ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

7 พฤษภาคม 2022


สุวิทย์ เมษินทรีย์

ปัจจุบันพวกเราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน มีความไม่แน่นอน มีภัยคุกคามร่วมต่าง ๆ มากมาย หรือเรียกได้ว่าเป็น “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” นั่นหมายความว่า ในยามสุขทุกคนจะสุขด้วยกัน และในยามทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ซึ่งสามารถเห็นได้จากวิกฤตต่าง ๆ เช่น โควิด-19 และที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่ ณ ปัจจุบัน เรียกว่าเป็น “Climate Disaster” กระแสของวิกฤติต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความเหลื่อมล้ำ และวิกฤตเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ “ส่งผลกระทบที่ไม่เท่ากันระหว่างคนได้โอกาสและคนด้อยโอกาส” ด้วยเหตุนี้ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงเน้นในเรื่องของระบบสุขภาพที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความเป็นธรรม” หมายถึงทุกคนต้องได้รับในลักษณะที่ครอบคลุม ทั่วถึง มีคุณภาพเท่าๆ กัน และในขณะเดียวกันต้องมีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากนี้ ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ยังมุ่งตอบโจทย์ความมั่นคงของมนุษย์ สะท้อนผ่านการมีสุขภาวะที่ดี ที่ไม่ใช่เพียงแค่ “สุขภาวะส่วนบุคคล” (Individual Wellbeing) แต่ครอบคลุม “สุขภาวะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น” (Collective Wellbeing) เห็นได้จากวิกฤติโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าเรามีสุขภาวะที่ดีคนเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมีสุขภาวะที่ดีร่วมกับคนทั้งโลก รวมถึงการมี “สุขภาวะที่ดีร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (Planetary Wellbeing) ด้วย

ดังนั้น ในธรรมนูญฯ ฉบับนี้ แนวคิดว่าด้วยสุขภาวะจึงมีการขยายออกไป โดยจะไม่ได้เน้นเฉพาะสุขภาพจิตและสุขภาพใจส่วนบุคคล แต่เน้นสุขภาวะร่วมกันระหว่างมนุษย์-มนุษย์ และมนุษย์-ธรรมชาติ หากทำได้สำเร็จ จะสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนและความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริง

สำหรับธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ถือเป็นกรอบแนวคิด เป็นตัวกำหนดทิศทางในเรื่องของสุขภาวะและระบบสุขภาพของประเทศ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ต้องสอดรับกับกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศจะต้องมองเป็นองค์รวมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนและความเท่าเทียม ซึ่งเฟืองตัวสำคัญ คือ “ระบบสุขภาพ” ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่พึ่งพาภาครัฐอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนจะต้องมาช่วยกันพัฒนา คิดค้น ออกแบบรูปแบบของโครงสร้างและเครือข่าย ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถของระบบสุขภาพในองค์รวม ที่ไม่ใช่แค่เพียงมิติทางด้านการแพทย์ แต่ครอบคลุมไปถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และปัญญามนุษย์ด้วย ดังนั้นหลักการของธรรมนูญฯ จะเป็นตัวชี้นำทิศทางยุทธศาสตร์และนโยบายระบบสุขภาพของประเทศของเราที่สอดรับกับประชาคมโลก

ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ส่วนหนึ่งจะต้องสะท้อนผ่านความเท่าเทียม แต่มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยธรรมชาติย่อมมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในตัว ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อตอบโจทย์ความเป็นธรรม คือ “ต้องให้แต้มต่อกับคนที่ด้อยโอกาสกว่า หรือคนที่เสียเปรียบกว่า” ทุกคนควรได้รับการเข้าถึง การให้บริการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

และหากจะไปสู่แนวคิดที่ว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้นั้น ต้องยอมรับในความหลากหลาย (Diversity) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ พื้นที่ ข้อจำกัด หรือโอกาสของแต่ละคนที่แตกต่างกัน รวมถึงต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง (Inclusion/Inclusiveness) ระบบสุขภาพที่มีความเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น

ในขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำให้ระบบเกิดความเป็นธรรมนั้น ต้นทุนจะต้องสมเหตุสมผล สอดรับกับข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ หรือขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศเป็นสำคัญ โดยจะต้องแปลงหลักคิดไปสู่การปฏิบัติบนข้อจำกัดและงบประมาณที่มีอยู่

นอกจากนี้ ระบบสุขภาพนั้นยังมีความเกี่ยวพันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติทั้ง 17 เป้าหมาย หากมองเป็นองค์รวมจะสามารถแบ่งได้เป็น 2×2 มิติ คือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Perspective) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน (Humanitarian Perspective) การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) และการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution)

โดยหัวใจสำคัญที่จะร้อยเรียงแต่ละมิติเข้าด้วยกัน คือ “ระบบสุขภาพที่ดี” ที่ต้องมีสุขภาวะที่ดีของปัจเจกบุคคล (Individual Wellbeing) ไปพร้อม ๆ กับต้องมีสุขภาวะที่ดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Collective Wellbeing) และในขณะเดียวกันต้องมีสุขภาวะที่ดีร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planetary Wellbeing) ซึ่งเมื่อมองหลอมรวมเป็นระบบสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellbeing) มันก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากคำกล่าวของดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565