ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ถึงเวลาคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน The Second Great Reform (ตอน 1)

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ถึงเวลาคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน The Second Great Reform (ตอน 1)

9 กรกฎาคม 2022


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

โลกหลังโควิด-19 เป็น “โลกที่ไม่ใช่ใบเดิม” ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤติต่าง ๆ มากมายหลายรูปแบบ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน และรุนแรง เป็น “การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างโลก” อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พวกเราต้องกลับมาทบทวนกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศใดที่มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ ก็ย่อมสามารถรับมือกับความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤติต่าง ๆ ได้ไม่ยาก และอาจสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้ ในทางกลับกันประเทศใดที่มีความอ่อนแอ มีความเปราะบาง ก็ย่อมไม่สามารถต้านทานความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤติดังกล่าว และอาจนำไปสู่การเป็นประเทศที่ล้มเหลว อย่างศรีลังกาและอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้

คำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับพลวัตโลกหลังโควิด-19 อย่างเพียงพอหรือไม่อย่างไร และภายใต้ “การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างโลก” ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “การปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ” หรือที่เรียกว่า “The Second Great Reform” หรือไม่อย่างไร และพลังการขับเคลื่อนครั้งนี้ควรมาจากการผนึกกำลังกันของ “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่”หรือไม่อย่างไร

ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังโควิด-19

โลกในปัจจุบันมีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อนต่าง ๆ มากมาย พวกเรากำลังเผชิญกับ “วิกฤติเชิงซ้อนโลก” (Global Compounded Crises) ที่สะท้อนให้เห็นผ่านการเผชิญกับโควิด-19 ความขัดแย้งทางภูมิเศรษฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติต่าง ๆ มากมาย ทั้งวิกฤติห่วงโซ่อุปทานโลก วิกฤติอาหารโลก วิกฤติพลังงานโลก วิกฤติเงินเฟ้อ วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤติการเงินโลก ในเวลาเดียวกัน

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิด “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์” (Deglobalization) มากขึ้น จากที่เราเคยคุ้นชินกับกระแสโลกาภิวัตน์(Globalization) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแนวคิดว่าด้วยการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก(Offshoring) กำลังค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยการลงทุนในลักษณะกลุ่มประเทศใครประเทศมัน(Friendshoring) และการกลับไปลงทุนในประเทศของตนเอง (Inshoring) มากขึ้น

ควบคู่ไปกับการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ยังเกิดการปรับเปลี่ยนจาก “โลกขั้วเดียว” (Unipolar World) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กลายเป็น “โลกหลายขั้ว” (Multipolar World) ทั้งในมิติของการเมืองและเศรษฐกิจโลก

โลกที่เคยถูกทำให้เชื่อใน “There Is No Alternative” นั่นคือทุกประเทศต้องคล้อยตาม 4 กระแสหลักคือ Globalization, Financialization, Neoliberalism และ Free-Market Capitalism กำลังถูกท้าทายด้วย “Another World is Possible”

นี่คือโลกใหม่ที่ไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป

เราอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างสนิท ที่ด้านหนึ่งของเหรียญเป็น “หนึ่งโลกหนึ่งประชาคมร่วม” (One World, One Community) และอีกด้านหนึ่งเป็น “หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม”(One World, One Destiny) ซึ่งหมายความว่าพวกเราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน หากสุขก็จะสุขด้วยกัน และหากทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน

ภายใต้หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม อารยธรรมมนุษย์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 5 ทิศทางคือ

    1) จาก Ego-Centric มาเป็น Eco-Centric Mindset
    2) จากการมุ่งสู่ความทันสมัย มาเป็นการมุ่งสู่ความยั่งยืน
    3) จากการที่เน้นการเจริญเติบโตทางวัตถุ มาเป็นการเน้นความเป็นมนุษย์
    4) การปรับสมดุลในการดำรงชีวิต การทำกิจกรรมและธุรกรรมทั้งใน “โลกจริง” และ “โลกเสมือนจริง”
    5) เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจที่ผู้คนจะมีอิสระมากขึ้น และเมื่อมีอิสระมากขึ้นก็ยิ่งต้องพึ่งพิงอิงอาศัยกันมากขึ้น

