รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม เว็บไซด์ Nikkei.com รายงานในบทความชื่อVietnam’s economy gains as companies flee China in trade war ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงขึ้น เพราะบริษัทหลายแห่งหาทางเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยย้ายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามายังเวียดนาม ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เศรษฐกิจเติบโต 6.7% แม้จะยังต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2018 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 7.4%
การส่งออกของเวียดนามในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.7% แต่การส่งออกไปสหรัฐฯกลับพุ่งขึ้น 26% สินค้าที่ส่งออกได้ดีคือสิ่งทอ เพราะบริษัทสิ่งทอย้ายจากจีนเข้ามา Mizuho Research Institute คาดหมายว่า เฉพาะสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน เป็นปัจจัยที่จะมีส่วนทำให้การผลิตของเวียดนาม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.5% นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของสถาบันนี้กล่าวว่า การย้ายการผลิตจากจีน จะยังคงเกิดขึ้นต่ออย่างเนื่อง เป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
บทความ Nikkei.com กล่าวว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม มาจากการผลิตของบริษัทต่างชาติ โดยมีสัดส่วนเป็นการส่งออกของซัมซุงถึง 40% เพราะซัมซุงมีโรงงานประกอบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 2 แห่งในเวียดนามเหนือ แต่ในไตรมาสแรก การส่งออกสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของซัมซุงลดลง 4.3% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม
“Made in Vietnam”
ก่อนหน้านี้ Nikkei.com ก็มีรายงานเรื่อง บริษัทของเวียดนามกำลังยกระดับการผลิตขึ้นสู่ระดับใหม่ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เวียดนามเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบการผลิต (manufacturing powerhouse) ภายในปี 2020 อย่างเช่น Vingroup บริษัทเอกชนรายใหญ่สุดของเวียดนาม เริ่มผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Klara และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ในเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะผลิตรภยนต์ออกสู่ตลาด
รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้ายี่ห้อ Klara ออกแบบเหมือนกับรถมอเตอร์ไซด์ Vespa ของอิตาลี ใช้แบตเตอรี่ของบริษัท Bosch ที่ชาร์จไฟฟ้าครั้งหนึ่ง สามารถเดินทางได้ 80 กิโลเมตร ความร่วมมือกับบริษัท BMW, Robert Bosch และ Siemens ทำให้กลุ่ม Vingroup สามารถผลิตรถมอเตอร์ไซด์ Klara ออกสู่ตลาดได้ภายใน 1 ปี หลังจากประกาศว่า มีโครงการที่จะผลิตรถมอเตอร์ไซด์ใช้ไฟฟ้า
ผลิตภัณฑ์ “ทำในเวียดนาม” อย่างเช่น รถมอเตอร์ไซด์ Klara และสินค้าอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ยังต้องอาศัยชิ้นส่วน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งรถยนต์นั่งของ Vingroup ที่จะผลิตออกมาในเดือนมิถุนายนนี้ ก็อาศัยการออกแบบจากบริษัทของอิตาลี และเทคโนโลยีจากเยอรมัน ชิ้นส่วนรถยนต์ล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะเวียดนามขาดห่วงโซ่ซับพลายเออร์ด้านรถยนต์
โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ผลิตในเวียดนามยี่ห้อ Bphone เปิดตลาดครั้งแรกในปี 2015 โดยบริษัทซอฟต์แวร์ Bkav ก็อาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จอภาพมาจากบริษัทชาร์ป และตัวชิปจาก Qualcomm ในเดือนตุลาคมนี้ Bkav รุ่นที่ 3 จะออกสู่ตลาด ส่วน Vingroup จะวางตลาดสมาร์ทโฟน โดยอาศัยเทคโนโลยีจากผู้ผลิตของสเปน และ Google
มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ
ความสำเร็จของเวียดนามกำลังกลายเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเทศ ที่เกิดความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ในบทความของ World Economic Forum เรื่อง The story of Viet Nam’s economic miracle (2018) กล่าวว่า ในปี 1975 หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนสุดในโลก ปี 1985 รายได้ต่อคนอยู่ที่ 230 ดอลลาร์ ในปี 1986 เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นสังคมนิยมแบบกลไกตลาด ถึงปี 2017 รายได้ต่อคนเพิ่มเป็น 2,343 ดอลลาร์ เท่ากับว่า ภายใน 22 ปี รายได้ต่อคนของเวียดนามเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว
ทุกวันนี้ เวียดนามกลายเป็นดาวรุ่งของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เศรษฐกิจเติบโตปีหนึ่ง 6-7% ในอัตราที่ทัดเทียมกับจีน การส่งออกทั้งหมด ตั้งแต่รองเท้าไนกี้จนถึงสมาร์ทโฟนซัมซุง มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าของเศรษฐกิจทั้งประเทศ การเติบโตที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ
1. การเปิดเสรีการค้า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น ปี 1995 เวียดนามเข้าร่วมเขตการค้าเสรีของอาเซียน ปี 2000 ลงนามการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ปี 2007 เข้าเป็นสมาชิกองค์การ WTO หลังจากนั้น ก็ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในปี 2019 ข้อตกลงหุ้นส่วนทรานส์แปซิฟิก (TPP) มีผลบังคับ แม้สหรัฐฯจะถอนตัวไปแล้ว
2. การปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากรัฐบาลมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจเปิด ยังดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศ ปี 1986 เวียดนามมีกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับแรก บริษัทกฎหมาย Baker & McKenzie กล่าวในรายงานปี 2016 ว่า กฎหมายมีการแก้ไขหลายครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น
3. ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และพื้นฐาน ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากร 95 ล้านคน เพิ่มจาก 60 ล้านคนในปี 1986 ทำให้ต้องมีการลงทุนมากในเรื่องการศึกษาระดับประถม เพราะประชากรมากขึ้น หมายถึงจำเป็นต้องมีงานรองรับที่มากขึ้น รวมทั้งลงทุนอย่างมากในเรื่องที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนต่างชาติ และการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ล้วนมีโรงงานในเวียดนาม ปี 2017 เวียดนามส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่สุดของภูมิภาคนี้ และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์
ก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง”
ในบทความเรื่อง Avoiding the middle income trap: Renovating industrial policy formulation in Vietnam (2008) นักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ Kenichi Ohno เขียนไว้ว่า ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามที่ผ่านมา เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด และการใช้นโยบายการค้าเสรี เพื่อบูรณาการประเทศเข้ากับเศรษฐกิจโลก กระบวนการนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากจะหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง และมุ่งสู่เศรษฐกิจรายได้สูง เวียดนามจำเป็นจะต้องมีนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่
บทความ Avoiding the middle income trap กล่าวถึงขั้นตอนการการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่า มีอยู่ 4 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนที่เรียก 0 คือสภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม ในช่วงที่มีรายได้ต่ำ ประเทศเพิ่งจะผ่านภาวะสงคราม การจัดการทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดในสมัยสังคมนิยม เศรษฐกิจพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ การส่งออกสินค้าเชิงเดี่ยว การเกษตรเป็นแบบทำเพื่อบริโภค และพึ่งการช่วยเหลือจากต่างประเทศ
ต่อมาคือขั้นตอนการพัฒนาที่ 1 เศรษฐกิจเริ่มพุ่งทะยานขึ้น เมื่อมีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อประกอบการผลิตสินค้า เช่น สินค้าอุตสาหกรรมเบาพวกสิ่งทอ รองเท้า อาหาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาในขั้นตอนนี้ การออกแบบ เทคโนโลยี การผลิต และการตลาด ล้วนดำเนินการโดยนักลงทุนต่างชาติ ชิ้นส่วนการผลิตนำเข้าทั้งหมด ประเทศทำหน้าที่แค่จัดหาแรงงานไร้ฝีมือ และที่ดินอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม ยังอยู่ในขั้นตอนนี้
ขั้นตอนการพัฒนาที่ 2 คือ การลงทุนจากต่างประเทศขยายตัว มีการใช้ชิ้นส่วนการผลิตจากผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดซับพลายเออร์ในประเทศ โรงงานประกอบสินค้าสามารถแข่งขันได้มากขึ้น มูลค่าการผลิตที่เกิดจากในประเทศ มีมากขึ้น แต่โดยพื้นฐาน การผลิตยังอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติ ค่าจ้างคนท้องถิ่นยังเพิ่มขึ้นไม่ได้มาก หากว่าหน้าที่การงานสำคัญๆยังตกอยู่ในมือของคนต่างชาติ ไทยและมาเลเซียได้พัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว
ขั้นตอนการพัฒนาที่ 3 คือ การสร้างทักษะและความสามารถ ให้กับทรัพยากรมนุษย์ของคนในประเทศ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคนต่างชาติ
ในทุกๆด้านของการผลิต เช่นการบริหารจัดการ เทคโนโลยี การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การดำเนินกิจการโรงงาน ระบบโลจิสติกส์ การควบคุมคุณภาพ และการตลาด ประเทศสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าคุณภาพสูง และมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมโลก เกาหลีใต้และไต้หวัน คือประเทศผู้ผลิตที่ขึ้นมาอยู่ในขั้นตอนนี้
ขั้นตอนสุดท้าย คือประเทศที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา และเป็นผู้นำต่อแนวโน้มด้านตลาดของโลก ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป คือประเทศที่มีนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมดังกล่าว
บทความ Avoiding the middle income trap กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกประเทศจะประสบความสำเร็จในการพัฒนา ประเทศจำนวนมากมาย มีการลงทุนต่างประเทศน้อย ทำให้ยังติดอยู่กับการพัฒนาในขั้นตอนที่ 0 หรือแม้จะสามารถพัฒนาขึ้นมาถึงขั้นตอนที่ 1 การจะยกระดับให้สูงขึ้น ก็ยากลำบาก บางประเทศติดกับดักในขั้นตอนที่ 2 เพราะไม่สามารถยกระดับทุนทรัพยากรมนุษย์ให้สูงขึ้น ในอาเซียนเอง ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถก้าวข้ามขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรมจากที่ 2 สู่ที่ 3 ส่วนสิงคโปร์และบรูไน เป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่เกิดจากธุรกิจภาคบริการและการผลิตน้ำมัน
บทความ Avoiding the middle income trap เสนอแนวคิดให้กับเวียดนามว่า การจะยกระดับมูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น เพื่อหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ประการแรก อาจจะอาศัยแนวคิดของมาเลเซีย ที่เรียกว่า การผลิตบวกบวก (manufacturing plus plus) ที่มาเลเซียใช้เป็นแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 1996-2005
แนวคิดนี้กำหนดเป้าหมายให้ (1) อุตสาหกรรมภายในประเทศ สามารถขยายการผลิตในห่วงโซ่คุณค่าตามแนวนอน ไปสู่ขั้นตอนการผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น และ (2) อาศัยผลิตภาพมายกระดับมูลค่าของห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดให้สูงขึ้น เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย และการตลาด มาเลเซียกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ 8 กลุ่ม แต่ประสบความสำเร็จไม่มาก แต่ก็เป็นแนวคิด ที่สามารถเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่น ที่พัฒนาตามหลัง
ประการที่ 2 อาศัยแนวคิดของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Monozukuri แนวคิดนี้มีความหมายว่า “การทำสิ่งของ” แต่เป็นการผลิตสิ่งของที่มีเป้าหมายสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า จากการทำสินค้าที่มีคุณภาพสูง โดยการอาศัยทักษะของช่างฝีมือ การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ทักษะกับฝีมือการผลิต และการสะสมความรู้ จะถูกสร้างให้เป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ผลิต และของบริษัทซับพลายเออร์อื่นๆ เวลาต่อมา แนวคิด Monozukumi ได้พัฒนาออกเป็นแนวคิดอื่นๆในเรื่องการปรับปรุงผลิตภาพ เช่น Kaizen, quality control และ just-in-time เป็นต้น
ประการสุดท้าย การยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยอาศัยการสร้างพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่น ในรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า integral business model ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า modular business model ที่หมายถึงการประกอบสินค้า โดยอาศัยชิ้นส่วนจากทั่วโลก แต่ integral business model เป็นความร่วมมือเชิงพันธมิตรยุทธศาสตร์ ระหว่างผู้ผลิตกับซับพลายเออร์ เช่นการประกอบรถยนต์ ไทยกับเวียดนามมีศักยภาพที่จะร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นในรูปแบบ integral business model
Kenichi Ohno ผู้เขียนบทความกล่าวสรุปว่า การพัฒนาของเวียดนามมาถึงจุดที่ว่า ความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น ต้องการสิ่งที่มากกว่านโยบายการเปิดเศรษฐกิจของประเทศให้เสรีมากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่เศรษฐกิจของเวียดนาม สามารถสร้างมูลค่ามากขึ้นได้จากทักษะภายในตัวเอง
เอกสารประกอบ
Avoiding the middle income trap: Renovating industrial policy formulation in Vietnam, Kenichi Ohno, Institute of Southeast Asia Studies (ISEAS) 2008.
The story of Viet Nam’s economic miracle, World Economic Forum, 11 Sep 2018.
From bikes to phones, “Made in Vietnam” grows with foreign help, Nikkei.com, January 13, 2019.
Vietnam’s economy gains as companies flee China in trade war, Nikkei.com, March 31, 2019.