ThaiPublica > คนในข่าว > “โครงการก่อการครู” ร่วมปล่อยแสงสำแดงพลัง เสียงคนตัวเล็ก: ‘ครูแก้ว’ ลอกสนิมใจตัวเอง พลังเกิด ชีวิตเปลี่ยน

“โครงการก่อการครู” ร่วมปล่อยแสงสำแดงพลัง เสียงคนตัวเล็ก: ‘ครูแก้ว’ ลอกสนิมใจตัวเอง พลังเกิด ชีวิตเปลี่ยน

6 กันยายน 2022


โครงการก่อการครู ก่อกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรทั้งด้านการศึกษา ภาคเอกชน รวมไปถึงคุณครูของเด็กๆ โดยหมุดหมายคือจุดประกายการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ที่เริ่มจากคุณครู แม้จะเริ่มด้วยย่างก้าวเล็กๆ แต่ไม่เคยหยุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ก่อการครูได้จัดเสวนา “ครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง : ครูปล่อยแสง สำแดงพลัง” เพื่อให้ครูและบุคคลากรในแวดวงทางการศึกษามาร่วมกันหาคำตอบถึงบทบาทครูในโลกอนาคตที่ “การเรียนรู้” เกิดขึ้นได้จากทุกหนแห่ง ส่งผลให้ความสนใจของผู้เรียนไม่หยุดนิ่งและเต็มไปด้วยการแสวงหารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ครูในก่อการครูรุ่นที่ 3 มาปล่อยแสง แชร์ประสบการณ์ และส่งผ่านแรงบันดาลใจของพวกเขาให้กับครู ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของพวกเขา

ครูแก้ว ภัสรัญ สระทองนวล จากโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา จังหวัดนครปฐม

ครูแก้ว ภัสรัญ สระทองนวล จากโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา จังหวัดนครปฐม เป็นครูแนะแนว ที่จบด้านนี้มาโดยตรงผ่านหลักสูตรเกี่ยวกับด้านจิตวิทยาที่จำเป็นสำหรับครูแนะแนว เด็กๆ ที่ผ่านมือครูแก้วจะรัก สนิทสนมกับครูแก้วมาโดยตลอด จนเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ครูแก้วมาเข้าโครงการก่อการครู

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ว่า ครูแก้วแนะนำตัวเองว่าเป็นครูแนะแนวที่ไม่ได้สอนเนื้อหาสาระวิชาการ จึงทำให้ไม่มีเวทีสำหรับครูแนะแนวให้แสดงตัวตนเลย ไม่มีใครรู้ว่าครูแนะแนวคืออะไร ทำอะไร

เมื่อครูแก้วได้ยืนบนเวทีเสวนา เธอจึงประกาศขอเป็นตัวแทนหมู่บ้านครูแนะแนว ที่เรียกเสียงหัวเราะครืน ครูแก้วบอกว่า ไม่เคยคิดฝันอยากจะเป็นครูเลย ด้วยความเป็นลูกชาวนา การเป็นครูคือวิชาชีพที่สูงส่งมาก แต่มีอาจารย์คนหนึ่งมาบอกเธอว่า “แก้ว เธอเป็นอะไรไม่ได้นอกจากครู”

ด้วยความเชื่อในตัวครู เมื่อจบมัธยมปลายจึงตัดสินใจเรียนครู พอดีขณะนั้นมีโครงการคุรุทายาท เป็นโครงการสร้างครูที่ขาดแคลน สร้างนักเรียนที่อยากเป็นครูจริงๆ ให้เป็นครู มีการให้ทุน และให้ตำแหน่งบรรจุเลย แล้วก็มีโอกาสเลือกวิชาเอกจิตวิทยาและการแนะแนว เพราะวิชาเอกภาษาอังกฤษที่อยากเรียน ไม่มีโควตาให้ ก็เลือกครูแนะแนว แม้จะไม่รู้ว่าคืออะไร สอนอะไร แต่ก็ตั้งใจเรียนมาก หลักสูตร 4 ปีสำหรับครูแนะแนว นอกจากเรียนวิชาครู จิตวิทยาการเรียนรู้ การศึกษา แต่ครูแนะแนวจะเรียนเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ ทฤษฎีจิตวิทยาตระกูลต่างๆ ฯลฯ

สุดท้ายครูแก้วก็ค้นพบว่า ครูแนะแนวคือครูที่ต้องเข้าใจตัวเองก่อน เพื่อเอาพื้นฐานความเข้าใจตัวเองไปทำความเข้าใจนักเรียนและคนอื่น การเข้าใจตัวเราเองเพื่อเติมเต็มใจเรา ตัวเรา เป็นฐานในการเข้าใจคนอื่น ในวิชาชีพคือเข้าใจนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจตัวเขาเองในฐานะที่เป็นตัวเขาเอง รู้ตัวตนตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกลักษณะ ความชอบอย่างไร จะเติบโตอย่างไร

และมีคีย์เวิร์ดหนึ่ง คือ “พฤติกรรมทุกอย่างต้องมีสาเหตุ มันชะลอให้เราไม่ตัดสินคน ไม่ตัดสินนักเรียน”

ครูแก้วบอกว่า เธอประสบความสำเร็จพอสมควรกับการเป็นครูแนะแนว เพราะในวันที่ตัวเองเศร้า เด็กจะเข้ามาถามมว่าอาจารย์เป็นอะไรหรือเปล่า หนูกอดอาจารย์ได้นะ สิ่งที่เคยเติมให้เด็ก เด็กก็กลับมาเติมให้เรา เป็นพลังที่อิ่มแล้ว

ครูแก้วไม่ได้สอนวิชาการ แต่สอนวิชาใจ ครูแนะแนวไม่มีคอนเทนต์ให้สอน แต่เป็นวิชาชีวิต มีคาบให้สอน ให้เข้าใจตัวเอง จัดการความเครียด อารมณ์ตัวเองได้ วิเคราะห์ไตร่ตรองแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เป็นวัตถุประสงค์ของครูแนะแนว

การเจอแต่ลูกศิษย์ที่มาเติมเต็มให้เธอเสมอ ทำให้วันหนึ่ง เมื่อถูกเด็กนักเรียน “เท” โดยไม่รู้สาเหตุ คาดไม่ถึง เธอถึงกับถอนหายใจตลอด ต้องการหาคำตอบตลอดเวลาว่า จะจัดการกับสิ่งตัวเองเป็นอยู่อย่างไร จะมีวิธีการใหม่ๆ อะไรที่จะให้เด็กลักษณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีทัศนคติอยู่ว่า รางวัลหรือความสำเร็จที่ได้จะมาจากนักเรียน พอไม่ได้ก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันเกิดอะไรขึ้น และกลับมาทบทวนตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดไป คาดหวังเด็กสูงไปมั้ย เพราะเด็กห้องนี้มีความแตกต่างมาก จัดการยาก ครูทุกคนส่งมาให้ครูแก้วจัดการ เชื่อว่าเราเอาอยู่ เราก็เต็มที่…ทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาไม่ฟังเรา สมาธิสั้น สนใจเรื่องตัวเอง ตัวตนสูงมาก เด็กบางคนคงเจออะไรที่หนักมากแล้วกลับตัวไม่ได้

“ตอนจะเข้าก่อการครู ก็เข้าไปรีวิวโครงการ เพราะขั้นตอนการเข้าโครงการมันยากอยู่ พอเข้าไปติดตามดูทุกอย่าง เฮ้ย! เราอยากไปอย่างนี้ น่าจะช่วยเราได้ ลองดู สิ่งที่ได้กลับไป คือ เราได้คำตอบตั้งแต่โมดูลแรก ครูคือมนุษย์ เรื่องของคุณค่า การให้พื้นที่ในหัวใจตัวเอง ให้ยอมรับความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ ความล้า ก็เราเป็นมนุษย์ ล้มไปเลย และทุกอย่างที่ทำไม่ได้ไร้ค่านะ ได้ทบทวนตัวเอง ฟังเสียงใจตัวเอง ว่าแล้วยังไง เธอจะล้มเหรอ จะเลิกเหรอ แล้วนักเรียนอีกเท่าไหร่ ที่สร้างมาแล้ว กลับมาบอกว่า ครูแก้วคนเดิมกลับมาไวๆ พวกเขาไม่มีค่าเลยเหรอ เด็กกลุ่มนั้นจะทำให้เราล้มครืนทั้งชีวิตได้หรือ ยอมหรือ?”

ครูแก้วบอกว่า พอได้ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมด พลังก็เกิด ชีวิตเปลี่ยน เป็นครูคนใหม่ ด้วยหัวใจครูคนเดิม ครูคนเดิมไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่ได้ลอกสนิม หรืออะไรออกไปได้ ล้างหมดเลย

เรายอมรับความล้มเหลวได้ จากเดิมที่เราไม่เคยตั้งรับกับการที่นักเรียนเมินเรา จึงอยากจะบอกครูแนะแนวหรือครูคนอื่นๆ ว่า ครูทุกคนมีสิทธิที่จะเหนื่อยล้า อ่อนแรงได้ ยอมรับเถอะว่าเราก็คือคน แต่ให้รีบกลับมาส่งต่อพลังและกำลังใจให้นักเรียน เพื่อให้พวกเขาได้ก้าวและเติบโตต่อไปได้ เราไม่อาจเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ แต่สิ่งที่เราเริ่มได้คือเปลี่ยนหัวใจของตัวเอง

ที่น่าสนใจคือ หลังจากเข้าก่อการครูแล้ว ครูแก้วเลือกจะหยิบเรื่องเพศวิถีศึกษามาพูดคุยกับเด็กเป็นอันดับแรก เธอบอกว่า ก่อการครูทำให้เธอกล้าที่จะหยิบเรื่องนี้มาคุยกับเด็ก เพราะในก่อการครูทำให้เธอรู้ว่า ในพื้นที่ปลอดภัยนั้นไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เด็กพูดคุยได้ มีความคิดเห็นได้ เห็นต่างได้ ไม่มีใครมาตัดสินว่าเด็กถูกหรือผิด และเด็กที่เธอสอนอยู่ในช่วงอายุที่ต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กมีคำถามมากมาย และอาจจะมีใครมาเปิดประตูให้เข้าเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ครูแก้วบอกว่า การเป็นครูแนะแนวแม้จะมีคาบสอน แต่ไม่ได้สอนเนื้อหาสาระ จะสอนเรื่องมุมมอง การเคารพความคิดเห็น อย่างเรื่องเพศวิถีศึกษา ก็จะมีการตั้งคำถามให้เด็กผู้ชายตอบ ระหว่างผู้หญิง A กับผู้หญิง B เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้เรียนรู้ว่า ผู้ชายร้อยละร้อยเลือกคนที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เขาจะได้รู้ว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบผู้หญิงซิง เด็กผู้หญิงจะได้ระมัดระวังตัว ในขณะเดียวกัน เด็กผู้หญิง ก็มี 2 กลุ่มให้เลือก คือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว และไม่เคยผ่าน เด็กผู้ชายก็ได้รู้ว่า ผู้หญิงไม่ได้นึกถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่ขอให้มีความอบอุ่นมั่นคง เข้าใจกัน เป็นเรื่องทัศนคติ ผู้ชายขอความซิงเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ผู้หญิงขอความรักความเข้าใจ ดังนั้น สองฝ่ายจะมีความคาดหวังที่ต่างกัน ก็ต้องยอมรับผลที่แตกต่าง ยอมรับได้มั้ย ใช้กระบวนการที่ได้จากการก่อการครูไปชวนคิด ชวนคุย ชวนตั้งคำถาม

  • “โครงการก่อการครู” ร่วมปล่อยแสง สำแดงพลัง เสียงคนตัวเล็ก: ‘ครูเอ็ม’ ต้องจุดไฟให้ครู ถ้าเสียงดังมากพอ จะสะเทือนถึงการศึกษา
  • “ก่อการครู” ก่อการใหญ่ จุดไฟเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ “หลุมดำ”การศึกษาไทย (2)
  • “ก่อการครู” ผู้จุดสตาร์ตเปลี่ยนการศึกษา “ทุกข์ของแผ่นดิน” สู่หมุดหมายการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป (1)
  • ครูแก้วบอกว่า แม้ครูแนะแนวจะต้องสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาอยู่แล้ว แต่การได้ผ่านกระบวนการที่ได้จากก่อการครู ทำให้มีความกล้าร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะไปคุยเรื่องนี้ในกลุ่มเด็กมัธยมที่ถึงวัยที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้ เทียบกับแต่ก่อนที่ต้องสอนเหมือนกัน แต่สอนแบบกล้าๆ กลัวๆ เพราะเป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงมากๆ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่พอผ่านก่อการครู มันเหมือนมีการเสริมใยเหล็ก เข้มแข็ง เพราะมีกระบวนการวิธีการคุยกับเด็ก รู้ว่าคำถามหรือเส้นที่จะให้เด็กคิดอยู่ตรงไหน และอยากทำให้ตัวเองได้เห็น ได้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราหลังจากผ่านก่อการครูแล้ว จะเกิดกับเด็กได้มั้ย อยากรู้ว่ามันจะเปลี่ยนได้มั้ย และคำตอบที่เด็กให้กลับมาทำให้เธอยิ่งทำให้มั่นใจขึ้น เด็กในห้องแชทคุยกันว่า อาจารย์…เพื่อนคนนี้ไม่เคยพูดอะไรเลย พอเรียนกับอาจารย์มันพูดนะ มันกล้าพูด แม้ในห้องเรียนออนไลน์ พอเราบอกว่า ความเชื่อ ความคิด ไม่มีเครื่องวัดว่าผิดหรือถูก ครูก็ไม่ชอบให้ใครมาตัดสิน ฉะนั้น พูด ครูรอฟังอยู่ ครูอยากรู้ว่าเด็กสมัยนี้คิดอย่างไร ก็ค่อยๆ มีเด็กเปิด เด็กบอกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ เขาไว้ใจ และได้เรียนรู้จากมุมมองของเพื่อนได้จริงๆ สุดท้ายไม่ต้องเรียก เพราะเขาอยากแสดงออก

