ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ถึงเวลาคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน The Second Great Reform (ตอน 2)

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ถึงเวลาคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน The Second Great Reform (ตอน 2)

9 กรกฎาคม 2022


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ต่อจากตอนที่ 1

5 วาระขับเคลื่อน The Second Great Reform

เป้าหมายหลักของ The Second Great Reform จึงเป็นความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองจาก Extractive ไปสู่ Inclusive Political Economy โดยจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “คนจนและคนด้อยโอกาสจะสามารถลืมตาอ้าปากมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ได้หรือไม่” ในขณะเดียวกันจะต้องตอบคำถามที่ว่า “คนรวยและคนได้โอกาสจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างไร” หากคนเหล่านี้เปิดใจให้กว้างและจริงใจที่จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง สังคมไทยก็จะเป็น “ปกติสุข” เกิดเป็นสังคมสมานฉันท์ เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจก็จะตามมา พลวัตที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงคุณภาพอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ในทำนองกลับกัน หากคนเหล่านี้ยังผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจและยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง สังคมไทยก็จะไม่มีวันเป็นปกติสุข ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจจะไต่ระดับจนถึงจุด ๆ หนึ่ง “สงครามกลางเมือง” อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมจะลุกเป็นไฟ และที่จุด ๆ นั้นไม่ใช่แค่คนด้อยโอกาส คนรวยหรือคนได้โอกาสก็อยู่ไม่ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า When the poor have nothing more to eat, they will eat the rich (เมื่อคนจนไม่มีจะกิน เขาจะกินคนรวย) (อาดอลฟ์ ตีแยร์)

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยท่ามกลางวิกฤติเชิงซ้อนโลกคือ จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มขนาดของพายผ่านการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับเพิ่มส่วนแบ่งของพายให้กับคนจนและคนด้อยโอกาสด้วยในขณะเดียวกัน

ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจาก Extractive เป็น Inclusive Political Economy ภายใต้ The Second Great Reform จะเป็นการผสมผสานระหว่าง 1) การเปลี่ยนเกมส์ ด้วยการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (Structural Reform) 2) การเปลี่ยนกติกาของเกมส์เดิม ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดิม (Functional Reform) และ 3) การเปลี่ยนวิธีการเดินเกมส์ ภายใต้กติกาและเกมส์เดิม ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายใต้ระบบเดิม (Technical & Administrative Reforms)

วาระปฏิรูปในการปรับเปลี่ยนสู่ Inclusive Political Economy ประกอบไปด้วย

1) เปลี่ยนสังคมจารีตเป็นสังคมสมัยใหม่
2) ยกเครื่องการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบ
3) สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ
4) ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
5) ใช้ Soft Power เชื่อมไทยสู่โลก

เปลี่ยนสังคมจารีตเป็นสังคมสมัยใหม่

ในภูมิทัศน์โลกที่กำลังปรับเปลี่ยนสู่การที่ผู้คนมีความเป็นอิสระและพึ่งพิงอิงอาศัยกันมากขึ้น กลุ่มคนที่ยึดจารีตนิยมกลับสวนกระแสดังกล่าว โดยต้องการรักษาสถานะเดิมของตนไว้ให้นานที่สุด ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้า ไม่มีแนวคิดเรื่องความเสมอภาค เน้นการแบ่งสถานภาพและจัดระเบียบสังคมตามแนวคิดอำนาจนิยมและลดหลั่นตามลำดับชั้น

ในห้วงการอภิวัฒน์สยาม (2475) ได้พยายามปรับเปลี่ยนสังคมไทยจาก “จากสังคมจารีต” ไปสู่ “สังคมสมัยใหม่” ผ่านแนวคิด “เสรีประชาธิปไตย” แต่น่าเสียดายที่ผู้นำคณะราษฎรเลือกแนวทางประนีประนอม ในที่สุดจึงพ่ายแพ้ต่อฝ่าย “จารีตนิยม” การที่ชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่เป็นพวกจารีตนิยมเข้มข้น อาจเนื่องมาจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเป็นสังคมแบบเกษตรกรดั้งเดิมมาเป็นเวลายาวนาน อีกทั้งไม่เคยผ่านการเป็นอาณานิคม การกู้ชาติ สงคราม ปฏิวัติ หรือภัยพิบัติรุนแรงเหมือนชาติอื่น ๆ การไม่เคยถูกแรงกดดันอย่างหนักจากภายนอก ทำให้ประเทศไทยไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีแต่การปรับแต่งให้ทันสมัยตามตะวันตก หรือการรับเอาระบบทุนนิยมเข้ามาผสมกับระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่เดิม (วิทยากร เชียงกูล)

จาก “สังคมจารีต” เป็นเงาสะท้อน Extractive Political Economy “สังคมสมัยใหม่” ก็จะเป็นเงาสะท้อนของ Inclusive Political Economy

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ The Second Great Reform จึงเป็นการเปลี่ยนจาก “สังคมจารีต”เป็น “สังคมสมัยใหม่” โดยเป็นสังคมที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เป็นสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม และเป็นสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน ซึ่งจะนำไปสู่การปลดปล่อยศักยภาพและพลังของประชาชน เพื่อเปลี่ยน “พลเมืองที่เฉื่อยชา” เป็น“พลเมืองที่ตื่นรู้และร่วมรับผิดรับชอบ” ซึ่งจะลดทอนอำนาจรัฐ ลดระดับการพึ่งพิงรัฐ เกิดเป็นสังคมควบคุมกันเอง และสังคมควบคุมรัฐในที่สุด

จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารจำนวน 40 ท่าน ในประเด็นคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันเป็นแบบใด ระหว่างสังคมจารีตกับสังคมสมัยใหม่?” 65% ตอบว่าเป็นสังคมของพวกจารีต 35% ตอบว่าเป็นสังคมผสมระหว่างสังคมจารีตกับสังคมสมัยใหม่

การเปลี่ยนจาก “สังคมจารีต” เป็น “สังคมสมัยใหม่” ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

1) เปลี่ยนเป็นสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ได้อย่างไร?
2) เปลี่ยนพลเมืองที่เฉื่อยชาไปเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และร่วมรับผิดรับชอบต่อสังคมได้อย่างไร?
3) ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างรุ่น ร่วมสร้าง WE-Society ได้อย่างไร?
4) เติมเต็มพลังให้กับประชาชนได้อย่างไร?

  • เปลี่ยนเป็นสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ได้อย่างไร
  • การสร้างสังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยกติกาและสัญญาประชาคมชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

    -การสร้างสังคมที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ด้วยการเปลี่ยนจาก “Rule by Law” ซึ่งเป็นการเขียนกฎตามความต้องการของผู้มีอำนาจบางกลุ่มภายใต้ร่มเงาของอุปถัมภ์นิยมจารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ไปเป็น “Rule of Law” ซึ่งเป็นกฎที่ทุกคนยอมรับและยินดีที่จะยึดถือปฏิบัติ และ Rule of Law จะต้องเกิดควบคู่กับการสร้างกลไก Check & Balance ในสถาบันการเมืองต่าง ๆ รวมถึงการมีมาตรการต่อต้านคอรัปชั่นที่เข้มข้นและเอาจริงเอาจัง

    -การสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม คนทุกคนต้องสามารถ “เข้าถึง” ปัจจัยทั้งทางวัตถุและสังคมที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่เจริญงอกงามได้อย่างเท่าเทียมโดยทั่วกัน (Erik Olin Wright) โดยครอบคลุมอย่างน้อย 5 ประการสำคัญคือ รายได้ทรัพย์สิน สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ)

    เป็นที่ทราบกันดีว่าสวัสดิการหลายอย่างที่รัฐจัดให้ในปัจจุบันนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่ทั่วด้านและไม่ทั่วถึง อย่างระบบประกันสังคมก็ครอบคลุมเฉพาะลูกจ้าง ส่วนระบบการศึกษาและการรักษาพยาบาลก็ไม่ครอบคลุมชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ มิเพียงเท่านั้นการจัดสวัสดิการยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอหน้า อย่างในกรณี ค่าใช้จ่ายของบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระรายได้สูงที่ใช้บัตรทองกับคนงานรายได้ต่ำที่อยู่ในโครงการประกันสังคม(ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ)

    หัวใจสำคัญของการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมภายใต้ “The Second Great Reform” คือ การปรับเปลี่ยน “สวัสดิการโดยรัฐ” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” อย่างสมบูรณ์ โดยการจัดระบบสวัสดิการสังคมอย่างทั่วด้านให้กับทุกคนในสังคมอย่างถ้วนหน้า ครอบคลุมถึงการประกันรายได้ขั้นต่ำ การสร้างความมั่นคงในชีวิต รวมถึงหลักประกันทางรายได้และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ ตลอดจนการได้รับบริการสังคมอย่างเสมอหน้ากัน ครอบคลุม เท่าเทียมด้วยมาตรฐานสากล (ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ)

    -การสร้างสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน แต่การติดอยู่ในวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ทำให้ทุนสังคมที่ยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกันถูกลดทอนลง และทุนสังคมที่มีอยู่ก็ยิ่งถูกทำให้เลวร้ายลงไปอีกเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น การฟื้นกลับคืนสู่ “สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน” กระทำได้ผ่านกลไก “การเลื่อนไหลขยับชั้นของผู้คนในสังคม” (Social Mobility) ด้วยการสร้างตาข่ายความมั่นคงทางสังคม ให้กับกลุ่มที่ยากจนข้นแค้น อาทิ กลุ่มคนใต้เส้นความยากจน กลุ่มชายขอบ กลุ่มคนพิการ ในรูปแบบของการเยียวยาและฟื้นฟู การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ให้กับกลุ่มที่พอประทังชีวิตอยู่รอดไปวัน ๆ อาทิ แรงงานนอกระบบ กลุ่มเฉียดจน ในรูปแบบของการให้แต้มต่อและโอกาส การสร้างประสิทธิภาพทางสังคม ให้เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง อาทิ มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการรายย่อย ในรูปแบบของการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่าย และการผนึกกำลังทางสังคม ให้เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน อาทิ แรงงานมีทักษะ คนทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ ในรูปแบบของการเกื้อกูลและแบ่งปันผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า

    พร้อม ๆ กันนั้นจะต้องปลูก “จิตสำนึกพอเพียง” ที่ผู้ได้โอกาสแล้วต้อง “รู้จักปัน” คนที่อยู่ตรงกลางต้อง “รู้จักพอ” และผู้ด้อยโอกาสต้อง “รู้จักเติม” จึงสามารถสร้างสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปันได้อย่างเป็นรูปธรรม

    เมื่อสังคมมี Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share จะทำให้ประชาชนมีพื้นที่ร่วมเมื่อมีพื้นที่ร่วมก็มีโอกาสที่จะสร้างเจตจำนงร่วมและพลังร่วมในการสร้าง “สังคมของพวกเรา” (WE-Society) ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

  • เปลี่ยนพลเมืองที่เฉื่อยชาไปเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และร่วมรับผิดรับชอบต่อสังคมได้อย่างไร
  • หัวใจสำคัญอยู่ที่ การปรับเปลี่ยนความเชื่อ คุณค่า และพฤติกรรม จาก Anomic Individualism เป็น Collective Individualism นั่นคือเปลี่ยนคนไทยให้เป็นพลเมืองที่เป็นอิสระ ในขณะเดียวกันก็พึ่งพาอาศัยกันร่วมกับคนอื่น

    มิเพียงเท่านั้น สังคมที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ทำให้เกิดพฤติกรรม “รสนิยมสูง รายได้ต่ำ” คนไทยจำนวนไม่น้อยก่อหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งหนี้ที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ที่สำคัญเป็นหนี้เพื่อการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นส่วนใหญ่ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ความสามารถในการชำระหนี้ของคนจำนวนไม่น้อยต้องสะดุดลง ทำให้เกิดหนี้เสียในระบบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นต้องเปลี่ยนคุณค่าในสังคมที่เป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ไปสู่คุณค่าของความพอเพียง ที่เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปัน

    จุดเน้นจะอยู่ที่การเปลี่ยนวัฒนธรรมแนวตั้ง ที่มุ่งปกปักรักษาระบบอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยมอำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ให้เป็นวัฒนธรรมแนวราบ ที่ทุกคนเคารพคุณค่าซึ่งกันและกันบนความหลากหลาย ความครอบคลุม และความเท่าเทียม เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และรับผิดรับชอบต่อสังคม เป็น “พลเมืองที่สมบูรณ์” ในที่สุด

    สร้าง “พลเมืองที่สมบูรณ์” จะต้องปลูกฝัง “ชุดความคิดการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้” อาทิ ความคิดแบบรอบคอบ มองระยะยาว เป็นกลาง ใช้เหตุใช้ผลมากกว่าการใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นคนที่กล้าคิดและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ควบคู่ไปกับ “ชุดความคิดการสร้างพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” อาทิ ความคิดที่ใช้คุณธรรมจริยธรรมนำทางชีวิต ความคิดที่ต้องการเกื้อกูล เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน และเผื่อแผ่ ความคิดที่กลมกลืนกับโลกธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ความคิดแบบสร้างสรรค์ที่ต้องการให้ทุกฝ่ายมีโอกาสชนะร่วมกัน ตลอดจนความคิดที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

    พร้อม ๆ กับการปลูกฝังชุดความคิด จะต้องเน้น “ชุดทักษะการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้” คลอบคลุมถึงการสร้างความภูมิใจในตัวเอง มีบุคลิกเปิดเผย มีอิสระทางความคิดและทางเลือก ความเป็นระเบียบวินัย การฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ความเคารพกฎหมายและกฎเกณฑ์ และความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ควบคู่ไปกับ “ชุดทักษะชีวิตการสร้างพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” อาทิ การมีความรับผิดชอบ ความเคารพสิทธิตนเองและผู้อื่น ความอดทนอดกลั้น การทำงานเป็นทีม ความรู้รักสามัคคี ความมีน้ำใจนักกีฬา จิตอาสา และการเสียสละเพื่อส่วนรวม(วิทยากร เชียงกูล)

  • ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างรุ่น ร่วมสร้าง WE-Society ได้อย่างไร
  • ภายใต้ Extractive Political Economy มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก “ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดง” เมื่อทศวรรษก่อน มาสู่ “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” ในปัจจุบัน ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่ความรุนแรง ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความแตกแยกของผู้คนในสังคม เกิดเป็น “สังคมสองขั้ว” เป็น “สังคมที่ไม่ไว้วางใจกัน” ในที่สุด

    ความขัดแย้งระหว่างรุ่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มีให้เห็นดาษดื่นทั่ว โจทย์ของ The Second Great Reform คือ การร่วมกันค้นหารากปมความขัดแย้ง และก้าวข้ามความขัดแย้งผ่านการสร้างพื้นที่ร่วมและเจตจำนงค์ร่วม เปลี่ยนพลังความขัดแย้งเป็นพลังร่วมของคนต่างรุ่นในการเปลี่ยน “สังคมของพวกกู” (ME-Society) เป็น “สังคมของพวกเรา” (WE-Society) ได้อย่างไร

    ในหนังสือ “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” ได้จำแนกความแตกต่างระหว่างรุ่นทางการเมืองของไทยออกเป็น 3 รุ่นหลักคือ คนรุ่นเก่า หรือ “คนรุ่นสงครามเย็น” (Cold War Generation) คนรุ่นกลาง หรือ “คนรุ่น (ใน) ระหว่าง” (In-Between Generation) และเยาวชนคนหนุ่มสาว หรือ “คนรุ่นโบว์ขาว” (White Ribbon Generation)

    คนรุ่นสงครามเย็นเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทและอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากที่สุดในปัจจุบัน ในขณะที่คนรุ่น (ใน) ระหว่างเป็นกลุ่มที่ได้รับการเลี้ยงดูกล่อมเกลาโดยคนรุ่นสงครามเย็นให้ขยัน อดทน เชื่อฟัง และยอมรับกฎระเบียบของสังคม จึงมีแนวโน้มที่เพิกเฉยต่อประเด็นทางสังคมและการเมือง ส่วนคนรุ่นโบว์ขาวเกิดมาพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงและถูกท้าทายในทุกมิติอยู่ตลอดเวลา อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้เปิดโลกทัศน์ของพวกเขา ทำให้มีกรอบความคิด มุมมอง และการรับรู้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่าน ความคาดหวัง ความกังวลจากการรับรู้ถึงปัญหาและสิ่งท้าทาย เกิดเป็น “แรงปรารถนา” ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอนาคตที่ดีกว่านี้

    ความแตกต่างระหว่างคนรุ่นสงครามเย็นกับคนรุ่นโบว์ขาวเป็นปฐมบทของความขัดแย้ง ในขณะที่คนรุ่นสงครามเย็นยอมรับกับโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ และพึงพอใจกับการดำรงอยู่ของสังคมจารีตอย่างไม่แปรเปลี่ยน คนรุ่นโบว์ขาวกำลังถูกท้าทายโดยดิสรัปชั่นในหลากหลายมิติ การที่คนรุ่นโบว์ขาวลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐ เป็นเพราะพวกเขามองไม่เห็นสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share พวกเขาต้องทนดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลาง Extractive Political Economy พวกเขาจึงมองไม่เห็นอนาคตที่สดใส เห็นแต่อนาคตที่มืดมน

