ThaiPublica > เกาะกระแส > จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : คืนความสุขสู่ห้องเรียน คืนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ – คืนคุณค่าจิตวิญญาณความเป็นครู” (ตอนที่3)

จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : คืนความสุขสู่ห้องเรียน คืนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ – คืนคุณค่าจิตวิญญาณความเป็นครู” (ตอนที่3)

29 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา “Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21

ในงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต, นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต ดำเนินรายการโดยดร.อริสรา กำธรเจริญ

samsung_1

ในตอนที่ 2 ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต: เด็กยุคใหม่ต้องการอะไรจากครู-passion for learning

พิธีกร: ดร.อมรวิชช์บอกว่าเด็กต้องการครูที่เข้าใจและปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับเขา แม้แต่วิธีการวัดผล จากที่ให้ส่งเป็นเล่มรายงาน ยอมปรับให้ส่งเป็นการ์ตูนได้ นี่เป็นตัวอย่าง และให้ความสำคัญกับความสุข ความเชื่อมั่นในตัวเขา ให้เขารู้จักตนเอง เกิด passion of learning และจะทำให้เขาสามารถเรียนได้ดี

มาที่ ดร.อนุชาติ เด็กต้องการครูแบบนี้ อาจารย์ทำงานด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์มองว่าครูในศตวรรษที่ 21 ต้องมีอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ ดร.อมรวิชช์กล่าวมาบ้าง

อนุชาติ: ไม่แน่ใจว่าต่อกันได้แค่ไหน ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนกันมานาน หัวข้อเสวนายิ่งใหญ่มาก “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” จริงๆ แล้วเราพูดถึงการเรียนรู้ การปฏิรูปการศึกษา เท่าที่ผมเองซึ่งไม่ใช่นักการศึกษาโดยตรงได้เข้ามาจับเรื่องนี้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า โจทย์ใหญ่มากและเป็นความทุกข์ของแผ่นดินโดยแท้

เคยคุยกับครอบครัวกับทุกอณูของสังคม ไม่เคยมีใครจะไม่มีความทุกข์ว่าด้วยเรื่องการศึกษาไทย และจะมีความพรั่งพรูของอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากจะแก้ปัญหา ความปรารถนาที่อยากจะเห็นระบบการศึกษามันดีขึ้นอย่างมากมาย ผมคิดว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัว เลือกใช้ภาษา คำ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่เชิงวาทกรรมเยอะมาก จนกระทั่งตอนนี้เรามีชุดของคำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาเยอะมาก ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจมันอย่างไร

สิ่งที่ผมอยากจะพูดในวันนี้ อยากจะเจาะเพียงประเด็นเดียว อันนี้เป็นกรอบแนวคิดเรื่องการปฏิรูป ซึ่งผมไม่ค่อยคิดบวกเหมือนอาจารย์อมรวิชช์ เพราะไม่มีหวังกับการปฏิรูปครั้งนี้มาก พูดกันโดยความจริงใจ แต่ผมก็ยังหวังให้เพื่อนทำงานอยู่

ถามกรอบแนวคิดผม สิ่งที่หวังใน 1 ปีข้างหน้า อยากเห็นการปฏิรูปใน 2 วงใหญ่ๆซึ่งเป็นหัวใจ ถ้าจะสร้างระบบและโครงสร้างเพื่อเอื้อให้พวกเราทำงานหน้างานได้สำเร็จ ผมคิดว่าเราต้องเซ็ตกลไกและปฏิรูปโครงสร้างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบประเมินผล ระบบหลักสูตรแห่งชาติที่เป็นหลักสูตรแกนกลาง ระบบ assessment จะยุบหรือไม่ อย่างไร สพฐ. ก็จัดการให้เด็ดขาดไปเลย ว่าจะมีองค์กรแบบไหน จัดการอย่างไร ที่จะเอื้ออำนวยให้องคาพยพเคลื่อนไปข้างหน้า คงไม่ว่าในรายละเอียด ตอนนี้จะมีซูเปอร์บอร์ด อีกปีจะมีซูเปอร์แมนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง? ไม่แน่ใจ

