ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม สร้างสมดุลนิเวศทะเลไทย

ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม สร้างสมดุลนิเวศทะเลไทย

6 พฤศจิกายน 2020


ในประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หนึ่งในวัสดุที่มีการนำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมกันอย่างแพร่หลาย คือขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว หรือที่เรียกว่า Rigs-to-Reefs โดยพบว่าเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์คุณสมบัติการทำปะการังเทียมที่ดี

“ปะการังเทียม” คือ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเลที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ที่ผ่านมามีการเลือกใช้วัสดุนานาชนิดมาจัดวางเป็นปะการังเทียม อาทิ เรือเก่า ตู้รถไฟเก่า หรือวัสดุที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น การหล่อแท่งคอนกรีตในรูปทรงต่างๆ เป็นต้น

แต่การเลือกวัสดุที่ดี และมีความเหมาะสมต่อการจัดทำปะการังเทียม ตามหลักวิชาการแล้ว ประการแรก ควรเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์ทะเลให้เข้ามาอยู่อาศัย (Function) รวมถึงมีพื้นผิวเหมาะสำหรับการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตชนิดเกาะติด ประการที่สอง คือ มีความทนทานและมั่นคงแข็งแรง (Durability and Stability) ซึ่งควรมีอายุการใช้งานนาน และมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถต้านกระแสน้ำได้เป็นอย่างดี ประการที่สาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทะเล (Compatibility) และประการสุดท้าย คือควรเป็นวัสดุที่มีอยู่แล้ว (Availability) สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลได้

โดยในประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หนึ่งในวัสดุที่มีการนำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมกันอย่างแพร่หลาย คือ ขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว หรือ ที่เรียกว่า “Rigs-to-Reefs” โดยพบว่าเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์คุณสมบัติทั้งสี่ประการข้างต้น เนื่องจากโครงสร้างของขาแท่นมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและหลบภัยชั้นดีของสัตว์ทะเล มีความทนทานแข็งแรง เพราะทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) และมีพื้นผิวแข็งที่เหมาะกับการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกยึดเกาะและเคลือบผิว ซึ่งด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ เมื่อนำมาวางเป็นปะการังเทียม จึงมีความมั่นคงสูง ยากที่จะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม และเป็นส่วนที่ไม่เคยสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน จึงเข้ากับสภาพแวดล้อมในทะเลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันบริเวณขาแท่นปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเล มีสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยหลบภัยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยแนวทางของ Rigs-to-Reefs ในหลายประเทศอย่างบรูไน มาเลเซีย และในอ่าวเม็กซิโก ที่สหรัฐอเมริกา ก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว ที่เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำยอดนิยมในหมู่นักดำน้ำทั่วโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีแนวคิดในการนำขาแท่นที่ปลดระวางแล้วมาจัดวางเป็นปะการังเทียม จึงมีการศึกษาทดลองอย่างจริงจังในปี 2556 ด้วยการนำโครงสร้างเหล็กจำลองชนิดเดียวกับขาแท่นปิโตรเลียม ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมที่บริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกันศึกษาติดตามผล

ผลการทดลอง 7 ปี พบว่าบ้านปลาจากโครงสร้างเหล็กจำลองที่ไปวางแถวเกาะพะงันถูกปกคลุมไปด้วยสัตว์เกาะติดอย่างหนาแน่น อาทิ กลุ่มฟองน้ำ สาหร่ายท่อ เพรียงหิน และเพรียงภูเขาไฟ นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำวัยอ่อน และปลาเข้ามาอยู่อาศัยหลากหลายสายพันธุ์อย่างน้อย 24 ชนิด ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จนทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกาะพะงัน

จากความสำเร็จของการทดลอง รวมทั้งมีผลการวิจัยสนับสนุนอื่นๆ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายขาแท่นจากพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงันเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละขาแท่นนั้นทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) มีน้ำหนักประมาณ 300-700 ตัน ฐานกว้าง 20-22.5 เมตร ความสูง 70-84 เมตร มีความมั่นคงแข็งแรง จึงช่วยตอบโจทย์การทำปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี

หลังจากจัดวางขาแท่นปะการังเทียมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งสามหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามประเมินศักยภาพ และการเข้าใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียมต่อไปอีก 2 ปี โครงการนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เกาะพะงันและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านการท่องเที่ยวดำน้ำ และการประมง มากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

สิ่งมีชีวิตบริเวณขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

ทั้งนี้ 7 ขาแท่นดังกล่าวเป็นขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งเชฟรอนได้ดำเนินการจัดวางและส่งมอบให้ ทช. ดูแลต่อไป โดยได้รับความเห็นชอบในการเคลื่อนย้าย และนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมถึง ทช. ได้รับการอนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกรม ทช. เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเล