ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นจะกลับมาเป็น Japan As Number One เมื่อกลายมาเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ

ญี่ปุ่นจะกลับมาเป็น Japan As Number One เมื่อกลายมาเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ

31 ตุลาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

คนที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นมาแล้วรู้ดีว่า คนญี่ปุ่นไม่ใช่จะเก่งกาจไปทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการพูดสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าตามหลักสูตรในโรงเรียนนักเรียนญี่ปุ่นจะได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นเวลาถึง 6 ปี แต่นักเรียนก็พูดอังกฤษแทบไม่ได้เลย คนต่างชาติที่เคยไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นมักจะพูดว่า เหตุผลสำคัญที่คนญี่ปุ่นพูดอังกฤษไม่ได้ เพราะการสอนภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นเป็นการเรียนภาษาแบบไวยากรณ์

โตเกียวเป็นเมืองที่นักธุรกิจต่างชาติสนใจจะย้ายมาตั้งรกราก เพราะมีความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ระบบขนส่งสาธารณะดีเลิศ มีเที่ยวบินมากมายที่เชื่อมไปยังเมืองต่างๆ ในเอเชีย และระบบการศึกษาก็ดีเยี่ยม แต่ในแง่การเป็นที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ โตเกียวเป็นรองฮ่องกงและสิงคโปร์ ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นเมืองที่พูดภาษาอังกฤษ นักธุรกิจต่างชาติและครอบครัวสามารถปรับตัวง่ายกับสภาพท้องถิ่น แต่โตเกียวขาดในสิ่งนี้

Japan Restored หนังสือที่เสนอมาตรการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ที่มาภาพ: https://images-na.ssl-images-amazon.com/images/I/
51g20a3zaEL._SY346_.jpg

ในปี 1979 หนังสือชื่อ Japan as Number One ของ Ezra Vogel ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กลายเป็นหนังสือขายดีที่มีการกล่าวขวัญกันมากที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะพยากรณ์ว่า ญี่ปุ่นกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยจะก้าวล้ำหน้าสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2015 Clyde Prestowitz อดีตเจ้าหน้าที่ผู้แทนการค้า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ทำหน้าที่สานต่อ Ezra Vogel โดยเขียนหนังสือออกมาชื่อ Japan Restored: How Japan Can Reinvent Itself and Why This Is Important for America and the World

Prestowitz เขียนหนังสือ Japan Restored ในเชิงจินตนาการ โดยเสนอวิสัยทัศน์ปี 2050 สำหรับญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้วกลับมาเป็นประเทศหมายเลข 1 อีกครั้งหนึ่ง นับจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นก็ถดถอยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อการปฏิรูป ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอการปฏิรูป เพื่อให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากข้อเสนอด้านต่างๆ เช่น นวัตกรรม องค์กรธุรกิจ และบทบาทสตรี คณะกรรมาธิการนี้ยังมีข้อเสนอสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ

ความสำคัญของภาษาอังกฤษ

Prestowitz เรียกคณะกรรมการปฏิรูปนี้ว่า “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อการฟื้นฟูแห่งชาติ” (Extraordinary National Revitalization Commission) ที่ประกอบด้วยผู้นำจากบริษัทธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น คณะกรรมาธิการนี้เห็นว่า การสร้างความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญของญี่ปุ่น เมื่อปี 2010 เกิดข่าวที่ฮือฮามาก เมื่อ Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ประกาศว่า ในปี 2012 ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาทางการของบริษัท บริษัท Shiseido ก็ประกาศเช่นกันว่า นับจากตุลาคม 2018 อังกฤษจะเป็นภาษาทางการของ Shiseido เช่น ข้อเขียนภายในองค์กรและการประชุม จะใช้ภาษาอังกฤษ

ผู้นำธุรกิจญี่ปุ่นในคณะกรรมาธิการนี้กล่าวว่า การปรับปรุงการเรียนภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยอ้างถึงผลการศึกษาของ EF (Education First) องค์กรนานาชาติด้านการฝึกอบรมภาษา ที่กล่าวว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษกับการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของประเทศมีความเกี่ยวพันกันสูง ทักษะด้านภาษาอังกฤษช่วยเพิ่มการสร้างนวัตกรรม การสื่อสารกับซัพพลายเออร์กับลูกค้าสะดวกขึ้น ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการส่งออกให้ดีขึ้น ประเทศและพลเมืองที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษสูงขึ้น เศรษฐกิจจะเติบโตเพิ่มขึ้น ประชาชนจะมีมาตรฐานชีวิตสูงขึ้น แม้ภาษาของเอเชียและอังกฤษจะไม่คล้ายคลึงกันเลย แต่ระบบการศึกษาของบางประเทศในเอเชียก็สามารถสร้างนักเรียนให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

รายงานของ EF กล่าวว่า ในปี 2014 ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 26 ในบรรดาประเทศทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีกว่าฝรั่งเศส (29) และจีน (37) แต่ผู้นำธุรกิจญี่ปุ่นเห็นว่า จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และอีกหลายประเทศ ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้การจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษดีขึ้น แต่ญี่ปุ่นไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลยที่จะปรับปรุงในเรื่องนี้ ประเทศที่ขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษจะมีต้นทุนสูงมาก เช่น มีความยากลำบากในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีความเข้าใจน้อยลงในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีของโลก ขาดการรับรู้ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยรวมก็ลดน้อยลง

สิ่งที่สมาชิกคณะกรรมธิการที่เป็นนักธุรกิจให้ความสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการกระตุ้นทางความคิด การถกเถียง การแก้ไขปัญหา และการเกิดความคิดใหม่ๆ ที่ได้มาจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (socializing) ภาษาญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากความคิดของขงจื๊อ เวลาถกเถียงระหว่างคนที่มีฐานะต่างกันทางสังคมจึงต้องแสดงออกถึงความสุภาพและการให้เกียรติ ภาษาญี่ปุ่นมีบทบาทการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางสังคม แต่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเสรี ภาษาอังกฤษจึงเอื้ออำนวยต่อสิ่งนี้มากกว่า เพราะมีลักษณะเสมอภาคและมุ่งให้เกิดผลทางปฏิบัติ

ที่มาภาพ: http://gaijingojapan.com/use-of-english-in-japanese-signs-and-store-names/english-signs-japan/

ปัญหาอุปสรรคของญี่ปุ่น

การหาทางปรับปรุงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีความพยายามในเรื่องนี้มาตลอด การเรียนภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นมีปัญหาอุปสรรคสำคัญอยู่ 2 ประการ

ประการแรก การเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเน้นเรื่องไวยากรณ์ การอ่าน และการแปลข้อความ มากกว่าการพูด การฟัง การเข้าใจ และการสื่อสาร ประเด็นสำคัญคือ เป็นการเรียนภาษาเพื่อสอบผ่านข้อเขียนในการเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษในรูปของวิธีการสื่อสาร

ปัญหาประการที่ 2 ทำให้ปัญหาแรกหนักหน่วงขึ้นไปอีก ครูสอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ในโรงเรียนของญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คือ อ่านหรือแปลภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่เข้าใจภาษาพูดและการโต้ตอบ เพราะเหตุนี้ การสอนและการอธิบายภาษาอังกฤษในชั้นเรียน จึงใช้ภาษาญี่ปุ่น ทุกครั้งที่มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาอังกฤษ บรรดาครูพวกนี้ก็จะต่อต้าน ในปี 2009 กระทรวงศึกษาของญี่ปุ่นเคยสำรวจครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมทั้งหมด 29,524 คน มีครูเพียง 201 คน ที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ไม่ใช่ภาษาที่ 2

คณะกรรมาธิการนี้ยังได้ส่งคณะทำงานไปต่างประเทศเพื่อค้นหาว่า ประเทศอื่นๆ ดำเนินการอย่างไรในเรื่องการปรับปรุงทักษะความสามารถของการใช้ภาษาอังกฤษ คณะทำงานนี้พบว่า ประเทศที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วสูงสุด ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ โปแลนด์ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ทั้งหมดเป็นประเทศเล็ก ยกเว้นโปแลนด์ ประเทศทั้งหมด ยกเว้นฟินแลนด์ สามารถพูดภาษาเยอรมัน ที่มีลักษณะคล้ายกับภาษาอังกฤษ

ประเทศเหล่านี้ล้วนดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการมีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่สูง ครูสอนอังกฤษพูดภาษานี้ได้คล่อง การสอนภาษาอังกฤษเริ่มจริงจังในโรงเรียนมัธยมต้นและปลาย ชั้นเรียนภาษาสอนเป็นภาษาอังกฤษ เน้นในเรื่องทักษะความสามารถด้านการสื่อสาร เมื่อนักเรียนจบมัธยมปลาย ก็มีทักษะภาษาอังกฤษในด้านการอ่าน เขียน แปล พูด และฟังภาษาพูด

คณะทำงานค้นพบว่า ที่สำคัญกว่าการเรียนในห้องเรียนคือ เยาวชนในประเทศเหล่านี้ได้สัมผัสกับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ในเนเธอร์แลนด์และประเทศสแกนดิเนเวีย ภาพยนตร์ที่พูดภาษาอังกฤษและออกฉายทางโทรทัศน์จะออกอากาศเป็นภาษาเดิม แต่มีคำบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่น ทำให้เยาวชนเหมือนกับอยู่ในห้องเรียนภาษาตลอด 24 ชั่วโมง เกมคอมพิวเตอร์ ดนตรีตะวันตก อินเทอร์เน็ต และการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ล้วนทำให้เยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อม 2 ภาษา

คณะกรรมาธิการนี้ยังสนใจกรณีของสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ประเทศในเอเชียที่ภาษาท้องถิ่นไม่ได้คล้ายกับภาษาอังกฤษเลย แต่ทั้ง 3 ประเทศเคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ทั้ง 3 ประเทศสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เพราะกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เอกสารราชการจะเป็นภาษาอังกฤษ และอังกฤษยังเป็นภาษาทางธุรกิจ

ที่มาภาพ: https://i.ytimg.com/vi/PkGRy31GawE/maxresdefault.jpg

คณะกรรมาธิการยังให้ความสนใจต่อวิธีการเรียนภาษาอังกฤษในเกาหลีใต้ ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ นับจากทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ทุ่มเทให้กับการศึกษา จนปัจจุบัน 70% ของนักเรียนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ที่มีอัตรามากกว่าประเทศใดในโลก เกาหลีใต้ถือว่า การเรียนภาษาอังกฤษเป็นกุญแจสำคัญต่อการแข่งขันทางธุรกิจในโลก โดยส่งนักเรียนไปศึกษาในต่างประเทศ ในปี 2013 มีจำนวน 250,000 คน ส่วนพ่อแม่ก็นิยมส่งลูกไปเรียนภาษาอังกฤษในช่วงสั้นๆ ที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรืออเมริกา

สมาชิกคณะกรรมาธิการชุดนี้คนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ให้ข้อสังเกตว่า เพราะการให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ทำให้ธุรกิจของเกาหลีใต้สามารถติดต่อสัมพันธ์กับคนต่างชาติได้ดีกว่าญี่ปุ่น และบริษัทเกาหลีใต้สามารถดึงคนต่างชาติมาทำงานได้ดีกว่าบริษัทญี่ปุ่น ซัมซุงจึงเป็นบริษัทที่พร้อมดึงวิศวกรและผู้บริหารชาวอเมริกันมาร่วมงานในเกาหลีใต้ ส่วนบริษัทชั้นนำญี่ปุ่น เช่น โซนี โตชิบา หรือนิสสัน ลำบากมากขึ้นที่จะแข่งกับบริษัทเกาหลีใต้

สิ่งที่ญี่ปุ่นจะต้องทำ

การศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ทำให้ได้ข้อเสนอแนะมาตรการหลายประการ เพื่อให้ภายในกลางศตวรรษที่ 21 ญี่ปุ่นสามารถบรรลุเป้าหมาย กลายเป็นประเทศที่พูดอังกฤษได้คล่องเท่ากับเยอรมนี ที่เลือกเยอรมนีเพราะเป็นประเทศใหญ่และเจริญก้าวหน้าเหมือนญี่ปุ่น มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่ดี ที่ญี่ปุ่นสามารถจะพัฒนาทักษะให้สูงได้ใกล้เคียงกับเยอรมนี

มาตรการแรก คือ ครูสอนภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นจะต้องสอบ TOEIC หรือ TOEFL คนที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ต้องเกษียณออกจากงาน หรือไม่ก็ต้องเข้ารับการอบรมและสอบให้ผ่านใน 1 ปี หาทางดึงคนญี่ปุ่นที่ศึกษาในประเทศที่พูดอังกฤษ กลับมาเป็นครูชดเชยคนเกษียณ พยายามดึงครูสอนภาษาอังกฤษจากประเทศที่พูดอังกฤษมา ทำให้โรงเรียนและนักเรียนเข้าถึงการเรียนภาษาออนไลน์ ให้ทุนนักเรียนมัธยมปลายไปศึกษา 1 ปีในต่างประเทศ และนักเรียนที่จะจบมัธยมปลาย ต้องสอบผ่าน TOEIC เป็นต้น

ในส่วนของธุรกิจ ผลักดันให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน กำหนดเป็นแผน 5 ปี ที่จะทำให้อังกฤษเป็นภาษาทางการขององค์กร เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้บริษัทดังกล่าวให้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อสื่อสารกันและกันในแต่ละวัน และการมีทักษะภาษาอังกฤษเป็นข้อกำหนดการรับเข้าทำงานของหน่วยงานรัฐบาล

แต่ข้อเสนอที่เป็นการปฏิวัติมากสุดของคณะกรรมาธิการ คือ การเลียนแบบเนเธอร์แลนด์และสแกนดิเนเวีย รายการโทรทัศน์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นจะมีซับไตเติลบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนรายการโทรทัศน์ที่พูดภาษาอังกฤษ จะมีซับไตเติลบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่น วิธีการนี้จะทำให้คนญี่ปุ่นได้ดูดซับภาษาอังกฤษได้ง่ายที่สุด

แม้ข้อเสนอให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศใช้ภาษาอังกฤษของ Prestowitz ในหนังสือ Japan Restored จะเป็นความคิดปฏิรูปเชิงจินตนาการ เพื่อให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง แต่หลายๆ ประเทศที่ต้องการปรับปรุงทักษะด้านภาษาอังกฤษก็สามารถนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน

เอกสารประกอบ
Clyde Prestowitz. Japan Restored: How Japan Can Reinvent Itself and Why This Is Important for America and the World, Tuttle Publishing, 2015.