อันที่สองคือ จุดแตกหักของการทำงานของการปฏิรูปการศึกษาคือต้องกระจายอำนาจลงข้างล่างให้มากที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้ ใครได้อ่านบทความของอาจารย์สุกรี เจริญสุข ก็เขียนในเชิงเหน็บแนมนิดหน่อยว่า 6 พันคนของกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะยุบเหลือ 600 คนแล้วไปสอนหนังสือให้หมด แต่ผมก็นึกว่าอันตรายเหมือนกัน ถ้าให้ไปสอนหนังสือ สงสารโรงเรียน

ประเด็นของผมคือการกระจายอำนาจลงส่วนล่าง ไม่ว่าจะระดับเป็นครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมว่าจะเป็นคุณทั้งสิ้น ผมคิดว่า 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

เรื่องที่ผมหันกลับมาสนใจในวันนี้ และคิดว่าอาจจะเติมเต็มสิ่งที่อาจารย์พยายามจะทำอยู่หรือที่อาจารย์อมรวิชช์ได้พูดถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ผมอยากพูดเรื่องการทำ teacher quality improvement หรือการพัฒนาคุณภาพของครู ซึ่งจากประสบการณ์ในระยะ 6-7 ปีที่ผมทำเรื่องจิตตปัญญาศึกษา ผมคิดว่าจุดที่มันจะสามารถจะพลิกผันระบบการศึกได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวร้อยกับ 2-3 คำ คือ 1. 21st century skill ในความหมายที่ไม่ใช่ทางเทคนิค เป็นความหมายที่ accommodate เรื่องอนาคตจริงๆ 2. mindfullness 3. reconnection เดี๋ยวจะกลับมาว่าหมายถึงอะไร

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทีนี้ ถ้าลับมาดูในสิ่งที่ผมตั้งโจทย์ไว้ว่า จากหัวข้อวันนี้ ทิศทางใหม่ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ก่อนที่เราจะพูดทิศทางใหม่ซึ่งใหญ่มาก ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมาตั้งคำถามหรือทบทวนสิ่งที่เรากำลังจะไปจัดการเรียนรู้ คือ

1. ตัวผู้เรียน หรือเยาวชน คนรุ่นใหม่ คนในศตวรรษที่ 21 ในมุมของผมนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว ระบบ enquiry ระบบทักษะการแสวงหาความรู้ ตั้งแต่เกิดก็คาบสมาร์ทโฟนออกมาแล้ว ไม่เหมือนรุ่นเราที่ยังเป็นช้อนสังกะสี เพราะฉะนั้น การตักตวง การเรียนรู้ วิธีตั้งคำถาม วิธีที่เขาจะเสาะแสวงหาความรู้ ใคร่ครวญวิจารณญาณของเขาไม่เหมือนยุคพวกเรา

เพราะฉะนั้น โจทย์การจัดการการเรียนรู้ต้องเข้าใจผู้เรียน อันนี้เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญอีกชุดหนึ่งว่า เราจะหยั่งรู้ได้อย่างไรว่าคนรุ่นใหม่เขามีวิธีการเรียนรู้แบบไหน แล้วค่อยนำมาสู่ว่าเครื่องมือ กระบวนการ วิธีการที่จะตอบสนองกับ enquiry ที่มันเปลี่ยนไปนั้น เป็นอย่างไร อย่างที่อาจารย์อมรวิชช์ที่เล่าถึงประสบการณ์เอาเด็กหลังห้องขึ้นมาอยู่หน้าห้องได้ นั่นเป็นเพราะอาจารย์เข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา ในมุมที่คนอื่นไม่ให้การยอมรับ ผมว่าอันนี้เป็นทักษะที่ต้องกลับมาตั้งคำถามกับคนที่จะจัดการการเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงตัวผมด้วย