จากนี้ไปความเป็นปกติสุขของผู้คนในประชาคมโลกจะขึ้นอยู่กับความสามารถใน “การประสานร่วมมือ” เพื่อรับมือกับวิกฤติเชิงซ้อนโลก พร้อม ๆ กับการสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่ง ความมั่นคง ความเท่าเทียม และความยั่งยืน กล่าวคือเรายังต้องการความมั่งคั่งที่มั่นคง แต่เป็นความมั่งคั่งที่มั่นคงร่วมกันที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียม และตั้งอยู่บนฐานของความยั่งยืน

นี่คือพลวัตที่เกิดขึ้นภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก ที่จะนำมาซึ่งโอกาสและภัยคุกคามชุดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของเราปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้ คือปัจจัยภายใน คำถามคือประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามหรือโอกาสชุดใหม่ของโลกหรือไม่อย่างไร

ทำไมการปฏิรูปที่ผ่านมาไม่ประสบผล

การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในห้วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบผลเท่าที่ควร เนื่องจากเป็น “การปฏิรูปที่นำโดยภาครัฐ” ไม่ได้สร้าง “จิตวิญญาณและการมีส่วนร่วมปฏิรูป” ให้ภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เป็นความจริงที่ว่าถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ย่อมเกิดขึ้นยาก

มิเพียงเท่านั้น วาระการปฏิรูปส่วนใหญ่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เน้นประเด็นเล็ก ๆ เป็น Functional, Administrative หรือ Technical Reform แบบเบี้ยหัวแตก ติดกับดัก “Quick win” ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราจำเป็นต้องมี Structural Reform ในเรื่องใหญ่ ๆ อาทิ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมควบคู่ไปด้วยกัน

จากการสำรวจผู้บริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวน 46 ท่าน ในประเด็นคำถามที่ว่าด้วยการปฏิรูปในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประสบผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด 48% ตอบว่า ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างสิ้นเชิง 24% ตอบว่า ค่อนข้างไม่ประสบผลสำเร็จ อีก 26% ตอบว่า ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร มีเพียง 2% ที่ตอบว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ

การขับเคลื่อนการปฏิรูปในห้วง 8 ปีที่ผ่านมา จึงดูเหมือนเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” มากกว่า “การเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป” อย่างไรก็ดีพวกเราต้องไม่เหนื่อยหน่ายหรือเข็ดขยาดต่อการปฏิรูป ทั้งนี้เพราะอนาคตประเทศไทยขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนไม่ใช่ผูกขาดตัดตอนอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

รากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพลวัตโลกได้ มาจากการที่ประเทศไทยไม่เคยเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากภายนอก กล่าวคือ ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ไม่เคยมีการปฏิวัติแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยมาก ดังนั้นโครงสร้างระบบ และกรอบแนวคิดเก่า ๆ จึงไม่ถูกทำลาย ทำให้อิทธิพลของอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยมอำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมที่หยั่งลึกมานานยังคงดำรงอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบ ก่อให้เกิด “วัฒนธรรมแบบอ่อน” (Weak Culture) ซึ่งทำให้มีแรงเฉื่อยและแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ ที่เน้นเสรีภาพและความเสมอภาค การพัฒนาตนเองไปสู่ความก้าวหน้าในชีวิต กล้าที่จะเสนอความเห็น มีวินัยกับตนเอง มีความรับผิดชอบ การตระหนักในหน้าที่พลเมือง และมีจิตอาสาเป็นสำคัญ

  • อุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ได้หล่อหลอมให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมแบบ Anomic Individualism ที่มีความเป็นตัวใครตัวมันสูง ไม่ชอบถูกบังคับ ขาดระเบียบวินัย และขาดความรับผิดชอบ ผลที่ตามมาคือ ชอบเรียกร้องสิทธิมากกว่าตระหนักในหน้าที่ เน้นเรื่องที่ถูกใจมากกว่าถูกต้อง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ชอบชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ มูลค่ามากกว่าคุณค่า และคอนเนคชั่นมากกว่าเนื้องาน
  • อุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักตัดสินใจเลือก “เส้นทางลัด” หรือวิธีการที่ “มักง่าย” ทำให้เรื่องที่ “ผิดปกติ” กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” และกระทำลงไปโดยปราศจาก “ความรู้สึกผิด” อาทิ การทำปฏิวัติรัฐประหาร การใช้กำลังยุติความขัดแย้ง นักการเมืองโกงกินไม่เป็นไร ขอเพียงให้มีผลงานบ้าง เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ ไม่รักษาเวลา ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ ทิ้งงานโดยไม่มีเหตุผล
  • อุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ได้หล่อหลอมคนไทยโดยส่วนใหญ่ให้เป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา (Passive Citizen) มีความเฉื่อยต่อพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขปรับเปลี่ยน ก็ยากที่ประเทศไทยจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาคมโลกในศตวรรษที่ 21 ได้
  • ความเชื่อ คุณค่า และพฤติกรรมที่มาจากอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมดังกล่าว ยังได้นำพาประเทศไทยไปสู่ความผิดเพี้ยนมากมาย ทั้งความผิดเพี้ยนเชิงการเมือง ที่ก่อให้เกิดการเมืองที่มีผู้มีอำนาจแฝงครอบงำ และก่อให้เกิดระบอบธนาธิปไตยและอมาตยาธิปไตย แทนที่จะเป็นประชาธิปไตย ความผิดเพี้ยนเชิงบริหารราชการแผ่นดิน ที่การบริหารจัดการภาครัฐถูกแทรกแซง บิดเบือน ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและระบบคุณธรรม ความผิดเพี้ยนเชิงสังคม ที่ก่อให้เกิดความเป็นพวกใครพวกมันมากกว่าการคำนึงถึงส่วนรวมเกิดเป็น “สังคมขนมชั้น” ที่คนต่างกลุ่มต่างอยู่กันเป็นชั้น ๆ ไม่มีสายใยสังคมต่อกัน (อรรถจักร สัตยานุรักษ์) ความผิดเพี้ยนเชิงเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงประชานิยมความผิดเพี้ยนของผู้นำ ที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนผู้นำที่เป็นต้นแบบที่ดี มีแต่นักการเมืองที่คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอย่างอยู่ดาษดื่นและความผิดเพี้ยนเชิงสถาบัน ที่สถาบันการเมืองต่าง ๆ ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นอิสระ ถูกอิทธิพลจากผู้มีอำนาจแฝงครอบงำสั่งการ ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาสู่ “ความผิดเพี้ยนเชิงระบบ”

ปฐมบทของการปฏิรูปจึงต้องเริ่มจากการ “ยกเครื่องวัฒนธรรมครั้งใหญ่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัด ลดทอน และการปรับแต่งวัฒนธรรมว่าด้วยอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมให้สอดรับกับพลวัตโลกในศตวรรษที่ 21

ทำไมต้องมี The Second Great Reform

อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบเพียงครั้งเดียว คือ “The First Great Reform” ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นเป็นการปฏิรูปเพื่อมุ่งสู่ความทันสมัย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้ล้าหลัง เนื่องจากต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก แต่ในยุคปัจจุบันประเด็นท้าทายคือ การรับมือกับวิกฤติเชิงซ้อนโลก พร้อม ๆ กับการสร้างความมั่งคั่งที่มั่นคงบนฐานของความยั่งยืนและความเท่าเทียม

ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับ “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า”(Thailand’s Lost Decades) สะท้อนผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องรายได้ต่อหัวที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ความขัดแย้งที่รุนแรงและเรื้อรัง รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศที่ถดถอย

