ThaiPublica > เกาะกระแส > ความคืบหน้าภารกิจเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ จากระบบสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิต

ความคืบหน้าภารกิจเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ จากระบบสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิต

3 กรกฎาคม 2020


นับถอยหลัง 2 ปี สู่การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิต “เชฟรอน” เร่งสัญญาเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 พร้อมเดินหน้ารื้อถอนต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แหล่งก๊าซธรรมชาติแปลง G1/61 (เอราวัณ) และ G2/62 (บงกช) ระหว่างกระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แปลง คือ ปตท.สผ. กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่มีการใช้ระบบ PSC อย่างเต็มรูปแบบในแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นครั้งแรก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการกระบวนการเปลี่ยนผ่านโอเปอเรเตอร์ในแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ พร้อมกับการเปลี่ยนระบบบริหารจัดการจากสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิตด้วย จนถึงวันนี้การเปลี่ยนผ่านเอราวัณมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันจากสามหน่วยงานสำคัญคือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นับถอยหลัง 2 ปี สู่การเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิต

จากจุดเริ่มต้นของการลงนามสัญญา PSC ระหว่าง 2 ฝ่าย กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) มีภารกิจต้องรับผิดชอบในการเดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งเอราวัณ เพื่อให้บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัญญาสัมปทานเดิม ส่งต่อภารกิจการดำเนินงานให้กับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต สามารถผลิตก๊าซได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565 หลังหมดสัญญาสัมปทานของเชฟรอน

นับถอยหลังจากวันนี้ ปี 2563 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเหลือเวลา 2 ปี ในการเชื่อมประสานความร่วมมือในทุกขั้นตอนภายใต้กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น ให้เกิดความราบรื่นด้วยความร่วมมือของผู้รับสัญญารายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานไปสู่ PSC เป็นเรื่องใหม่และมีความสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่า เชฟรอน จะยังคงรักษาชื่อเสียงของตัวเองเอาไว้ โดยที่ผ่านมา เชฟรอนถือเป็นมหามิตรที่ช่วยประเทศไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาอย่างต่อเนื่อง มีผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนา

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

“ที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็เชิญทั้งเชฟรอนและปตท.สผ.มาหารือร่วมกันเป็นระยะๆ มาโดยตลอด ซึ่งทางเชฟรอนก็ให้ความร่วมมือกับกรมฯ ด้วยดี โดยในประเด็นที่แต่ละฝ่ายยังมีข้อกังวล กรมฯ ก็ช่วยประสานและอำนวยความสะดวกให้มีความมั่นใจว่าการทำงานช่วงรอยต่อจากสัมปทานไปสู่ PSC จะไม่มีอะไรที่ติดขัด โดยที่มีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน”นายสราวุธกล่าว

กรมเชื้อเพลิงฯ ตั้งกองใหม่ “PSC”

นายสราวุธกล่าวแสดงความมั่นใจว่าการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ ซึ่งต้องเปลี่ยนโอเปอเรเตอร์จากเชฟรอนเป็น ปตท.สผ. จะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตก๊าซช่วงรอยต่อเกิดความต่อเนื่อง โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่ประสานกับเชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 กับ ปตท.สผ. ที่จะมาเป็นโอเปอเรเตอร์ รับช่วงการผลิตต่อภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพระดับโลกในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอน ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านการผลิตครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างราบรื่นแน่นอน

สำหรับการเตรียมความพร้อมในส่วนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกี่ยวกับการบริหารระบบ PSC ร่วมกับปตท.สผ. ที่เป็นผู้รับสัญญา นั้น กรมฯ ได้มีการจัดตั้งกองPSC ขึ้นมาใหม่ และไม่มีการแต่งตั้งผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการ เพื่อที่จะแยกให้ชัดและมั่นใจว่าจะไม่มีการใช้อำนาจของกรมเชื้อเพลิงฯ เข้าไปแทรกแซงงานในกองนี้ ที่จะต้องดีลกับผู้รับสัญญา คือ ปตท.สผ. โดยตรง โดยปตท.สผ.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง รายงานกับหน่วยนี้ ว่าจะทำอะไรบ้าง หากเกินอำนาจการอนุมัติจึงเสนอต่อคณะอนุกรรมการ PSC พิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คาดว่าจะมีความพร้อมดำเนินการต่อเนื่องได้ทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทั้งเอราวัณและบงกช

“เชฟรอน” ร่วมเดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่าน

ล่าสุด นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งเอราวัณว่า การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งปิโตรเลียม เป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยความปลอดภัย เพื่อให้การผลิตพลังงานมีความต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินงานรายใหม่ เพื่อเตรียมการส่งมอบแหล่งเอราวัณอย่างราบรื่นมากที่สุด

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

นายไพโรจน์กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ได้มีการลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ฉบับที่ 1 แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการ ปัจจุบันกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงนี้แล้วเสร็จไปมากกว่า 90 % ด้วยความปลอดภัยและราบรื่น และคาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 เร็วๆนี้ โดยจะสนับสนุนให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น การติดตั้งแท่นหลุมผลิต การติดตั้งเรือกักเก็บปิโตรเลียม และการขุดเจาะหลุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตในปี 2565

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชฟรอนอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. สผ. เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการส่งมอบแหล่งเอราวัณอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งมอบแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งอื่นๆ ให้แก่รัฐ การหารือด้านกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกพนักงาน เป็นต้น

“รื้อถอน” คืบหน้าต่อเนื่อง

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องการรื้อถอนแท่น นายไพโรจน์กล่าวว่าเชฟรอนมีความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน ที่ผ่านมาได้วางแผนงานและดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการนำร่องการนำส่วนบนของขาแท่นปิโตรเลียม จำนวน 4 แท่นไปจัดการบนฝั่ง และที่จะดำเนินการในเร็วๆ นี้ คือการศึกษาการนำขาแท่นปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทย ที่ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำขาแท่นปิโตรเลียม 7 ขาแท่น ไปจัดวางในทะเลบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ ซึ่งการนำขาแท่นไปทำเป็นปะการังเทียมเป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่มีการดำเนินงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

กิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม จะช่วยให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานโดยตรงและในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อการส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทวงพลังงาน โดยทางเชฟรอนมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีส่วนร่วมในกิจกรรมการรื้อถอนตามมาตรฐานความปลอดภัยและแนวทางปฏิบัติที่ดีของอุตสาหกรรม เช่น การนำส่วนบนของขาแท่นปิโตรเลียม 4 แท่นมาจัดการบนฝั่งที่ผ่านมานั้น ส่วนบนของขาแท่นที่นำขึ้นฝั่งได้ถูกนำไปจัดการที่สถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน (Dismantling Yard) ของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดชลบุรี ซึ่งยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก เฉพาะในประเทศไทยเอง มีแท่นผลิตอยู่เกือบ 400 แท่น อาจต้องทยอยรื้อถอนต่อไป

“ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นต่อพันธกิจจัดหาพลังงานของเชฟรอนไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากแหล่งเอราวัณแล้ว เชฟรอนยังเป็นผู้ดำเนินการของแปลงปิโตรเลียมแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทย เช่น แหล่งไพลิน ซึ่งไม่ได้หมดอายุในปี 2565 นอกจากนี้ เรายังมองหาโอกาสการลงทุนและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนแนวนโยบายด้านพลังงานของรัฐอื่นๆ เช่น การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และการผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) เป็นต้น” นายไพโรจน์ กล่าว

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ปตท.สผ. อยู่ระหว่างทำข้อตกลงเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การดำเนินงานช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณ ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ได้มีการประสานงานกับผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความร่วมมือของทุกฝ่ายมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตก๊าซให้ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

โดยขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงการเข้าพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าไปติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตได้ตามแผนการลงทุนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อนุมัติ และ ปตท.สผ. ได้เริ่มลงทุนไปแล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการในปัจจุบันภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ขณะที่การจ้างพนักงานต่อผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบันนั้น ได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การโอนถ่ายพนักงานในอนาคต