2. ทุกคนพูดคำว่า “การเรียนรู้” กันเยอะ เรามีความเชื่อกันจริงๆ หรือไม่ว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดยอดที่สุดของคนแล้ว ถ้าเราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เราจะทุ่มเทให้กับการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้เต็มตามศักยภาพที่เขาพึงเป็น ซึ่งนำไปสู่การกำหนดท่าที ท่วงทำนองของเราในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างของผู้ให้กับผู้รับ หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าเป็นฐานคิด หรือปรัชญาของการจัดการศึกษาที่มีความสำคัญมาก

3. สิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยคือ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเรียนรู้ คือระบบการศึกษาบ้านเรา ผมเข้าใจว่าต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้ด้วย ไม่อยากจะพูดแบบรำพึงน้อยอกน้อยใจใครนะครับ ผมว่าการเรียนรู้ไม่สามารถแยกออกจากวิถีชีวิตที่เป็นจริงได้ แต่ปัจจุบันการจัดการการศึกษาของเราแยกส่วนหมด เอาวิชาเป็นตัวตั้งอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนพูด คำว่าเอาวิชาเป็นตัวตั้งหมายความว่าอย่างไร มันถูกซอยย่อยไปหมด องค์ความรู้ที่เชื่อมโยงเข้าถึงกัน มันถูกซอยย่อยเป็นวิชาๆ หมด แล้วเรียนเพื่อแข่งขัน…จบ

ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัย ทุกห้องเรียน ทุกโรงเรียน จัดเชิดชูว่าปีนี้เราได้รับรางวัลกี่รางวัล ได้รับถ้วยมากี่ใบ และติดประกาศที่หลายคนเห็นอยู่โดยทั่วไป ผู้บริหารหลายคนก็ชื่นชม แล้วก็ใส่ทรัพยากรจำนวนมากไปเพื่อให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการแข่งขันเพื่อจะชิงถ้วย ที่เหลือเป็นอย่างไรเราไม่รู้

หรือการศึกษาที่ทำให้คนพลัดพรากออกมาจากท้องถิ่น แยกออกมาจากท้องถิ่น หรือไม่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผมตอนที่ผมทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรองอธิการบดี เราลุกขึ้นมาอยากทำงานการจัดการแยกขยะ ขออนุญาตเอามหาวิทยาลัยเก่ามานินทาเล็กน้อย เราก็ฟิตจัด ในฐานะอาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม ก็นิมนต์อาจารย์สิ่งแวดล้อมคนที่เก่งเรื่องขยะที่สุด 5 คน มาเป็นกรรมการ ใช้เวลาประชุมทุก 2 อาทิตย์ นาน 6 เดือน ได้การแยกขยะออกมาทั้งหมด 8 ถัง ตั้งเสร็จ ปรากฏว่าไม่มีเด็กทิ้งขยะเลย หรือทิ้งรวมกันหมด นี่คือความรู้ที่อยู่ในตำรากับของจริงไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันใดๆ ทั้งสิ้น ในที่สุดก็พลิกนิดเดียว ให้เด็กเขาไปบอกว่าจะทิ้งขยะอย่างไร แล้วให้จัดการขยะตั้งแต่หอเขาลงมา ผมว่าอันนี้เป็นโจทย์ที่ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาแบบแยกส่วนอาจจะไม่ตอบสนองกับอนาคตอีกต่อไป

4. สุดท้าย สิ่งที่สำคัญมากและอยากเน้นย้ำคือ ไม่อยากพูดให้สวยหรูหรือดูเป็นคนดี ผมว่าหัวใจการปฏิรูปการเรียนรู้ในครั้งนี้ ผมยังคิดว่าการคืนคุณค่าความหมาย และจิตวิญญาณความเป็นครูนั้นยังเป็นแก่นแกนของหัวใจของเรื่องราวอยู่ พวกเราเองที่มานั่งอยู่บนเวที พวกเราโตมาจากระบบการศึกษาเก่าทั้งสิ้น เราก็โดนครูตี ผมท่องกริยา 3 ช่องไม่ได้ ครูก็ตีหน้าห้อง เอ๊ะ สมัยนี้ครูตีเด็กไม่ได้แล้ว จะเอาอย่างไรกับชีวิตดี หรือระบบแบบไหนที่เป็นแก่นแกนที่เราต้องสานต่อภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องช่วยกันหา เสริมสร้าง ธำรงรักษามันไว้ คือจิตวิญญาณของความเป็นครู

