะไม่เอาหัวใจไปวางไปตรงนั้น แต่จะเอาใจไปอยู่ที่เด็กนักเรียนของผม ความสุขของผมคือนักเรียนของผม ผมอยากเจอนักเรียนของผมทุกวัน หัวข้อที่พูดในเวทีก่อการครู ผมก็ถามจากนักเรียนผมว่า อยากให้ครูพูดอะไร นักเรียนช่วยกันคิด แล้วคุยกัน เรื่องพวกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับผม และเกิดน้อยมากในโรงเรียนปัจจุบัน”

    ครูเอ็มบอกว่า ก่อนเข้าโครงการก่อการครู แม้จะเป็นคนรักเด็ก ชอบช่วยเหลือเด็ก แต่อีกด้านก็เป็นครูที่ไม่ฟังเด็ก กลายเป็นครูรู้ดี ที่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ผ่านมาเยอะ เจออะไรมาเยอะ ถูกผีครูรู้ดีเข้ามาสิง บอกเด็กอย่าเถียงครู ครูรู้ อย่าเถียง แต่พอเข้า “ก่อการครู” ตอนนี้เป็นครูรู้แล้ว อย่างในห้องเด็ก ป.4 ห้องหนึ่ง เด็กคนหนึ่งถูกเพื่อนฟ้องว่าอยากมีสามี ถ้าเป็นครูเอ็มคนเดิมจะตัดสินเลย ทำไมพูดอย่างนี้ แต่หลังจากเข้าก่อการครู ไปที่บ้านเด็ก เด็กบอกว่า หนูไม่ได้อยากมีสามี แต่อยากมีลูก และจะดูแลลูกอย่างดี เป็นคำพูดมาจากการที่พ่อแม่เขามีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย และมีพ่อเลี้ยงที่ใช้ความรุนแรง แม่ก็ไม่ช่วย เด็กจึงโดดเดี่ยว เขาเลยรู้สึกว่าถ้าเขามีลูก เขาจะเลี้ยงลูกให้ดี มันกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมเป็นครูรู้ดี เด็กตายไปแล้ว เพราะจะแจ้งผู้ปกครอง เด็กกลับบ้านจะโดนตี ถูกประกาศหน้าเสาธง เท่ากับเอามีดกรีดใจเด็ก แต่พอได้ฟังเด็ก ยังไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้เลย แค่ให้เล่าให้ฟัง เขาร้องไห้ เข้าใจเด็ก ให้พื้นที่ปลอดภัยกับเด็ก

    “การได้คุย ได้เปิดใจ ทำให้เด็กรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกันกับเขา อย่างในห้องเรียน ถ้าจัดโต๊ะเรียนแบบเดิม จะมีบางคนเห็นครู บางคนเห็นไม่ถนัด บางคนไม่อยากนั่งใกล้เพื่อนที่ชอบแกล้ง ก็คุยกับนักเรียน หาวิธีจัดโต๊ะเรียนใหม่ เพื่อให้ทุกคนเรียนได้ วิธีนี้ทำให้เด็กรักห้องเรียน หวงห้องเรียนของเขา อยากมาเรียน”

    “หรือการให้เด็กหาต้นไม้มา 1 ต้นแล้วรับผิดชอบเลี้ยงต้นไม้นั้น แค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว เพราะมีเด็กบางคนเลือกต้นมังคุด มันคือเลี้ยงต้นมังคุดในห้องเรียนนะ แต่พอถามเด็กว่าทำไมเลือกต้นมังคุด เขาบอกว่าเป็นต้นไม้ที่กินได้ กระบวนการคิดมันเกิด ผมก็โอเค ต้นมังคุดก็มังคุด เรื่องเลี้ยงให้เติบโตอย่างไรค่อยว่ากัน นี่คือกระบวนการเรียนรู้ของเขา”

    ประสบการณ์ชีวิตหลายเรื่องที่ครูเอ็มได้พบเจอ ตั้งแต่ถูกครูภาษาอังกฤษแสดงความเกรี้ยวกราด มาจนถึงเรื่องเด็กหญิงตัวน้อยที่อยากมีลูก ทำให้ครูเอ็มเห็นว่า ทุกอย่างเกี่ยวพันกับปัญหาในระบบการศึกษาไทย หนุ่มสาวที่หยุดเรียนแล้วไปมีครอบครัว มีลูกเร็ว พอเด็กโตขึ้น พ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ถ้าไม่มีครูที่คอยช่วย ก็จะกลับไปอยู่จุดเดิมเป็นวังวน