แน่นอนว่าทุกประเทศต้องการที่จะไปสู่ “ประเทศที่ล้ำหน้า” แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียง “ประเทศที่ตามหลัง” และมีแนวโน้มที่จะไปสู่ “ประเทศที่กำลังล้มเหลว”ซึ่งถ้าหากว่าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ภายใต้วิกฤตเชิงซ้อนโลกประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว”

จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 ท่าน ในประเด็นที่ว่า “ท่านคิดว่าอนาคตประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?” 52% คิดว่า “ไม่ต่างจากปัจจุบัน” 25% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างมืดมน” 6% คิดว่าเป็น “อนาคตที่มืดมน” ในขณะที่ 17% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างสดใส”

วงจรอุบาทว์เชิงซ้อน

สิ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังทศวรรษแห่งความสูญเปล่าอันยาวนานคือ “วงจรอุบาทว์เชิงซ้อน” ที่มีอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมครอบงำอยู่เบื้องหลัง

เริ่มต้นจากวงจรอุบาทว์แรก เกิดจากการที่ประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยเทียม” ทำให้เกิดการ “ประท้วงต่อต้าน” และนำไปสู่การ “ปฏิวัติรัฐประหาร” และกลับกลายมาเป็นประชาธิปไตยเทียม ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2490 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ 2 เนื่องจากรัฐในประชาธิปไตยเทียม ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายประชานิยมที่มุ่งหวังจะชนะการเลือกตั้ง และสุดท้ายก็วนกลับมาทำให้เกิดประชาธิปไตยเทียม

พร้อม ๆ กันนั้นก็เกิดวงจรอุบาทว์ที่ 3 เนื่องจากประชานิยมทำให้เกิดการพึ่งพิงรัฐที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันการสร้างสังคมแห่งโอกาส และการเติมเต็มศักยภาพในทุนมนุษย์มีน้อยลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำและความยากจนยิ่งมากขึ้น ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความยากจนขัดสน ประชาชนจะสนใจแค่ปัญหาปากท้องและปัญหาที่ใกล้ตัว ซึ่งทำให้ง่วนอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสุดท้ายก็ต้องกลับไปพึ่งประชานิยม

นำมาสู่วงจรอุบาทว์ที่ 4 คือเมื่อการพึ่งพิงของประชาชนมากขึ้น ก็จะยิ่งไปส่งเสริมระบบอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ส่งผลให้เกิดการผูกขาดอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจ และเกิดการเอารัดเอาเปรียบและกีดกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งนำมาสู่การพึ่งพิงรัฐมากยิ่งขึ้น

การผูกขาดอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจดังกล่าว จะไปครอบงำระบบราชการ กลายเป็นระบบราชการที่เอื้อทุนนิยมพวกพ้อง ธนาธิปไตย และอมาตยาธิปไตย ซึ่งส่งผลให้ระบบอุปถัมภ์นิยม จารีตนิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยมเข้มยิ่งขึ้น กลายมาเป็นวงจรอุบาทว์ที่ 5

ภายใต้การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างโลก ประเทศไทยปรับเปลี่ยนตัวเองช้ามากจนเสมือนหนึ่งไม่ได้ปรับเปลี่ยน เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบยังต้องง่วนอยู่กับปัญหาปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้ากลายเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา ทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลง

ผิดกับเยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องอยู่กับปัจจุบันและเชื่อมต่อกับอนาคต ความไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพลวัตโลกส่งผลกระทบเชิงลบต่อพวกเขาโดยตรง ดังนั้นเยาวชนคนหนุ่มสาวจึงเป็นกลุ่มหลักที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ มี “แรงปรารถนา” อย่างแรงกล้าที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นในประเทศนี้

Extractive Political Economy

วงจรอุบาทว์เชิงซ้อนทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยเป็นแบบ “Extractive Political Economy” ซึ่งมีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง รวมถึงอุดมการณ์หลักของชาติ มีการเอารัดเอาเปรียบ การกีดกันอย่างเป็นระบบ สะท้อนผ่านการมีระบอบประชาธิปไตยเทียม ระบบทุนนิยมพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงประชานิยม ซึ่งตรงกันข้ามกับ “Inclusive Political Economy” ที่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจ โอกาส และความมั่งคั่ง สะท้อนผ่านการมีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบทุนนิยมแบบมีส่วนร่วม ระบบเศรษฐกิจที่สมานฉันท์และสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน

โครงสร้างอำนาจภายใต้ Extractive Political Economy เป็นโครงสร้างตามลำดับขั้นแบบรวมศูนย์ มี “ความย้อนแย้งเชิงอำนาจ” ระหว่างอำนาจที่แท้จริงและอำนาจทางการ ที่ประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง โดยมีผู้ปกครองคือรัฐ ทั้งที่จริงแล้วรัฐต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน ในสังคมไทยจึงมีปรากฏการณ์ที่สะท้อนความย้อนแย้งระหว่างอำนาจที่ควรจะเป็นเชิงนิตินัยกับอำนาจที่มีอยู่จริงเชิงพฤตินัยอยู่เต็มไปหมด

นอกเหนือจากความย้อนแย้งเชิงอำนาจ ยังเกิด “ความย้อนแย้งเชิงวัฒนธรรม” ฝังตัวอยู่ใน Extractive Political Economy เป็นความย้อนแย้งระหว่าง “ความเป็นไทยในอุดมคติ” ที่มองว่าทุกคนจะเท่าเทียมกันกับ “ความเป็นไทยในความเป็นจริง” ระหว่างผู้ที่อยู่สูงกว่ากับผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นความเป็นไทยที่ไม่เท่าเทียม

Extractive Political Economy ได้ก่อให้เกิด “ความบกพร่องในระบบธรรมาภิบาล” ทำให้สังคมไทยถูกมองว่าเป็นสังคมที่ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ (ไม่ Clean & Clear) เป็นสังคมที่ไม่เท่าเทียมและยุติธรรม(ไม่ Free & Fair) และเป็นสังคมที่ไม่เกื้อกูลและแบ่งปัน (ไม่ Care & Share) มีการดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจแนวตั้งอย่างเข้มข้น มีความย้อนแย้งเชิงอำนาจและเชิงวัฒนธรรม ขาด “รัฐบาลที่น่าเชื่อถือ” และที่สำคัญ Extractive Political Economy ทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วย “พลเมืองที่เฉื่อยชา”

จากการสำรวจความเห็นในกลุ่มผู้บริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 ท่าน ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย อาทิ

– “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Politics”
40% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 36% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 22% “กลางๆ” มีเพียง 2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย”

– “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Economy”
50% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 28% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 17% “กลางๆ” มีเพียง 2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” และ 2% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

– “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Clean & Clear Society”
53% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 36% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 6% “กลางๆ” และ 4% “ค่อนข้างเห็นด้วย”

– “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Free & Fair Society”
59% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 34% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 7% “กลางๆ”

– “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Care & Share Society”
35% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 33% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 26% “กลางๆ” 5% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 2% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

Extractive Political Economy ได้ค่อย ๆ ลดทอนสายใยทางสังคม ศีลธรรม และคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง พร้อม ๆ กับการถ่างขึ้นของความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ยากของผู้คนที่พ่ายแพ้ในการแข่งขัน (เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบ)ความแปลกแยก ความตึงเครียด และความขัดแย้งของผู้คนในสังคม

ภายใต้ Extractive Political Economy สังคมไทยกำลังจะ “ส่งต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำ” จากรุ่นสู่รุ่น แทนที่จะ “ส่งต่อความมั่งคั่งและความเท่าเทียม”

Extractive Political Economy จึงเป็นอุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถตระเตรียมคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็น “อนาคตของชาติ” ให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” ได้ จึงเป็นเหตุผลไม่เพียงแค่ว่า ทำไมจึงต้องมี The Second Great Reform แต่จะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เป็นกำลังร่วมในการขับเคลื่อน The Second Great Reform ด้วย

อ่านต่อตอนที่ 2 “5 วาระขับเคลื่อนThe Second Great Reform”