    ประเด็นสำคัญคือ คนรุ่นสงครามเย็นส่วนหนึ่งมองสิ่งที่คนรุ่นหลานทำว่าเป็นการต่อต้านและท้าทาย เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และนำมาสู่ “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” ในที่สุด (กนกรัตน์ เลิศชูสกุล)

    ตัวเชื่อมประสานเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นพลัง ในหนังสือ “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” ยังได้เสนอแนวทางในการก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างรุ่น โดยให้คนรุ่น (ใน) ระหว่างเป็นตัวเชื่อมประสานคนรุ่นสงครามเย็นกับคนรุ่นโบว์ขาว คนรุ่น (ใน) ระหว่างเหล่านี้เริ่มขยับมีบทบาทหน้าที่ในองค์กรหลักต่าง ๆ มิเพียงเท่านั้นพวกเขาเติบโตในช่วงเศรษฐกิจขาลงของประเทศ และเผชิญกับดิสรัปชั่นในหลากหลายมิติด้วยตนเอง ทำให้ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตเหมือนคนรุ่นก่อนหน้า และรู้ว่าต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง พวกเขายังเป็นรุ่นรอยต่อระหว่างโลกอนาล็อกกับโลกดิจิทัล ซึ่งเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในระดับหนึ่ง

    บทบาทในการเชื่อมประสานของคน (ใน) ระหว่างดังกล่าว จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่เปลี่ยนการเผชิญหน้า มาเป็นการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน สร้างความเข้าใจ เพิ่มการเข้าถึง และร่วมกันหาทางออกในเชิงสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นการรู้รักสามัคคี ความเคารพ และความไว้วางใจต่อกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้คนทุกรุ่นขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าร่วมกัน

  • จะเติมเต็มพลังให้กับประชาชนได้อย่างไร
  • ในการปรับเปลี่ยนจากสังคมจารีตสู่สังคมสมัยใหม่ เราจะต้องปลดล็อกข้อจำกัดและปลดปล่อยศักยภาพของภาคประชาชน ผ่าน 2ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การกระจายอำนาจ โอกาส และความมั่งคั่ง ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกร่วมบริหารจัดการ

    กระจายอำนาจ โอกาส และความมั่งคั่ง ในปัจจุบันผู้มีอำนาจยังคงติดอยู่กับวงจรความเชื่อที่ว่าชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นยังไม่พร้อม ทำให้ไม่ยอมกระจายอำนาจ ท้องถิ่นและชุมชนจึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ทำให้ยิ่งไม่พร้อมมากขึ้นแทนที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและชุมชนได้พัฒนาขีดความสามารถจนสามารถปกครองตนเองได้

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง คสช. ได้มีการรวมศูนย์อำนาจกลับสู่ส่วนกลาง มีการระงับยับยั้งประชาธิปไตยท้องถิ่น มีการเพิ่มอำนาจกับระบบราชการผ่านกลไกต่าง ๆ ตลอดจนการลดทอนบทบาทของสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย (เวียงรัฐ เนติโพธิ์) ทำให้ระดับของ “รัฐควบคุมสังคม” ทวีความเข้มข้นมากขึ้น

    ดังนั้นหนึ่งในภารกิจขับเคลื่อน The Second Great Reform คือ การ “ทวนกลับแนวคิดรัฐควบคุมสังคม” ไปสู่แนวคิด “สังคมควบคุมสังคม” และ “สังคมควบคุมรัฐ” โดยการกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน รวมถึงการกระจายโอกาส ผ่านการเข้าถึงทรัพยากรประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรการเมือง ตลอดจนการกระจายความมั่งคั่ง โดยการเน้นการเปิดให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันใน

    การสร้างความมั่งคั่งตั้งแต่เริ่มต้น (Pre-distribution) แทนที่จะให้โอกาสกับคนบางกลุ่มสร้างความมั่งคั่ง แล้วค่อยกระจายให้กับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือภายหลัง (Redistribution)

    กลไกร่วมบริหารจัดการ โลกหลังโควิด-19 จำเป็นต้องอาศัยกลไกการประสานร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับที่สูงขึ้น ประกอบไปด้วย กลไกร่วมบริหารจัดการระหว่าง “ภาครัฐ” กับ “ภาคเอกชน” ในรูปแบบของ Public Private Partnership (PPP)กลไกร่วมบริหารจัดการระหว่าง “ภาคเอกชน” กับ “ภาคประชาสังคม” ในรูปแบบของ Social Enterprise และกลไกร่วมบริหารจัดการระหว่าง “ภาครัฐ” กับ “ภาคประชาสังคม” ในรูปแบบของ Third Sector

    ยกเครื่องการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบ

    โลกในศตวรรษที่ 21 จะเน้นการสร้างคนภายใต้ Learning Platform มากกว่า Schooling Platform นั่นคือจาก “The school is my world” เป็น “The world is my school” ดังนั้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และนอกระบบ จะค่อย ๆ ทวีความสำคัญมากขึ้น และแทนที่การเรียนรู้ในห้องเรียน ในโรงเรียน และในระบบ การเรียนจากตำราและการท่องจำจะถูกแทนที่ด้วยการเรียนรู้ที่เน้นการใช้ความคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ การเรียนรู้แบบ Passive Learning จะถูกแทนที่ด้วย Active Learning การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จะไม่เพียงแต่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (Learn) ที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ยังต้องเรียนรู้การรู้จักละทิ้ง ไม่ติดยึดกับสิ่งที่เรียนรู้มา (Unlearn) พร้อม ๆ กับเรียนรู้สิ่งที่รู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ในบริบทใหม่ (Relearn)

    รูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดังกล่าว จะไม่สามารถนำมาใช้กับเด็กและเยาวชนไทยได้เลย ตราบใดที่สังคมไทยและการศึกษาไทยยังมีอิทธิพลของอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมปกคลุมอยู่ทั่ว ผ่าน Governing Mentality ของการครอบงำทางความคิด ความเชื่อ การผูกขาดทางอุดมการณ์ชาติ ตลอดจนการควบคุมพฤติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เด็กและเยาวชนเชื่องอยู่กับคำสั่งและการบอกให้ทำตามที่สั่ง (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์)Governing Mentality ดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการเรียนรู้และการปลดปล่อยศักยภาพของเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21

    การสร้างคนตาม Governing Mentality ดังกล่าว จึงดูย้อนแย้งกับนโยบาย Thailand 4.0ต้องการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม หากเบ้าหลอมในระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างที่เป็นอยู่ เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะไม่มีทางเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ที่มีอิสระภาพและเสรีภาพ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายดังกล่าวได้

    การถูกระบบอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมครอบงำ ทำให้ระบบการศึกษาไทยล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์พลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ การศึกษาไทยไม่ได้หยิบยื่นให้ในสิ่งที่เยาวชนจำเป็นต้องมีหรือต้องการ กลับหยิบยื่นสิ่งที่เยาวชนไม่จำเป็นต้องมีหรือไม่ต้องการ ที่สำคัญอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ควบคู่กับวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยมได้ก่อให้เกิด “ความผิดเพี้ยนในระบบการศึกษาไทย” อย่างน้อย 7 ประการ 1) ยึดตัวผู้สอน มากกว่า ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) เน้นการสอน มากกว่า การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้โลกกว้าง 3) เน้นปรุงสำเร็จ มากกว่า การกระตุ้นต่อมให้ไปคิดต่อ ทำต่อ 4) เน้นการท่องจำทฤษฎี มากกว่า การลงมือปฏิบัติ 5) เน้นตามแบบแผน คิดในกรอบ มากกว่า ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ 6) เน้นการพึ่งพาคนอื่น มากกว่า การพึ่งพาตนเอง และ 7) เน้นการสร้างความเป็นตน มากกว่า การสร้างความเป็นคน

    ด้วยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความผิดเพี้ยนดังกล่าวได้ด้อยค่าศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทย แล้วยังสืบสานพฤติกรรมแบบ Anomic Individualism และหล่อหลอมกลายเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชาต่อไป แม้ว่าจะไม่สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

    ที่น่าเป็นห่วงคือ การเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กและเยาวชนทั้งในเชิงกายภาพ จิตใจ และสังคม เกิดเป็น “Lost Generation” หรือ “Lock-down Generation” กลายเป็นบาดแผลของสังคมที่ยังไม่มีใครเข้ามาเยียวยารักษาอย่างจริงจัง

    Benjamin Constant เคยกล่าวไว้ว่า “เสรีภาพทางการเมืองคือปัจจัยอันทรงพลังและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่สวรรค์ได้มอบให้กับพวกเราในการพัฒนาตนเอง การมีสิทธิเสรีภาพคือการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ที่ดีที่สุด” (ปราบดา หยุ่น) ดังนั้นปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยจึงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยน Governing Mentality และ Learning Platform เป็นสำคัญ หากสามารถสลัดให้หลุดออกจากเงาดำของระบบอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมได้ การยกเครื่องระบบการศึกษาส่วนที่เหลือเพื่อตอบโจทย์พลวัตโลกผ่านการปลูกฝัง Growth Mindset, Global Mindset และ Eco-centric Mindset ตลอดจนชุดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

    สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ

    รัฐที่น่าเชื่อถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปลี่ยนประเทศไทยจากสังคมจารีตและ Extractive Political Economy อย่างที่เป็นอยู่ ไปสู่สังคมสมัยใหม่และ Inclusive Political Economyอย่างที่ควรจะเป็น มีประเด็นคำถามอยู่มากมายในการสร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ

    คำถามที่ 1: รัฐไทยเป็น Good หรือ Bad Government

    เราสามารถแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ ประเทศที่ล้ำหน้า ประเทศที่ตามหลังประเทศที่กำลังล้มเหลว และประเทศที่ล้มเหลว หากเรามีรัฐบาลที่ดี ก็จะมีโอกาสนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศที่ล้ำหน้า” ไปสู่โลกที่พัฒนาแล้วในโลกหลังโควิด-19 ในทางกลับกันหากเรามีรัฐบาลที่เลว ก็มีโอกาสจะนำพาไปสู่ “ประเทศที่ล้มเหลว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 70 ท่าน ใน 2 ประเด็นคำถาม ในประเด็นคำถามแรก “ท่านคิดว่าไทยถูกจัดเป็นประเทศแบบใดในประชาคมโลก?” 61.4% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ตามหลัง” 21.4% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” 12.9% คิดว่าเป็น “ประเทศที่กำลังล้มเหลว” มีเพียง 4.3% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้ำหน้า”

    ในประเด็นคำถามที่สอง “ท่านคิดว่า รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่เป็น Good หรือ Bad Government?” 41.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่กลาง ๆ” 31.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างไม่ดี” 14.3% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างดี” 11.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ไม่ดี” มีเพียง 1.5% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ดี”

    คำถามที่ 2: ประเทศไทยมีความบกพร่องในสถาบันการเมืองหรือไม่

    องค์ประกอบในการขับเคลื่อนประเทศอยู่ที่สถาบันการเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักดังนี้ กลุ่มสถาบันที่คอยออกกฎ อาทิ รัฐสภากลุ่มสถาบันที่คอยนำกฎไปปฏิบัติ อาทิ รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม กลุ่มสถาบันที่คอยวินิจฉัยกฎ อาทิ ระบบยุติธรรม ระบบศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มสถาบันที่คอยบังคับใช้กฎอาทิ ตำรวจ หากทั้ง 4 กลุ่มสถาบันนี้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มีการถ่วงดุลอำนาจกัน มีอิสระ และมีเป้าหมายที่สอดรับกัน ก็จะนำพาประเทศไปสู่สังคมสมัยใหม่และ “Inclusive Political Economy” ในทางกลับกันหากสถาบันการเมืองบกพร่อง ก็จะยิ่งย้ำเตือนสังคมจารีตและโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ “Extractive Political Economy” ให้เข้มข้นมากขึ้น