    ครูจึงสำคัญกับระบบการศึกษา เป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเด็ก ต่อให้โลกเปลี่ยนไป สามารถหาความรู้จากกูเกิล แต่ยิ่งพัฒนา บทบาทของครูก็ต้องยิ่งเปลี่ยน ครูยิ่งต้องพัฒนาให้ทัน เพราะกูเกิล ปัญญาประดิษฐ์ หรือสื่อช่วยสอนต่างๆ ไม่มีจิตใจ วิเคราะห์สภาพจิตไม่ได้

    กรณีเด็กผู้หญิงข้างต้น กูเกิลอาจตัดสินว่าใช้คำไม่สุภาพค่ะ แต่ไม่สามารถเดินไปบอกเด็กได้ว่า คุยกันนะ หนูเป็นอะไร ครูจึงสำคัญ ไม่ใช่แค่สอน แต่อยู่ในช่วงชีวิตของคน ครูเป็นมากกว่าครู

    “ผมรู้สึกว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่จะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง สักเรื่องหนึ่ง ให้ผมได้ใช้วิธีที่ก่อการครูถ่ายทอดมาให้ ผมก็ดีใจแล้ว วันหนึ่งถ้าเด็กคนหนึ่งนึกถึงคุณครูคนหนึ่ง และภาพในหัวเป็นครูอย่างผม หรือครูในก่อการครู ผมสำเร็จแล้ว ผมโอเค และในฐานะที่เป็นข้าราชการ คำว่าข้าราชการคือต้องดูแลประชาชน นักเรียนคือประชาชน ผมจึงภูมิใจในอาชีพ ข้าราชการ ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน นักเรียนเป็นคนที่ผมต้องรับผิดชอบ”

    ก่อนจบบทสนทนา ครูเอ็มพูดสั้นๆ ว่า…

    ถ้าคุณเป็นครู ต้องมาก่อการครู ถ้าคุณเป็นครู คุณต้องรู้จักกระบวนกร รู้จักกระบวนการ ต้องมาก่อการครู ยิ่งถ้าเป็นครูแบบผม ที่หมดศรัทธากับระบบการศึกษา ยิ่งต้องมาก่อการครู และผมไม่สิ้นหวังกับระบบ เพราะผมกำลังทำอยู่ ก่อการครูก็กำลังทำอยู่ คือจุดไฟให้กับครู ไฟแห่งการเรียนรู้ ไฟแห่งประสบการณ์ มีการแชร์ มีการถ่ายทอดกัน

    เมื่อใดที่ก่อการครูขยายวงไปเรื่อยๆ มีเสียงดังมากพอ เสียงเราต้องดังมากพอ แต่ถ้าเรายอมแพ้ หลายคนที่เข้าก่อการครูแล้วยอมแพ้ ออกไปกลางคัน ไปอยู่กับระบบเดิมๆ การศึกษาไทยก็จะไม่เปลี่ยน

    “การศึกษาสำคัญมาก ความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การหยุดเรียนรู้น่าอายกว่า ผมเชื่อว่าเสียงของก่อการครูที่มีพวกเราอยู่ ถ้าเสียงมันดังมากพอ จะสะเทือนถึงการศึกษา ฉะนั้น ถ้าคุณเป็นครู คุณควรมาก่อการครู มาฟังเสียงอื่นบ้าง”

    ครูเอ็มย้ำว่า “ทุกเสียงของนักเรียนสำคัญมาก แค่ฟังเฉยๆ เด็กเขาก็รู้สึกมีที่ยืนแล้ว เพราะการตี หยุดทุกอย่าง หยุดแม้กระทั่งกระบวนการคิด และห้องเรียนก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เราเคยฟังเสียงพวกเขาไหมว่าอยากนั่ง อยากใช้ชีวิตกับเพื่อนเขาอย่างไร และพื้นที่ปลอดภัยสำคัญมากกับนักเรียน เพราะจะทำให้นักเรียนกับครูสอดคล้องกัน เมื่อนักเรียนและครูมีเสียงที่ดังมากพอ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้”