เริ่มแล้ว! ย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 7 ขาแท่น ทำ “ปะการังเทียม” บริเวณเกาะพะงัน คืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศ สร้างแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและการประมง
ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้นำคณะสื่อมวลชน พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ 4 ของบริษัท เชฟรอนฯ ที่ถูกรื้อถอนมาจากพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งปลาทอง เพื่อนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียม ภายใต้โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ขาแท่นเหล่านี้จะนำมาใช้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลที่ส่งผลดีต่อการประมง ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักดำน้ำทั่วโลกที่เดินทางเข้ามาชมความงามใต้ท้องทะเลไทย รวมทั้งสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในพื้นที่เกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่าในอนาคต
โครงการนำร่องนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ทช. บริษัท เชฟรอนฯ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันดำเนินการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม และคาดว่าจะจัดวางครบทั้ง 7 ขาแท่น ภายในเดือนกันยายน 2563 ขาแท่นทั้งหมดทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) สร้างเพื่อใช้งานในทะเลโดยเฉพาะ มีการทดสอบแล้วว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่วนของขาแท่นไม่เคยสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน แต่ละขาแท่นมีน้ำหนักประมาณ 300-700 ตัน ความกว้างของฐานประมาณ 20-22.5 เมตร ความสูง 70-84 เมตร ซึ่งดำเนินการเคลื่อนย้ายด้วยเรือยกขนาดใหญ่ ที่มีสมรรถนะในการยกมากถึง 3,000 ตัน ด้วยการลากในแนวดิ่งที่มีบางส่วนอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา หรือ wet tow โดยมีระยะทางจากจุดรื้อถอนไปยังพื้นที่เป้าหมายประมาณ 150-200 กิโลเมตร จากนั้นก็นำขาแท่นมาวางนอนลงกับพื้นท้องทะเล เรียงกันเป็นรูปดาวกระจายในพื้นที่ประมาณ 0.05 ตารางกิโลเมตร ห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 7.5 ไมล์ทะเล ที่ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร (วัดในช่วงระดับน้ำต่ำสุด) พร้อมติดตั้งทุ่นแสดงตำแหน่งปะการังเทียม เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในปี 2556 มีการศึกษาทดลองนำโครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมแล้ว ที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน โดยมีสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ติดตามและเก็บสำรวจข้อมูล ผลเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วัสดุมีความเหมาะสมในการทำเป็นปะการังเทียม สามารถเป็นที่ลงเกาะของปะการังและสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลา สัตว์ทะเลหลากหลายชนิดอย่างได้ผล รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งประมง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่
“ที่ผ่านมา ทช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเล ปีละประมาณ 100 ล้านบาทอยู่แล้ว การที่นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีความคงทน แข็งแรง มาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติม โดยการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี ในการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการจัดทำปะการังเทียม” นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากจัดวางครบทั้ง 7 ขาแท่น ทางบริษัท เชฟรอนฯ ก็จะทำการส่งมอบขาแท่นให้ ทช. เป็นผู้ดูแลต่อไป ซึ่ง ทช. ได้เตรียมออกประกาศให้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมเป็นพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้มีการจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ทช. และจุฬาฯ ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากเชฟรอน จะร่วมกันศึกษาและติดตามผลโครงการฯ ในระยะแรก 2 ปี ให้ได้ข้อมูลทางวิชาการในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาถอดบทเรียนก่อนขยายผลต่อไป
นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันขาแท่นทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน เหมาะในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นอย่างดี การย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่สัมปทานเพื่อนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้น และเป็นจุดที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่วมกัน จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในหลายมิติ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจชุมชน จากการเพิ่มแหล่งดำน้ำใหม่ในเขตน้ำลึก และส่งเสริมการประมง
โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ มีหน่วยงานภาครัฐคอยกำกับดูแลในทุกขั้นตอน และบริษัทเชฟรอนเองก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล