ThaiPublica > เกาะกระแส > “เชฟรอน” เล็งขยายกำลังผลิตน้ำมันดิบ ขอต่อสัมปทานแหล่งไพลิน 10 ปี

“เชฟรอน” เล็งขยายกำลังผลิตน้ำมันดิบ ขอต่อสัมปทานแหล่งไพลิน 10 ปี

16 สิงหาคม 2022


นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

“เชฟรอน” เล็งลงทุนขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบ-ก๊าซธรรมชาติเพิ่ม เสนอกรมเชื้อเพลิงฯ ขยายสัมปทานแหล่งไพลินอีก 10 ปี พร้อมหนุนรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา” ร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล “Special Economic Zone” เพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ-สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ

หลังจากที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ส่งมอบพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณ, แหล่งปลาทอง, แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน ให้กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลง จึงต้องปรับกลยุทธ์หรือแผนในการดำเนินธุรกิจใหม่ รวมทั้งเดินหน้าค้นหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

โดย นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงแนวทางการปรับองค์กร หลังส่งมอบพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม 4 แหล่ง คืนให้กับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ว่า หลังจากส่งมอบพื้นที่สัมปทานให้กับ ปตท.สผ. ไปแล้ว ทำให้องค์กรของเรามีขนาดเล็กลง คงเหลือสัมปทานปิโตรเลียมประมาณ 30% ของปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในอดีต จากเดิมนั้นบริษัทเชฟรอนเคยมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตอนเหนือจนถึงใต้ แต่ในปัจจุบันเหลือแหล่งผลิตปิโตรเลียมหลักๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน (B12/27) กับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเบญจมาศ (B8/32) จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2565 แหล่งผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งมีปริมาณการผลิตก๊าซรวม 480 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “คอนเดนเสท” 16,559 บาร์เรลต่อวัน และ น้ำมันดิบอีก 7,499 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแค่ 30% ของปริมาณการผลิตเดิม ทำให้ต้องปรับองค์กรใหม่ “จากเดิมที่เคยเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ หรือเครื่องบินจัมโบ้ เคลื่อนไหวช้า วันนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นเครื่องบิน F-16 ให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด และมีความเร็วสูง” เพื่อขับเคลื่อนองค์กร และพนักงานกว่า 600 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 99% เป็นคนไทย และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาอีกกว่า 300 คน

“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนองค์กรให้มีขนาดเล็กลง ช่วยเราสามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้ดีขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น ทั้งเรื่องการตัดสินใจ การสื่อสารในองค์กร ทำให้พนักงานใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ปรับเปลี่ยนองค์กรให้สนุก และน่าทำงานมากขึ้น”

ชู 4 กลยุทธ์ เดินหน้าหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมใหม่

แม้ว่าองค์กรมีขนาดเล็กลง แต่เชฟรอนยังคงเดินหน้าสู่การเป็นต้นแบบด้านพลังงาน โดยการพัฒนากระบวนการผลิต และสร้างพลังงานให้กับประเทศ ขณะที่ภายในองค์กรก็มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยหลักๆ มี 4 ด้านด้วยกัน คือ

    1. ให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร หรือ “Protect People and the Environment” โดยมุ่งความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยกับพนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยบุคลากรการรักษาสิ่งแวดล้อม
    2. ให้ความสำคัญในการพัฒนาคน การสร้างความเป็นผู้นำ หรือ “Better Leaders” เติมเต็มศักยภาพมุ่งพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ เน้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
    3. แม้องค์กรจะมีขนาดเล็ก แต่บริษัทยังมองหาธุรกิจใหม่ และปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ หรือ “Future Growth Opportunities” สร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาแนวทางการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของแหล่งปิโตรเลียมที่บริษัทฯ ได้รับสัมปทาน ตลอดจนมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว
    4. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยเชฟรอนทำธุรกิจปิโตรเลียมที่หลายคนมองว่าเป็นธุรกิจที่มีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศ เราจึงมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจแบบ “lower carbon” ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon intensity) เพื่อจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น และนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์

นายชาทิตย์กล่าวต่อว่า จากการที่องค์กรมีขนาดเล็กลง ทำให้ต้องสร้างบรรยากาศ แบบ “empowerment” เพื่อส่งเสริมให้พนักงานกล้าแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ รวมถึงสามารถแสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ยังคงความเป็นทีม หรือ “one team” โดยทำงานร่วมกันตั้งแต่ก้าวแรก ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายของแต่ละโครงการได้นั้น ทุกคนต้องช่วยเหลือกันได้ และใช้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายมาสนับสนุนการทำงานแบบ “cross-function” ซึ่งจะทำให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานทดลองคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และไม่หยุดพัฒนา “growth mindset” และสุดท้ายมุ่งเน้นให้พนักงานสามารถปรับตัวต่อทุกสถานการณ์ เพื่อสร้างผลลัพธ์ในทางที่ดียิ่งขึ้น

“หากเราสามารถสร้างทีมแข็งแกร่งได้ ตัวงานก็จะออกมาดี และพนักงานสามารถในการเรียนรูอะไรใหม่ๆ การสับเปลี่ยนการทำงานได้ การมองโลกในแง่บวก ทำให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กรที่มีขนาดเล็ก แต่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น”

นอกจากนี้ เชฟรอนยังได้ออกแบบการทำงานแบบผสมผสาน หรือ “hybrid work model” ซึ่งปรับให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น พร้อมออกแบบสำนักงานใหม่ รูปแบบ “flexible work hybrid” โดยแบ่งโซนการทำงานให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ โดยมีการออกแบบสำนักงานใหม่ เน้นสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน เกิดแนวความคิดใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังจัดสรรเวลาทำงานใหม่ เพื่อให้พนักงานได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น โดยจัดแบ่งให้เดินทางมาทำงานที่บริษัท 3 วัน และอีก 2 วัน ให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ เพื่อให้มีเวลาบางส่วนกับครอบครัวโดยไม่ต้องเดินทาง

ชงกรมเชื้อเพลิงฯ ต่อสัมปทานแหล่งไพลินผลิตน้ำมันดิบอีก 10 ปี

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจ นายชาทิตย์เชื่อว่า เชฟรอนยังมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ วันนี้เรายังเดินหน้ามองหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมแห่งใหม่ๆ โดยเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขอขยายอายุสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2571 ออกไปอีก 10 ปี ซึ่งตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาพื้นที่การผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการต่ออายุสัมปทานดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการจ้างงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

“เชฟรอนประเมินว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินยังมีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อไปได้อีกหลายสิบปี โดยเฉพาะแหล่งผลิตปิโตรเลียมอุบล ซึ่งอยู่ในพื้นที่สัมปทานของแหล่งไพลินนั้น จากผลการศึกษาของเชฟรอนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าแหล่งผลิตปิโตรเลียมอุบลนั้นมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสามารถพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 10 ปี ถือเป็นแหล่งค่อนข้างใหญ่ แต่การสำรวจขุดเจาะน้ำมันต้องใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูงกว่าการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการตัดสินใจเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งอุบลนั้น คงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะความชัดเจนจากภาครัฐในเรื่องต่ออายุสัมปทานแหล่งไพลิน ประกอบการพิจารณาด้วย หากนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้มาก” นายชาทิตย์กล่าว

หนุนรัฐเจรจาพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา”

นายชาทิตย์กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานว่า ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ทั้งที่ผลิตในประะเทศและนำเข้าจากต่างประเทศไปอีกนาน ขณะที่แหล่งการผลิตปิโตรเลียมในประเทศค่อยๆ ลด ดังนั้น การมองหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือ “TCOCA” น่าจะเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ที่มีศักยภาพ ขณะนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น “special economic zone” หรือ พื้นที่การพัฒนาร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-กัมพูชา สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

“ขณะนี้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ กำลังพิจารณาที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหม่ในพื้นที่ TCOCA ร่วมกัน ซึ่งเชฟรอนเองก็มีประสบการณ์และเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจด้านนี้ รอแค่ภาครัฐของทั้งสองประเทศเจรจาและตกลงกันได้ เราก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมลงทุน” นายชาทิตย์กล่าว

ปรับกลยุทธ์สร้างธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน

ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต นายชาทิตย์กล่าวว่า ทางเชฟรอนตั้งเป้าหมายสร้างธุรกิจสู่พลังงานที่สะอาด (lower carbon) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการปฏิบัติงานในประเทศไทยลง 20% ภายในปี 2571 และลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ net zero ทั่วโลกภายในปี 2593

“เราพยายามลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักร เช่น เปิดใช้เครื่องจักรตามความจำเป็น พัฒนาคุณภาพเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดทำโครงการศึกษาการพัฒนาพลังงานสะอาด นำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาพลังงาน เช่น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมผลิตของเรา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานลม เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในแท่นขุดเจาะสลับกันไปในระหว่างวัน คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ที่แท่นผลิตปิโตรเลียมหลุมย่อยได้ภายในปีหน้า นอกจากนี้ เชฟรอนยังศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS (carbon capture and storage) มาใช้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทย โดยจะเริ่มดำเนินการที่แหล่งอาทิตย์” นายชาทิตย์กล่าว

ตั้งศูนย์ IOC ควบคุมกระบวนการผลิตก๊าซอ่าวไทย

สำหรับทิศทางในการดำเนินธุรกิจของเชฟรอนในอนาคต ยังนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยนายชาทิตย์กล่าวว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเทคโนโลยีในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้ง “Integrated Operation Center” หรือ “IOC” ขึ้นที่สำนักงานกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดตั้ง “control room” ควบคุมแหล่งผลิตปิโตรเลียมจากอ่าวไทยทั้ง 3 แห่ง คือ แหล่งเบญจมาศ, ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไป 300 กิโลเมตรได้ โดยคนบนฝั่งสามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้มีการทำงานแบบ cross-functional team มากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการสื่อสาร ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างฉับไว เพื่อใช้วางแผนตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ รับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เชฟรอน ยังพัฒนาเทคนิคการขุดเจาะที่เรียกว่า “slanted well” สามารถขุดเจาะแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่มีความลาดเอียงสูงได้ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพธรณีวิทยาของอ่าวไทย ซึ่งมีแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก สามารถเจาะหลุมได้ในระยะไกล และดึงทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ได้มากขึ้น

นายชาทิตย์กล่าวว่า นอกจากเรื่องการประกอบธุรกิจแล้ว เชฟรอนยังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย โดยใช้กลยุทธ์ “4 E” ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนการศึกษา หรือ education ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาบุคลากรในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้สะเต็มศึกษา ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมของประเทศ, โครงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ environment & energy conservation ผ่านโครงการ ‘เสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา’ สนับสนุนการผลิตยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ

และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต economic development ผ่านโครงการ ‘ส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ภาคใต้’ เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ด้วยการส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว และโครงการ ‘เชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง’ จัดตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้านของชุมชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยเราเชื่อว่าการคืนกำไรให้กับสังคมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าธุรกิจอยู่ได้ ชุมชนก็ต้องอยู่ได้ด้วย ที่ผ่านมาเราจึงทำงานร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง