สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมในคณะการบินไทยซึ่งนำโดยนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินทางไปเซนไดเพื่อติดตามความคืบหน้าของการเปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-เซนได และสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในเซนไดรวมทั้งภูมิภาคโทโฮคุในญี่ปุ่น และพบว่าภูมิภาคโทโฮคุที่ประกอบด้วย 6 จังหวัด ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยินดีอย่างมากที่การบินไทยจะทำการบินเซนไดอีกครั้งหลังจากที่เลิกบินนานนับปี
นอกเหนือจากการต้อนรับอย่างดียิ่งเมื่อเข้าสู่สนามบินเซนไดด้วยเที่ยวบินในประเทศจากสนามบินนาริตะ โดยนายกเทศมนตรีเมืองเซนไดและประธานบริษัทสนามบินเซนไดที่มารอให้การต้อนรับ พร้อมตัวแทนเมืองเซนไดถือป้ายยินดีต้อนรับแล้ว ตัวแทนภาคเอกชนของภูมิภาค ประกอบด้วย สมาคมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริการ รวมทั้งสำนักงานบริหารเมือง ยังได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยใช้สถานที่โรงแรม ซากัง (Sakan) เรียวกังเก่าแก่มีอายุร่วม 1000 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอะคิว ออนเซ็น (Akiu Onsen)
เมื่อเดินทางมาถึงซากัง นายคันซะบุโร ซาโต้ เจ้าของโรงแรมซึ่งทำหน้าที่ President รอให้การต้อนรับอยู่ด้านหน้า ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมต่างๆ ยืนเข้าแถวรอรับอยู่ด้านใน
นายสุเมธกล่าวว่า “ภูมิภาคโทโฮคุดีใจมากที่การบินไทยเปิดเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ-เซนได เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวแล้วยังช่วยให้สามารถส่งอาหารทะเลสดจากเซนไดเข้ากรุงเทพฯ ได้โดยตรง ไม่ต้องไปผ่านโตเกียว ทำให้อาหารสดขึ้นอีกอย่างน้อยเป็นวัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไทยจะส่งสินค้ามาขายในภูมิภาคนี้ได้”
นายสุเมธกล่าวถึงการท่องเที่ยวในแคว้นโทโฮคุทั้ง 6 จังหวัดของญี่ปุ่นว่า สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี หน้าหนาวเที่ยวแบบหน้าหนาว หน้าร้อนเที่ยวแบบหน้าร้อน และทั้ง 6 จังหวัดรวมกันมีสกีรีสอร์ทมากที่สุดในญี่ปุ่น
นายสุเมธเล่าต่อว่า เซนไดมีลักษณะเด่นคือ ความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารทั้งเนื้อวัวและอาหารทะเล เนื่องจากมีที่ตั้งค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นส่วนแคบของเกาะ ขวา-ซ้ายติดทะเล ตรงกลางเป็นลักษณะมีหุบเขาภูเขา แม้จะไม่เหมือนกับฮอกไกโดที่คนนิยมไปกินปูอลาสกากัน แต่อาหารทะเลที่เซนไดมีราคาไม่แพง อาหารที่ขึ้นชื่ออีกอย่างคือลิ้นวัว นอกจากนี้ ที่นี่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีสาเกอร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ตลอดจนยังมีผลไม้หลากหลาย เช่น องุ่น แคนตาลูป แตงโม เชอร์รี และบลูเบอร์รี