ทีนี้ ถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ หรือเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ ทิศทางที่ควรจะเป็น ผมมองว่ามี 4-5 ประเด็น คือ การประเมินจะเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมองที่เป้าหมายปลายทางของสิ่งที่เรากำลังจะไป ผมคิดว่าหัวใจของการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้นต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพของเยาวชนให้เขาโตเต็มตามศักยภาพที่เขาเป็น ไม่ใช่ห้องเรียนที่ทุกคนจบออกมาแล้วเหมือนกันหมด อันนี้ผมคิดว่าโลกของการวัดผลต้องเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่อาจารย์อมรวิชช์ทำคือ ระบบการประเมินผลต้องหลากหลายด้วย เพราะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

อีกอันจะเกี่ยวพันกับประเด็นที่ผมพูดถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู อาจารย์อมรวิชช์ใช้คำว่าความสุขในห้องเรียน จริงๆ ไม่ใช่ในห้องเรียนอย่างเดียว มันนอกห้องเรียนด้วย เราไม่แน่ใจว่าเด็กเหล่านี้มีความสุขเยอะขึ้นจริงๆ ทีนี้ประเด็นก็คือว่า ผมใช้คำว่า “คืนความสุขสู่ห้องเรียน คืนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์”

ด้วยระบบที่เราพาตัวเรามา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรานำพาระบบการศึกษาของเรากลายเป็นสินค้าและบริการอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น การกำหนดปรัชญาและวิธีคิดตรงนี้ มันนำไปสู่การจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกศิษย์ที่มันเปลี่ยนไป คือลูกศิษย์ก็คือลูกค้า เราก็ต้องทำการตลาดเพื่อดึงเด็กเข้ามา ฉันมาซื้อบริการเธอนะ ถ้าเธอสอนไม่ดี เธอไม่เอาพาวเวอร์พอยต์ให้ฉัน พอสอนจบเด็กก็ขอพาวเวอร์พอยต์ เพราะว่าฉันซื้อบริการของเธอแล้ว ฉันจ่ายเงินแพงๆ อันนี้จะทำอย่างไรถึงจะพลิกระบบความสัมพันธ์ตรงนี้ได้

ผมมีตัวอย่างประสบการณ์จากสิ่งที่เราทำกันมา เรามี “เครือข่ายการศึกษาด้วยหัวใจและสติ” เป็นเครือข่ายที่เอาครูมาอยู่ด้วยกันในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม แล้วก็มาทบทวนเส้นทางชีวิตของความเป็นครูของตัวเอง ว่าทำไม passion ของความเป็นครูต้องพอๆ กับ passion ของนักเรียน การทำให้ครูกลับมาค้นหาคุณค่า ความหมาย และสิ่งที่เขาซ่อนอยู่ลึกๆ ในตนเองและถูกทำลายลง ให้เหลือไปขายเครื่องสำอาง ถ้าเราดึงสิ่งนี้กลับมาได้ ผมคิดว่าการจัดการแก้ปัญหาเรื่องอื่น เรื่องโครงสร้างเงินเดือน เรื่องอะไร ผมว่าเป็นประเด็นรอง

ถ้าเราดึงหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นครู คืนคุณค่าและความสำคัญของครูให้กลับคืนสู่ชุมชนของเราให้ได้ ผมว่านี่คือโจทย์ใหญ่ที่จะเราจะช่วยทำให้ระบบการศึกษามันพลิกได้ และผมคิดว่าผลผลิตและผลลัพธ์ในเชิงผลการศึกษาของนักศึกษาจะตามมาเอง ถ้าห้องเรียนมีความสุข แน่นอนว่าเราต้องเสริมทักษะทางเทคนิคกับโลกที่เปลี่ยนไป มีเรื่องเทคโนโลยี มีอะไรต่ออะไรเข้ามา การศึกษาที่ไม่แยกส่วนกับบริบทสังคม วัฒนธรรม การพัฒนาปัญญาและอารมณ์ที่มีความสมดุลกัน และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นี่เป็นหลักการทั้งสิ้น

