PTTEP แจงปมพิพาทรื้อถอนแท่นขุดเจาะแหล่งเอราวัณ จากระบบ “สัมปทาน” สู่ “PSC” ไม่เป็นไปตามแผน-กระทบกำลังการผลิตก๊าซปีหน้า เตรียมจัดหาแหล่งปิโตรเลียมอื่นทดแทน รองรับความต้องการใช้ก๊าซในปีหน้า
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ได้จัดบรรยายพิเศษให้ความรู้สื่อมวลชนถึงการดำเนินงานของปตท.สผ.ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลง G1/61 หรือที่เรียกว่า “แหล่งเอราวัณ”จากระบบสัมปทานปิโตรเลียมเดิมที่กำลังจะหมดอายุไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยมีนางสาวคณิตา ศาสวัตายุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงการพัฒนา และนางสาวเมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโส ในฐานะผู้จัดการโครงการ G1 (Project Manager) ของปตท.สผ. ร่วมกันบรรยายผ่านระบบ Microsoft Teams
หลังจากกระทรวงพลังงานเปิดประมูลสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ จนได้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล และได้มีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตามเงื่อนไขการประมูล กำหนดให้ผู้ชนะประมูล ต้องจัดทำแผน และเตรียมการเข้าไปผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี โดยเริ่มจากการเข้าไปสำรวจพื้นที่ , ติดตั้งท่อส่งก๊าซ และแท่นผลิตปิโตรเลียม 8 แท่น ไปจนถึงทดสอบการผลิต ก่อนที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตตั้งแต่วันที่ 24 เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติมีความต่อเนื่อง
ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ปตท.สผ.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทาน เพื่อขออนุญาตเข้าสำรวจพื้นที่ในระยะที่ 1 และเริ่มก่อสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 แท่น หลังจากนั้นทาง ปตท.สผ.ก็เจรจากับบริษัท เชฟรอนฯ เพื่อจัดทำข้อตกลง ขอเข้าพื้นที่เตรียมการผลิตในระยะที่ 2 ซึ่งตามแผนงานจะทยอยติดตั้งแท่นผลิตทั้ง 8 แท่น รวมทั้งเจาะหลุมผลิต ปรากฎว่ามาเกิดประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับ บริษัท เชฟรอน ฯเรื่องการส่งมอบทรัพย์สิน หรือ “สิ่งติดตั้ง” ที่ใช้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมคืนให้กับรัฐ ก่อนที่สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในวันที่ 23 เมษายน 2565 รวมทั้งมีประเด็นพิพาท เรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอน จึงส่งผลกระทบต่อการเจรจาขอเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ทำให้ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ เพื่อไปเตรียมการผลิตในแหล่งเอราวัณได้ตามแผนงานวางไว้ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับบริษัทเชฟรอน ฯ หลัก ๆจะแบ่งอกเป็น 2 ส่วน คือ ประเด็นแรก เรื่องสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่ใช้ประโยชน์ต่อ ตามประกาศของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม กำหนดให้ผู้รับสัมปทานเดิม ต้องวางหลักประกันตามวงเงินค่ารื้อถอนเต็มจำนวน โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับคืนหลังจากรื้อถอนแท่นขุดเจาะออกจากพื้นที่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่รื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่รับมอบ ตามแผนงานที่ส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอนุมัติ
ประเด็นที่ 2 สิ่งติดตั้งบนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ตามกฎหมายปิโตรเลียม กำหนดให้ผู้รับสัมปทานเดิมต้องจ่ายค่ารื้อถอนตามสัดส่วนการใช้งาน ซึ่งคำนวณตามสัดส่วนปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสะสม เทียบกับปริมาณปิโตรเลียมทั้งหมด หากผู้รับสัมปทานเดิมจ่ายค่ารื้อถอนแล้ว ผู้รับสัมปทานก็จะไม่มีภาระหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบให้รัฐอีกต่อไป โดยรัฐและผู้รับสัมปทานเดิมต้องทำข้อตกลงส่งมอบสิ่งติดตั้ง ตามหลักการที่ระบุในประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ซึ่งทางบริษัท เชฟรอน ประเทศสหรัฐอเมริกา(บริษัทแม่ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยฯ) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนี้ จึงไปร้องขอความเป็นธรรมกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จึงส่งผลกระทบมาถึงการเจรจาของปตท.สผ.เพื่อขอเข้าพื้นที่ไปเตรียมการผลิตในระยะที่ 2
และจากการที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปเตรียมการผลิตได้ตามแผนงานที่วางไว้ ส่งผลทำให้แผนงานต่างๆเตรียมไว้ เกิดความคลาดเคลื่อน และล่าช้าออกไป ยกตัวอย่าง การติดตั้งท่อและแท่นผลิต 8 แท่น ตามกำหนดการเดิมต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2564 ลงมือเจาะหลุมที่แท่นผลิตทั้ง 8 แท่นภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และเริ่มเดินเครื่องทดสอบการผลิตในไตรมาสแรกของปี 2565 ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพราะเข้าพื้นที่ไม่ได้ นอกจากนี้ในเงื่อนไขของสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)ที่ทำไว้กับกระทรวงพลังงาน กำหนด “ให้ ปตท.สผ.จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วง 10 ปีแรก” ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นและเจาะหลุมเลย
แม้ว่าในขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังเร่งดำเนินการเจรจากับบริษัท เชฟรอน ฯ ซึ่งผลการเจรจามีแนวโน้มที่ดีมาก คาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ หาก ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่ได้ ก็จะพยายามเร่งดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตให้เร็วที่สุดก่อนที่สัญญาแบ่งปันผลผลิตจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
แต่อย่างไรก็ตาม หาก ปตท.สผ.ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่ภายในเดือนนี้ ก็ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามที่กำหนดในเงื่อนไขของสัญญาแบ่งปันผลผลิต ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ก๊าซที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทาง ปตท.สผ.ได้จัดเตรียมแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ มาทดแทน อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช หรือแหล่งอื่น ๆในอ่าวไทยมาเสริม ทั้งนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในปีหน้า