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 62 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า ในภาพรวมสถาบันการเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างไร?” 45.2% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 37.1% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 12.9% คิดว่า “กลาง ๆ” มีเพียง 4.8% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์”

    คำถามที่ 3: มีประเด็นท้าทายความเป็นนิติรัฐในประเทศไทยหรือไม่

    ประเทศที่มีสถาบันการเมืองบกพร่อง มักจะนำมาซึ่งประเด็นท้าทายว่าด้วย “ความเป็นนิติรัฐ” อาทิ ยอมให้มีการเลือกตั้งเพื่อชุบตัวจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย ทหารเข้ามาแทรกแซงและแทรกซึมทางเศรษฐกิจและการเมือง การโกงการเลือกตั้งในหลายรูปแบบคณาธิปไตยระหว่างทหาร นายทุน และนักการเมือง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบ และกำจัดฝ่ายตรงข้าม การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การปฏิวัติรัฐประหาร โดยอ้างความชอบธรรมเชิงศีลธรรม หรือการร่างหรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

    ความเป็นนิติรัฐถือเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญของประเทศ ประเทศที่บกพร่องในความเป็นนิติรัฐ ย่อม ขาดความน่าเชื่อเชื่อ ระดับความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในประชาคมโลกก็จะมีค่อนข้างต่ำ

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า ในภาพรวมความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยเป็นอย่างไร?” 47.5% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 27.9% คิดว่า “กลาง ๆ” 16.4% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” มีเพียง 8.2% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์”

    คำถามที่ 4: ประเทศไทยควรจำกัดอำนาจรัฐหรือไม่

    เนื่องจากรัฐที่มีอำนาจที่มากเกินไป มีโอกาสจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Absolute power corrupts absolutely” ยิ่งรัฐมีอำนาจมาก โอกาสจะมีประเด็นปัญหาเรื่องนิติรัฐก็จะยิ่งสูง ดังนั้นเราต้องมาพิจารณากันว่า อำนาจของรัฐบาลควรจะมีมากน้อยเพียงใด เป็นรัฐแบบ “Unlimited Government” หรือ “Limited Government”

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า รัฐในปัจจุบันมีอำนาจมากหรือน้อยเพียงใด?” 52.5% คิดว่า “ค่อนข้างมาก” 26.2% คิดว่า “มากเกินไป” 9.8% คิดว่า “พอดี ๆ” มีเพียง 11.5% คิดว่า “ค่อนข้างน้อย” และ “น้อยเกินไป”

    คำถามที่ 5: รัฐบาลมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือไม่

    ในปัจจุบันแนวคิดว่าด้วย “ระบบราชการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” กำลังต่อสู้กับแนวคิด “ระบบราชการที่มีข้าราชการเป็นศูนย์กลาง” และแนวคิด “ระบบราชการที่มีนักการเมืองเป็นศูนย์กลาง” การจับมือกันเชิงผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและราชการยังเห็นกันอยู่ดาษดื่น แทนที่จะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

    “ภารกิจพื้นฐาน 3 ประการ” ที่รัฐพึงดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย 1) การลดทอนความเสี่ยงที่ประชาชนต้องเผชิญ อาทิ สุขภาพ การจ้างงาน และรายได้ ด้วยระบบประกันสังคมภาคบังคับ 2) การจัดหาบริการสาธารณะอย่างกว้างขวาง อาทิ การศึกษาขั้นพื้นฐาน/อาชีวะศึกษา/อุดมศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ การบริการขนส่งสาธารณะ กิจกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา และ 3) การจัดการกับผลกระทบเชิงลบจากภายนอก อาทิ การจัดการมลพิษ การควบคุมพฤติกรรมขจัดคู่แข่งขันในตลาด การจัดการกับความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ (Erik Olin Wright)

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ระบบราชการในปัจจุบันเป็นระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง 34.4% “ไม่เห็นด้วย” 29.5% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 21.3% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 11.5% “เฉย ๆ” มีเพียง 3.3% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

    คำถามที่ 6: รัฐบาลไทยสามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้มากน้อยเพียงใด

    การที่จะตอบโจทย์ VUCA World ได้นั้น รัฐต้องมีการจำกัดอำนาจส่วนกลาง พร้อม ๆ กับกระจายอำนาจไปยังพื้นที่และภาคส่วนอื่น ใช้การประสานร่วมมือแทนการควบคุมสั่งการ เน้นผลสัมฤทธิ์แทนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เห็นคุณค่าของความหลากหลายและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่สามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้?” 49.2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 23% “เฉย ๆ” 18% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” มีเพียง 9.8% “ค่อนข้างเห็นด้วย”

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ หรือ กระจายอำนาจ?” 52.5% คิดว่าเป็นรัฐที่ “ค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจ” 19.7% คิดว่า “รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มแข็ง” 14.8% คิดว่า “กลาง ๆ” 9.8% คิดว่า “ค่อนข้างกระจายอำนาจ” มีเพียง 3.2% คิดว่า “กระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง”

    จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารในภาครัฐและเอกชน จำนวน 61 ท่าน ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินและความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดีพอหรือไม่?” 50.8% คิดว่า “ต้องมีการปรับเปลี่ยน” 31.1% คิดว่า “ต้องทำการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่” 11.5% คิดว่า “กลาง ๆ” มีเพียง 6.6% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ” และ “มีความสมบูรณ์แบบ”

    ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

    ภายใต้โลกที่ไม่ใช่ใบเดิม เราต้องมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สามารถสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ครอบคลุมผู้คนทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเน้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ

    โมเดลเศรษฐกิจที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าว คือ BCG Economy Model ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่นำร่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ การพลิกโฉมระบบราชการ และการพัฒนากลไกร่วมบริหารจัดการไปพร้อม ๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการปรับเปลี่ยนใน 7 มิติ ดังต่อไปนี้ 1) จากภาครัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก เป็นภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเป็นผู้นำการลงทุน ภาครัฐทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน 2) จากการจัดสรรงบประมาณเน้นการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นการจัดสรรงบประมาณเน้นการลงทุนภาครัฐ 3) จากการจัดสรรงบประมาณรายปี เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง 4) จากการสนับสนุนทุนวิจัยรายโครงการ เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจร จากการวิจัย พัฒนาสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ 5) จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดโยงอุตสาหกรรมเดิม เป็นการสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ 6) จากการเติบโตด้วยการพึ่งพาจากภายนอก เป็นการเติบโตด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในและการเชื่อมโยงกับโลก และ 7) จากต่างคนต่างทำ เป็นเดินหน้าไปด้วยกัน ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ในรูปแบบร่วมบริหารจัดการ

    โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการนำจุดแข็งของประเทศไทย ทั้งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เป็นฐานของ BCG และนำมาสร้าง 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำคัญ BCG สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงมนุษย์ขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงที่ประชาคมโลกต้องกำลังเผชิญกับวิกฤตเชิงซ้อนโลก ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน ตลอดจนการมีรายได้และการมีงานทำ

    BCG เชิงพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรมที่กระจายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่นำศักยภาพและคุณค่าที่มีอยู่ออกมาแปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไล่ตั้งแต่ระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับชุมชน จะทำให้เกิด “BCG เชิงพื้นที่” (Area-based BCG) ที่ตอบโจทย์ “การเติบโตอย่างทั่วถึง” ดังนั้น BCG เชิงพื้นที่ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และเพิ่มโอกาส ในขณะเดียวกัน BCG ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ SMEs, Startups วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างและแบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกัน

    ในห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สังคมชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย จากการทำ “การเกษตรแบบดั้งเดิม” มาเป็น “ผู้ประกอบการชนบท”(อาทิ ผู้จัดการนา/ผู้ประกอบการนา ผู้ประกอบการไร่/สวน ผู้ประกอบการในฐานะผู้รับช่วงสัญญา ผู้ประกอบการค้าเร่ ตลอดจนผู้ประกอบการในตลาดรูปแบบใหม่) (อรรถจักร สัตยานุรักษ์) นโยบาย BCG เชิงพื้นที่จะพลิกโฉมผู้ประกอบการชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็น Informal Enterprise ให้เป็น “ผู้ประกอบการ BCG” ซึ่งเป็น Formal Enterprise

    BCG เชิงพื้นที่จะปรับโครงสร้างระบบทุนนิยมเดิมที่เป็น “ทุนนิยมตลาดเสรี” ที่เกิดผลข้างเคียงของ “รวยกระจุก จนกระจาย” ให้เป็น“ทุนนิยมชนบท” ที่จะนำไปสู่ “รวยกระจาย จนกระจุก” ในที่สุด BCG เชิงพื้นที่จึงเป็น “โมเดลเศรษฐกิจแบบสมานฉันท์” ที่ก่อให้เกิด“ประชาธิปไตยจากฐานราก” และรักษา “วัฒนธรรมชุมชน” ด้วย ในเวลาเดียวกัน (อรรถจักร สัตยานุรักษ์)

    มิเพียงเท่านั้น BCG ยังเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากระบบ “เศรษฐกิจเชิงเส้นตรง” เป็น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างประหยัด ลดการสูญเสีย และมีการใช้ประโยชน์จากของเสีย เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

    BCG จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า ความทั่วถึง และความยั่งยืน โดยมุ่งที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดับประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้งที่รุนแรง ไปพร้อม ๆ กัน

    จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 44 ท่าน ในประเด็นคำถาม “BCG จะเป็น Economy Model ที่จะสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ได้หรือไม่?” 47.7% ค่อนข้างเห็นด้วย 31.8% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 11.4% มีความเห็นกลาง ๆ มีเพียง 9.1% ค่อนข้างไม่เห็นด้วย

    ใช้ Soft Power เชื่อมไทยสู่โลก

    โลกจากนี้ไปเป็น VUCA World อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทุกประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤตชุดใหม่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม

    การเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลก ทำให้รูปแบบของการทำสงครามเปลี่ยนไป กลายเป็น “สงครามลูกผสม” ระหว่างสงครามทางเศรษฐกิจ สงครามการแข่งขันทางเทคโนโลยี สงครามการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงสงครามทางการทหาร ที่สำคัญจะเป็นสงครามที่ไม่มีการประกาศ ในบางครั้งอาจไม่ทราบว่าศัตรูคู่ต่อสู้เป็นใคร มีเป้าประสงค์อะไร และมีศักยภาพในการสู้รบมากน้อยเพียงใด ดังนั้นความมั่นคงของชาติจึงต้องถูกทบทวนและถูกนิยามขึ้นมาใหม่ในโลกหลังโควิด-19

    จิตสำนึกของความเป็นชาติ ซึ่งอาจเลือนหายไปบ้างในช่วงที่กระแสโลกาภิวัตน์มาแรง แต่ในโลกหลังโควิด-19 ซึ่งเกิด “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์” เกิด “โลกหลายขั้วอำนาจ” เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดกระแสกีดกันทางการค้าและการลงทุน “จิตสำนึกของความเป็นชาติ” จึงมีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

    มิเพียงเท่านั้น ในโลกหลังโควิด-19 ทุกประเทศต้องสร้างอำนาจต่อรอง ประเทศใหญ่อาจจะใช้ Hard Power เป็นหลัก ประเทศไทยเป็น Small-Open Economy ดังนั้นอำนาจต่อรองของเราจึงต้องมาจาก Soft Power

    สังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมฐานราก 4 วัฒนธรรม ผนวกรวมเข้าด้วยกัน คือวัฒนธรรมเกษตรดั้งเดิม วัฒนธรรมอินเดียวัฒนธรรมจีน และวัฒนธรรมตะวันตก (ลิขิต ธีรเวคิน) ซึ่งวัฒนธรรมฐานรากทั้ง 4 ได้สร้าง “คุณลักษณ์ความเป็นไทย” ที่นำมาสู่การรังสรรค์ในบริบทต่าง ๆ ประกอบไปด้วย “ความละเอียดพิถีพิถัน” รังสรรค์ผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์และสถาปัตยกรรม“ทักษะฝีมือเชิงช่าง” รังสรรค์ผ่านเครื่องเงินเครื่องทอง เครื่องไม้ เครื่องจักสาน “เปิดรับและประยุกต์” รังสรรค์ผ่านอาหาร วรรณกรรม ดนตรี และการแสดง “ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม” รังสรรค์ผ่านอาหาร เครื่องแต่งกาย และสมุนไพร “วิถีชีวิตเกษตร ใกล้ชิดธรรมชาติ” รังสรรค์ผ่านอาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ “ความเชื่อและศาสนา” รังสรรค์ผ่านประติมากรรม วรรณกรรม และพิธีกรรม “ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา” รังสรรค์ผ่านเทศกาล ประเพณี การละเล่น การแสดง และดนตรี “ความเป็นกันเอง มีน้ำใจ เคารพผู้ใหญ่” รังสรรค์ผ่านงานบริการ การดูแลสุขภาพ สปา โรงแรม และ “มองโลกในแง่บวก และสร้างสรรค์” รังสรรค์ผ่านงานโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และงานออกแบบ (เอกวิทย์ ณ ถลาง)

    ทั้ง 9 คุณลักษณ์สะท้อนความเป็นไทยที่โดดเด่น เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าในตัวมันเอง จึงเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งจาก “ระบบเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า” เป็น “ระบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า” ผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรม

    Soft Power ส่วนหนึ่งมาจากการผสมผสาน Place, People และ Product หากมีการผสมผสานได้อย่างลงตัว จะสามารถทำให้ไทยเป็นประเทศที่ผู้คนอยากมาอยู่ อยากมาเยือน อยากมาทำงาน อยากมาลงทุน ฯลฯ อาทิ

    – ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก
    – ประเทศไทยขึ้นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของโลกในการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2021(U.S. News & World Report)
    – ประเทศไทยติดอันดับ 2 รองจากประเทศโครเอเชียในการเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุนในปี 2020 (US News & World Report)
    – ประเทศไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่เหมาะในการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในปี 2020 (US News & World Report)
    – จากการจัดอันดับอาหารอร่อยของโลก รวม 50 อันดับ ปรากฏว่าอาหารไทยติดอันดับถึง 3 เมนูด้วยกัน และยังได้ครองแชมป์อาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ด้วยเมนูแกงมัสมั่น (อันดับที่ 1) ต้มยำกุ้ง (อันดับที่ 8) และส้มตำ (อันดับที่ 46) (CNN)
    – ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของเอเชียและอันดับที่ 11 ของโลกในกลุ่มประเทศที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ (International Living)
    – ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักเรียนสนใจไปเรียนต่อมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวซีแลนด์และสเปน (Educations.com, 2019)
    – ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 43 ของโลกในฐานะประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDSN, 2021)
    – การผลักดัน Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals (SEP for SDGs) ในเวทีสหประชาชาติ
    – การนำเสนอ BCG Economy Model เพื่อตอบโจทย์ Balance, Inclusive และ Sustainable Growth ในเวที APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

    ในโลกหลังโควิด-19 ความสามารถในการแปลงจิตสำนึกของความเป็นชาติออกมาเป็น“เกียรติภูมิของความเป็นชาติ” และ “Soft Power ของประเทศ” จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคง เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลกภายใต้พลวัตอย่างที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

    ต้องการรัฐที่ฉลาด กล้าหาญ เอาจริง และเป็นมิตรเคียงข้างประชาชน

    ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ กล่าวไว้ว่า “Once you have weaker people on top, the whole system slowly goes down. It’s inevitable” นั่นหมายถึงลีกวนยูยอมไม่ได้ที่จะให้มี “รัฐมนตรีกระจอก” มาบริหารประเทศ เพราะหากทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นการทรยศหักหลังประเทศ

    แน่นอนว่าทุกประเทศต้องการรัฐบาลที่ดีและเข้มแข็ง เป็นรัฐบาลที่มองไกล ใจกว้าง คิดเป็นทำเป็น เคารพความต่าง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยึดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญต้องฉลาด กล้าหาญ เอาจริง และเป็นมิตรเคียงข้างประชาชน เพื่อที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น “ประเทศที่ล้ำหน้า” ในที่สุด

    ถึงเวลาเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย

    มหาตมะ คานธี ได้กล่าวไว้ว่า “อดีตเป็นของเรา แต่เรามิใช่เป็นของอดีต เราเป็นของปัจจุบัน เราเป็นผู้สร้างอนาคต แต่เรามิใช่เจ้าของอนาคต” (The past belongs to us, but we do not belong to the past. We belong to the present. We are makers of the future, but we do not belong to the future.)

    พวกเราต้องอย่าทำตัวเป็น “คุณพ่อผู้รู้ดี” ความคิดและสิ่งดี ๆ ที่หยิบยื่นให้กับคนรุ่นใหม่ (For New Generation) อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเปิดพื้นที่ในการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ (With New Generation) รวมถึงการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมทำงานกันเอง (By New Generation) ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของ For New Generation, With New Generation และ By New Generation เท่านั้น ที่จะปลดปล่อยพลังและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ออกมา ผนึกกำลังกับคนทุกรุ่น ร่วมสร้าง “สังคมของพวกเรา” ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าร่วมกัน