ผมอยากเน้นเรื่องการ reconnect ระหว่างครูกับลูกศิษย์ให้กลับคืนมาให้ได้ อาจจะฟังดนามธรรมแต่ผมเชื่อมั่นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหัวใจของเรื่องราวทั้งหมด ตอนที่ไปดูงานของ Samsung Smart Learning Center สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็ดีใจที่เห็นตัวชี้วัดหนึ่งซึ่งน้องชายคนหนึ่งในที่นี้เคยบอกว่า เขามีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ สมศ. ไม่รู้จักและไม่เข้าใจ คือ “แววตาของเด็ก”

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ที่สองจากขวา)
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ที่สองจากขวา)

แววตาของเด็กที่ผมไปดูที่เชียงรายมันแววตาเป็นประกาย เป็นแววตาที่ใคร่รู้ ใคร่เรียน เป็นแววตาที่เปล่งประกาย แต่ว่ากระบวนการที่ครูและลูกศิษย์สถาปนาคืนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน reconnect กลับเข้ามาสู่ความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ถ้าลูกศิษย์ไว้วางใจครู ครูไว้วางใจศิษย์ การเรียนรู้มันเกิดขึ้นเอง แล้วโครงการก็ได้พาเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไปทำงานวิจัยบนฐานการปฏิบัติงานจริง ลงไปสำรวจตั้งแต่ต้นน้ำ แม่น้ำอิง ตั้งแต่ชาติพันธุ์ของตัวเอง โยงไปถึงการสำรวจคุณภาพน้ำ ถึงวิธีการจัดการ แล้วลงปฏิบัติการ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ นี่เป็นชุดการเรียนรู้ที่มีความสำคัญมาก โดยไอทีเข้าไปเป็นส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น กว้างขวางขึ้น คือถ้าเราทำโจทย์นี้แล้วยึดโยงกับคุณค่าเดิมไว้ให้ได้ จะเป็นอะไรที่ดีมากๆ

พิธีกร: 1 ปีที่อยากเห็นข้างหน้า สิ่งที่อยากจะเห็นก็คือการสร้างระบบ การทำโครงสร้างให้เอื้อต่อการทำงาน การของกระจายอำนาจการศึกษาลงสู่ข้างล่าง ประเด็นการพัฒนาครูอาจารย์ให้ความสำคัญว่าครูต้องเข้าใจผู้เรียน ต้องตระหนักถึงการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ว่าปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร เราเชื่อแค่ไหนว่าการเรียนรู้ประเสริฐที่สุด เรื่องการเรียนรู้ต้องไม่แยกส่วนออกจากวิถีชีวิต และหัวใจของการปฏิรูปคือการคืนคุณค่า คืนความหมายสู่จิตวิญญาณของความเป็นครูด้วย อาจารย์ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ที่เรียกว่า reconnect ว่าจะคืนความสุขสู่ห้องเรียนอย่างไร ตรงกับที่อาจารย์อมรชวิชช์และ ดร.สมเกียรติได้พูดถึง ทิศทางต่อไปต้องคืนครูสู่ห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนมีความสุข การศึกษาต้องไม่แยกส่วน เรื่องการพัฒนาปัญญาและอารมณ์ และสุดท้ายผู้ปกครองและทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมด้วย

แล้วทิศทางใหม่การศึกษาไทยควรเป็นอย่างไร

อนุชาติ: คงตอบไม่ได้ว่าทิศทางใหม่เป็นอย่างไร แต่ว่ามี 2 ประเด็น ถ้าจะตอบโจทย์ว่าแล้วทำอย่างไรให้ยั่งยืนในความพยายามของทุกคนทุกฝ่าย