    กิจกรรมโครงการก่อการครู

    “เราได้กระจายความคิดวิธีเหล่านี้ให้กับครูแนะแนวในทีมด้วย ให้วิธีเขาไปทำต่อ คุยกัน เอาไปใช้ ครูในทีมก็มีฟีดแบคกลับมาว่า เป็นจริง ตามที่เราบอก ทุกอย่างดีขึ้น เด็กฟัง เด็กตั้งใจ ผู้บริหารโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ เพราะขอผู้บริหาร ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ในการประชุมผู้ปกครอง ก็บอกผู้ปกครอง ให้ฟังเด็ก เพราะเวลานี้เด็กมีปัญหาซึมเศร้ามากขึ้น”

    เหตุผลหลักมาจากที่บ้าน ส่วนใหญ่เพราะผู้ปกครองไม่เห็นตัวตนเขา มีเรื่องความคาดหวัง การเปรียบเทียบ หรือคำพูดที่ไม่ให้กำลังใจ เช่น แม้จะเรียนเกรดดีขึ้น นอกจากจะไม่ได้รับคำชมแล้วยังบอกว่าทำได้แค่นี้เองหรือ หรือทำไม่ได้ก็ไปตายซะ และเด็กยังไปเจอกับโซเชียลที่เป็นปัจจัยประกอบอีก ทำให้กลายเป็นรากแก้วที่ไม่แข็งแรง มีแต่อารมณ์ ปล่อยผ่านอารมณ์ไปไม่ได้ จึงอยากให้พ่อแม่ต้องนิ่ง ฟังลูก อย่ากดดันลูก จะทำได้แค่ไหนก็แล้ว แต่ขอให้พ่อแม่ทำให้เต็มที่เท่านั้น

    ครูแก้วบอกด้วยว่า ก่อการครูยังทำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ปลอดภัย ที่ผ่านมา แม้จะเคยได้ยิน ได้ผ่านตากับคำว่าพื้นที่ปลอดภัยมาก่อน แต่ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคำนี้ แต่เมื่อผ่านก่อการครูมาแล้ว คำว่าครูแนะแนวที่ครูแก้วได้ให้คำนิยามว่าผู้ส่งแรงบันดาลใจ ก็ได้เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากส่งต่อพลัง แรงบันดาลใจ ให้กับเด็กแล้ว ครูแนะแนวยังเป็นคนที่ผลักให้เด็กไปข้างหน้า แล้ว backword กลับมาข้างหลัง และพร้อมจะเป็นพื้นที่ให้เขายืนอย่างปลอดภัยด้วย ให้เด็กพักได้ สบายใจที่จะเล่าความลับให้ฟังและตัวเราไม่เครียดด้วย เพราะมีเรื่องราวอื่นๆ มากมาย

    สิ่งที่ได้จากก่อการครูทำให้ครูแก้วอยากส่งเสียงไปให้ถึงระดับนโยบายของระบบการศึกษา ถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หรือสำนักงานการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มาดูก่อการครู ว่าเปลี่ยนได้จริง เพราะครูเป็นสื่อกลางในการเปลี่ยนแปลง เมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน เพราะครูคิดอย่างไร เด็กก็คิดอย่างนั้น ครูมีพฤติกรรมอย่างไร เด็กก็เลียนแบบพฤติกรรมนั้น

    “มีคำพูดหนึ่ง ครูคิดใหญ่ เด็กก็คิดใหญ่ คือถ้าครูคิดว่าเป็นไปได้ เด็กก็จะเชื่อว่าเป็นไปได้ เขาจะทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้”