ในเซนไดมีไร่บลูเบอร์รีที่บุกเบิกเมื่อ 39 ปีก่อน โดยเจ้าของที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 79 ปีที่สำคัญเป็นไร่บลูเบอร์รีออร์แกนิก ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่มีวัสดุอื่นใดนอกจากธรรมชาติ ก็นับเป็นจุดขาย อีกทั้งยังมีโรงกลั่นวิสกี้เก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1934 ผลิตซิงเกิลมอลต์ที่เจ้าของไปเรียนรู้การทำมาจากสกอตแลนด์ และเป็นโรงกลั่นที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและชิมผลิตภัณฑ์พร้อมซื้อสินค้ากลับได้ ส่วนนักท่องเที่ยวที่นิยมจับจ่ายก็มีสินค้าพื้นเมือง ดังนั้นนักท่องเที่ยวก็จะได้ทุกอย่างครบ
โตจากตัวเองที่เป็นออร์แกนิก
นายสุเมธกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนไม่ได้เป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว ก็พยายามด้วยตัวเองด้วย มีการร่วมมือกันดำเนินการในหลายด้านโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นส่วนรวม
“เมืองเซนไดยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง ผมว่าเป็นเมืองที่ไม่ใช่ชนบท แต่เป็นเมืองที่เอกลักษณ์ในตัวเอง มีวัฒนธรรมของตัวเอง มีประเพณีที่น่ารักมาก แล้วคนเมืองนี้ ผมต้องบอกเลยว่า เหมือนกับสิ่งที่ผมอยากให้เมืองไทยเป็น คือ รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ภาคเอกชนของเขาร่วมช่วยกันด้วย หรือนายกเทศมนตรีจริงๆ แล้วเป็นฝ่ายค้าน แต่มาร่วมมือกับรัฐบาล เพราะประโยชน์ของประเทศชาติ และเมื่อนายกเทศมนตรีได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในการส่งเสริมเซนไดในฐานะเมืองรอง ภาคเอกชนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาคท่องเที่ยว ภาคโรงแรม ภาคที่เกี่ยวกับอาหารการกิน ได้ร่วมกันทั้งหมด ส่วนฝั่งไทยก็ทำงานกันเต็มที่” นายสุเมธกล่าว
รัฐบาลญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ที่ดีในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง และการที่สนับสนุนทางการเงินให้กับเซนได นอกจากนำไปพัฒนาเมืองแล้วอีกส่วนหนึ่งเมืองเซนไดก็เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนการบินไทย เพราะเห็นว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติรายอื่นๆ เป็นการนำเงินตราเข้าประเทศ เศรษฐกิจจะขยายตัว ผู้ประกอบการมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากกว่าเดิม และเงินภาษีที่ได้อาจจะสูงกว่าเงินที่จัดสรรมาสนับสนุนเมืองเซนไดอีกด้วย อีกทั้งเป็นแหล่งรายได้ระยะยาว
“นี่คือโมเดลที่ผมได้เรียนรู้ บางครั้งหากท้องถิ่นรอรับการช่วยเหลือจากส่วนกลางอย่างเดียว ต้องใช้งบประมาณ ใช้คนมาช่วย โดยที่ไม่ทำอะไรเลย เมืองก็จะไม่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ นักพัฒนาเมืองของไทยน่าจะมาดูเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมืองรอง ผมอยากให้เมืองไทยลองโมเดลแบบนี้ แนะนำว่าทำให้เหมือน ไม่ต้องดัดแปลง ญี่ปุ่นทำอย่างไร ไทยทำอย่างนั้น รับรองว่าเมืองรองไทยเกิดแน่นอน นี่คือสิ่งที่ผมเห็นจากการมาเซนไดอย่างน้อยสองครั้งในรอบปีที่ผ่านมา” นายสุเมธกล่าว
รัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการแบบนี้ แต่ต้องใช้เวลา เมื่อตั้งต้นได้ มีคนนิยมมาก ก็จะเหมือนกับหลายๆ เมืองที่เกิดขึ้น เช่น ฟุกุโอกะ ที่เมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว คนคงไม่ค่อยได้ยินคำว่าฟุกุโอกะ รู้จักแต่โตเกียว เกียวโต โอซากา ตอนนี้ฟุกุโอกะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของคนไทยในญี่ปุ่น เป็นการเติบโตแบบออร์แกนิก โตด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครเอาอะไรมาใส่
“ผมก็ยังหวังว่า ไม่เกิน 5 ปี เซนไดน่าจะขึ้นมาเทียบเท่ากับอีก 5 เมืองที่การบินไทยบินอยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะเซนได้เที่ยวได้ทุกฤดูไม่ว่าหน้าร้อน หน้าหนาว เมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ มีทั้งลำธาร มีน้ำ ภูเขา” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธให้ความเห็นต่อว่าการพัฒนาเมืองในประเทศไทยมักจะมุ่งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพราะมองว่าเมื่ออุตสาหกรรมธุรกิจเข้าไปนำ การเติบโตของเมืองก็จะเกิดขึ้น ขณะที่เซนไดพัฒนาในวิถีของเมืองโดยที่ไม่ต้องนำสิ่งใหม่เข้ามา แต่ทำในสิ่งต้องทำเพิ่มเติมเช่น โรงแรมต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น รองรับนักท่องเที่ยวที่มามากขึ้น ร้านอาหารจะต้องใหญ่ขึ้น เนื่องจากหลายอย่างเป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการโตด้วยตัวเอง บริการด้วยจิตใจ ด้วยไมตรีจิตที่ดี นักท่องเที่ยวก็จะเข้ามา
share and care แบ่งปันและดูแล
นายสุเมธกล่าวว่า การพัฒนาในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะไม่จำเป็นต้องโตจากการที่เอาคน เอาทรัพยากรข้างนอกมาใส่ข้างใน แต่ให้โตจากตัวเองที่เป็นออร์แกนิก แล้วก็มีคนข้างนอกมาชื่นชมแล้วใช้เงิน ก็พัฒนาง่ายขึ้น อีกทั้งสภาพการท่องเที่ยวจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เขามาดูสิ่งที่เหมือนเดิม เขาไม่ต้องการดูสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่เรียกว่าตกทอดมา เราถึงเรียกว่ามรดก ไม่ใช่เราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้มารสชาตินี้ พรุ่งนี้อีกรสชาติหนึ่ง อาจจะอร่อยกว่าแต่คนที่มาไม่ได้จะกินรสชาตินี้ คนก็จะหายไป สถานที่ท่องเที่ยวก็เช่นกัน
นายสุเมธกล่าวว่า ที่เมืองเซนไดมีโรงแรมแบบเรียวกังซึ่งมีการสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่นนานร่วม 1,000 ปี ปัจจุบันบริหารโดยผู้สืบทอดรุ่นที่ 34 การที่โรงแรมดำรงอยู่ได้นาน เพราะมีการต่างตอบแทนที่ดีระหว่างกัน เหมือนการแบ่งภาระหน้าที่กัน เจ้าของโรงแรมก็ทำโรงแรม แต่ใช้แรงงานจากรอบโรงแรม และตอบแทนแรงงานจากรอบๆ ในหลายด้าน
“ผมฟังแล้วผมประทับใจนะ เจ้าของโรงแรมบอกว่าไม่สามารถหาแรงงานที่อื่นได้ เพราะญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นเขาก็มีความรู้สึกว่า คนที่มาทำงานให้ มาดูแลคนที่มาพักที่โรงแรม ดูแลแขกโรงแรม จึงตอบแทนแรงงานด้วยการให้มาใช้ออนเซ็นในโรงแรม 1 วัน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ เป็นความสุขของคนที่ได้มาใช้ออนเซ็นในโรงแรมที่หรูหรา เป็นการต่างตอบแทนที่ดี” นายสุเมธกล่าว
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เซนไดบอกว่า ต้องการให้คนของเขามีเศรษฐกิจดีขึ้น แล้วเขาจะได้ขอบคุณแล้วบินกลับไปเมืองไทยบ้าง อันนี้เป็นโมเดลที่ขอยกคำพูดอดีตรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ว่า โมเดลหนึ่งที่ควรให้มีในยุคที่พูดถึง”ความยั่งยืน” คือ share and care แบ่งปันและดูแล เพราะเมื่อไรก็ตามสังคมเราสามารถทำอยู่ในบริบทของแบ่งปันและดูแลได้ วันนั้นยั่งยืนแน่ นี่คือบทใหม่ของโลกที่ต้องเปลี่ยน จะเอาแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องแบ่งปัน
นายสุเมธกล่าวว่า ญี่ปุ่นมีหลายอย่างที่คนไทยน่าจะน่าจะลองดูเป็นแบบอย่างและทำตาม อย่างเช่น การช่วยเหลือจากภาครัฐ ภาคเอกชนรับไปแล้วทำต่อ เรียกว่ารัฐและเอกชนร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการแบมือรับอย่างเดียวแล้วเงินหาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเชน ดังตัวอย่างของสนามบินเซนไดที่แปรรูปมอบให้เอกชนบริหาร กลุ่มที่ประมูลได้คือกลุ่ม Toyota Tsusho
“โตโยต้ามีทรัพยากร มีทั้งเงิน มีทั้งบุคลากร มีเครือข่าย ทำธุรกิจหลายอย่าง การที่เข้ามาบริหารสนามบิน ผมมองว่าเขาคงไม่ได้ต้องการกำไร แต่ต้องการช่วยประเทศ จึงได้ติดต่อการบินไทยแล้วไปรวบรวมคนฝั่งญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผู้ดูแลงบประมาณ ไปจนถึงนายกสมาคมท่องเที่ยวที่ดูแลการท่องเที่ยว outbound หาคนเที่ยวบินกลับไทยให้เรา และยังมีการติดต่อ cargo ให้ด้วย มีการแบ่งงานเป็นส่วนแล้วร่วมกันทำเต็มที่เพื่อให้สมประโยชน์สูงสุดที่พวกเขาตั้งใจ” นายสุเมธกล่าว
นอกจากนี้ จากการพบปะกับประธานหอการค้าเมืองซากาตะ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของซาไก ก็ได้ทราบว่าจะรับไปสำรวจกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อรองรับคนไทย หรือแลกเปลี่ยนส่งกลับไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแบ่งงานกันทำครบทุกภาคส่วน เงินที่ได้จากรัฐบาลมีการใช้อย่างคุ้มค่า ทุกคนเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการใช้เงิน แต่ทำงานอย่างเต็มที่ให้ก่อนแล้วค่อยรับ
“จะเห็นว่า เรายังไม่ได้ไปที่ไหนที่ไม่มีคนสำคัญที่เป็นระดับการเมืองท้องถิ่นหรือเป็นหัวหน้าสมาคม ไม่มาติดต่อเรา ทุกคนเต็มที่ ผมมาสองรอบทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าเราบินกลับมาเซนไดอีกรอบนึง ในปลายตุลาคมนี้ ผมเชื่อว่าทางนี้จะตื่นเต้นมาก เพราะเขายินดีต้อนรับอย่างมาก เราก็เลยกำลังดูอยู่ว่าจะทำอะไรที่พิเศษสำหรับผู้โดยสายของการบินไทย ที่จะมาเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะว่าผมเชื่อว่าบางคนอาจจะยังลังเล แต่หากได้มาแล้ว จะได้รับบรรยากาศที่ดี เพราะเป็นเมืองที่มีความกระตือรือร้นสูงมากในการรับนักท่องเที่ยวไทย” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธกล่าวว่า ตอนแรกได้แจ้งกับทางญี่ปุ่นว่าจะขอบินสักประมาณปีหน้า แต่ญี่ปุ่นขอให้มาปีนี้ เพราะเขามีความพร้อมแล้ว ส่วนใหญ่เอกชนเป็นผู้จัดการ ทั้งสนามบิน สมาคมที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างมาก
“ผมก็อยากมีความสำเร็จไปกับเมืองนี้เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำให้ เปิดเมืองนี้เราไม่ได้กำไรเยอะ แต่เราเชื่อว่าเมืองนี้เราทำให้ยั่งยืนได้ในฐานะเส้นทางหนึ่งที่อยู่ใน portfolio ของการบินไทย” นายสุเมธกล่าว