อย่างแรกคิดว่าสังคมต้องมุ่งมั่นว่าเราเปลี่ยนได้ เรากล้าที่จะลงทุน กล้าใช้พลังทั้งหมดสร้างองค์ความรู้จากการทำงานจริง เผอิญผมมีโอกาสทำความรู้จักองค์การในต่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษา เชื่อไหมครับว่า เขาตั้งมูลนิธิเอกชนขึ้นมาเพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องพัฒนาการทางสมอง และเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยที่ดังๆ ทั่วทั้งอเมริกาและนอกอเมริกา แล้วเอาความรู้เรื่อง mindfullness เข้าไปใส่ในระบบการศึกษา ซึ่งเขาทำมา 20-30 ปี นี่คือความเชื่อ ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง มี passion และก็ทำอย่างจริงจัง และคิดว่านี่เป็นการทำแบบไม่เลื่อนลอย

อย่างที่สองก็สำคัญ คือ เราจำเป็นต้องทำให้ฐานคิดในการจัดการเรียนรู้นั้นมีความชัดเจนด้วย คือ ต้องชัดเจนว่าเรากำลังจะขยับไปสู่อะไร เรามีเป้าหมายสร้างเด็กและเยาวชนแบบไหน นี่สำคัญ มิเช่นนั้นจะเอาความคาดหวังทุกๆ ประการมาใส่ในแผนยุทธศาสตร์และทิศทางที่เราจะนำพาไป ผมมีข้อสังเกตอันหนึ่ง มี 2-3 ประเด็นที่ต้องสอดรับซึ่งกันและกันให้หมด คือต้องมี alignment ทั้งในเชิง knowing คือรู้จริงว่าเราจะมีวิสัยทัศน์หรือจะไปยังไง doing คือต้องทำ problem-based ทำยังไง ณ วันนี้ครูแสนคนนะครับที่จะเรียกร้องให้เขาลุกขึ้นมา problem-based มีแต่ problem แต่มันไม่มี base

อันสุดท้ายต้องเปลี่ยนไปถึง being ผมโชคดี พอผมจับเรื่องการศึกษาสักระยะหนึ่งพบว่ามีคนตั้งใจ มุ่งมั่น และอยากจะเข้ามาร่วมจัดการการศึกษาเยอะมาก และคนดีๆ เก่งๆ ด้วย แต่เขาเข้ามาไม่ได้เลย แล้วหลักสูตรที่เราจะทำมันฝ่าด่านไม่ได้ เพราะผมต้องผลิตครูสังคมศึกษา ครูชีวะ ครูคณิตศาสตร์ ครูบ้าบอเต็มไปหมดเลย ซึ่งโลกในอนาคตมันบูรณาการไปหมดแล้ว แต่คุรุสภาบอกว่าไม่โอเค ถ้าจะทำต้องมีแบบนี้นะครับ ซึ่งนี้เป็นโครงสร้างมันล็อก

ทีนี้ผมเชื่อว่ามี 2 ประเด็น คือ ทำทิศทางให้แจ่มกระจ่าง ชัดเจน และลงทุนจริงจังต่อเนื่อง สองคือ alignment ในสิ่งที่เราตั้งใจ knowing doing และเปลี่ยนให้ถึง being หมายถึงครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา สำนักนวัตกรรมการศึกษาของกระทรวงศึกษาเชื่อในนวัตกรรมจริงไหม กระทรวงศึกษาเชื่อในศักยภาพการสร้างเด็ก หรือเชื่อในความมั่นคงของอำนาจของตนเอง ขอโทษนะครับ ผมสร้างศัตรู แบบนี้เราต้องกล้าตั้งคำถามและ critical กับสิ่งที่ดำรงอยู่พอสมควร ที่พูดนี่ไม่ได้ก้าวร้าวอะไรนะครับ อยากจะเอาความในใจมาแลกเปลี่ยนเล็กน้อย

ตอนต่อไป “เปลี่ยนนักเรียน จาก passive learner เป็น active learner” นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต